กล่าวนำ
ภายหลังจากเหตุโศกนาฏกรรมที่ผู้ก่อการร้ายจี้บังคับเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2544 (ค.ศ. 2001) จนทำให้มีความหวาดกลัวว่าจะมีการใช้เรือในการบรรทุกสารพิษหรือใช้เรือบรรทุกระเบิดเพื่อใช้ในการก่อการร้ายที่เรียกว่า ระเบิดลอยน้ำ (floating bomb)
หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาที่เด่นชัดคือ ความสามารถในการเฝ้าตรวจติดตามว่าเรือที่อยู่ในทะเลกำลังมุ่งหน้าไปที่ใด และพิสูจน์ทราบได้ว่าเรือนั้นอาจจะเป็นภัยคุกคามหรือไม่ ซึ่งเป็นมาตรการของการติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรืออยู่จากระยะไกล โดยเรือทุกๆ ลำจะส่งสัญญาณหมายเลขประจำตัวของเรือผ่านเครื่องสื่อสารดาวเทียม (Unique Identity เช่น Inmarsat C ID) , พิกัดตำบลที่ (แลตติจูด/ลองจิจูด) วันที่และเวลาของพิกัดตำบลที่เรือ ผ่านระบบการสื่อสารดาวเทียม Inmarsat มายังระบบเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบที่เรือจากระยะไกล และจะไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างระบบการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบเรือที่จากระยะไกล (LRIT) เข้ากับระบบรายงานตนเองโดยอัตโนมัติ (AIS) สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือขอบเขตการแพร่สัญญาณ โดยระบบ AIS เป็นระบบแบบแพร่สัญญาณแบบกระจายทั่วไป (Broadcast System) ส่วน ข้อมูลที่ได้รับจากระบบการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบที่เรือจากระยะไกล (Long Range Identification Tracking , LRIT) จะสามารถใช้ได้เฉพาะผู้รับที่ได้รับสิทธิ์ในการรับสารสนเทศนั้นเท่านั้น และการป้องกันความลับของข้อมูลจะถูกสร้างไว้ในบทบัญญัติ ประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาภาคีตามกฏ SOLAS จะได้รับสิทธิ์ในการรับสารสนเทศเกี่ยวกับเรือที่เดินเรือห่างฝั่งไม่เกิน 1000 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง
ระบบ LRIT เป็นระบบการส่งข้อมูลของเรือ เช่น ชื่อเรือ ตำแหน่งของเรือ วัน-เวลา ส่งผ่านข้อมูลอัตโนมัติแสดงตำแหน่งที่เรือทุก 6 ชั่วโมง โดยส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมหรือระบบอื่นไปยังศูนย์ LRIT Data Center ตามที่รัฐภาคีจะกำหนดให้เรือที่ชักธงของรัฐภาคีส่งข้อมูลไป และรัฐภาคีมีหน้าที่รับข้อมูลเรือดังกล่าวผ่าน LRIT ในระยะไม่เกิน 1,000 ไมล์ จากชายฝั่ง ข้อมูลนี้หน่วยงานของรัฐภาคีที่เป็นรัฐชายฝั่ง (Coastal State) รัฐเจ้าของธง (Flag State) รัฐเมืองท่า (Port State) สามารถนำไปใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวของเรือของตน และหน่วยค้นหาและช่วยเหลือเรือที่ประสบภัยทางทะเล (SAR Authority) สามารถใช้เป็นข้อมูลการประสานงานได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเลครั้งที่ 81 (MSC 81) ของ IMO ได้รับรองระบบ LRIT และแก้ไขข้อบังคับในอนุสัญญา SOLAS บทที่ 5 ข้อที่ 19-1 โดยกำหนดให้รัฐภาคีจัดตั้ง National LRIT Data Center หรือร่วมกับรัฐภาคีอื่นจัดตั้งเป็น Regional LRIT Data Center หรือ Co-operative LRIT Data Center ซึ่งประเทศไทยจะต้องเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะสมาชิก IMO และภาคีอนุสัญญา SOLAS จะต้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูล LRIT แห่งชาติหรือร่วมกับประเทศอื่นในภูมิภาคภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ส่วนระบบ AIS เป็นระบบส่งสัญญาณข้อมูลเรือผ่านคลื่นวิทยุไปยังหน่วยงานรัฐชายฝั่งเพื่อติดตามการเดินเรือจากระยะใกล้ประมาณ 30 ไมล์จากชายฝั่ง
ระบบการส่งข้อมูลจากเรือ LRIT บังคับใช้กับเรือเดินระหว่างประเทศ ได้แก่ (1) เรือโดยสารรวมถึงเรือโดยสารความเร็วสูง (2) เรือสินค้าขนาดตั้งแต่ 300 ตันกรอส รวมถึงเรือความเร็วสูง (3) แท่นขุดเจาะเคลื่อนที่ได้ โดยเรือที่ต่อสร้างหลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2551 จะต้องติดตั้งและส่งข้อมูลเรือผ่านอุปกรณ์ LRIT ได้
LRIT คืออะไร
LRIT ย่อมาจาก Long Range Identification Tracking เรียกเป็นภาษาไทยว่า การเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล คือมาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของการรักษาความปลอดภัยทางทะเล ที่เสนอและมีมติรับหลักการในการประชุมว่าด้วยความปลอดภัยต่อชีวิตในทะเล (SOLAS , Safety of Life at Sea) ในปี 2545 และมีมติรับข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล โดยคณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเล (Marine Safety Committee) ขององค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO, International Maritime Organiztion) จากการประชุม ครั้งที่ 81 ที่สำนักงานใหญ่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ 10-19 พฤษภาคม 2549 โดยข้อบังคับดังกล่าวจะคงไว้ซึ่งสิทธิ์ของรัฐที่จะปกป้องข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับเรือที่ให้สิทธิ์ในการชักธงของรัฐเหล่านั้นตามความเหมาะสม ขณะที่อนุญาตให้รัฐชายฝั่งสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับเรือที่กำลังเดินเรือตามชายฝั่งของรัฐชายฝั่งนั้น ข้อบังคับของ SOLAS ว่าด้วยการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกลไม่ได้สร้างหรือยืนยันสิทธิ์ใหม่ใดๆ ของรัฐต่อเรือนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) หรือไม่ได้แก้ไขหรือทำให้กระทบต่อสิทธิ์, เขตแดน, หน้าที่และข้อตกลงของรัฐต่อข้อกฎหมายทะเล
การบังคับใช้จากองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)
จากการที่คณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเล (Marine Safety Committee) ขององค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) มีมติรับร่างข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วย การเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล (LRIT) ในการประชุมองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศครั้งที่ 81 ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ 10-19 พฤษภาคม 2549 ซึ่งกำหนดให้เรือติดตั้งอุปกรณ์ LRIT เพื่อส่งสารสนเทศโดยอัตโนมัติมายังระบบ LRIT ได้แก่ หมายเลขของเรือ (Ship’s ID), หมายเลขประจำตัวของเรือ (Unique Identity อัตโนมัติ, พิกัดตำบลที่ (แลตติจูด/ลองจิจูด) วันที่พร้อมเวลาของพิกัดตำบลที่เรือ โดยมีผลบังคับใช้กับเรือเหล่านี้ที่เดินเรือบนเส้นทางเดินเรือสากล ได้แก่ เรือโดยสาร รวมทั้งเรือเร็ว, เรือบรรทุกสินค้า รวมทั้งเรือเร็ว ที่มีระวางขับน้ำตั้งแต่ 300 ตันกรอสขึ้นไป และหน่วยปฏิบัติงานขุดเจาะไกลฝั่งเคลื่อนที่ (mobile offshore drilling unit) โดยมีข้อกำหนดดังนี้
– เรือที่ต่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 หรือหลังจากนั้น
– เรือที่ต่อก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และได้รับการรับรองว่าเดินเรือในทะเลเขต A1, A2 และ A3 ไม่ช้ากว่าการตรวจอุปกรณ์สื่อสารเรือครั้งแรก (First Survey) หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2551
– เรือที่ต่อก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และได้รับการรับรองว่าเดินเรือในทะเลเขต A1, A2, A3 และ A4 ไม่ช้ากว่าการตรวจอุปกรณ์สื่อสารเรือครั้งแรก (First Survey) หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 อย่างไรก็ตามเรือที่กล่าวมาจะต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 2 ข้างบนขณะที่เดินเรือในทะเลเขต A1, A2 และ A3
ระบบ LRIT บนเรือจะต้องเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบบอกตำบลที่ด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite System, GNSS) หรือมีอุปกรณ์บอกตำบลที่อยู่ภายในเรือ
ระบบ LRIT จะต้องสามารถควบคุมความถี่ของการส่งในระยะไกลได้โดยปราศจากการเข้าแทรกแซงจากบนเรือ และสามารถเปลี่ยนแปลงความถี่ในการส่งได้ตามระดับการรักษาความปลอดภัย (Security Level Change) เพื่อที่จะติดตามเรือเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ในระดับ Security Level 1 (ขั้นต่ำสุด) เรือรับส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ, เรือขนส่งสินค้า รวมทั้งเรือ High Speed Craft เกินกว่า 300 ตันกรอส และหน่วยงานปฏิบัติงานในทะเลจะต้องส่งสัญญาณได้ทุกๆ 6 ชั่วโมง ถ้าระดับ Security Level เปลี่ยนแปลงจาก 1 เป็น 2 หรือ 3 เรือที่ถูกติดตามเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจมากขึ้น ระบบ LRIT จะต้องสามารถส่งสัญญาณถี่ขึ้นถึงทุกๆ 15 นาที
ข้อมูลจากระบบ LRIT ในปัจจุบันสามารถส่งผ่าน Inmasat C, mini-C หรือ D+ ซึ่งตัวรับสัญญาณ Inmasat Terminal บนเรือจะมีระบบ GPS และ Unique Identity หรือ ID ติดตั้งอยู่ภายใน
ส่วนภาคการควบคุมระยะไกลในปัจจุบันจะทำงานผ่าน Inmasat C , mini-C หรือ D+ เช่นกัน
ระบบการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล ประกอบไปด้วย
– อุปกรณ์ส่งสัญญาณสารสนเทศการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกลที่ติดตั้งบนเรือ
– ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร(Communication Service Provider)
– ผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน (Application Service Provider)
– ศูนย์ข้อมูล LRIT (LRIT Data Center)
-ระบบเฝ้าตรวจเรือ (Vessel Monitoring System) อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
– แผนการกระจายข้อมูล LRIT (LRIT Data Distribution Plan)
– การแลกเปลี่ยนข้อมูล LRIT ระหว่างประเทศ (International LRIT Data Exchange)
การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพของระบบ LRIT ได้รับการพิจารณาและตรวจสอบโดยหน่วยประสานงาน ความร่วมมือระบบ LRIT (LRIT Co-ordinator) ที่ปฏิบัติงานในนามของทุกรัฐบาลที่ร่วมลงนาม
ความเป็นมา (Background)
ข้อเสนอสำหรับการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล โดยความหมายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของมาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเล ที่มีการอภิปรายระหว่างการประชุมเรื่องการพัฒนามาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของมาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเล และที่ประชุม SOLAS เมื่อ ค.ศ.2002 มีมติรับหลักการ อย่างไรก็ตามในมุมมองอื่นที่ซับซ้อนตระหนักว่าในขั้นเริ่มต้นไม่อาจนำมาปฏิบัติให้สำเร็จโดยสมบูรณ์ได้ภายในเดือนธันวาคม ค.ศ.2002 ดังนั้นจึงรวมบทบัญญัติที่เหมาะสม สรุปเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเลซึ่งบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.2004
จากผลการประชุม SOLAS เมื่อ ค.ศ.2002 เพื่อที่จะเตรียมงานและวางแผนงานในภายหน้า ได้มีมติรับหลักการจากการประชุมลงมติครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “งานในภายหน้า” (Further Work) โดยองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยทางทะเล และการประชุมลงมติครั้งที่ 10 ในหัวข้อ การติดตั้งระบบการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกลโดยเร็ว
ในการประชุมลงมติครั้งที่ 3 ได้รวมคำร้องไปยังองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนในหัวข้อการประเมินผลกระทบจากข้อเสนอให้สนับสนุนการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล หากพบว่ามีความสำคัญให้พัฒนาและนำมาตรฐานการปฏิบัติและแนวทางของระบบการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกลไปใช้ตามความเหมาะสม
การประชุมลงมติครั้งที่ 10 ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ส่วน
ประการแรก – เร่งให้ประเทศที่ลงนามรับไปดำเนินการโดยเร่งด่วน การกระทำใดๆ ที่ต้องปฏิบัติระดับชาติเพื่อให้มีผลในการดำเนินการและเป็นจุดเริ่มต้นระบบเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบเรือจากระยะไกล
ประการที่สอง – เชิญชวนให้ประเทศที่ลงนามกับ SOLAS สนับสนุนเรือที่ให้สิทธิ์ชักธงชาติ ปฎิบัติตามมาตรการที่สำคัญ จนเรือเหล่านั้นมีการเตรียมการที่จะตอบการสอบถามได้โดยอัตโนมัติไปยัง Inmasat C หรือตอบไปยังระบบอื่นๆ และ
ประการสุดท้าย – ร้องขอประเทศที่ลงนามกับ SOLAS ให้พิจารณาทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับการแนะนำการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบตำบลที่เรือจากระยะไกล
ข้อบังคับจะกำหนดการบังคับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไปสำหรับเรือที่ต่อก่อนการคาดหมายว่าจะบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2008 และยกเว้นสำหรับเรือที่ปฏิบัติการนอกเขตพื้นที่ทะเลเขต A1 (sea area A1) .