marinerthai

“ นิทานชาวเรือ ” ตอนที่ ๑

โดย : ทะเลงาม

ชีวิตคนเราจะยืนยาว นับวันที่จะหายากลง ที่ใครจะสามารถสูดลมหายใจ ผจญภัย หรือแสวงหาความสุขได้นาน ถึง 36,500 วัน อายุเฉลี่ยของ ชายไทยส่วนใหญ่ คงไม่ ค่อยเกิน 30,000 วัน “ไม่ตายวันนี้ ก็คงไปซี้ ในวันข้างหน้า” เพลงของเสด็จเตี่ย คงเป็นสัจธรรม เพราะความเปรอะเปื้อน แห่งมลภาวะที่เพิ่มในอากาศ มากขึ้น ด้วยความสามารถในการป้องกันและขจัด มีไม่เพียงพอ รวมกับความละโมภ ที่พยายามรีบ ตักตวง เอาความสุขไปจากประเทศนี้ ฉนั้น ท่านที่กำลังจะเกษียรอายุ คือผ่านหลัก 21,900 วัน มาแล้ว เมื่อมานั่ง ดูจำนวนวันที่ เหลือ ที่จะลืมตาดูโลก ได้ไม่ถึง 10,000 วัน ก็น่าใจหาย และก็คงจะต้องพยายามใช้เวลาที่เหลือกันอย่างรอบคอบ และให้มีประโยชน์ ต่อสังคม เพื่อนฝูง และเมื่อมีท่านผู้มีเกียรติโดยเฉพาะที่ผ่านชีวิตในเรือที่ผ่านวิกฤติสารพัดอย่าง มาถึง เกณฑ์ระดับสูงๆ ในวันนี้ ได้มีโอกาสมานั่งร่วมวงคุยสนทนาถูกคอกัน ก็หนีไม่พ้นที่จะ มักจะนำเอาเรื่องเก่า ๆ ขุดคุ้ยมาพูดกัน อย่างสนุกสนาน นัยหนึ่งเสมือนว่าเพื่อ แสดงให้เห็น ว่า พลังสมองของแต่ละท่าน ว่ายังมีสมรรถภาพ และไม่ถูกใครต่อใคร หาว่าเป็นโรคความจำเสื่อม หรือมิฉนั้นก็มาเปรียบเทียบกันว่าใครจะเสื่อม ถอยลงไป มากกว่ากัน

เมื่อเอ่ยชื่อ ว่าเป็น นิทาน !! คงคิดกัน ไปว่า น่าจะเป็นแบบนิทานอีสป แบบชาวนากับงูเห่า หรือเรื่องราวในพงสาวดาร ปะรำปะรา แต่นิทานที่ท่านจะพบต่อไป คงน่าจะเป็น เรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตมากกว่า ฉะนั้น อาจจะหนีการอ้างชื่อ ท่านผู้มีเกียรติที่ ให้เกียรติ เข้ามาร่วมวง และท่านผู้อื่น ที่ไม่ร่วมในวง ที่จำต้องอ้างถึง ซึ่งตามปกติผู้เขียนก็จะต้องน้อมรับความผิดอยู่แล้ว ถ้าหากทำให้ท่านเสียหาย เรื่องที่นำ มาคุยกันและ ผู้เขียนเองนำมาถ่ายทอด ส่วนใหญ่คงเป็นเรื่องเบาสมอง และอาจจะสอดแทรกเรื่องราวที่มีสาระ และได้รับการยืนยันจากวงสนทนา ซึ่งอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็จะมีการแก้ข่าวและนำมาเขียนเป็นนิทานเรื่องใหม่โต้ตอบกันไปก็ได้ สมัยที่ผู้เขียน เป็นนักเรียนนายเรือ ก็เคยอ่าน นิทานในนาวิกศาสตร์ คุณครูที่เขียนนิทานเก่งในสมัยนั้น ที่จำได้ คือ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี ท่านมีเรื่อง มาเล่าหลายเรื่อง ทำให้ได้เกร็ดความรู้มากในสมัยนั้น ส่วนนิทานที่เล่าให้ฟังแบบล้อมวงก็คง เป็นของคุณครู พลเรือเอก ประเทือง วงศ์จันทร์ ซึ่งท่านจะเล่าให้ฟังแบบที่ ตาไม่กระพริบกันเลยทีเดียว ส่วนเรื่องเอกอื่นๆ คงหนีเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านคุณครู พลเรือตรี เฉลิม สถิรถาวร ซึ่งท่านจากพวกเรา เร็วเกินไป

ต้นเดือนเมษายน ผู้เขียนได้รับเชิญจาก นาวิกศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติ ในการรับเข็ม และโล่ห์และสังสรรค์ กันในระหว่างสมาชิกประจำปี 2543 คุณครูที่ผู้เขียนจะขอนำมากล่าวในที่นี้ หรือทำหน้าที่เป็น องค์นิทาน คือ พลเรือเอก จงกล โฉมทองดี ซึ่งท่านกรุณาอนุญาตให้ลิขสิทธิ์ แก่ผู้เขียนแล้ว ท่านจะมาเล่าเรื่อง “ 52 ชั่วโมง นรก ที่ เกาะกวม ” ถ้าท่านผู้อ่าน จำท่านได้ คงนึกภาพ ท่านนายพลเรือ รูปร่างเล็กผู้นี้ได้ สมัยก่อน มีไม่มาก และถ้าหลงไปประจำอยู่ กองเรือปราบเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ก็มักจะถูกประจำ เรือ ปร.ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 1 …. และถ้ายังมีเรือดำน้ำประจำการอยู่ ท่านอาจจะ ต้องไปอยู่ เรือดำน้ำก็ได้ ท่านเริ่มงานของท่านในการเป็น ผู้บังคับการเรือ ปร. 1… และท่านก็อธิบายว่า ปกติเรือเล็กๆเหล่านี้ สหรัฐฯนาวีมีไว้เพื่อ ออกไปทำงานเช้าไปเย็นกลับ หรือมิฉะนั้นก็ไปพึ่งเรือธง ที่อาจจะเป็นเรือ ที่ใหญ่กว่าเช่น เรือ พีซี หรือ เรือ ฟริเกต โดยไม่ต้องทำอาหารรับประทานในเรือเอง ท่านเล่าว่าสมัยนั้น คง ราว พ.ศ. 250… ต้นๆ คือสมัยที่ทหารเรือ กำลังบอบช้ำ มาจาก พ.ศ. 2494 ไม่มีเรือใช้ ไม่มีเงิน แต่มีแผนการฝึกมาก จึงพยายามนำเอาเรือเล็กออกทะเลกว้าง ท่านเล่าว่า แต่ก่อนก็ออกฝึกแค่ นอกอ่าวสัตหีบแล้ว เย็นพลบค่ำก็กลับเข้าจอดในอ่าวสัตหีบ เรื่องอาหารก็ ไปขอรับข้าวที่เรือธง อาจจะเป็น ร.ล.ประแสร์ ,ร.ล.ท่าจีน หรือ ร.ล.ปิ่นเกล้า และแล้ว มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยที่ ท่าน พลเรือเอก สงัด ชลออยู่(ล่วงลับไปแล้ว) เป็น ผู้บังคับการกองเรือปราบเรือดำน้ำ ท่านก็ถามความเห็นจาก บรรดาผู้บังคับการ เรือ ปร.เล็ก ๆ ว่าจะพอแล่นฝึกไปเกาะสมุย ไหวไหม ? ซึ่งผู้บังคับการเรือ ปร.1…. สมัยนั้น เช่น ท่าน พลเรือเอก จงกล ฯ เรือเอก สมนึก พัฒนวิบูลย์ (ท่านเป็นนายเรือ “ลานนาไทย” เรือบรรทุกน้ำมัน ของบริษัทไทย ออยล์ จำกัด , พลเรือโท อรรณพ วิยกาญจ์)

และ….. ไม่มีผู้บังคับการเรือคนใดปฏิเสธ จึงเป็นการเริ่มศักราชของการใช้เรือ ปร.1…. ฝึกในอ่าวไทย ตั้งแต่เกาะสมุย ต่อไป สงขลา และในที่สุด ก็ ยัน นราธิวาส และต้องหุงหาอาหารกันเองในเรือ ซึ่งท่านเล่าว่า สาหัสสากรรจ์ และทุลักทุเลไม่น้อย ท่านคงประจำอยู่กับ กองเรือปราบเรือดำน้ำจนกระทั่ง เลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการเรือรบหลวง “ตองปลิว”ซึ่งเป็นเรือประเภท พีซี ที่มี ขนาด ใหญ่กว่า และได้รับคำสั่งให้นำเรือไปซ่อมที่เกาะกวม พลเรือโท ทำนุ เนตรโรจน์ ซึ่งท่านนั่งคนละกราบกับผู้เขียน (นั่งกราบเดียวกัน ไม่ได้ เพราะเรือเอียงแน่ๆ) ท่านก็เสริมว่า สมัยที่ท่านเป็นผู้บังคับการเรือ พีซี ท่านโดน คุณแม่ทำเสียหน้า ตอนเป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงสุครีพโดยที่ คุณแม่นำ ตัวท่าน(ผู้การเรือ)ไปฝากกับสรั่งเรือ ที่มียศเรือเอกเท่ากันในตอนนั้น เพราะสรั่งเรือเป็นลูกน้องของคุณพ่อท่าน (พลเรือเอก อนันต์ เนตรโรจน์ [ล่วงลับไปแล้ว] ) มาก่อน เพราะสมัยก่อนนั้น ผู้บังคับการเรือ นั้นมียศตามอัตรา และวัยอาจอ่อนกว่าสรั่ง ที่เกำกึกกว่า ทั้งหลายได้

คลิกที่ภาพเพื่อดูรายละเอียดของ ร.ล. ตองปลิว

คุณ ครู พลเรือเอก จงกล โฉมทองดี เล่าต่อแบบน้อยใจนิดๆว่า รู้ไหมว่า ? ทางกองทัพเรือให้เงินติดกระเป๋าไปในงานนี้เท่าไร? ให้ไป แค่ 1,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น และบอกว่าทุกอย่างฟรีหมดโดย ทางผู้บังคับบัญชาชี้แจงว่า ทางสหรัฐฯนาวี จะออกเงินให้หมดทุกอย่าง ท่านบอกว่า เมื่อออกเรือไป สิ่งแรกที่ต้องผจญก็คือ เรื่อง ไยโร(Gyro Compass) ล้ม และ พลถือท้าย ถือเข็ม ไล่เข็มแม่เหล็ก ที่เรือ ตอนนั้นพอดี อยู่ตอนปลายแหลมญวน ( ปูเลาว์ โอบี) ท่านเล่าว่า มันเป็นเวลาไกล้ค่ำ ท่านก็ ดูที่เรือดีแล้วว่า กะผ่านทางขวาของเกาะ และเห็นไฟเกาะอย่างแน่ชัด ว่าอยู่ทาง หัวเรือ ซ้าย แต่มีสังหรณ์ อย่างไรไม่ทราบ หลังจากท่านล้มตัวลงนอนและงีบไปสักหน่อย ท่านสังเกตเห็น ไฟเกาะกลับมาอยู่ทางกราบขวา ท่านเลยรีบไปตรวจสอบเข็ม ทิศ ก็เลยถึงบางอ้อ ว่า เข็มทิศไยโรล้ม และนายท้าย ไม่ทราบ และไม่ได้ถือเข็มแม่เหล็ก ที่กำหนดไว้ให้ เพราะ ตอนออกเรือมาได้หมุนเรือหาดิวิเอชั่นไว้แล้ว จึงต้องจัดให้ถือเข็มทิศแม่เหล็ก เมื่อหมดปัญหาท่านก็นำเรือฝ่าคลื่นลม มุ่งตรงไปยัง ท่าเรือ ซูบิค ฟิลลิปปินส์ ท่าน บอกว่า มีอยู่แค่ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ท่าน จึงไม่ค่อยกล้า ขอนำร่อง ทั้งๆที่มารู้ตอนหลังว่า ค่านำร่องของเรือรบได้รับการยกเว้น และท่านก็ต้องไปถูกทวงค่าน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าจะมีการตรวจสอบกลับไปยังสหรัฐฯก็ไม่มีวี่แววว่าจะเติมน้ำมันฟรีได้เลย เดือดร้อน ถึง ท่านต้องติดต่อไปยัง ผช.ทูต ทร.ที่ กรุง มนิลา ซึ่งขณะนั้น พลเรือโทประเสริฐ เดี่ยววาณิช ซึ่งทางท่านผช.ทูตทร. ก็พยายามติดต่อมาทาง JUSMAG ที่ประเทศไทย จนกระทั่งตัวท่านผช.ทูตทร.จำต้องเซ็นชื่อรับหน้าหนี้ค่าน้ำมันไปก่อนจนกว่า จะหาเอกสารยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างเที่ยวด้วย

ในที่สุดท่านก็ แล่นเรือ มายังเกาะ กวม ที่อยู่ห่างกรุงเทพฯ 2,855 ไมล์ โดยเรียบร้อย ท่านเล่าว่า ท่านแฮปปี้ ที่ได้รับบริการซ่อมฟรี จากทางการสหรัฐฯ ทุกท่านในโต๊ะ จีน วันนี้ ซึ่งมีท่าน พลเรือโท พัน รักษ์แก้ว ผู้ที่ผมแอบชื่นชมหุ่นของท่าน ที่สมาร์ท เหลือหลาย ตั้งแต่ ผู้เขียนเรียนอยู่ ชั้น ม.4 และท่านแต่งเครื่องแบบนักเรียนเตรียมนายเรือในราวปี 2494 ที่ท่านเดินตอนเช้าๆแถวยมราช อุรุพงศ์ นักเรียนสาวๆ มองตาเป็นมัน ในวันนี้ ท่านพูดถึงเรื่อง แย้ (สัตว์ ชนิดหนึ่งเหมือน กิ้งก่า) ซึ่งท่านเล่าว่าท่านเป็นชุดล่วงหน้าที่ไปสำรวจภูมิประเทศ สำหรับการฝึกสำรวจหาด ของมนุษย์กบ ผู้เขียนมีโอกาสเป็นต้นหนและต้นปืนเรือรบหลวงสัตกูต ซึ่ง ทุกปีจะถูกจัดไปเป็นเรือพี่เลี้ยงมนุษย์กบ ซึ่งมีอยู่ปีหนึ่งออกสำรวจหาดตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และทำให้ทราบว่าแถวบ้านกรูด (ที่มีเรื่อง การตั้งโรงไฟฟ้า ระบบใช้ถ่านหิน) ,บางเบิด หาดชันดีมากเหมาะกับการสร้างท่าเรือ หรือ เป็น ที่สำหรับตัดทำลายเรือ(Demolition Site) เพราะสามารถให้เรือที่จะนำมาตัด ทำลายเข้าชิดฝั่งได้ง่าย และรัฐฯน่านำเอาข้อได้เปรียบ ทางภูมิศาสตร์ ถึงแม้จะไม่ตลอดปี หรืออาจจะต้องลงทุนระยะยาวของรัฐฯ ในการสร้าง เบรคกั้นคลื่น และเก็บค่าตํง( Port Due)จากผู้ใช้บริการก็น่าจะมีประโยชน์ แต่คงต้องพูดกันยาว กับ อบต. หรือชนในท้องถิ่น และกลุ่ม NGO , นักอนุรักษ์ ที่มักจะแห่กัน ออกมาคัดค้านแบบหัวชนฝา โดยไม่คิดถึง ความเจริญบางอย่างที่ ประเทศน่าจะได้รับประโยชน์บ้าง และตลาดตัดทำลายเรือ ก็น่าจะหันกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง ขอโทษครับ!! พูดถึง แย้ ที่มนุษย์กบชอบมากในรสชาด ผัดเผ็ดแกล้มสุรา และพวกคนประจำเรือพี่เลี้ยงมนุษย์กบ คงได้รับส่วนบุญเสมอ จึงอยากฝึก ร่วมกับมนุษย์กบ บ่อยๆ แต่ก็มีสลับกับเรือรบหลวงปราบด้วย บางทีก็ถูกย้าย ไปประจำเรือรบหลวง ปราบ ด้วย เพราะเรือจอดติดกัน ที่ฝั่งตรงข้ามกับ ปลายถนน สรรพาวุธบางนาในปัจจุบัน และน่าที่จะเป็นท่าเรือ ข้ามฟากอย่างดี ถ้ามีการตัดถนน ลัดเข้ามา ไม่ใช่มาทำเรือข้ามฟากตรงโค้งพระประแดง ในปัจจุบัน ที่ ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นในยุคใด ที่กรมเจ้าท่ายอมให้ มีการทำกิจการได้ และเมื่อดู การสร้างสะพาน พระรามที่ 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คู่กับสะพานกรุงเทพฯเดิม ก็ ทำให้เห็นว่า เป็นการสร้างเพื่อต้องการให้เรือผ่านเข้าไปถึงสะพานตากสิน ซึ่งเป็น ที่ตั้งของอู่กรุงเทพฯ สะพานใหม่นี้ ชันมาก ทหารเรือชอบใช้ แต่มีอยู่วันหนึ่ง รถลากตู้คอนเทนเนอร์ ลากขึ้นไม่ไหว เบรคมือคงบังคับไม่อยู่ ที่เห็นใช้วิธีชนข้างสะพานเพื่อไม่ให้ถอยลงมา กระผมต้องขอเตือน พวกเราอย่าแล่นตามหลังรถลากตู้ขึ้นสะพานนี้เลย โดยเฉพาะ จากฝั่งพระนคร ไปยังฝั่งธนบุรี ที่รู้สึกว่า มีความชันมากกว่า

ผู้เขียน ทิ้งเรื่อง “ 52 ชั่วโมงนรก ที่เกาะกวม” ของท่าน พลเรือเอก จงกล ฯไป และขอแนะนำอาหารจานโปรด คือปลากระพงนึ่ง ที่รับประทานหมดไปซีกหนึ่ง และไม่มีใคร อยากจะกลับอีกข้างหนึ่งขึ้นมาทาน ผู้เขียน ในฐานะที่ได้ทำพิธี “ซาโยนาระ เดอะ ซี” ( วิธีง่ายๆ ครับ เอาธูปมาจุด หนึ่งดอก แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐาน ว่า ได้ ทำมาหากินในท้องทะเลมานานของจำจากทะเล มาทำงานบนบก ขอให้ทะเล จงคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ เพื่อที่จะได้ไม่ต้อง กลับไปลงเรืออีก) มาแล้วก็รับอาษา กลับปลา ท่านนายพลร่วมโต๊ะ อาทิ พลเรือเอก มานิตย์ ดีมาก พลเรือเอก สวิทย์ คลายนาธร และพลเรือโท ถวิล ธรรมถนอม ซึ่งไม่คิดว่าท่านนายพลที่เอ่ยนามท่านมาจะกลับไปลงทะเลอีก เพราะ ค่อนข้างจะกลายเป็น ธรรมเนียม หรือประเพณี ชาวเรือไทยที่อาจจะเกิดขึ้นใน ศตววษหลัง ที่บางที่ สูญหายตายจากกันไป ในทะเลแบบ ง่ายๆ ค่อนข้างมาก ในช่วงเวลา ห้าสิบปีที่ผ่านมา ที่เมื่อมีการรับประทานปลาแบบกลับตัว แล้วมีบางราย ที่ทำให้ต้องมีอันเป็นไปในทะเล ก็เลย ทำเป็น ถือ กันมา ในวงอาหาร ที่เคยเห็นมา แต่คงไม่มารวมในวงอาหารของเหล่า นายทหารแห่ง ราชนาวีเป็นแน่แท้ แตที่เห็นจริงๆ มีอยู่รายหนึ่งที่น่าเล่าสู่กันฟัง ก็คือ มีกัปตันเรือชาวนอร์เวย์ มาทำงานที่สิงค์โปร์ ได้งานตำแหน่งดี และมีภรรยาสาวเป็นคนสิงค์โปร์(หมวย) เวลาแกนั่งทานเหล้าที่ คลิฟฟอร์ดเปียร์ แกมักจะพูดว่า แกลาทะเลแล้วไม่ต้องลงเรืออีก แต่แล้วในราวต้นๆปี 1970s เศรษฐกิจซบเซา น้ำมันแพง แกเลยต้องลงเรืออีก และพาเมียลงไปด้วย เรือลำนั้นเป็นเรือสินค้าที่แสนเก่า อายุมากกว่า 20 ปั ชื่อ Sentosa Island เรือของกัปตัน นอร์เวย์เข้ารับสินค้า Urea in Bulk คือเป็น ผงยูเรีย (ที่มีคุณสมบัติ ที่เปียกน้ำ หรือโดนความชื้นมาจะแข็งตัวจับกันเป็นก้อน) ที่ท่าเรือ เมือง การ์ตา ในตวันออกกลาง ผู้เขียน อยู่เรือ Kota Abadi เป็นลำที่เข้ารับต่อจาก Sentosa Island เมื่อเรือ Sentosa Island ออกมานอกอ่าวเปอร์เซีย ในทะเลอาเรเบียน ตอนนั้นเป็นเดือน สิงหาคม คลื่นลมไม่แรง แต่ปรากฏว่า เรือ Sentosa Island เอียงข้างเดียวแบบไม่คืนกลับ เพราะ เรือ เก่ามาก ถังน้ำถ่วงเรือทะลุจาก ขวาไปซ้าย หรือ ซ้ายไปขวา เลยทำให้เรือจมลง ลูกเรือส่วนใหญ่ ลงเรือโบตช่วยชีวิตลำแรก ปลอดภัยหมด แต่กัปตันนอร์เวย์และภรรยาสาวลงเรือโบตลำที่สองปรากฏว่า หะเรียลงไม่ทัน หลายคนจมน้ำ และ กัปตันกับภรรยา ก็จมไปกับเรือด้วย และนัยว่ามีคนเห็นว่า ทั้งคู่ ชอบทานปลาแบบยกกลับ ไม่ทายแบบทะลุจากด้านเดียวไป อันนี้ก็เรื่องจริงอิงนิทาน

ท่านพลเรือเอก จงกลฯ เล่าต่อไปว่า ในตอนที่ ซ่อมเรือที่ เกาะกวม มีอยู่วันหนึ่งถูกเรียกไปประชุมด่วน ผู้เข้าประชุม คือ ผบ.เรือทั้งหมด และประธานในที่ประชุมก็แจ้งให้ทราบว่า จะมีพายุลมแรงและ อาจจะรุนแรงถึงขั้น ไต้ฝุ่น จึงขอให้เรือทั้งหมด ออกจากท่า เพื่อไปลอยลำโต้คลื่นในทะเล เพราะหากอยู่ในท่าอาจจะถูกคลื่นกระแทกจมในท่า หรือเสียหายมากขึ้นได้ ท่านกล่าวว่าในที่ประชุมมีการถกเถียงกันพอสมควร เป็นต้นว่า ผบ.เรือรบสหรัฐฯ บางลำ ไม่ค่อยเชื่อว่า จะมีพายุมาจริงเพราะ ออกไปลอยลำเก้อมาหลายครั้งแล้ว แต่ในที่สุด ผบ.เรือทุกลำก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับหน่วย แต่ตัวท่านเอง ต้องมาเจอศึกในบ้านตัวเอง กล่าวคือ ต้นกลเรือ ท่านจำชื่อไม่ได้ (หากท่านอ่านกรุณาแสดงตัวด้วยจะสนุกดีครับ) ไม่ต้องการออกเรือ เพราะเครื่องจักรใหญ่ไม่ดี เครื่องไฟฟ้าไม่พร้อม แต่ท่าน ก็ต้องชักแม่น้ำทั้งห้า มาอธิบาย รวมทั้งตัวอย่างของเรือพีซีอื่นสองลำที่จมอยู่ใกล้ๆ และมี นายทหารเรืออาวุโสพรรคกลินที่ทางกรมอู่ส่งไปช่วยยินดีที่จะออกไปกับเรือด้วย ต้นกลท่านจึง ยอมออกเรือไปด้วย เมื่อออกเรือไป จะมี เรือพี่เลี้ยงร่วมไปด้วยซึ่งเป็นเรือพิฆาต สหรัฐ ฯ ท่านว่า คลื่นรุนแรงมาก ท่านคงแล่นตาม เรือพิฆาตสหรัฐฯที่อยู่ข้างหน้า เรดาร์ก็ใช้งานยังไม่ได้ กลางคืนเห็นไฟริบหรี่ ระยะห่างคงไม่มาก เพราะต้องการให้เห็นกันด้วยตา หรือเรดาร์จากเรือพิฆาต เวลาผ่านไปทีละชั่วโมงๆ ท่านเล่าว่า ใช้เครื่องเบามาก และตามเรือสหรัฐฯ ไปเรื่อยๆ มีอยู่คืนหนึ่ง นายยามมาปลุกท่านว่าทำไมเรือสหรัฐฯ ลำหน้ากลับลำ สวนทางมา ท่านเองก็สงสัย เลยพูดทางวิทยุ และพอทางเรือรบสหรัฐฯ ได้ยินเสียง เรือไทย ก็กลับลำแล่น ฝานคลื่นเบาๆ กลับ ไปในทิศเดิม จนกระทั่ง ไต่ฝุ่นผ่านไป และเรือทุกแล่นกลับฐานทัพ ท่านเล่าว่า พอเรือเข้าเทียบท่า ท่าน เห็น ผบ.เรือ พิฆาตสหรัฐฯ มายืนคอยอยู่ ณ บริเวณที่เรือจะเข้าไปเทียบ ท่านบอกว่า สงสัยและแปลกใจว่า เหตุใดไฉนหนอ ท่าน ผบ.เรือสหรัฐฯ คำแรกที่ท่านได้ยินจาก ผบ.เรือพิฆาต ก็คือ เขาแสดงความยินดีที่ เรือไม่โดนกัน ตอนช่วงที่เขากลับลำ เพราะเขากลับลำมาเพื่อ Search เรือรบหลวง ตองปลิว โดยที่เรดาร์ของเรือเขาจับเป้าไม่ได้และคิดว่า เรือตองปลิวจมไปแล้ว เขาจึงมาแสดงความดีใจที่รอดชีวิตมาได้ กลับเป็นเช่นนั้นไป!!!

ท่าน ชื่นชมมาก กับการซ่อมเรือ และการโดนคลื่นฟัดเอาในครั้งนั้น ท่านบอกว่าเห็นสีเรือสวยๆ ที่สีเทาถูกลอกออกไป และชมว่าคุณภาพของสีใช้ได้ นอกจากนั้น ท่านยังได้ เก็บเอกสารที่จำเป็นต่างที่เป็นข่าวสารที่น่ารู้ จัดทำเป็นรายงาน ซึ่งเรือลำต่อไปที่ไปซ่อมที่เกาะกวมไม่ต้องมีความกังวลใจอีกต่อไป (ถ้าท่านดู ทีวี ที่เกี่ยวกับการลงไปดูซากเรือ Titanic โดยใช้กล้อง วิดีโอ และเรือดำน้ำเล็กๆ ที่จมมา 88 ปีแล้วก็ยังมีสีเหลืองที่ทาไว้สดใสอยู่ ) ท่านเล่าจบ ก็พอดีกับ บะหมี่หมูแดง ส่งเข้ามาพอดี และก็มีการแจกถ้วยขนมหวาน

เมื่อเวลายังเหลือ ผู้เขียน ขอเล่าต่อ ด้วย นิทานอิงเรื่องจริงปิดท้าย ขอใช้ชื่อเรื่องว่า “ 72 ชั่วโมง ในเบงกอล & Do-Nothing Theory ” จำได้แม่นเพราะเป็นวันที่ 4 ธ.ค. 1974 (2517) และเป็นสัปดาห์ สุดท้ายของ พายุไซโคลนที่ปกติมีปีละ 5-6 ครั้ง จาก สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน จนถึง สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ผู้เขียน ทำงานเป็น Port Captain ประจำอู่เรือ แห่งหนึ่ง ในประเทศ สิงค์โปร์ มีหน้าที่นำเรือต่างๆ ของบริษัท ในเที่ยวเรือที่เดินระหว่างประเทศ (International Voyage) ในตอนนั้นมีคำสั่งให้เดินทางไปนำเรือ ประเภท Supply Vessel ชื่อ Oceanic Mariner ขนาดยาว 19 เมตร ใช้เครื่อง Caterpillar 2 เครื่อง มีเครื่องไฟฟ้า 1 เครื่อง ลาก Barge ขนาดยาว 90 ฟุต จาก เมืองท่า Mongla ตอนใต้ของประเทศ บังคลาเทศ มายังสิงค์โปร์ ปกติผู้เขียนจะมีพระเครื่อง คล้องอย่างน้อยก็ 7 อาจารย์ที่ ห้อยบนคอ แต่เที่ยวนี้ มาแวะบ้านที่กรุงเทพฯเลยลืมทิ้งไว้ หลังจากออกเรือและศึกษาเส้นทาง ตามที่เจ้าท่าที่เมืองท่า Mongla บังคลาเทศ ว่ามี ไซโคลนลูกที่ห้า อยู่ใกล้ ๆ เกาะซีลอน(ศรีลังกา) และกำลังจะสลายตัว ก็ทำให้ใจสบายและคิดว่าคงเดินทางได้แบบหมูๆ เพราะปีนี้คงมี ไซโคลนมาเยือนเบงกอลเพียง ห้าลูกเท่านั้น หลังจากออกทะเลก็แล่นตัด มายัง แหลมอีระวดี ฝั่งประเทศพม่า และพยายามออกให้พ้นแนวน้ำตื้น ก้นอ่าวเบงกอล นอนสบายได้ วัน หนึ่ง กับครึ่งคืน(กลางคืนวันที่ 5 ธ.ค.) ลมแรงขึ้น บาโรมิเตอร์ ตกลงเข้าหาระดับ 1000 มิลลิบาร์ และทะเลแรงมากขึ้นในที่สุด(เช้าวันที่ 6) ต้องสั่งให้ตัด Barge ทิ้งไป เมื่อ บาโรมิเตอร์ ลดลงจนถึง 995 มิลิบาร์ ลมแรงคลื่นสูง เรือ โคลง ด้วยคลื่นที่ กระหน่ำเข้ามาทุกทิศทาง ต้นเรือที่เป็น ชาวมาเลเซีย ชื่อ ฮุสเซน ให้ความเห็นว่าควรนำเรือเข้าหลบที่เมืองท่า Chittagong ซึ่งผู้เขียนปฏิเศธ และ ตัดสินใจ หัน หัวเรือออกทะเลลึก เพราะ กว่าจะถึง Chittagong ก็จะโดนคลื่นน้ำตื้นตีจยเรือคว่ำแน่ๆ ขวัญที่เคยมีเมื่อมีพระอยู่ที่คอก็ไม่มี คงมีแต่จิตใจที่ยึดมั่นในเสด็จเตี่ย และ นึกคิดถึงตำราเรียนที่ เคยผ่านตามา ซึ่งมีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ได้ท่องจำ ไว้ ตอนที่เรียน โรงเรียนนายทหารเรือชั้นต้น คือ Do-Nothing Theory ในหนังสือ Naval Shiphandling โดย Captain R.S. Crenshaw Jr., USN. ในหน้า 113 แก่นแท้ของ ทฤษฏีนั้น มีว่า “ at the centre of a hurricane or typhoon the seas come from any and all directions and under such confused conditions the best thing to do is to stop the engines and let the ship drift with the forces . ”

แต่ ….นะครับ ท่านว่าเหมาะกับเรือบางประเภทเท่านั้น และไม่แนะนำสำหรับเรือพิฆาต แต่สำหรับผู้เขียน หลังจาก เก็บลูกเรือ เก้า คนที่เหลือ ใส่เสื้อชูชีพและผูกติดกัน และผูกไว้ด้วยเชือกนำเพียงเส้นเดียวเพื่อตัดปล่อยโดยง่าย ตอนค่ำวันที่ 7 ธ.ค. บาโรมิเตอร์ลดลงต่ำสุดแค่ 992 เรือตกล่องคลื่นสูงเหมือนเหวลึก ปลาอินทรีย์ ว่ายมาชนไฟฉายเรือสลบนิ่ง ตกอยู่ข้างสพานเดินเรือต่อหน้าต่อตา แต่ไม่มีปัญญาไปจับมา ต้องอโหสิ ตรวจน้ำไปให้ ก่อนเที่ยงคืน บาโรมิเตอร์เงยหัวมากขึ้นเป็น 994 เหลือเพียง ต้นเรือ มาเลย์ และต้นกลชาวจีนสิงคโปร์ที่คอยเข้ายามไม่ให้เครื่องดับ และไม่เดินหน้า เพียงแต่ ใช้เครื่องแต่งเรือให้ทรงตัวอยู่ และอากาศดีขึ้นตอนเช้าวันที่ 8 ธ.ค.ฟังวิทยุ Radio Australia ออกข่าวว่ามีชาวประมงบังคลาเทศ หายไปถึง 1,200 คน และถือว่าเป็นไซโคลนที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทะเลดีขึ้น ค่อยๆ ปลุกลูกเรือที่ค่อยๆฟื้นขึ้นมา ทีละคนและแปลกดีครับ ตอนชั่วโมงตื่นเต้นไม่มีใครทานข้าวหรือเข้าห้องน้ำเลย เมื่อสำรวจความเสียหาย ต้นเรือฮุสเซน รายงานถึงสภาพของเรือ อาทิสมอตกน้ำหมดสองตัว เสาและเรดาร์ที่คิดอยู่หักม้วนลงมา และเสบียงเหลือเพียง แพะขาเดียวกับเส้นหมี่จำนวนหนึ่ง และอาหารกระป๋องส่วนข้าวเปียกน้ำทะเลหมด เมื่อคิดกันดูแล้ว คง สู้ต่อไปให้ถึงสิงค์โปร์ได้ โดยไม่ต้องแวะเติมเสบียงที่ใด และเมื่อสืบประวัติดูแล้ว ห้า ในเก้าของลูกเรือมีประวัติโชกโชนในการเจอพายุร้ายมาทั้งนั้น และเขาเหล่านั้น คิดว่าคราวนี้ ตายไปแล้ว และร่วมสาบานกันว่าจะไม่มาทำงานเรือกันอีก

คงหมดสมัย ของความน่ากลัวแบบที่กล่าวมาแล้ว เพราะ กฏ SOLAS (Safety Of Life at Sea) ในปัจจุบัน ได้ บังคับให้เรือต่างๆ ต้องติด NAVTEX ซึ่งจะแจ้งข่าวอากาศให้กับนักเดินเรือ และเป็นที่กล่าวกันในปัจจุบันว่า ไม่มีนักเดินเรือหน้าโง่คนใด ที่จะนำเรือไปสู้กับพายุร้ายใน ที่รู้ดีว่าพายุอยู่ ณ ที่ใด

ขอจบนิทาน “ ชาวเรือ ตอนที่ 1 ” ไว้เพียงนี้ ขอให้ท่านติดตามในตอนต่อไป

Share the Post: