marinerthai

เศรษฐกิจไร้น้ำมัน (Oil-Free Economy)

โดย กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Sweden aims for oil-free economy, Evergreen… Sweden will develop biofuels from its forests

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง และความสำเร็จของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ในการขุดเจาะหลุมสำรวจ พบบ่อน้ำมันใหม่เพิ่มเติม บริเวณทะเลอ่าวไทยด้านจังหวัดชุมพร ซึ่งมีอัตราการไหลสูงสุดถึง 9,700 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการค้นพบน้ำมันดิบที่มีปริมาณสูงในบริเวณทะเลอ่าวไทย ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และผู้ใช้รถส่วนบุคคล ที่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพลดลงได้บ้าง ท่ามกลางสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและประชาชนอาจดีใจได้ไม่นานนัก เพราะในอนาคต ราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวสูงขึ้นอีกได้ จากการที่น้ำมันเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด และการขุดพบบ่อน้ำมันเพิ่มเติมนั้นทำได้ยากมากขึ้นและต้องอาศัยการลงทุนสูง นับวันน้ำมันจะมีให้ใช้น้อยลงทุกขณะ รวมทั้งมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบ และทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอีก เหมือนช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงพยายามลดการพึ่งพาน้ำมันและหันมาให้ความสำคัญพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่การพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ยังเป็นไปอย่างล่าช้า ในต่างประเทศมีการพัฒนาด้านพลังงานไปไกลมาก เพราะไม่เพียงการพัฒนาพลังงานทดแทนเท่านั้น แต่หลายประเทศในยุโรป กำลังพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทาง ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจไร้น้ำมัน” (Oil-Free Economy)

ดังตัวอย่างรัฐบาลสวีเดนที่ประกาศวิสัยทัศน์ว่า จะพัฒนาประเทศให้เป็น “เศรษฐกิจไร้น้ำมัน” ภายในปี ค.ศ.2020 นับเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศวิสัยทัศน์ที่ท้าทายเช่นนี้ “เศรษฐกิจไร้น้ำมัน” ที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้หมายถึง การไม่ใช้น้ำมันเลย แต่เป็นการพึ่งพาน้ำมันให้น้อยที่สุด โดยรัฐบาลสวีเดนตั้งเป้าว่า ในปี 2020 จะไม่มีการใช้น้ำมันสำหรับทำความร้อนในบ้านเรือน และอาคารพาณิชย์ ในขณะที่ภาคการขนส่งทางถนน ภาคก่อสร้าง จะลดการใช้น้ำมันลงให้ได้ร้อยละ 40-50 และภาคอุตสาหกรรมจะลดการใช้น้ำมันลงให้ได้ร้อยละ 25-40

เมื่อเปรียบเทียบวิสัยทัศน์ดังกล่าวกับนโยบายพลังงานของประเทศไทยแล้ว นับว่านโยบายของไทยยังห่างไกลกับประเทศสวีเดนมาก เห็นได้จาก

ประเทศไทยยังขาดวิสัยทัศน์ด้านพลังงานที่ชัดเจน รัฐบาลในอดีตเคยประกาศว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมัน ของภูมิภาค ศูนย์กลางพลังงานของอาเซียน และศูนย์กลางพลังงานทดแทนแห่งเอเชีย แต่เป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นเต้น ไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลต้องการเห็นเป้าหมายอะไรที่วัดได้ ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน และไม่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย รวมทั้งยังมีการประกาศหลายเป้าหมายจนทำให้เกิดความสับสนว่า ตกลงแล้วรัฐบาลต้องการจะนำประเทศไปในทิศทางใด

การขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนนั้น ทำให้นโยบายที่ประกาศออกมา หลายครั้งเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือเป็นเพียงนโยบายตามกระแส หรือใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างคะแนนเสียงของพรรคการเมือง เช่น การตรึงราคาน้ำมันเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกราคา ทำให้การบริโภคน้ำมันของประชาชนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาครัฐต้องเสียเงินในการอุดหนุนราคาน้ำมันกว่าแปดหมื่นล้านบาท หรือการสนับสนุนการผลิตไบโอดีเซล แต่ขาดนโยบายสนับสนุนที่ครบวงจรและต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น

วิสัยทัศน์ด้านพลังงานของไทยไม่สมเหตุสมผล การจะพัฒนาประเทศต้องมีวิสัยทัศน์แห่งชาติ ที่ชัดเจนและเป็นจริงได้ แต่วิสัยทัศน์ด้านพลังงานของไทย เช่น การเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนนั้น ไม่สมเหตุสมผลและเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีคู่แข่งที่แข็งแกร่งมาก (สิงคโปร์) และประเทศไทยต้องพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมากในการลงทุนท่อส่งน้ำมัน และก๊าซในไทย (เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เป็นต้น) ซึ่งอาศัยเงินทุนมากและเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก

การกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าพลังงาน มิได้เป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริงของประเทศ นั่นคือ การลดพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เพราะการเป็นศูนย์กลางการค้าพลังงานไม่ทำให้ประเทศ สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานได้ และไม่ทำให้นำเข้าพลังงานได้ในราคาต่ำลง เพราะราคาน้ำมันเป็นไปตามราคาตลาดโลก ขณะที่วิสัยทัศน์ของสวีเดนในการเป็นเศรษฐกิจไร้น้ำมัน น่าจะเป็นแนวทางที่พึงประสงค์สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเป็นความพยายามพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก

พลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิตของประชาชนในประเทศอย่างมาก การกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านพลังงาน และเป็นวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

Share the Post: