marinerthai

พระราชบัญญัติเพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางน้ำ พ.ศ. 2496

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2496

 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรเพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปราม การกระทำผิดทางน้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเพิ่มอำนาจตำรวจ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางน้ำ พ.ศ. 2496

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2496/63/1228/6 ตุลาคม 2496]

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “ยานพาหนะ” หมายความว่า เรือ ซึ่งใช้เดินทางออกไปสู่หรือเข้ามาจากทะเล หรือระหว่างราชอาณาจักรกับดินแดน ต่างประเทศ และหมายความรวมถึงอากาศยานที่ขึ้นลงบนพื้นน้ำด้วย

มาตรา 4 ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการค้นตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญาในยานพาหนะ ให้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรในกองตำรวจน้ำ กรมตำรวจ ทำการค้นได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องมีหมาย

มาตรา 5 ในเมื่อมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะมีหรือได้มีการกระทำผิด เกิดขึ้นในยานพาหนะใด ให้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรในกองตำรวจน้ำ กรมตำรวจ มีอำนาจสั่งห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจและหน้าที่ เกี่ยวกับยานพาหนะขึ้นไป หรือนำเรือ แพ หรือพาหนะชนิดใด ๆ เข้าเทียบ ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ในการสั่งห้ามเช่นว่านี้จะต้องแจ้งให้ผู้ ควบคุมยานพาหนะนั้นทราบด้วย การสั่งห้ามดังกล่าวในวรรคก่อน จะกระทำโดยวิธีใดให้เป็นไปตาม ระเบียบซึ่งอธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในระเบียบ เช่นว่านี้จะกำหนดให้ผู้ควบคุมยานพาหนะแสดงเครื่องหมายอย่างใด เพื่อให้ ทราบว่าได้มีการห้ามดังกล่าวแล้ว ตลอดจนกำหนดวิธีการขออนุญาตและเงื่อนไข ในการอนุญาตไว้ด้วยก็ได้

มาตรา 6 ในการสั่งให้ผู้ควบคุมยานพาหนะหยุดยานพาหนะ หรือนำ ยานพาหนะไปยังที่ใด เพราะมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ามีการใช้ยานพาหนะนั้น ในการกระทำความผิด หรือมีความผิดเกิดขึ้นในยานพาหนะนั้น นายตำรวจชั้น สัญญาบัตรในกองตำรวจน้ำ กรมตำรวจ อาจใช้สัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ หลายอย่างตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และผู้ควบคุมยานพาหนะจะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่ตำรวจในการที่จะ ขึ้นไปบนยานพาหนะนั้น

มาตรา 7 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 5 วรรคแรก หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ ตามสัญญาณ หรือไม่ให้ความสะดวกตามความในมาตรา 6 มีความผิดต้องระวาง โทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วย กรมตำรวจได้จัดตั้งกองตำรวจน้ำขึ้นอีกหน่วยหนึ่ง ให้มีอำนาจหน้าที่ปราบปรามและป้องกันการกระทำผิดทางอาญาในน่านน้ำไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำผิด อันเกี่ยวกับกฎหมายศุลกากร การเดินเรือ การประมง และการเข้าเมือง ฉะนั้น จึงต้องมีบทบัญญัติในกฎหมายเพิ่มอำนาจบางอย่างไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้การปราบปราม การกระทำผิดอาญาในน่านน้ำไทย ในเรือ หรือเรือบินทะเล หรือในบริเวณท่าเรือ สำหรับเรือซึ่งออกไปสู่หรือเข้ามาจากทะเลได้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพสมความ มุ่งหมายของทางการ

Share the Post: