marinerthai

เสียงครวญจาก ‘ลูกเล’ วันที่มรสุมน้ำมันกระหน่ำ

โดย ผู้จัดการรายวัน 7 พฤษภาคม 2549 

ศิริญญา มงคลวัจน์

เกลียวคลื่นระลอกใหญ่กำลังม้วนตัวเข้าหาฝั่ง ผ่านเรือหลายร้อยลำที่ลอยอยู่กลางทะเล ทำให้เรือโคลงเคลงไปมาราวกับจะพลิกคว่ำเสียให้ได้ แต่สำหรับชาวประมงแล้ว คลื่นลมพายุโหมกระหน่ำซัดระลอกแล้ว ระลอกเล่าถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติที่เผชิญจนคุ้นชิน และไม่น่าหวั่นเกรงเท่ากับกระแสน้ำมัน อันเชี่ยวกรากที่กำลังซัดเรือประมงทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ให้ลอยไปเกยตื้นอยู่บนฝั่ง พร้อมกับสร้างความบอบช้ำในจิตใจแก่ชาวประมงหลายชีวิตอยู่ในเวลานี้

น้ำมันขึ้นราคาหนนี้ ชาวเลหลายคนถึงกับเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า “ราคาน้ำมันแพงมากเป็นประวัติการณ์กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา”

–> น้ำมันซัด ประมงทรุด

ประสันต์ ศีลพิพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เล่าถึงสถานการณ์เรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำมันขึ้นราคาว่า สำหรับชาวประมง ถ้าราคาน้ำมันเกินลิตรละ 16 บาทก็ถือว่าขาดทุนแล้ว แต่ในเวลานี้ราคาน้ำมันเกินลิตรละ 16 บาทไปแล้ว ฉะนั้นชาวประมงอาจจะอยู่ไม่ได้ เรือประมงไทยในทะเลคงไม่มี และเวลานี้ก็มีเรือประมงออกทะเลไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเรือทั้งหมด

“ผมทำประมงมา 40 ปี น้ำมันขึ้นครั้งนี้ถือว่าสุดยอด สาหัส ชาวประมงจะตายหมดทั้งประเทศ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว น้ำมันราคาลิตรละ 60-70 สตางค์ ครั้งนี้ประมงคงจะลำบาก ที่เห็นจอดเรือทิ้งไว้นั้นเป็นการจอดเรือแบบไม่ได้นัดกัน แต่จอดโดยอัตโนมัติ เพราะออกไปแล้วขาดทุน จอดดีกว่า”

ประสันต์ ศีลพิพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

“หยุดออกเรือไปหลายจังหวัด ตอนนี้หน้าท่าสะพานปลาสมุทรปราการเรือหยุดไปเยอะ อย่างช่วงสัปดาห์ก่อน เรือจอดเต็ม มีออกเรือบ้าง แต่ไม่กลับเข้าฝั่ง สะพานปลาแทบไม่มีปลา ไม่มีเรือเข้าเทียบท่า เรือผมเป็นเรือลาก ออกไปลอยทางอินโดนีเซียใต้ ติดสัญญาสัมปทานหมดเดือนธันวาคม จึงยังต้องออกเรือ ไม่คุ้ม แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เวลานี้มีคนถามว่าน้ำมันแพง ชาวประมงร้องเรียนตลอดมาว่าอยู่ไม่ได้ แต่ยังทำ แล้วก็มีหนี้สิน”

มองสภาพดินฟ้าอากาศเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ตรงกับฤดูร้อน กระแสลมเงียบสงบ ไม่มีมรสุม ทำให้น้ำใส จึงเป็นฤดูวางไข่ของปลา ทำให้ชาวประมงจับปลาได้ในปริมาณไม่มาก จึงมีรายได้น้อย ประกอบกับเกิดภาวะน้ำมันขึ้นราคา จึงทำให้ชาวประมงได้รับผลกระทบเป็นสองเท่า ทั้งจับปลาได้น้อยและต้นทุนน้ำมันแพง

“ค่าน้ำมันขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ถ้าเป็นเรือ 1,000 แรงม้าใช้น้ำมันประมาณ 2,000 ลิตรต่อวัน น้ำมันลิตรละประมาณ 24 บาท ค่าคนงาน 26 คน วันหนึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6-7 หมื่นบาท”

“ชาวประมง 80-90 เปอร์เซ็นต์ทำอาชีพประมงอย่างเดียว เมื่อไม่ได้ออกเรือก็ไม่ได้ทำงานอะไร นอกจากนี้ยังกระทบแรงงานต่างด้าว เรือไม่ได้ออก อาจจะทำความเดือดร้อนแก่สังคม เดือดร้อนไปหมด”

ขณะที่บริเวณปากน้ำระยอง เรือประมงพื้นบ้าน เรือประมงพาณิชย์ต่างลอยนิ่งจอดเรียงกัน ห่างจากฝั่งออกไปยังกลางทะเล ยังพอเห็นเรือลอยโต้คลื่นออกไปบ้าง แต่ก็น้อยเต็มที

กฤตภาส รัตนพรวารีสกุล อายุ 29 ปี ทายาทเจ้าของเรือประมงพรวารี จังหวัดระยอง เล่าว่าตอนนี้มีเรือยังดำเนินกิจการเพียงไม่กี่เจ้า บางคนขายกิจการเพราะสู้ราคาน้ำมันไม่ไหว

“ช่วยงานที่บ้านประมาณ 5 ปี เจอปัญหาน้ำมันขึ้นทุกปี ตอนเข้ามาช่วยแรกๆน้ำมันราคา 8-11 บาท แต่ปีนี้น้ำมันขึ้นเท่าตัว เหนื่อยหน่อย แต่ยังต้องออกต่อไป แต่ถ้าขึ้นมากกว่านี้คงจะแย่ เพราะค่าใช้จ่ายหลักของการทำประมงคือน้ำมัน แต่ก็ยังต้องออกเรือ ถ้าไม่ออกก็ไม่มีเงินหมุน รายได้อาจจะน้อยหน่อย พออยู่ได้ แต่บางทีแทบไม่คุ้ม ถัวบางเดือนน้อยบางเดือนเยอะก็ต้องทำ ถ้าจอดทิ้งไว้เรือจะสึกหรอมากกว่า”

เขายังเล่าต่อไปอีกว่า “ใครสายป่านยาวพออยู่ได้ ใครสายป่านสั้นก็ต้องจอดไปหลายลำ กรณีชาวประมงขายเรือมีมานานแล้ว เพราะน้ำมันขึ้นเรื่อยๆ บางคนยังออกเรือ แต่ก็ไม่คุ้ม ถ้าจับปลาเกรดสูงได้ก็พออยู่ได้ แต่ถ้าจับไม่ดี ไม่คุ้มค่าน้ำมัน ที่ไปกู้หนี้ยืมสินมา เดือนนั้นก็มีหนี้เป็นแสน เมื่อไม่คุ้ม จอดดีกว่า แต่ของผมทำมาหลายปี ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ถึงรุ่นเราก็ต้องทำต่อไป อาศัยมีระบบการบริการจัดการที่ดีหน่อย”

ค่าใช้จ่ายก่อนออกเรือแต่ละครั้ง ประกอบไปด้วยค่าแรงงานลูกเรือ ค่าน้ำแข็ง ค่าเครื่องยนต์สึกหรอ และค่าใช้จ่ายหลักคือน้ำมัน “เรือที่บ้านเป็นเรืออวนดำ เรือแม่ 3 ลำ เรือลูกอีก 9 ลำ เวลาออกเรือก็มีเรือแม่1ลำ เรือลูก 3 ลำ แต่ละครั้งออกเรือห่างจากฝั่งประมาณ 60-70 ไมล์ ออกประมาณ 4-5 วัน แล้วแต่ว่าได้ปลาเยอะหรือน้อย ถ้าได้น้อยก็ฝืนอยู่จนน้ำแข็ง 500-600 ก้อนหมด น้ำแข็งก็ขึ้นราคามานาน ทุกอย่างมีผลกระทบหมด แต่หลักๆคือน้ำมันใช้ประมาณ 20,000 ลิตรต่อเดือน เป็นเงินประมาณ 400,000 กว่าบาท ค่าของเสีย ค่ากินอยู่ลูกน้อง ใช้ต่างด้าวลำละ 30 กว่าคน ใช้คนเท่าเดิม เพราะเรือต้องการแรงงานเหมือนเดิม”

ขณะที่น่านน้ำประจวบคีรีขันธ์ ชาญชัย คงศรี ชาวประมงวัย 32 ปี เล่าว่า เรือประมงพื้นบ้านประมาณ 30-40 ลำ งดออกจากฝั่ง เพราะสู้ราคาน้ำมันเบนซินที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ไหว จากเดิมลิตรละ 25 บาท ถึงตอนนี้เพิ่มเป็นลิตรละ 28 กว่าบาท

จากรุ่นพ่อทำกิจการเรือประมงใหญ่ เมื่อมาถึงรุ่นลูก สัตว์น้ำเริ่มหายาก ประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น 5-6 ปีก่อน ชาญชัยจึงเปลี่ยนมาใช้เรือประมงพื้นบ้านออกเรือแทน อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อประสบกับภาวะน้ำมันขึ้นราคา ถึงกับทำให้เขาต้องงดออกหาปลามาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

เขาเล่าถึงการดำเนินชีวิตในภาวะน้ำมันปกติ “คนทะเลไม่รวย ยิ่งเรือเล็กหากินลำบาก บุกคลื่น บุกลม บุกฝนไม่ได้เท่าเรือใหญ่ ลมเดี๋ยวนี้แปรปรวน ออกแต่ละทีต้องดูฟ้าฝน ออกไปเจอถ้าเข้าฝั่งไม่ได้มีสิทธิ์จม หากินลำบาก สัตว์น้ำก็มีจำนวนลดลง แต่คนหาปลามากขึ้น 3-4 ปีที่ผ่านมาเรือใหญ่เริ่มเข้ามาทำกินกันเยอะ และมีทีท่าเพิ่มมากขึ้น เรือเล็กจะออกนอกฝั่งไกลๆก็ไม่ได้ เพราะเรือใหญ่ออกไปล่าไว้หมดแล้ว”

เปรียบเทียบเมื่อประสบภาวะน้ำมันขึ้นราคา “ตอนนี้จอดเรือมา 3-4 เดือนแล้ว อาศัยไปรับจ้างเขาซ่อมเรือบ้าง ใช้แรงแลกเงินวันละ 100-150 บาทพอประทังชีวิตอยู่ได้ และวันนี้คงจะไม่มีเรือให้ซ่อมแล้ว เพราะเจ้าของเรือที่จอดทิ้งไว้ไม่มีรายได้ ครั้นจะประกาศขายเรือก็ไม่มีใครเอา บวกกับน้ำมันแพง จึงไม่มีใครสนใจที่จะหันมาซื้อเรือเพื่อทำประมงเหมือนในอดีต”

เขาอธิบายถึงค่าใช้จ่ายในการออกเรือแต่ละครั้งว่า “ออกเรือไกลจากฝั่งประมาณ 15 กิโลเมตร ใช้น้ำมัน 10 ลิตร ผมใช้น้ำมันเบนซินลิตรละ 28 กว่าบาท วิ่งได้แค่วันครึ่ง ราคาของทะเล ถ้าเป็นปลาทูกิโลกรัมละ 40 บาท โดยเฉพาะปลาหมึกราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 110-120 บาท แต่เรือเล็กต้องใช้เครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ ยิ่งเปลืองน้ำมันเยอะ ไม่คุ้มหากจะไปหากินสู้กับเรือใหญ่ ถัวเฉลี่ยรายจ่ายกับรายได้ คิดว่าจอดเรือดีกว่า ทำไปก็ไม่คุ้ม”

—> น้ำมันทางเลือก

กฤตภาสกล่าวว่ารัฐบาลมีโยบายช่วยเรือประมงเล็กชายฝั่ง โดยการลดราคาน้ำมันลงหนึ่งบาทต่อลิตรจากราคาปกติ เพราะว่าเรือประมงเล็กไม่สามารถเดินทางออกไปเติมน้ำมันลึกๆไม่ได้ต้องเติมบนฝั่ง แต่สำหรับประมงน้ำลึกยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือแต่อย่างไร ดังนั้นจึงยังคงใช้น้ำมันเขียวต่อไป โดยต้องออกเรือไปกลางทะเลเพื่อเติมน้ำมัน ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันบนฝั่งประมาณ 4 บาท

“มันคุ้มกว่า ถึงจะได้ไม่เต็มลิตรบ้าง น้ำมันบนฝั่งสะอาดกว่ากลางทะเล เวลาซื้อน้ำมันเขียวจึงต้องนำมากรองก่อนใช้ แต่ก็ยังดีกว่าเติมน้ำมันบนฝั่ง”

ในส่วนของพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นที่นำมาใช้ได้แก่ ก๊าซเอ็นจีวี และไบโอดีเซล แต่สำหรับกฤตภาสยังไม่กล้านำมาใช้ เพราะมองว่าเสี่ยงกับการเสื่อมของสภาพเครื่องยนต์ จึงยังคงใช้น้ำมันเขียว แต่ใช้แบบประหยัด

“ยังไม่กล้าเสี่ยงใช้ก๊าซเอ็นจีวี ถ้าใช้ลูกน้องดูแลไม่ดี เวลาออกเรือเครื่องระเบิด ซื้อเรือใหม่ราคาเป็นล้านต่อไปไม่แน่จะมีการนำน้ำมันต่างประเทศ ราคาถูกเข้ามาใช้หรือไม่”

เขายังเล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีชาวประมงบางคนแก้ปัญหาด้วยการนำไบโอดีเซลมาใช้ “น้ำมันเก่าเอามากลั่น ดีแต่ยังผลิตได้ปริมาณน้อย นำมาใช้กับเรือใหญ่ไม่ได้ และไม่รู้ว่าต่อไปจะมีผลกระทบเครื่องยนต์หรือเปล่า”

เสนอแนะแนวทางต่อไปว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยปรับลดราคาน้ำมัน “ถ้าลดราคาลงมาได้ก็ดี แต่ก่อนน้ำมันถูกพอดำเนินชีวิตอยู่ได้ แต่ตอนนี้เอาเรือกลับมาไม่ค่อยเหลือ บางครั้งเหลือแต่ไม่คุ้มทำ บางลำจับปลาได้ แต่ปลาไม่มีราคา ก็ต้องจอด เพราะเดือนหนึ่งๆค่าน้ำมันหลายแสน บางคนขาดทุนเป็นล้าน”

เช่นเดียวกัน ชาญชัยกล่าวว่าถ้าราคาน้ำมันลดลง จะได้กลับไปทำอาชีพประมงประทังชีวิตเหมือนเดิม

“เรือเล็กไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนเรือใหญ่ เรือเล็กใช้น้ำมันเบนซิน เสียเปรียบ เพราะไม่สามารถลอยเรือออกไปเติมน้ำมันเขียวในทะเลที่มีราคาถูกกว่าได้ และใช้น้ำมันคนละอย่างกัน อยากให้รัฐบาลหันมาช่วยเรือเล็กบ้าง ลดราคาค่าน้ำมันเบนซิน จะได้กลับไปทำอาชีพเดิม เพราะยึดอาชีพหาปลามากว่า 20 ปี ทำเป็นอาชีพเดียวที่คิดว่าจะช่วยให้ครอบครัวพ้นจากความอดอยากได้”

—> ออกเรือไม่คุ้ม งดออกเรือ

กฤตภาสแสดงความเห็นว่า หากสถานการณ์ปัญหาน้ำมันยังคงไม่ดีขึ้น ทางเดียวที่ทำได้คือจอดเรือทิ้งไว้ เพราะถึงจะออกเรือไปก็ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่สูงขึ้น

“ถ้าขึ้นสูงก็คงต้องจอด ออกไปก็อยู่ไม่ได้ คงไม่ทำ ธุรกิจถ้าไม่คุ้มทุนก็ต้องจอด เสียดายเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ช่วงนี้ก็อาศัยการบริหารจัดการที่ดี เซฟตัวเอง ทุกเรือมีวิธีเซฟอย่างไรให้อยู่ได้ เซฟน้ำมัน ทุกอย่าง ช่วยกันดูแลของไม่ให้เสีย ประหยัดในส่วนของการคุมลูกน้อง ไม่ต้องวิ่งมาก ประหยัดมานานแล้ว วิ่งน้อยลง วิ่งมากก็กินน้ำมันมาก แต่ว่าเรือประมงต้องใช้น้ำมันวิ่งหาปลา ถ้าไม่วิ่งก็ได้ปลาน้อย แต่หลักๆแล้วขึ้นอยู่กับน้ำมันอย่างเดียว สูงมาก ไม่รู้จะอยู่อย่างไรก็ต้องจอด ตอนนี้เจ้าของเรือบางคนเริ่มหันไปทำอพารต์เมนต์ บางคนหาธุรกิจบนฝั่ง เผื่อไว้ว่าทำการประมงไม่ดี”

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อไปว่า “ราคาน้ำมันครั้งนี้ถือว่าขึ้นเยอะที่สุดในประวัติการณ์ ที่ผ่านมา ขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วและปีนี้ขึ้นมาอีกและคงไม่ลงไปมากกว่าลิตรละ 21-22 บาท เมื่อราคาน้ำมันบนฝั่งไม่ลง มีแต่จะขึ้น น้ำมันเขียวก็ต้องขึ้นเหมือนกัน แล้วถ้าอเมริการบกับอิหร่านก็ต้องทำใจ อย่างน้อยราคาน้ำมันบนฝั่งอาจจะขึ้นไปถึง 30 บาทต่อลิตร ซึ่งก็คงต้องดูสถานการณ์โลก ถ้าเป็นอย่างนั้นคงอยู่ไม่ได้ แค่นี้ก็จะแย่”

สำหรับการรวมกลุ่มกันของชาวประมงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือนั้น กฤตภาสมองว่า “ชาวประมงรวมตัวกันไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ใครอยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ไม่มีพลังในการทำอะไร ไม่ค่อยมีพลังให้รัฐมาช่วย ซึ่งจริงๆแล้วอาหารทะเลเป็นรายได้ส่งออกหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังนิ่ง ไม่มีมาตรการมาช่วย ชาวประมงเดือดร้อนมาก ถ้าคนไม่มีปากเสียงก็ต้องเลิกกิจการไปหาอย่างอื่นทำ ประมงไม่ค่อยมีปากเสียง ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยคงคุยกับรัฐบาล แต่ไม่มีแนวโน้มรัฐมาช่วย อาจจะมีหรือไม่มี แต่ตอนนี้ยังเงียบๆ ถ้าขึ้นมากกว่านี้ สมาคมคงมีนโยบาย เพราะประมงอยู่ไม่ได้ โรงงานทำอาหารกระป๋องก็เดือดร้อน เป็นลูกโซ่ คนตกงานก็จะเยอะขึ้น”

ขณะที่ประสันต์กล่าวว่าคงไม่มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องแต่อย่างไร “ประมงรายใดอยู่ไม่ได้ ก็คงจอดเรือ เพื่อให้รัฐรู้ว่ามีจำนวนชาวประมงอยู่ไม่ได้มากแค่ไหน หรือคงจะปล่อยให้ชาวประมงตายไป ส่วนตัวผมเองถ้าทำประมงต่อไปเรื่อยๆขาดทุนก็คงต้องหยุดจอดเหมือนกัน”

–> ประกันราคาปลา บรรเทาปัญหาน้ำมันแพง

แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงอีกทางของชาวประมง คือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาปลา โดยปกติออกเรือแต่ละครั้งมักจะได้ปลาไก่หรือปลาเป็ด สำหรับนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ติดอวนขึ้นมาทุกครั้ง ที่สำคัญราคาปลาไก่ยังเป็นรายได้หลักของเรือประมงประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด และหากปลาชนิดนี้มีราคาสูงก็จะทำให้ปลาชนิดอื่นมีราคาสูงตามไปด้วย

กฤตภาสกล่าวถึงปริมาณปลาที่จับได้ในเวลานี้ว่า “ส่วนมากเดือนหนึ่งๆเดิมๆพอจ่ายค่าน้ำมัน ค่าลูกน้อง ที่เหลือได้นิดหน่อย บางทีเดือนนี้ขาดทุนหลายแสน เดือนต่อไปอาจจะกำไร แต่ถ้าวันไหนฟลุกได้ปลาเยอะและราคาดี ก็ช่วยต่ออายุยืดไปได้หน่อย เรืออาศัยลูกฟลุก อยากฟลุกได้ปลาเยอะๆ บ่อยครั้งเหมือนกัน”

“เคยจับได้ปลาเกรดดีเยอะ แต่ช่วงนี้จับได้ไม่ดี ขึ้นอยู่กับดวง และมีไต้ก๋งเก่ง ขยัน เรือหนึ่งลำเท่ากับหนึ่งบริษัท ผู้จัดการดี อะไรก็ดี ถ้าผู้จัดการไม่ดีก็พาเราไปไม่ถึงฝั่ง แต่ยังดีที่ราคาปลาขึ้นราคา ช่วยต่อชีวิตชาวประมงได้นิดหน่อย แต่บางทีไม่ได้ขายเอง มีพ่อค้าคนกลางมารับไปอีกที เราก็ไม่รู้ขายเท่าไร โดนกดราคา มีรถมารับคิดค่าขนส่ง แต่ถ้ากดมากไปก็ไม่คุ้ม”

“ปริมาณปลาลดลง เพราะเรือวิ่งน้อยลง แต่ละบ้านจอดเรือกัน ปลาในตลาดอาจจะน้อย แต่บางเที่ยวได้เยอะ แต่ราคาปลาตก บางช่วงปลาได้น้อย แย่งกันซื้อราคาปลาก็ดีหน่อย ซึ่งก็แล้วแต่ดวงอย่างเดียว และอยู่ที่เรือและฝีมือของไต้ก๋ง ถ้าเรือเสียต้องวิ่งกลับฝั่งไม่ได้ปลา ออกไปได้วันเดียว ได้ปลานิดเดียวก็ต้องเข้าฝั่ง เรือประมงได้ปลาปลาไก่ปลาเหยื่อ ปลาเกรดต่ำที่นำไปทำปลาป่นเยอะ ราคากิโลกรัมละ 2 บาท แต่ถ้าเที่ยวไหนได้ปลาเกรดสูง เช่น ปลาทูน่า ปลาทู ก็ถือว่าโชคดีไป คือ ต้องจับได้ปลาเกรดดี จำนวนเยอะจริงๆให้คุ้มทุน ถึงจะอยู่ได้”

พร้อมกับเสริมแนวทางว่า “แต่ถ้าราคาปลาขึ้น ชาวประมงก็คงอยู่ได้ แต่ถ้าราคาปลาไม่ขึ้นตามราคาน้ำมันก็คงอยู่ไม่ได้ แต่คิดว่าน่าจะขึ้น เพราะเรือประมงจอดกันเยอะ แต่ถ้าขึ้นราคาปลาขึ้นสูงมากๆก็คงไม่ได้อีกเพราะคนจะไม่บริโภค ตอนนั้นก็คงขายไม่ออกอยู่ดี”

ขณะที่ ประสันต์ เรียกร้องให้รัฐให้ความช่วยเหลือตามที่ช่วยเหลือได้ พร้อมกับเสนอแนวทางเดียวกันว่า เวลานี้หลักใหญ่อยู่ที่การประกันราคาปลา ถ้าไม่ประกันราคาปลา ชาวประมงก็อยู่ไม่ได้

“คงไม่สามารถเรียกร้องขอให้รัฐช่วยแก้ปัญหาด้วยการลดราคาน้ำมัน เพราะเท่ากับเอาเปรียบอาชีพอื่น แต่ที่ต้องการคือประกันราคาปลา ปัจจุบันชาวประมงรู้ว่าใช้ต้นทุนเท่าไร แต่ไม่รู้รายรับ รู้แต่รายจ่าย ไม่รู้ว่าจะขายได้ราคาหรือไม่ เพราะไม่สามารถกำหนดราคาปลาได้ ราคาสัตว์น้ำไม่มีมาตรฐาน แต่ถ้าเผื่อเรากำหนดราคาสัตว์น้ำ จะทำให้สามารถรู้ต้นทุน แนวทางแก้ปัญหาได้ตอนนี้ก็คือการประกันราคาปลา”

เขากล่าวว่าที่ผ่านมา รัฐช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ชาวประมงก็ยังอยู่ไม่ได้ เพราะราคาสินค้าปรับตามราคาน้ำมันไม่มาก

“ราคาน้ำมันขึ้น ราคาสัตว์น้ำที่จับน่าจะขึ้นตาม แต่ตอนนี้ราคาสินค้าไม่สัมพันธ์กับราคาน้ำมันที่ขึ้นไป เรียกร้องทุกครั้ง และได้รับการช่วยเหลือมา แต่ยังอยู่ไม่ได้ เวลานี้ปลาที่ขายได้คือปลาเป็ดหรือปลาไก่ ถ้าราคาปลาไก่ขึ้น ราคาปลาอย่างอื่นแพงหมด 30 ปีก่อนราคาปลาไก่ 1-2 บาท สูงสุดกิโลกรัมละ 3 บาท แต่น้ำมันราคาลิตรละ 1 บาท 80 สตางค์ ปีที่แล้วราคาปลาไก่ 4 บาท น้ำมัน 13 บาท แต่ตอนนี้น้ำมันขึ้นเป็นหลายเท่า เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ขณะเดียวกันราคาปลาไก่ราคา 5 บาท เทียบกันไม่ได้ซึ่งถ้ารับซื้อในราคา 7 บาท ชาวประมงก็จะพออยู่ได้ คือโรงงานซื้อ 5-6 บาท ส่วนที่เหลือรัฐชดเชยให้ ไม่ใช่บังคับโรงงานซื้อ”

เสียงโอดครวญจากลูกทะเลเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของคนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากพิษน้ำมันแพง และถ้าหากปัญหายังคงไม่ได้รับการบรรเทาให้คลายความเดือดร้อนลงไปได้ เสียงเหล่านี้ก็คงเปรียบเสมือนคลื่นที่กระทบเข้าหาฝั่ง แล้วถูกกลืนหายกลับคืนสู่ท้องทะล

Share the Post: