ระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ หรือ SSAS (Ship Security Alert System) เป็นอีกหนึ่งมาตรการความปลอดภัยสำหรับเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรักษาความปลอดภัยสำหรับเรือเดินทะเลและช่วยบรรเทาเหตุร้ายจากการกระทำของโจรสลัดและ/หรือผู้ก่อการร้ายต่อการขนส่งทางเรือ โดยทั่วไปได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ หรือ International Ship and Port Facility Security Code – ISPS Code ที่ต้องมีระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) เสริมเข้าตามข้อบังคับจากองค์การทะเลโลก (International Maritime Organization – IMO) ที่มีความพยายามที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับเรือเดินทะเลในการเดินเรือผ่านพื้นที่อันตรายจากโจรสลัดและ/หรือผู้ก่อการร้าย
ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายดาวเทียม Cospas-Sarsat กับองค์การทะเลโลก IMO ได้เริ่มต้นโครงการระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) นี้ ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่ว่า ในกรณีที่กำลังถูกโจรสลัดหรือผู้ก่อการร้ายกำลังพยายามโจมตีเรือสินค้า ทางเรือจะสามารถเปิดสัญญาณระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายหรือกองกำลังทหารจะถูกส่งออกไปเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ลักษณะการทำงานของทุ่นแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS beacon) มีหลักการคล้ายกันกับเครื่องส่งสัญญาณฉุกเฉินของอากาศยานรหัส 7700 (Aircraft Transponder Emergency Code 7700)
ระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) ทำงานอย่างไร?
เมื่อนายงานรักษาความปลอดภัยประจำเรือ (Ship Security Officer, SSO) หรือนายยามฝ่ายเดินเรือ ประสบเหตุการณ์ที่เข้าใจว่าอาจจะเป็นอันตรายจากโจรสลัดหรือผู้ก่อการร้าย กำลังบุกเข้าโจมตีเรือสินค้าของตน ระบบเตือน SSAS จะถูกเปิดใช้ให้ส่งสัญญาณฉุกเฉินเฉพาะรหัสประเทศ (country code) เพื่อส่งให้กับศูนย์ประสานงานกู้ภัย (Rescue Coordination Centres – RCCs) หรือหน่วยติดต่องานค้นหาและกู้ภัย (SAR Points of Contact – SPOCs) ในภูมิภาคใกล้เคียงกับที่เรืออยู่โดยตรง
เมื่อทาง RCC หรือ SPOC ได้รับสัญญาณจากเรือจะส่งข่าวต่อไปยังหน่วยงานระดับชาติในพื้นที่ เพื่อแจ้งเตือนและจัดส่งกองทหารหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสมออกไปจัดการกับผู้ก่อการร้ายหรือโจรสลัดทันที ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับระบบการรักษาความปลอดภัยเรือ SSAS
ในเดือนธันวาคม 2545 องค์การทะเลโลก (IMO) ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงบางอย่างภายในระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนด 6 (Regulation 6) นอกจากนี้ IMO ยังได้ออกคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานและการจัดการสำหรับระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ SSAS อีกด้วย
สัญญาณจากระบบแจ้งเตือน SSAS จะถูกส่งโดยนายงานรักษาความปลอดภัยประจำเรือ (Ship Security Officer, SSO) ที่มีความจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของงาน จากเรือไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบของรัฐเจ้าของธงเรือที่จดทะเบียนหรือผู้รับมอบอำนาจจากรัฐเจ้าของธงเรือ
ความสำคัญของงานในการส่งสัญญาณแจ้งเตือน SSAS อาจถูกคัดเลือกโดยหน่วยงานรัฐเจ้าของธงเรือว่าจะให้ส่งต่อไปยังศูนย์ประสานงานกู้ภัยทางทะเล (Maritime Rescue Coordination Centres – MRCC) ในภูมิภาคของตัวเองหรือที่อื่น ๆ เช่น เจ้าของเรือ หรือผู้จัดการเรือ เป็นต้น
ส่งสัญญาณผ่านบริการเครื่องมือสื่อสารดาวเทียมแบบ Inmarsat C, mini-C และ D+ ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงเต็มรูปแบบการประมวลผลข้อความของระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) ในขณะที่มีอุปกรณ์บางอย่างในระบบ GMDSS ที่ล้าสมัยและจะต้องมีการปรับปรุงการให้บริการโดยผู้ผลิตหรือตัวแทนของอุปกรณ์นั้นๆ เพื่อให้ใช้งานระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) นี้ได้
