marinerthai

พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ. 2490

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรีในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฎ ธานีนิวัต มานวราชเสวี อดุลเดชจรัส
ให้ไว้ ณ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2490
เป็นปีที่ 2 ในรัชชกาลปัจจุบัน


โดยที่เป็นการสมควรจัดให้การปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำข้าวและสินค้าอื่นบางอย่างออกทางทะเลได้ผลดียิ่งขึ้น พระมหากษัตริย์โดยความเห็นชอบของรัฐสภา จึงมีพระบรมราช โองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ. 2490

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2490/61/735/16 ธันวาคม 2490]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ คำว่า “เจ้าหน้าที่ทหารเรือ” หมายความถึง นายทหารเรือประจำการชั้นสัญญาบัตรซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการเรือ ผู้บังคับหมู่เรือ ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับกองเรือรวมทั้งตำแหน่งอื่นที่ผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เทียบเท่ากับตำแหน่งที่กล่าวแล้ว และนายทหารเรือประจำการชั้นสัญญาบัตร ที่ผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งขึ้นโดยเฉพาะ

มาตรา 4* เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำเกี่ยวกับการนำข้าวหรือสินค้าอื่นหรือยาเสพติดออกไปนอกหรือ เข้ามาในราชอาณาจักร หรือการที่คนต่างด้าวเข้ามาหรือนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ โดยทางทะเล ทางลำน้ำซึ่งติดต่อกับต่างประเทศ หรือทางลำน้ำซึ่งออกไปสู่ทะเลได้ หรือทำการประมงทางทะเลอันเป็นความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยการสำรวจและห้ามกักกันข้าว กฎหมายว่าด้วย การควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคและของอื่น ๆ ในภาวะคับขัน กฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า กฎหมายว่าด้วยแร่ กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายเกี่ยวกับการประมง ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจสืบสวนและสอบสวนได้ และมีอำนาจทำการหรือสั่งให้ทำการเฉพาะหน้าเท่าที่จำเป็น ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจ ค้น และบังคับผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือให้รื้อหรือขนสิ่งของในเรือเพื่อการตรวจค้น

(2) จับเรือ และบังคับผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือให้พ่วงเรือ หรือให้ทำการอื่นเพื่อให้เรือนั้นไปยังที่ซึ่งสะดวกแก่การตรวจค้น การสอบสวน หรือการดำเนินคดี

(3) ยึดเรือที่จับไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา หรือ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นในกรณีที่ฟ้องผู้ต้องหา

(4) จับและควบคุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ได้ไม่เกินเจ็ดวัน เมื่อพ้นกำหนดต้องปล่อยหรือส่งตัวให้พนักงานสอบสวนพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเท่าที่ทำไว้ *[มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2525 และพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534]

มาตรา 5 เพื่อปฏิบัติการตามความในมาตรา 4 ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจสั่งและบังคับให้ผู้ควบคุมเรือและคนประจำเรือลำที่ใช้หรือ สงสัยว่าใช้ในการกระทำความผิด หรือที่ความผิดเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าเกิดขึ้นหยุดเรือ หรือนำเรือไปยังที่ใดที่หนึ่ง ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ให้มีอำนาจดำเนินการใด ๆ เพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามหรือเพื่อนำเรือไป หรือเพื่อป้องกันการหลบหนีการสั่งหรือบังคับให้หยุดเรือหรือให้นำเรือไปยังที่ใดที่หนึ่งตามความในวรรคก่อน อาจทำโดยใช้อาณัติสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ แต่อาณัติสัญญาณที่จะใช้นั้น ผู้บัญชาการทหารเรือต้องประกาศกำหนด ไว้ในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา 6 นอกจากอำนาจที่ให้ไว้ตามมาตรา 4 ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 7 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือทำการสอบสวนตามมาตรา 4 ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจและหน้าที่เช่นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 8 การแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือ เป็นผู้ส่งสำนวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการนั้น ให้ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้ใช้อำนาจของอธิบดีกรมตำรวจหรือข้าหลวงประจำจังหวัดแล้วแต่กรณี

มาตรา 9 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป มิให้ถือว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหาซึ่งได้กระทำมาก่อนที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหานั้น เป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวน

มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ควง อภัยวงศ์

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดบางอย่างทางทะเลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการลักลอบนำข้าวหรือสินค้าอื่นออกทางทะเลเท่านั้น จึงไม่สามารถปราบปราม การลักลอบนำข้าวหรือสินค้าอื่นบางอย่างออกตามทางลำน้ำ สมควรขยายอำนาจทหารเรือออกไป เพื่อให้มีอำนาจปราบปรามการลักลอบนำข้าว หรือ สินค้าอื่นออกทางลำน้ำที่ติดต่อกับต่างประเทศ และทางลำน้ำที่ออกสู่ทะเลได้ด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น *[รก.2522/พิเศษ/35พ/22 เมษายน 2522]

พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดบางอย่างทางทะเล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2525

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่ามีการนำข้าวหรือสินค้าอื่นเข้ามา หรือการที่คนต่างด้าวเข้ามา หรือนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางทะเลมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือตรวจพบก็ไม่มีอำนาจที่จะปราบปราม เพราะกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดบางอย่างทางทะเลที่ใช้อยู่ ในปัจจุบันให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือปราบปรามเฉพาะการลักลอบนำข้าวหรือสินค้าอื่นบางอย่างออกทางทะเลหรือทางลำน้ำเท่านั้น หากปล่อยให้เหตุการณ์ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ก็จะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ สมควรให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำข้าวหรือสินค้าอื่นเข้ามาหรือการที่คนต่างด้าวเข้ามา หรือนำคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางทะเลหรือทางลำน้ำด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ *[รก.2525/108/20พ/6 สิงหาคม 2525]

พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดบางอย่างทางทะเล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าในปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งยาเสพติดโดยทางทะเลและทางลำน้ำซึ่งติดต่อกับต่างประเทศ หรือทางลำน้ำซึ่งออกไปสู่ทะเลได้และมีการลักลอบทำการประมงทางทะเลอยู่เสมอ เจ้าหน้าที่ทหารเรือตรวจพบก็ไม่มีอำนาจที่จะปราบปรามได้ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเรือมิได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายเกี่ยวกับการประมงทางทะเล เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือตรวจพบและดำเนินการจับกุมก็ไม่มีอำนาจควบคุมตัวไว้สอบสวนและยึดเรือไว้ได้ ต้องนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที สมควรให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดและกฎหมายเกี่ยวกับการประมงทางทะเลได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ *[รก.2534/240/73พ/29 ธันวาคม 2534]

Share the Post: