ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจมติชน 10 พ.ค. 2548 และหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2047 25 ก.ย. 2548
การดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันต้องใช้เงินลงทุนนับแสนล้านบาทและมีความเสี่ยงที่สูง เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป กล่าวคือ ณ วันที่ตัดสินใจสั่งซื้อน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อจำหน่ายนั้น ก็เกิดความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว เพราะไม่ทราบว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมากลั่น ต้องสั่งซื้อล่วงหน้าประมาณ 1 – 2 เดือนก่อนการส่งมอบ โดยการตกลงซื้อขายจะระบุเพียงปริมาณเท่านั้น ส่วนราคาจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนส่งมอบ ขณะเดียวกันในด้านการจำหน่าย โรงกลั่นมีการตกลงกับผู้ค้าน้ำมันล่วงหน้าว่าจะมีการซื้อขายในปริมาณเท่าไหร่ในเดือนข้างหน้าโดยมีสูตรราคาที่อิงกับตลาดซื้อขายที่สิงคโปร์ในช่วงวันส่งมอบ
อีกทั้ง วงจรของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีความผันผวนสูง ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงขาลงของธุรกิจ โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ในประเทศไทยแทบทุกแห่งต่างประสบกับการขาดทุนเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถชำระหนี้สินได้ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มทุนเป็นจำนวนมากเพื่อให้มีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพิ่งจะเริ่มมีกำไรเมื่อ 2- 3 ปี ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากมีค่าการกลั่นสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติ ผลกำไรที่เกิดขึ้นบริษัทนำไปลดขาดทุนสะสมในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าภาวะเช่นนี้จะอยู่ได้นานเพียงใด
ค่าการกลั่นเกิดจาก ราคา ณ โรงกลั่น ของน้ำมันสำเร็จรูปที่โรงกลั่นผลิตได้เฉลี่ยตามสัดส่วนปริมาณการผลิตของน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ที่กลั่นได้ หักด้วยต้นทุนวัตถุดิบ คือ ราคาน้ำมันดิบรวมกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการนำเข้า เช่น ค่าขนส่ง แต่รายได้จากค่าการกลั่นนี้ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า สารเคมี ค่าซ่อมบำรุง และค่าแรงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งจะมีค่าการกลั่นที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันทำให้ได้ผลผลิตน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน แม้จะใช้น้ำมันดิบประเภทเดียวกันก็ตาม
สำหรับ ราคา ณ โรงกลั่น ของประเทศไทยนั้น เป็นสูตรราคาที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำสุด เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศผู้ส่งออกที่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ถ้าหากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศกำหนดราคาแพงกว่า ผู้ค้าน้ำมันก็จะหันไปนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์แทน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกำลังการกลั่นในประเทศไทยมีเกินปริมาณความต้องการใช้ ทำให้ต้องส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งราคาส่งออกนั้นถูกกว่าราคานำเข้า ดังนั้นโรงกลั่นต่างๆ จึงให้ส่วนลดแก่ผู้ค้าน้ำมันเพื่อจูงใจให้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศ ซึ่งการกำหนดราคาดังกล่าว ใช้มานานนับสิบปีแล้ว
ปัจจุบันค่าการกลั่นของโรงกลั่นต่างๆ ในประเทศอยู่ระหว่าง 2 – 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล โดยโรงกลั่นที่มีการกลั่นหลายขั้นตอน (Complex Refinery) จะมีค่าการกลั่นในระดับสูง ในขณะที่โรงกลั่นที่มีการกลั่นแบบง่ายๆ (Simple Refinery) จะมีค่าการกลั่นที่ต่ำกว่าเนื่องจากมีผลผลิตของน้ำมันใส คือ น้ำมันเบนซิน และดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีราคาแพง อยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า
การดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ไม่แตกต่างจากวัฏจักรเศรษฐกิจ ที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง บางช่วงขาดทุนมาก บางช่วงก็มีกำไรสูง ผู้ลงทุนในธุรกิจนี้นอกจากจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงแล้ว ยังต้องสามารถรับความเสี่ยงในช่วงธุรกิจขาลงได้ด้วย ซึ่งต้องมีสายป่านของเงินทุนที่ยาวพอ และปัจจัยที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งในการตัดสินใจสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ คือ นักลงทุนต้องการความมั่นใจในนโยบายของรัฐที่จะปล่อยให้มีการแข่งขันเสรีอย่างแท้จริง
ค่าการกลั่นน้ำมัน: เรื่องที่ควรรู้ ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจัดให้ วิธีคำนวณโปร่งใส..ไม่ซ่อนเร้น
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม คุณหญิง ทองทิพ รัตนะรัต ที่ปรึกษาสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมัน: เรื่องที่ควรรู้” เพื่อให้ความรู้เรื่องค่าการกลั่นให้กับกลุ่มคนที่สนใจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จัดบรรยายให้ความรู้เรื่องดังกล่าวนับจากที่นายโสภณ สุภาพงษ์ สว.กทม. ผู้คร่ำหวอดในวงการน้ำมันจากที่เคยนั่งบริหารที่บริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยว่าโครงสร้างการคิดค่าการกลั่นในประเทศไม่เป็นธรรม มีการตั้งราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ประชาชนต้องใช้ในราคาแพง “มติชน” จึงได้สรุปเรียบเรียงคำบรรยายมานำเสนอ
หลักที่จะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมัน ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีนโยบายที่สร้างราคาน้ำมันด้วยปัจจัยสำคัญคือ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ส่วนเรื่องค่าการกลั่นน้ำมันนั้นจะต้องทำความเข้าใจกับโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปก่อน ซึ่งประกอบด้วย โครงสร้างราคาหน้าปั๊ม และโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจยากแต่มีตัวแปรมาก เวลาคนพูดก็พูดถึงไม่หมด และต้องเข้าใจด้วยว่าราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกันเสมอเพราะ
- ปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันเป็นคนละตัว
- หากราคาน้ำมันดิบปรับราคา ไม่จำเป็นต้องปรับราคาน้ำมันสำเร็จรูปในสัดส่วนที่เท่ากัน เพราะทั้ง 2 ชนิด ไม่ได้อยู่ในตลาดเดียวกัน แต่สำหรับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเป็นธุรกิจที่อยู่ตรงกลางระหว่างน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นธุรกิจที่ถูกบีบมากที่สุด เพราะรับทั้งปัจจัยของทั้ง 2 ตลาด
เราต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 99% ซึ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันจากหลายประเทศ ไม่ใช่ประเทศเดียว เพราะน้ำมันแต่ละแหล่งที่นำเข้ามาสามารถกลั่นน้ำมันชนิดต่างๆ ได้ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ในขณะที่เราต้องการใช้น้ำมันในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน เราต้องการใช้น้ำมันดีเซลมากกว่าน้ำมันเบนซิน นอกจากนี้แต่ละโรงกลั่นน้ำมันก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น แต่ละแห่งจึงต้องซื้อมาจากหลายประเทศมาผสมกัน เพื่อให้สามารถกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้ตามที่ต้องการ หรือได้ในส่วนที่ผู้บริโภคต้องการใช้มากที่สุด ซึ่งจะได้ในสัดส่วนเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ น้ำมันดิบที่นำเข้ามา และชนิดของโรงกลั่นน้ำมัน
โครงสร้างราคาน้ำมันหน้าปั๊ม
เพื่อให้เห็นความแตกต่างจะแบ่งเป็น 3 ยุค
- ช่วงที่รัฐควบคุมราคาก่อนเปิดเสรี ปี 2534 สภาวะตลาดในช่วงนี้ ต้องมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิด และมีเพียงโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพียง 3 แห่ง คือ ไทยออยล์, เอสโซ่, บางจาก ส่วนการตั้งราคานั้นรัฐบาลเป็นผู้ตั้งราคาหน้าปั๊มและกำหนดค่าการตลาด โดยอยู่บนหลักการให้ราคาอยู่ในระดับที่ประชาชนกินดีอยู่ดีและพัฒนาประเทศได้ สูตรราคาหน้าปั๊ม คือ = (P) ราคา ณ โรงกลั่น +ภาษีต่างๆ + กองทุนต่างๆ + ค่าการตลาด โดยการปรับราคาหน้าปั๊มในระยะแรก รัฐปรับทุก 15 วัน ต่อมาปรับทุก 7 วัน
- ช่วงเปิดเสรีตั้งแต่ปลายปี 2534 สภาวะตลาดต้องนำเข้าน้ำมันในช่วงแรก และต้องส่งออกตั้งแต่ปี 2538 เพราะกำลังการผลิตในประเทศเกินความต้องการ มีโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7 แห่ง ประกอบด้วย ไทยออยล์, เอสโซ่, บางจาก, SPRC, RRC, TPI, RPC โดยการตั้งราคานั้นผู้ค้าปลีกเป็นผู้กำหนดราคาให้เป็นไปตามกลไกของการแข่งขันในธุรกิจขายปลีก โดยหลักในการตั้งราคานั้นผู้ค้าปลีกใช้การที่โรงกลั่นต้องส่งออกเป็นข้อต่อรองราคาซื้อจากโรงกลั่น แสดงให้เห็นถึงการเป็นตลาดเสรี มีสูตรราคาหน้าปั๊ม คือ = (P) ราคา ณ โรงกลั่น + ภาษีต่างๆ + กองทุนต่างๆ + ค่าการตลาด สำหรับการปรับราคาหน้าปั๊ม ผู้ค้าปลีกปรับตามสภาวะตลาด
- ช่วงที่รัฐแทรกแซงชั่วคราวครั้งล่าสุด ตั้งแต่ 10 มกราคม 2547 สภาวะตลาดภายในปี 2549 คาดว่าตลาดจะสมดุล ดังนั้น ช่วงนี้เมื่อมีบางโรงกลั่นปิดซ่อมแซมก็จะต้องมีการนำเข้า เช่นเริ่มมีการนำเข้าดีเซลเดือนมกราคม และ กุมภาพันธ์ 2547 การตั้งราคา ณ วันนี้รัฐบาลตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 18.19 บาท/ลิตร ผลิตภัณฑ์อื่นลอยตัว นอกจาก LPG เป็นกึ่งลอยตัว โดยใช้หลักการรัฐตั้งให้ราคาดีเซลอยู่ในระดับที่ประชาชนกินดีอยู่ดีและพัฒนาประเทศได้ ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นเป็นไปตามกลไกตลาด สูตรราคาหน้าปั๊ม คือ = (P) ราคา ณ โรงกลั่น + ภาษีต่างๆ + กองทุนต่างๆ + ค่าการตลาด การปรับราคา ผู้ค้าปลีกปรับตามสภาวะตลาด นอกจากดีเซลซึ่งรัฐบาลปรับเมื่อเห็นเหมาะสม
โครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่น ถ้าเป็นแบบตลาดเสรี แต่ละแห่งก็ต้องสู้เพื่อให้ลูกค้ามาซื้อของตน ซึ่งตามปกติก็จะต้องสู้กับโรงกลั่นแห่งอื่นเพื่อขายในประเทศให้ได้มาก ที่เหลือจึงจะส่งออกและสู้กับการนำเข้า แต่ถ้าโรงกลั่นไม่พอแล้วต้องมีการนำเข้าทุกชนิด โรงกลั่นก็ต้องสู้โดยตั้งราคาแข่งกับราคานำเข้า ส่วนธุรกิจค้าปลีกนั้นก็ต้องมาดูกันว่ามีคู่แข่งหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องสู้กับคู่แข่ง แต่ในกรณีที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมราคารัฐบาลก็จะดูแลกำไรให้ ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาหน้าโรงกลั่นบวกกับภาษีกองทุน ภาษีสรรพสามิตกับราคาขาย ที่เหลือก็เป็นค่าการตลาด ซึ่งค่าการตลาดนี้ก็ต้องไปหักค่าดำเนินการปั๊ม ทั้งค่าน้ำ ไฟฟ้า และค่าจ้างเด็กปั๊ม
สรุปในการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นจะใช้ราคาน้ำมันนำเข้าเป็นตัวตั้งแล้วใช้กองทุนน้ำมันเป็นตัวปรับราคาให้สมน้ำสมเนื้อกับราคานำเข้า
“มีคนชอบถามว่าทำไมเราต้องอิงราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ ความจริงเราไม่ได้อิงราคาสิงค์โปร์ แต่เราอิงราคาตลาดโลกที่อยู่ในสิงคโปร์ เพราะที่สิงคโปร์มีการซื้อขายน้ำมันกันมาก แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีการซื้อขายน้ำมันในประเทศมาก เราก็สามารถกำหนดราคาเป็นไทยแลนด์ไพรซ์ได้ ซึ่งเราก็พยายามให้มีการซื้อขายกัน”
ค่าการกลั่น ความจริงแล้วค่าการกลั่นมีทั้งค่าการกลั่นรวม และค่าการกลั่นสุทธิ ซึ่งเวลามีการพูดถึงค่าการกลั่น ไม่มีใครพูดว่าเป็นตัวไหนแต่เข้าใจว่าจะเป็นค่าการกลั่นรวม หรือที่เรียกว่า GRM เพราะค่าการกลั่นสุทธิซึ่งเป็นกำไรสุทธิของโรงกลั่นจริงๆ ไม่มีใครรู้ ซึ่งโครงสร้างค่าการกลั่นรวมนี้จะขึ้นอยู่กับส่วนต่างมูลค่าของทุกผลิตภัณฑ์รวมกัน และมูลค่าน้ำมันดิบผสมที่ใช้การกลั่นรวม ไม่ใช่การนำน้ำมันสำเร็จรูปมาลบออกจากน้ำมันดิบดูไบเลย เพราะในการกลั่นน้ำมันของแต่ละโรงกลั่นจะได้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย นอกจากน้ำมันเบนซินและดีเซล เช่นน้ำมันเตาซึ่งมีราคาถูก และแต่ละโรงกลั่นก็ได้ผลิตภัณฑ์ไม่เท่ากัน
“ในการกลั่นไม่ได้ใช้น้ำมันดิบดูไบเพียงอย่างเดียว แต่ที่ต้องอ้างอิงราคาดูไบเพื่อให้ง่ายขึ้น เช่นถ้ามีการซื้อน้ำมันที่มีคุณภาพดีกว่าน้ำมันดูไบราคาที่นำเข้าก็แพงกว่าดูไบ แต่ถ้าคุณภาพแย่กว่าราคาก็ต้องถูกลง ซึ่งก็ต้องมีต้นทุนในการจัดหา ก็มีคำถามมาอีกว่าทำไมค่ากลั่นในช่วงนี้มันสูงนัก ความจริงสูงแล้วก็น่าจะดี เพราะประเทศจะได้เก็บภาษีได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งค่าการกลั่นจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับราคาของผลิตภัณฑ์ แต่ก็มีตัวแปรหลายตัวที่จะทำให้เปลี่ยน เช่นสเปคของน้ำมัน ถ้าสเปคสูงมากราคาก็จะสูงมากตามไปด้วย”
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายของน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ดีมานด์ในภูมิภาคมีสูง โดยเฉพาะจากจีนและอินเดียที่มีความต้องการใช้น้ำมันมาก ขณะที่ปริมาณการกลั่นของโรงกลั่นใกล้จะเต็ม ภายใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ หรือแม้แต่ไทยดีมานด์ก็สูงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล จะเดินเต็มที่ในปี 2548-2549 แต่ยังไม่มีใครกล้าที่จะลงทุนสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงเป็นแสนล้านบาท จึงยังไม่มีใครกล้าเสี่ยง กลัวว่าจะประสบปัญหากำลังการกลั่นเกินความต้องการเหมือนที่ผ่านมา จึงคาดการณ์ได้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปแพงแน่
สรุปได้ว่า ราคาน้ำมันหน้าปั๊มขึ้นอยู่กับราคาหน้าโรงกลั่น และถ้าเป็นตลาดเสรีก็ต้องขึ้นอยู่กับการแข่งขันด้วย ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวการณ์แข่งขันและราคานำเข้าน้ำมัน ซึ่งสูตรในการคิดไม่มีอะไรพิสดาร อิงราคาตลาดโลกที่อยู่ในตลาดจรสิงคโปร์ ส่วนค่าการกลั่นนั้นเป็นรายได้รวมจากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา เป็นต้น มาลบออกจากต้นทุนในการกลั่นทั้งของโรงกลั่นและจากราคาน้ำมันดิบผสมที่ซื้อมากลั่น ซึ่งจะสูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับตลาด ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์และดีมานด์ของผู้ซื้อรายใหญ่อย่างจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา แต่พอมีการพูดถึงเรื่องนี้ก็พูดกันคนละที 2 ที จึงสร้างความสับสนให้กับสังคม
อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน
หลักพื้นฐานของการกลั่นน้ำมัน – ภาพรวมของกระบวนการกลั่นน้ำมัน
กระบวนการกลั่นน้ำมัน คือกระบวนการการแยกโมเลกุลสารไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมันดิบ และแปรสภาพสสารดังกล่าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงกว่า
โรงกลั่นน้ำมันได้รับการออกแบบให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบหลายประเภทรวมถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำไรในการกลั่นน้ำมัน (Refinery Margin) สูงสุด โดยทั่วไปแล้ว หน่วยผลิตแต่ละหน่วยภายในโรงกลั่นน้ำมันจะทำหน้าที่ได้อย่างน้อยอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
- กลั่นแยกสารไฮโดรคาร์บอนหลาย ๆ ประเภทที่อยู่ในน้ำมันดิบตามจุดเดือดที่ต่างกัน
- แปรสภาพไฮโดรคาร์บอนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ามากขึ้น
- ปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยการแยกสารปนเปื้อนออก
- ผสมผลิตภัณฑ์ชั้นกลาง (Intermediate Streams) เป็นน้ำมันสำเร็จรูป
น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการกลั่นน้ำมัน คุณภาพของน้ำมันดิบและชนิดหน่วยกลั่นต่าง ๆ ในโรงกลั่นน้ำมันจะกำหนดวิธีการกลั่นน้ำมัน และระดับความสามารถในการเปลี่ยนน้ำมันดิบ เป็นน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยทั่วไป การแบ่งประเภทของน้ำมันดิบจะแบ่งตามความหนาแน่น (Density) จากต่ำไปสูง (Light to Heavy) และปริมาณกำมะถัน จากต่ำไปสูง (Sweet to Sour) น้ำมันดิบประเภทที่มีความหนาแน่นและกำมะถันต่ำ (Light Sweet Crude Oil) จะมีราคาสูงกว่าน้ำมันดิบประเภทที่มีความหนาแน่นและกำมะถันสูง (Heavy Sour Crude Oil) ทั้งนี้ เพราะกระบวนการกลั่นและกระบวนการกำจัดสารปนเปื้อนที่มีขั้นตอนน้อยกว่า และให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีราคาสูงในปริมาณมากกว่า เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและ น้ำมันดีเซล
โดยปกติน้ำมันดิบประเภทที่มีความหนาแน่นสูงและกำมะถันสูงจะขายในราคาถูกกว่าน้ำมันดิบประเภทที่มีความหนาแน่นต่ำหรือมีกำมะถันต่ำเพราะจะให้ผลิตภัณฑ์มูลค่าต่ำและต้องใช้กระบวนการผลิตเพิ่มเติมเพื่อให้ได้น้ำมันชนิดเบาที่มีมูลค่าสูง ผลที่ตามมาคือ โรงกลั่นน้ำมันพยายามที่จะมีการกลั่นน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงหน่วยเปลี่ยนแปลงสภาพโมเลกุล (Conversion Unit) และหน่วยกำจัดสารปนเปื้อน (Treating Unit) ของแต่ละโรงกลั่นราคาของสินค้าในปัจจุบันและที่คาดการณ์ในอนาคต ชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ และราคาน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่น
กระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์เป็นกระบวนการที่สามารถแปลงสภาพวัตถุดิบที่มีราคาต่ำ เช่น น้ำมันดิบที่มีความหนาแน่นสูงและกำมะถันสูงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว ระดับความซับซ้อน(Complex) ของโรงกลั่นน้ำมันขึ้นอยู่กับจำนวน และชนิดหน่วยเปลี่ยนแปลงสภาพโมเลกุล (Conversion Unit) ที่มี และความยืดหยุ่นและความสามารถในการเลือกใช้วัตถุดิบต่าง ๆ ที่มี จะทำให้โรงกลั่นน้ำมันอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำมันดิบที่ราคาถูก ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น
ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่สำคัญ
ผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปหลักที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน
- ก๊าซปิโตรเลียมเหลว
- น้ำมันเบนซิน
- สารทำละลาย (Solvent)
- ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี
- น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน/น้ำมันก๊าด
- น้ำมันดีเซล
- น้ำมันเตา
- ยางมะตอย
- ถ่านโค้ก
เศรษฐศาสตร์การกลั่นน้ำมัน (Economics of Refining)
โดยหลักแล้วการกลั่นน้ำมันเป็นธุรกิจที่อยู่บนฐานกำไร (Margin) โดยเป้าหมายของผู้กลั่นน้ำมันคือ การทำให้กระบวนการกลั่นน้ำมันมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลตอบแทนดีที่สุดจากวัตถุดิบที่ใช้ ในโรงกลั่นน้ำมันแบบพื้นฐาน (Simple Refinery) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปส่วนใหญ่ จะเป็นน้ำมันชนิดหนัก (Heavy Products) และมีมูลค่าน้อย เช่น น้ำมันเตาและผลผลิตส่วนน้อยอันได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ ปริมาณผลิตภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับชนิดน้ำมันดิบ และวัตถุดิบที่ใช้ กำไรจากการกลั่นน้ำมัน (Refinery Margin) คำนวณโดยการนำมูลค่าทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้หักด้วยต้นทุนราคาน้ำมันดิบและวัตถุดิบอื่น และสาธารณูปโภคที่ซื้อจากภายนอก
กำไรการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refining Margin) ต่างจากกำไรของโรงกลั่นน้ำมันแบบพื้นฐาน (Simple Refining Margin) ตรงที่การกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ จะได้น้ำมันชนิดหนัก (Heavy Products) เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเพราะโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) จะมีหน่วยกลั่นที่สามารถแปรสภาพน้ำมันชนิดหนักที่มีมูลค่าต่ำให้เป็นน้ำมันชนิดเบา (Light Products) ที่มีมูลค่าสูงกว่าได้
โรงกลั่นน้ำมันที่มีระบบที่คอมเพล็กซ์กว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนการผลิตที่สูงกว่าเนื่องด้วยความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยใช้น้ำมันดิบหรือวัตถุดิบอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า ผลที่ตามมาก็คือกำไรการกลั่นแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Margin) จะสูงกว่ากำไรการกลั่นแบบพื้นฐาน โรงกลั่นน้ำมันที่มีหน่วยเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ (Upgrading Unit) จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าดและน้ำมันดีเซล น้ำมันเหล่านี้ จะมีมูลค่ามากกว่าน้ำมันเตา