ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522
เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522“
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [รก.2522/74/1พ./9 พฤษภาคม 2522]
มาตรา 3 ให้ยกเลิก
(1) พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามา ในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พุทธศักราช 2482
(2) พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามา ในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2487
(3) พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามา ในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2490
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วใน พระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“ส่งออก” หมายความว่า นำหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการซึ่งรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ในกรณีที่จำเป็นหรือสมควรเพื่อความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ สาธารณประโยชน์ การสาธารณสุข ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์ อื่นใดของรัฐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยอนุมัติของ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกหรือ ในการนำเข้า
(2) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออก หรือในการนำเข้า
(3) กำหนดประเภท ชนิด คุณภาพ มาตรฐาน จำนวน ปริมาตร ขนาด น้ำหนัก ราคา ชื่อที่ใช้ในทางการค้า ตรา เครื่องหมายการค้า ถิ่นกำเนิด สำหรับสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า ตลอดจนกำหนดประเทศ ที่ส่งไปหรือประเทศที่ส่งมาซึ่งสินค้าดังกล่าว
(4) กำหนดประเภทและชนิดของสินค้าที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม พิเศษในการส่งออกหรือในการนำเข้า
(5) กำหนดให้สินค้าใดที่ส่งออกหรือนำเข้าเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือ รับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองคุณภาพสินค้า หรือหนังสือรับรอง อื่นใดตามความตกลงหรือประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ
(6) กำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบ ในการส่งออกหรือการนำเข้าตามพระราชบัญญัตินี้
การแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศตามมาตรานี้ ให้นำความ ในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยอนุมัติของ คณะรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ รวมทั้งแก้ไข เพิ่มเติมหรือยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกหรือในการ นำเข้า ค่าธรรมเนียมพิเศษจะกำหนดเป็นเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ ระเบียบการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษ ให้เป็น ไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนด
มาตรา 7 เมื่อได้มีประกาศกำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้อง ขออนุญาตในการส่งออกหรือในการนำเข้าตาม มาตรา 5 (2) แล้ว ห้ามมิให้ ผู้ใดส่งออกหรือนำเข้าซึ่งสินค้านั้น เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการ การค้าต่างประเทศ เรียกโดยย่อว่า กคต. ประกอบด้วยปลัดกระทรวง พาณิชย์เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรม พาณิชย์สัมพันธ์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมเศรษฐกิจ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นกรรมการและเลขานุการ และ กคต. จะแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ในหน้าที่ของ กคต.
มาตรา 9 ให้ กคต. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) วางข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานของ กคต. โดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
(2) ศึกษาวิเคราะห์และวิจัย เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเสนอโครงการ แผนงาน หรือมาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุง ภาวะการค้าระหว่างประเทศต่อรัฐมนตรี
(3) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 10 การประชุมของ กคต. ต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา 11 การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียง เท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 12 กคต. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำกิจการ หรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการได้ ให้นำ มาตรา 10 และ มาตรา 11 มาใช้บังคับแก่การประชุมของ คณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
มาตรา 13 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์ เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เรียกว่า กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วยเงินและ ทรัพย์สินอื่น ดังต่อไปนี้
(1) ค่าธรรมเนียมพิเศษตาม มาตรา 6
(2) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ได้รับจากรัฐบาลหรือจากแหล่งต่าง ๆ ภายในประเทศ หรือต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลอื่น
(3) ดอกผลของเงินกองทุน
เงินและทรัพย์สินอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเข้ากองทุนโดยไม่ต้อง นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หลักเกณฑ์และวิธีการ การบริหารกองทุน และการจัดสรรเงิน กองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
มาตรา 14 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจนำเงินกองทุนไปหาดอกผลได้โดยการฝากออมทรัพย์ หรือฝากประจำกับธนาคารที่เป็น รัฐวิสาหกิจหรือซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล
มาตรา 15 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา กำหนดท่าหรือที่แห่งใดในราชอาณาจักรเป็นที่ที่จะต้อง ส่งออกหรือนำเข้าตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 16 บทกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร และอำนาจพนักงาน ศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ในส่วนที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกัน การลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของ หรือการจับกุมผู้กระทำ ความผิด การสำแดงเท็จ และการฟ้องร้อง ให้ใช้บังคับแก่การส่งออกหรือการ นำเข้าตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
มาตรา 17 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต หรือสถานที่เก็บสินค้า หรือยานพาหนะของผู้ประกอบการส่งออกหรือนำเข้าหรือของบุคคลใดในเวลา ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจค้นสินค้าหรือตรวจสอบเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
(2) เรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากผู้ประกอบการส่งออก หรือนำเข้าหรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
(3) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
(4) สั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชี เอกสาร หรือ หลักฐานอื่นในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำ สมุดบัญชี เอกสารหรือหลักฐาน ดังกล่าวมีประโยชน์แก่การค้นพบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวย ความสะดวกตามสมควร
มาตรา 18 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดใน กฎกระทรวง
มาตรา 19 ในกรณีที่บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการหรือ นอกสถานที่ทำการโดยปกติไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ จะต้องเสียค่า ป่วยการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ตามอัตราที่กำหนด ในกฎกระทรวง และจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่เท่าที่ จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง
มาตรา 20 ผู้ใดส่งออกหรือนำเข้าซึ่งสินค้าต้องห้ามตาม มาตรา 5 (1) หรือฝ่าฝืน มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือ ปรับเป็นเงินห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับกับให้ริบ สินค้ารวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใด ๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าซึ่ง เกี่ยวเนื่องกับความผิดรวมทั้งพาหนะที่ใช้ลากจูงพาหนะบรรทุกสินค้านั้นเสีย ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบ และเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละ ยี่สิบห้าของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบ ของกลาง หรือของกลางไม่อาจขายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระ ต่อศาล ในกรณีที่ไม่มีผู้นำจับให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบของ จำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลาง หรือของกลางไม่อาจขายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล ในกรณีที่ผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีหลายคน ให้แบ่งจ่าย เงินสินบน หรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละเท่า ๆ กัน ในกรณีที่จับของกลางได้ แต่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลาง ที่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่เกินอัตราที่กำหนดในมาตรานี้
มาตรา 21 ผู้ใดส่งออกหรือนำเข้าโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมพิเศษ ตาม มาตรา 6 หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ตนเสียค่าธรรมเนียม พิเศษน้อยกว่าที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศซึ่งออกตาม มาตรา 5 (3) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 23 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 17 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตาม มาตรา 17 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 24 บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งออก ไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่างที่ใช้บังคับอยู่ก่อน วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือ แย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวง ประกาศ หรือ ระเบียบ ที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 25 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกิน อัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ กำหนดกิจการอื่นและออกประกาศเพื่อปฏิบัติ การตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส.โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี
อัตราค่าธรรมเนียม
(1) คำร้อง ฉบับละ 20 บาท
(2) ใบอนุญาตส่งออกหรือนำเข้า ฉบับละ 50 บาท
(3) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองคุณภาพสินค้า หรือหนังสือรับรองอื่น ตาม มาตรา 5 (5) ฉบับละ 100 บาท
(4) คัดสำเนาหรือถ่ายเอกสาร หน้าละ 10 บาท
(5) รับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ 50 บาท
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าบางอย่าง พุทธศักราช 2482 ได้ประกาศใช้มานานแล้ว สมควร ปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบัน และโดยที่เป็น การสมควรให้รัฐบาลมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับสินค้า บางประเภทที่จะส่งออกไปนอกหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร กับให้มีอำนาจ ในการดำเนินการจัดระเบียบการค้ากับต่างประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ เรียบร้อยเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ และก่อให้เกิด ความเชื่อถือแก่นานาประเทศยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น