ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การกระทำอันเป็นโจรสลัด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและ ปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด พ.ศ. 2534“
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2534/240/89พ/29 ธันวาคม 2534]
มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่บัญญัติไว้ แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“เจ้าหน้าที่ทหารเรือ” หมายความว่า นายทหารเรือประจำการ ชั้นสัญญาบัตรซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมเรือ ผู้บังคับการเรือ ผู้บังคับหมู่เรือ ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองเรือ ผู้บัญชาการหน่วย บัญชาการนาวิกโยธิน ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือ ตำแหน่งอื่นที่ผู้บัญชาการทหารเรือได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เทียบเท่า กับตำแหน่งดังกล่าว และนายทหารเรือประจำการชั้นสัญญาบัตรซึ่งผู้บัญชาการ ทหารเรือได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“กระทำการอันเป็นโจรสลัด” หมายความว่า
(ก) ยึด หรือเข้าควบคุมเรือลำใด โดยใช้กำลังหรือโดยขู่เข็ญว่า จะกระทำอันตรายต่อเรือ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้ กำลังประทุษร้ายต่อบุคคลในเรือนั้น
(ข) ทำลายเรือ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เรือ หรือกระทำด้วย ประการใด ๆ อันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่เรือ
(ค) หน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่น ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย หรือ
(ง) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวงหรือในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไม่ว่าจะเป็นของ ประเทศใด โดยบุคคลในเรือเอกชนหรืออากาศยานเอกชนลำหนึ่งต่อเรือบุคคล หรือทรัพย์สินในเรืออีกลำหนึ่ง และได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ ผู้กระทำนั้น
“เรือเอกชนหรืออากาศยานเอกชน” หมายความรวมถึง เรือรบ เรือของรัฐบาล หรืออากาศยานของรัฐบาล ที่ถูกยึดหรือเข้าควบคุมโดยบุคคล ประจำเรือหรืออากาศยานนั้น ซึ่งก่อการกำเริบหรือถูกยึดหรือเข้าควบคุมโดย บุคคลอื่นด้วย
“สืบสวนสอบสวนเบื้องต้น” หมายความว่า แสวงหาข้อเท็จจริงและ หลักฐาน รวบรวมพยานหลักฐาน หรือดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารเรือได้กระทำไปเกี่ยวกับการกระทำ อันเป็นโจรสลัด เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือทราบรายละเอียดแห่ง ความผิดหรือพิสูจน์ความผิด หรือเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาส่งมอบ ให้แก่พนักงานสอบสวนต่อไป
มาตรา 5 ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจดำเนินการตามความ จำเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด รวมทั้งมีอำนาจ สืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด และให้ถือว่า การสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นที่ทำไว้เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 6 ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจตรวจสอบเรือหรือ อากาศยานที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีหรือได้มีการกระทำอันเป็นโจรสลัด โดยให้มีอำนาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเรือหรืออากาศยานในบังคับบัญชาไปยังเรือที่ต้องสงสัยนั้น เพื่อตรวจสอบเอกสารที่แสดงสิทธิในการชักธง หากยังมีความสงสัยอยู่ ก็ให้ดำเนินการตรวจค้นบนเรือนั้นต่อไปได้เท่าที่จำเป็น
(2) สอบถาม และตรวจพิสูจน์สัญชาติและทะเบียนของอากาศยาน ที่ต้องสงสัย
รวมทั้งการปฏิบัติตามแผนการบินและรายละเอียดเกี่ยวกับ อากาศยานนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม (1) หรือ (2) ให้เจ้าหน้าที่ ทหารเรือมีอำนาจสั่งหรือบังคับให้เรือหรืออากาศยานที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีหรือได้มีการกระทำอันเป็นโจรสลัด หยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งใดแห่งหนึ่ง และในกรณีจำเป็น อาจใช้ อาวุธบังคับได้ การตรวจสอบสิทธิในการชักธงของเรือ การสอบถามและตรวจพิสูจน์ สัญชาติและทะเบียนของอากาศยาน การสั่งหรือบังคับให้เรือหรืออากาศยาน หยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งใด แห่งหนึ่ง ให้กระทำโดยใช้อาณัติสัญญาณตามที่ผู้บัญชาการทหารเรือประกาศ กำหนดในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 7 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือสั่งหรือบังคับให้เรือหรืออากาศยาน หยุดหรือไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งใดแห่งหนึ่งตามมาตรา 6 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจปฏิบัติต่อเรือหรือ อากาศยานและบุคคลในเรือหรืออากาศยานนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ตรวจค้นเรือหรืออากาศยาน
(2) สืบสวนสอบสวนเบื้องต้นผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน และบุคคล ในเรือหรืออากาศยาน
(3) ถ้าการตรวจค้นเรือหรืออากาศยานหรือการสืบสวนสอบสวน เบื้องต้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีหรือได้มีการกระทำอันเป็นโจรสลัด ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจจับกุมและควบคุมผู้ต้องสงสัย ตลอดจนควบคุม เรือหรืออากาศยาน และสิ่งของที่จะใช้หรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด ห้ามมิให้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน ผู้ควบคุมเรือหรืออากาศยาน หรือบุคคลในเรือหรืออากาศยาน ไว้เกินความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
มาตรา 8 ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน เบื้องต้นหรือการสอบสวน เจ้าหน้าที่ทหารเรือหรือพนักงานสอบสวนมีอำนาจ ควบคุมเรือหรืออากาศยานที่ถูกควบคุมผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไม่ว่าจะ เป็นของประเทศใด หรือทะเลหลวง ไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ โดยผู้ใด จะอ้างเหตุดังกล่าวมาร้องขอให้ปล่อยเรือหรืออากาศยานที่ถูกควบคุมนั้น ไม่ได้
มาตรา 9 ถ้าการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นไม่ปรากฏว่าผู้ควบคุม เรือหรืออากาศยานและบุคคลในเรือหรืออากาศยานได้กระทำการอันเป็นโจรสลัด ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือปล่อยเรือหรืออากาศยาน และผู้ควบคุมเรือ หรืออากาศยาน ตลอดจนบุคคลในเรือหรืออากาศยานนั้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือได้ควบคุมหรือยึดเรือหรืออากาศยาน หรือสิ่งของอื่นโดยมีเหตุอันสมควร ค่าภาระหรือค่าใช้จ่ายอันเกิดจาก การเก็บรักษาเรือหรืออากาศยานหรือสิ่งของดังกล่าวไว้ ถ้าเป็นค่าภาระ หรือค่าใช้จ่ายที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องจัดให้มีหรือใช้จ่ายอยู่แล้ว ตามปกติ ให้ผู้ควบคุม ผู้ครอบครอง หรือเจ้าของเรือหรืออากาศยานเป็น ผู้รับผิดชอบ
มาตรา 10 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเรือได้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น ตามมาตรา 7 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือจัดส่งผู้ต้องหาพร้อมด้วยเรือ หรืออากาศยาน และสิ่งของที่ยึดไว้และบันทึกทั้งปวงที่เกี่ยวข้องในคดีที่ทำไว้ ไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้บัญชาการทหารเรือและอธิบดีกรมตำรวจ ร่วมกันกำหนดโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ในกรณีที่เป็นเรือหรืออากาศยานหรือ สิ่งของอื่นที่พนักงานสอบสวนไม่อาจเก็บรักษาไว้ได้ ให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือ ยึดไว้แทนพนักงานสอบสวน
มาตรา 11 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าหน้าที่ ทหารเรือไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่ จะได้กระทำโดยจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง
มาตรา 12 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าหน้าที่ ทหารเรือมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 13 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือจัดส่งผู้ต้องหาให้พนักงาน สอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป มิให้นับระยะเวลาควบคุมผู้ต้องหา ซึ่งได้กระทำมาก่อนนั้นเป็นเวลาควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน สามสิบวัน หากมีความจำเป็นต้องใช้เวลาเกินกว่าสามสิบวัน ให้เจ้าหน้าที่ ทหารเรือติดต่อขอรับอนุมัติจากผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อขยายเวลาออกไปอีก ได้เท่าที่จำเป็นแก่การเดินทาง ในกรณีที่นำตัวผู้ต้องหามาถึงที่ทำการของเจ้าหน้าที่ทหารเรือแห่งใด แห่งหนึ่ง หรือมีการจัดส่งผู้ต้องหาให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือซึ่งประจำการอยู่ บนฝั่งแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารเรือจะควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้อีกไม่เกินสิบสองวัน นับแต่วันที่มาถึงที่ทำการหรือที่ประจำการซึ่งอยู่บนฝั่ง แต่มิให้นับเวลาเดินทาง ตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนรวมเข้าในระยะเวลาสิบสองวัน ดังกล่าว
มาตรา 14 ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ชำระ ที่ศาลอาญา แต่ถ้าการสอบสวนได้กระทำในท้องที่ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย ถ้าเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญ ศาลทหาร ให้ชำระที่ศาลทหารกรุงเทพ แต่ถ้าการสอบสวนได้กระทำในท้องที่ ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารใด ให้ชำระที่ศาลทหารนั้นได้ด้วย
มาตรา 15 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัด โดยยึดหรือเข้าควบคุม เรือโดยใช้กำลังหรือโดยขู่เข็ญว่าจะกระทำอันตรายต่อเรือ หรือโดยใช้กำลัง ประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อบุคคลในเรือนั้น ต้องระวาง โทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา 16 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัด โดยทำลายเรือต้อง ระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 17 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัด โดยทำให้เกิดความ เสียหายแก่เรือจนเรือนั้นอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึง เจ็ดหมื่นบาท
มาตรา 18 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัด โดยทำให้เกิด ความเสียหายแก่เรือ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันน่าจะเป็นเหตุให้เกิด ความเสียหายแก่เรือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับ ไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 19 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัด โดยหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึง หนึ่งแสนบาท
มาตรา 20 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัด โดยชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 21 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 15 ถึงมาตรา 20 ได้กระทำโดยข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน โดยขู่เข็ญด้วย ประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถ ขัดขืนได้ หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ผู้กระทำต้อง ระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และ ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 22 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 15 ถึงมาตรา 20 ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือ จิตใจ ใช้อาวุธ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้อง ระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และ ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 23 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 15 ถึงมาตรา 20 ได้กระทำจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับ ตั้งแต่หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 24 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 15 ถึงมาตรา 20 ได้กระทำจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ ประหารชีวิต
มาตรา 25 ผู้ใดกระทำการอันเป็นโจรสลัดโดยใช้เรือรบ เรือ ของรัฐบาลหรืออากาศยานของรัฐบาลซึ่งตนได้เข้ายึดหรือเข้าควบคุม หรือ โดยกระทำต่อเรือของรัฐบาล ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่ บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 26 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
มาตรา 27 ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ
มาตรา 28 ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และให้นำมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับแก่การสอบสวนคดีโดยอนุโลม ในกรณีจำเป็น ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือ นำผู้ต้องหาไปส่งตามมาตรา 10 มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจาก อัยการสูงสุด
มาตรา 29 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ของแต่ละกระทรวง
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลตำรวจเอก เภา สารสิน
รองนายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:– เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด หรือการปล้นทรัพย์ทางทะเล ทั้งในน่านน้ำอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และทะเลหลวง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ ในการตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำ ความผิด ตลอดจนการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังกล่าว ประกอบกับตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและทางปฏิบัติของ นานาประเทศ ยอมให้ทุกรัฐขยายเขตอำนาจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปราม การกระทำอันเป็นโจรสลัดออกไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและทะเลหลวงได้ ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือมีอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการ กระทำอันเป็นโจรสลัด และสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศและ ทางปฏิบัติของนานาประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้