การแก้ปัญหาระบบ SSAS ด้วยเครือข่ายดาวเทียม Inmarsat ย่อมทำให้ความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกำหนดเส้นทาง (routing) ของการส่งสัญญาณแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) สอดคล้องกับความต้องการของ IMO การแจ้งเตือนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังปลายทางที่ใดๆ ซึ่งอาจจะเป็นศูนย์ประสานงานช่วยเหลือย่อย (rescue co-ordination centre) หรือหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ หรือเจ้าของเรือ หรือบุคคลที่สามอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องถูกคัดเลือกโดยหน่วยงานรัฐเจ้าของธงเรือ
เจ้าหน้าที่ของหน่วยรักษาความปลอดภัยสามารถส่งข้อความจากระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) ต่อให้กับหน่วยงานอื่นๆ ทาง โทรสาร อีเมล์ โทรเลข โทรศัพท์ GSM หรือแม้กระทั่งผ่านเครื่องสื่อสารดาวเทียม Inmarsat อื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้กับเรือ ซึ่งปฏิบัติตามข้องบังคับที่ระบุไว้ใน Regulation 6
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS)
– ทำให้โฟกัสงานขนสงทางทะเลได้สมบูรณ์แบบ
– การใช้งานผ่านบริการเครื่องมือสื่อสารดาวเทียม Inmarsat C, mini-C, D+
– อัพเกรดเครื่องสื่อสารรุ่นเก่าที่ล้าสมัยในระบบ GMDSS
– ใช้งานครอบคลุมได้ทั่วโลก
– เหมาะสำหรับการเฝ้าติดตามทรัพย์สินในทะเล
– ส่งรายงานความเคลื่นไหวประจำวันที่มีความสำคัญเป็นประจำ
– มีการติดตามเรือผ่านเว็บไซด์ได้
– เป็นการปฏิบัติสอดคล้องตามมาตรฐาน IMO และสอดคล้องกับความต้องการของกฏข้อบังคับ SOLAS XI-06/02
– การติดตั้ง การทดสอบ และข้อแนะนำการใช้งาน โดยช่างมืออาชีพ
ระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) บังคับใช้กับเรือเดินระหว่างประเทศ ดังนี้
ก. เรือที่ต่อสร้างขึ้นภายในหรือหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2547;
ข. เรือโดยสารรวมถึงเรือโดยสารความเร็วสูง ต่อสร้างก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ไม่ช้ากว่าการตรวจเรือครั้งแรกของการติดตั้งวิทยุสื่อสารประจำเรือหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2547;
ค. เรือบรรทุกน้ำมัน เรือบรรทุกสารเคมี เรือบรรทุกก๊าซ เรือสินค้าเทกองและเรือสินค้าทั่วไป เรือยนต์เร็ว ที่มีขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไปและต่อสร้างขึ้นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ไม่ช้ากว่าการตรวจเรือครั้งแรกของการติดตั้งวิทยุสื่อสารประจำเรือหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2547; และ
ง. เรือบรรทุกสินค้าอื่น ๆ ที่มีขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไป และแท่นขุดเจาะไกลฝั่ง ต่อสร้างขึ้นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ไม่ช้ากว่าการตรวจเรือครั้งแรกของการติดตั้งวิทยุสื่อสารประจำเรือหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2549
อุปกรณ์ระบบแจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยของเรือ (SSAS) ที่ติดตั้งจะต้องสอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดโดย IMO ภายใต้ข้อบังคับ Res MSC 136 (76) MSC 147 (77) และ MSC Circular 1072.
อุปกรณ์ที่ติดตั้งอาจจะเป็นอุปกรณ์เสริมส่วนหนึ่งของเครื่องวิทยุที่ติดตั้งไว้เดิมหรืออาจจะอุปกรณ์ที่ติดตั้งใหม่ทั้งชุด ถ้าอุปกรณ์ SSAS เป็นส่วนประกอบเพิ่มจากการติดตั้งของเครื่องวิทยุเดิมที่มีอยู่ จะต้องไม่รบกวนการทำงานตามปกติของอุปกรณ์วิทยุที่มีอยู่นั้น ซึ่งการติดตั้งดังกล่าวจะต้องสอดคล้องตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของ IEC 60945 ด้วย
หมายเหตุ
* ประมวลข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยของเรือและท่าเรือ (International Ship and Port Facility Security Code, ISPS Code) หมายถึง ข้อบังคับที่ได้รับรองเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2545 โดยข้อมติที่ 2 ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
* นายงานรักษาความปลอดภัยประจำเรือ (Ship Security Officer, SSO) หมายถึง ผู้ทำการในเรือที่บริษัทกำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัย (security) ของเรือ รวมถึงดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการรักษาความปลอดภัยของเรือ (ship security plan) ที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานตรวจเรือ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำบริษัท (Company Security Officer, CSO) และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือ (Port Facility Security Officer, PFSO) ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรพื้นฐานการรักษาความปลอดภัยในเรือ (security awareness)