marinerthai

พระราชบัญญัติ การกักเรือพ.ศ. 2534

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2534

เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักเรือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [รก.2534/196/12/11 พฤศจิกายน 2534]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

เรือ” หมายความว่า เรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งของหรือคน โดยสารทางทะเลระหว่างประเทศ

สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ” หมายความว่า สิทธิเรียกร้องอันเกิดจาก

(ก)       ความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลใด ๆ ที่มี เหตุมาจากเรือหรือการดำเนินงานของเรือ

(ข)       การช่วยเหลือกู้ภัยทางทะเล

(ค)       สัญญาเกี่ยวกับการใช้ เช่า เช่าซื้อ หรือยืมเรือ การให้บริการ บรรทุก หรือสัญญาอื่นทำนองเดียวกัน

(ง)       สัญญาเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลที่มีการออกใบตราส่ง

(จ)       การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป ในกรณีที่เจ้าของเรือ ผู้ขนส่งและ เจ้าของของที่บรรทุกมาในเรือนั้น มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของ ทรัพย์สินที่สูญหาย หรือเสียหายจากการกระทำโดยเจตนาด้วยความจำเป็น  ตามสมควรเพื่อความปลอดภัยร่วมกันของเรือและของที่บรรทุกมาในเรือนั้น  หรือต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปด้วยความจำเป็นเป็นกรณีพิเศษเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายหรือเพื่อความปลอดภัยร่วมกันของเรือและของที่บรรทุกมาในเรือนั้น ทั้งนี้ เมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือสัญญาระหว่างคู่กรณีกำหนดความรับผิดในเรื่องนี้ไว้

(ฉ)       การสูญหายหรือเสียหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่บรรทุกมาในเรือ

(ช)       การให้บริการลากจูงเรือไม่ว่าโดยวิธีใด

(ซ)       การให้บริการนำร่อง

(ฌ)      การจัดหาของหรือวัสดุใด ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินงานของเรือหรือการซ่อมบำรุงเรือ

(ญ)      การต่อ ซ่อม หรือจัดเครื่องบริภัณฑ์ให้แก่เรือ หรือค่าธรรมเนียม การใช้อู่เรือ

(ฎ)       การให้บริการของท่าเรือ หรือค่าภาระหรือค่าบริการในการใช้ท่าเรือ

(ฏ)       ค่าจ้างขนของลงเรือหรือขึ้นจากเรือ

(ฐ)       ค่าจ้างนายเรือหรือคนประจำเรือ

(ฑ)       ค่าใช้จ่ายของเรือที่นายเรือ ผู้เช่าเรือ ตัวแทนหรือผู้ส่งของได้ทดรองจ่ายไปแทนเจ้าของเรือหรือผู้ครอบครองเรือ

(ฒ)      ข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในตัวเรือ

(ณ)      ข้อพิพาทระหว่างเจ้าของรวมเกี่ยวกับการครอบครอง การใช้เรือ หรือรายได้จากเรือ

(ด)       การจำนองเรือ

เจ้าหนี้” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ

พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ศาล” หมายความว่า ศาลแพ่ง ศาลแพ่งธนบุรี และศาลจังหวัด

รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4 ภายใต้บังคับมาตรา 5 และมาตรา 6 ก่อนฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าลูกหนี้จะมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรหรือไม่ก็ตาม เจ้าหนี้ซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอาจขอให้ศาลสั่งกักเรือลำหนึ่งลำใดที่เป็นของลูกหนี้ หรือ ลูกหนี้เป็นผู้ครอบครองเพื่อให้เพียงพอที่จะเป็นประกันการชำระหนี้ตามสิทธิ เรียกร้องเกี่ยวกับเรือนั้นได้ โดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลที่เรือซึ่งเจ้าหนี้ ขอให้สั่งกักอยู่หรือจะเข้ามาอยู่ในเขตศาล

มาตรา 5 เจ้าหนี้อาจขอให้ศาลสั่งกักเรือที่ลูกหนี้เป็นผู้ครอบครอง แต่มิได้เป็นของลูกหนี้ได้ ถ้าเหตุแห่งสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือเกิดจากเรือ หรือธุรกิจของเรือนั้นและลูกหนี้เป็นผู้ครอบครองเรือนั้นทั้งในเวลาที่เกิดสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือและในเวลาที่ขอให้ศาลสั่งกักเรือ

มาตรา 6 ในกรณีที่สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในตัวเรือ ข้อพิพาทระหว่างเจ้าของรวมเกี่ยวกับการครอบครองเรือการใช้เรือ หรือรายได้จากเรือ หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการจำนองเรือ เจ้าหนี้จะขอให้ศาลสั่งกักเรือลำอื่นที่เป็นของลูกหนี้หรือลูกหนี้เป็นผู้ครอบครอง นอกจากเรือลำที่เกี่ยวกับข้อพิพาทนั้นมิได้

มาตรา 7 คำร้องขอให้กักเรือให้ทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียว คำร้องขอให้กักเรือต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ หนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ และอย่างน้อยต้องมี รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเจ้าหนี้ ชื่อลูกหนี้ ชื่อเรือ หมายเลขทะเบียนเรือ ขนาดเรือ สัญชาติ และเมืองท่าขึ้นทะเบียนเรือ ชื่อนายเรือหรือผู้ควบคุมเรือ หากทราบ และทำเลหรือถิ่นที่ทอดจอดเรือ

มาตรา 8 เมื่อได้รับคำร้องขอให้กักเรือ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวเป็นการด่วน ถ้าเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้นำมาสืบว่าสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือที่ยกขึ้นอ้างเป็นเหตุในการขอให้กักเรือนั้นมีมูล และในกรณีที่ เรือที่เจ้าหนี้ขอให้ศาลสั่งกักมิได้อยู่ในราชอาณาจักรในเวลาที่ยื่นคำร้อง เจ้าหนี้ได้แสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่าเรือนั้นจะเข้ามาในราชอาณาจักรและจะเข้ามาอยู่ในเขตศาล ให้ศาลสั่งกักเรือนั้น ในการสั่งกักเรือตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ศาลจะสั่งให้เจ้าหนี้นำหลักประกันตามที่ศาลเห็นสมควรมาวางต่อศาลก่อนการบังคับตามคำสั่งกักเรือ เพื่อเป็นประกันความเสียหายเนื่องจากการกักเรือ ซึ่งเจ้าหนี้อาจต้องรับผิดต่อลูกหนี้ก็ได้ แต่ในกรณีที่ลูกหนี้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรให้ศาลสั่งให้เจ้าหนี้นำหลักประกันมาวางต่อศาลก่อนการบังคับตามคำสั่งกักเรือทุกกรณี เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้แสดงให้เป็นที่พอใจศาลว่า ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ที่อยู่ในราชอาณาจักรมีไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้คำสั่งกักเรือตามวรรคสองให้ศาลกำหนดหลักประกันที่ลูกหนี้หรือบุคคลตามมาตรา 22 จะต้องวางต่อศาลเพื่อขอให้ปล่อยเรือนั้นไว้ด้วยคำสั่งกักเรือตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา 9 ในการบังคับตามคำสั่งกักเรือ ให้ศาลออกหมายกักเรือส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการต่อไปเป็นการด่วน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ดำเนินการตามหมายกักเรือได้ทั่วราชอาณาจักรหมายกักเรือตามวรรคหนึ่งให้ทำตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด

มาตรา 10 ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการกักเรือ ให้เจ้าหนี้ชำระค่าธรรมเนียมกักเรือในอัตราร้อยละหนึ่งของหนี้ที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาทในกรณีเจ้าหนี้ฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ ให้หักค่าธรรมเนียมกักเรือตามวรรคหนึ่งจากค่าขึ้นศาลที่เจ้าหนี้จะต้องเสียในคดีนั้นด้วย และให้ถือว่าค่าธรรมเนียมกักเรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสำหรับคดีนั้น

มาตรา 11 เมื่อได้รับหมายกักเรือจากศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งโดยทางโทรศัพท์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือวิธีการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือออกจากท่าทราบโดยพลันว่าศาลได้สั่งกักเรือลำนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือออกจากท่าระงับการปล่อยเรือนั้นออกจากท่าเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 12 ต่อไปจนกว่าจะได้รับแจ้งเป็นอย่างอื่น

มาตรา 12 เมื่อได้รับหมายกักเรือจากศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี มีหน้าที่

(1)       ส่งหมายกักเรือให้นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือลงลายมือชื่อรับไว้ในใบรับเป็นหลักฐาน

(2)       ปิดหมายกักเรือไว้ ณ ที่แลเห็นได้ง่ายในเรือ

(3)       ดำเนินการอย่างอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุผลตามหมายกักเรือ และ

(4)       แจ้งเป็นหนังสือให้สถานกงสุลของประเทศที่เรือนั้นมีสัญชาติทราบถึงการกักเรือ

ในการส่งหมายกักเรือตาม (1) ถ้านายเรือหรือผู้ควบคุมเรือปฏิเสธไม่ยอมลงลายมือชื่อรับหมายกักเรือจากเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือตำรวจไปด้วยเพื่อเป็นพยาน และ ถ้านายเรือหรือผู้ควบคุมเรือยังคงปฏิเสธไม่ยอมลงลายมือชื่อรับอีกก็ให้วางหมายกักเรือไว้ ณ ที่นั้น และให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับหมายกักเรือนั้นแล้ว ในกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายกักเรือนั้นได้ตามความใน (1) หรือวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมายกักเรือไว้ ณ ที่แลเห็นได้ง่ายในเรือและให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับหมายกักเรือนั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำรายงานการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้และ ส่งต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความต่อไป

มาตรา 13 ในการบังคับตามหมายกักเรือ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอนุโลม และให้มีอำนาจสั่งให้นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้อง กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้บรรลุผลตามหมายกักเรือ ถ้าบุคคลเช่นว่านั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอความช่วยเหลือจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือตำรวจเพื่อให้สามารถดำเนินการตามคำสั่งได้และในการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลเช่นว่านั้นว้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้นายเรือทอดจอดเรือ ณ ที่ปลอดภัย หรือดำเนินการอย่างอื่นเพื่อให้บรรลุผลตามหมายกักเรือได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นอุปสรรค ในการขนของลงเรือหรือขึ้นจากเรือ

มาตรา 14 ให้เจ้าหนี้มีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานบังคับคดีและทดรองค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่จำเป็นต้องจ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 26 ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมช่วยเหลือหรือไม่ยอมทดรองค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งและการไม่ช่วยเหลือหรือไม่ทดรองค่าใช้จ่ายเช่นว่านั้นทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรอการปฏิบัติหน้าที่ไว้ และรายงานให้ศาลที่มีคำสั่งกักเรือทราบโดยด่วน เมื่อได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่ง ดังนี้

(1)       ในกรณีที่ยังมิได้ปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2) ให้งดการบังคับตามคำสั่งกักเรือไว้ จนกว่าเจ้าหนี้จะช่วยเหลือและทดรองค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามวันทำการเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ยอมช่วยเหลือและทดรองค่าใช้จ่าย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือออกจากท่าทราบเพื่อให้ยกเลิกการระงับการปล่อยเรือตามมาตรา 11 วรรคสองโดยให้นำความในมาตรา 26 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(2)       ในกรณีที่ได้ปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2) แล้ว ให้เจ้าหนี้ให้ความช่วยเหลือและทดรองค่าใช้จ่าย โดยแสดงความจำนงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามวันทำการ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ให้ศาลสั่งปล่อยเรือหรือคืนหลักประกันที่วางไว้ ตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 แล้วแต่กรณี คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา 15 ความรับผิดต่อเจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ หรือต่อบุคคลภายนอก เพื่อความเสียหาย ถ้าหากมี อันเกิดจากการกักเรือ ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ตกแก่เจ้าหนี้ เว้นแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 16 หมายกักเรือให้ใช้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักรจนกว่าจะสิ้นอายุความฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือนั้น

มาตรา 17 เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 12 (1) และ (2) แล้ว

(1)       ให้การกักเรือตามคำสั่งกักเรือมีผลใช้บังคับจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และ

(2)       การก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในตัวเรือ หรือสิทธิครอบครองเรือระหว่างที่การกักเรือตามคำสั่งกักเรือมีผลใช้บังคับจะใช้ยันแก่เจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้

มาตรา 18 เรือที่ถูกกักตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินอันเจ้าพนักงานได้ยึดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 19 ถ้าลูกหนี้นำเงินมาวางศาลเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำสั่งกักเรือตามมาตรา 8 วรรคสี่ โดยยอมรับผิด ให้การกักเรือตามคำสั่งกักเรือเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ศาลสั่งปล่อยเรือที่กักไว้นั้นโดยพลัน ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าได้มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เจ้าหนี้ชนะคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือที่ระบุไว้ในคำร้องขอให้กักเรือ

มาตรา 20 ในกรณีที่ลูกหนี้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ถ้าลูกหนี้นำเงินมาวางศาลเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ในคำสั่งกักเรือตามมาตรา 8 วรรคสี่โดยไม่ยอมรับผิดให้การกักเรือตามคำสั่งกักเรือเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ศาลสั่งปล่อยเรือที่กักไว้นั้นโดยพลัน

มาตรา 21 ลูกหนี้ซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอาจขอให้ศาลที่สั่งกักเรือปล่อยเรือนั้นโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล พร้อมทั้งวางหลักประกันตามที่ศาลกำหนดไว้ในคำสั่งกักเรือเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือหรือโดยทางโทรเลขหรือโทรพิมพ์ให้บุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรเป็นตัวแทนในการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือก็ได้ให้ลูกหนี้ตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรเป็นตัวแทนเพื่อรับคำคู่ความและเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยจะทำเป็นหนังสือหรือโดยทางโทรเลขหรือโทรพิมพ์ก็ได้

ในกรณีที่ตัวแทนตามวรรคสองเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ถ้าลูกหนี้ไม่ได้ตั้งตัวแทนตามวรรคสามไว้ ให้ถือว่าผู้ยื่นคำร้องนั้นเป็นตัวแทนตามวรรคสามด้วย ให้ตัวแทนตามวรรคสอง และวรรคสาม ให้ถ้อยคำสาบานตัวต่อศาลว่าตนได้รับมอบอำนาจจากลูกหนี้จริง และมิให้นำมาตรา 47 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การตั้งตัวแทนดังกล่าว

มาตรา 22 บุคคลอื่นซึ่งได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการที่เรือถูกกักอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยเรือได้โดยวางหลักประกันในนามของลูกหนี้ และให้ถือว่าบรรดาการกระทำที่ผู้ยื่นคำร้องนั้นจำเป็นต้องกระทำไป ในการขอให้ศาลปล่อยเรือเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของลูกหนี้บุคคลตามวรรคหนึ่งจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือหรือโดยทาง โทรเลขหรือโทรพิมพ์ให้บุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรเป็นตัวแทน ในการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือก็ได้ ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือโดยลูกหนี้ไม่ได้ตั้งตัวแทนตามมาตรา 21 วรรคสามไว้ ให้ถือว่าผู้ยื่นคำร้องนั้นเป็นตัวแทน พื่อรับคำคู่ความและเอกสารในการดำเนินกระบวนพิจารณาและถ้าผู้ยื่นคำร้องมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร ให้ตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร เพื่อรับคำคู่ความและเอกสารแทนลูกหนี้โดยจะทำเป็นหนังสือหรือโดยทางโทรเลขหรือโทรพิมพ์ก็ได้ ให้ตัวแทนตามวรรคสอง และวรรคสาม ให้ถ้อยคำสาบานตัวต่อศาลว่าตนได้รับมอบอำนาจจากบุคคลตามวรรคหนึ่งจริง และมิให้นำมาตรา 47 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การตั้งตัวแทนดังกล่าว

มาตรา 23 ในการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือ นอกจากต้องวางหลักประกันตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 22 วรรคหนึ่ง แล้ว

(1)       ในกรณีที่ลูกหนี้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรเป็นผู้ยื่นคำร้องด้วยตนเอง ต้องแนบหลักฐานการตั้งตัวแทนตามมาตรา 21 วรรคสามไปพร้อมกับคำร้อง

(2)       ในกรณีที่ตัวแทนตามมาตรา 21 วรรคสอง ของลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องต้องแนบหลักฐานการตั้งตัวแทนตามมาตรา 21 วรรคสอง ไปพร้อมกับคำร้อง

(3)      ในกรณีที่บุคคลตามมาตรา 22 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ยื่นคำร้องถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรและไม่ได้แนบหลักฐานการตั้งตัวแทนตามมาตรา 21 วรรคสาม ของลูกหนี้ ต้องแนบหลักฐานการตั้งตัวแทนตามมาตรา 22 วรรคสาม ไปพร้อมกับคำร้อง ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับพิจารณาคำร้องนั้น

มาตรา 24 คำร้องขอให้ปล่อยเรือให้ทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียว

มาตรา 25 นอกจากกรณีตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ศาลมีอำนาจสั่งให้ปล่อยเรือได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1)       เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือ

(2)       เจ้าหนี้มิได้ฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2)

(3)       เมื่อมีคำร้องขอให้ปล่อยเรือตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 และศาลได้พิจารณาเป็นที่พอใจว่าหลักประกันที่ผู้ยื่นคำร้องวางต่อศาลมีมูลค่าหรือราคาไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในคำสั่งกักเรือหรือในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอวางหลักประกันน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในคำสั่งกักเรือโดยได้แสดงเหตุผลไว้ ในคำร้อง เมื่อศาลได้ส่งสำเนาคำร้องให้เจ้าหนี้ทราบเพื่อคัดค้านภายในเวลาที่ศาลกำหนด แต่เจ้าหนี้ไม่คัดค้านภายในเวลาที่ศาลกำหนดนั้น หรือเมื่อศาลได้พิจารณาคำคัดค้านของเจ้าหนี้แล้วเห็นว่าสมควรลดหลักประกันที่กำหนดไว้ในคำสั่งกักเรือ และศาลได้สั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางหลักประกันตามที่เห็นสมควร และได้มีการวางหลักประกันนั้นแล้ว คำสั่งปล่อยเรือตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

มาตรา 26 เมื่อศาลได้มีคำสั่งปล่อยเรือตามมาตรา 25 แล้วให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่

 (1)      แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ทราบ แล้วแต่กรณี

 (2)      แจ้งเป็นหนังสือให้สถานกงสุลของประเทศที่เรือนั้นมีสัญชาติทราบ และ

 (3)      แจ้งโดยทางโทรศัพท์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือวิธีการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือออกจากท่าทราบโดยพลันว่าศาลได้มีคำสั่งปล่อยเรือนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม (3) ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปล่อยเรือออกจากท่าดำเนินการปล่อยเรือนั้นโดยไม่ชักช้า

มาตรา 27 ให้ศาลสั่งคืนหลักประกันที่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลตามมาตรา 22 วางไว้ต่อศาลเมื่อ

(1)       เจ้าหนี้มิได้ฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2) และลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้คืนหลักประกันของตนเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันดังกล่าว

(2)       ลูกหนี้มิได้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลจากการที่เจ้าหนี้ขอให้สั่งกักเรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2) และเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้คืนหลักประกันของตนเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันดังกล่าว

(3)       เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้คืนหลักประกันของตนไม่ว่าในเวลาใด ๆ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่คัดค้าน

(4)       ในกรณีที่มีการวางหลักประกันตามมาตรา 22

(ก)       เจ้าหนี้มิได้ฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2) และบุคคลตามมาตรา 22 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้คืนหลักประกันของตนเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันดังกล่าว

(ข)       เจ้าหนี้หรือบุคคลตามมาตรา 22 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้คืนหลักประกันของตนไม่ว่าในเวลาใด ๆ และเจ้าหนี้หรือบุคคลตามมาตรา 22 แล้วแต่กรณี ไม่คัดค้าน

มาตรา 28 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดหมายกักเรือตามมาตรา 12 (2) แล้ว เจ้าหนี้จะฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือต่อศาลดังต่อไปนี้ก็ได้ คือ

(1)       ศาลที่สั่งกักเรือ

(2)       ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมิใช่ศาลตาม (1) แต่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาต่อเมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องแสดงให้เป็นที่พอใจว่าการพิจารณาคดีในศาลนั้นจะเป็นการสะดวก

มาตรา 29 เมื่อลูกหนี้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรถูกฟ้องคดีแล้ว และยังไม่ได้ตั้งทนายความไว้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่จำเลย ถ้าไม่สามารถส่งในราชอาณาจักรได้ ให้เจ้าพนักงานศาล ปฏิบัติดังนี้

(1)       ถ้ามีตัวแทนตามมาตรา 21 วรรคสาม ให้ส่งแก่ตัวแทนดังกล่าว

(2)       ถ้าเป็นกรณีตามมาตรา 22 วรรคสาม ให้ส่งแก่ผู้ยื่นคำร้องหรือบุคคลซึ่งผู้ยื่นคำร้องตั้งไว้เพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสาร แล้วแต่กรณี

(3)       ถ้าไม่มีตัวแทนตาม (1) และไม่เป็นกรณีตาม (2) ให้ส่งแก่นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือนั้น ที่เรือหรือ ณ ที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวในราชอาณาจักร

ในกรณีที่ไม่สามารถส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลตาม (1) หรือ (2) ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ ศาลอาจสั่งให้ปิดคำคู่ความ หรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าว หรือในกรณีที่ไม่สามารถส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้แก่บุคคลตาม (3) ได้ ศาลอาจสั่งให้ปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ ณ ที่แลเห็นได้ง่ายในเรือ ในกรณีเช่นนี้มิให้นำมาตรา 79 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ถือว่าจำเลยได้รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นเมื่อระยะเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ได้ส่งหรือปิดคำคู่ความ หรือเอกสารนั้น

มาตรา 30 ในกรณีที่สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือเกิดจากความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลใด ๆ ที่มีสาเหตุมาจากเรือหรือการดำเนินงานของเรือ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับดำเนินคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือดังกล่าวแทนเจ้าหนี้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้กักเรือแทนเจ้าหนี้และให้ได้รับ ยกเว้นค่าธรรมเนียมกักเรือตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 31 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์ ปันยารชุน

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากเรือเดินทะเลที่ให้บริการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศประมาณกว่าร้อยละ 90 เป็นเรือต่างชาติ ซึ่งเจ้าของเรือและผู้ดำเนินงานของเรือเหล่านี้ส่วนมากไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร เมื่อเกิดกรณีที่เจ้าของเรือ หรือผู้ดำเนินงานต้องรับผิดทางแพ่งต่อบุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นความรับผิดตามสัญญา ความรับผิดเพื่อละเมิด หรือความรับผิดโดยผลแห่งกฎหมายบุคคลดังกล่าวก็ไม่สามารถดำเนินการให้เจ้าของเรือหรือผู้ดำเนินงานชำระหนี้หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ตนได้ เนื่องจากเจ้าของเรือหรือผู้ดำเนินงานไม่มีทรัพย์สินอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งหากนำคดีขึ้นสู่ศาลก็ไม่เกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ประกอบกับพฤติการณ์ทำนองเดียวกันนี้ เจ้าหนี้ในต่างประเทศสามารถฟ้องร้องเจ้าของเรือไทยหรือผู้ดำเนินงานต่อศาลในประเทศของตนได้ สมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกักเรือ ให้อำนาจศาลสั่งกักเรือที่เป็นของลูกหนี้ หรือลูกหนี้เป็นผู้ครอบครองเพื่อให้เพียงพอที่จะเป็นประกันการชำระหนี้อันมีมูลมาจากสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือนั้นได้ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ในราชอาณาจักรไม่ให้เสียเปรียบเจ้าของเรือหรือผู้ดำเนินงานต่างชาติโดยไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

Share the Post: