โดย หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550
ชื่อเสียงความโด่งดังด้านท่องเที่ยวของภูเก็ตโด่งดังไปทั่วโลก ชายหาดขาว เรียงรายไปด้วยโรงแรม รีสอร์ตมากมาย จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตจากทุกมุมโลก แต่ละปีมากกว่า 2 ล้านจนในปีที่ผ่านมาภูเก็ตแม้จะบอบช้ำจากสึนามิ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังสูงถึง 4.5 ล้านคน ทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 175 เปอร์เซ็นต์
จุฑาพร เริงรนอาษา รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฝ่ายการตลาดและต่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2550 มีแนวโน้มการท่องเที่ยวของภูเก็ตดีเช่นกัน จากการสอบถามเอเย่นต์ทัวร์และโรงแรมต่าง ๆ ปรากฏว่าอัตราการจองห้องพักหนาแน่นมากในฤดูกาล ท่องเที่ยวที่จะถึงนี้
รวมทั้งเที่ยวบินประจำจากต่างประเทศ และแนวบินเช่าเหมาลำ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะกลับไปเท่ากับหรือมากกว่า เมื่อปีพ.ศ. 2547 อันเป็นปีทองทางการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต
นอกจากการเดินทางโดยเครื่องบินแล้ว แนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางเรือ โดยเฉพาะเรือสำราญเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ภูเก็ตมีเพียงเรือ สตาร์ครูซ ที่มาจากสิงคโปร์เป็นหลัก ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้มีเรือสำราญจากยุโรปและคาริเบียนเข้ามา เช่น Sea Bourn, Europa, P&O, Canival Cruise เป็นต้น
“ภูเก็ต” ยังเป็นมารีน่าที่รองรับเรือ ยอชท์ของมหาเศรษฐีทั่วโลก มีมารีน่ารองรับเรือยอชท์ที่เป็นของเอกชนอยู่ 3 แห่งด้วยกัน คือรอยัลภูเก็ตมารีน่า สามารถรองรับเรือยอชท์ ได้ 350 ลำ และภูเก็ต โบ๊ทลากูน รองรับเรือได้กว่า 300 ลำ และภูเก็ต ยอชท์ เฮเว่น
เฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะมีเรือยอชท์ เข้ามาในภูเก็ตปีละกว่า 700 ลำ มีบางลำเข้ามาอยู่นาน เพื่อประกอบอาชีพ เช่นพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีกำลังก่อสร้าง มารีน่า ณ บริเวณท่าเรืออ่าวฉลองเฟสแรกด้วยงบประมาณ 70 ล้านบาท รองรับเรือได้ 60 ลำ คาดว่าจะเสร็จในปี 2551 และเฟส 2 ด้วยงบประมาณ 200 ล้านบาทเพื่อพัฒนาให้ท่าเทียบเรืออ่าวฉลองให้เป็น มารีน่า ตามมาตรฐานโลก
ล่าสุดมีข่าวว่า นายกูลู ลาลวานี เจ้าของรอยัลภูเก็ตมารีน่า จะใช้เม็ดเงิน 7,000 ล้านบาท สร้างเกาะโซราน (Zoran) ในพื้นที่อ่าวพังงา โดยจะขุดลอกร่องน้ำจากบริเวณเกาะแก้วแล้วใช้ดินถมทะเลขึ้นมา ให้เป็นพื้นที่ถึง 65 ไร่
วัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อรองรับเรือยอชท์ขนาดใหญ่ ที่มีความยาวเกิน 40 เมตรขึ้นไป ที่เรียกว่าซุปเปอร์ยอชท์ จะสามารถจอดได้ในจุดที่มีน้ำลึกกว่า 60 เมตร ซึ่งมารีน่าที่มีอยู่ในภูเก็ต ไม่สามารถรองรับได้
จากการบอกเล่าของนายกูลู ลาลวานี ก่อนที่จะผุดโครงการก่อสร้างเกาะในทะเล เขา ได้ใช้เงินไปกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ จ้างผู้ เชี่ยวชาญด้านการสร้างเกาะ คือ บริษัท Burchill Partners PTY จำกัด มาศึกษาสำรวจและออกแบบการสร้างเกาะ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เสนอความคิดว่าควรขุดลอกเกาะแก้วที่มีอยู่ในปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินมาก เรือไม่สามารถเข้าออกได้ตลอด 24 ชั่วโมง
หากขุดลอกคลองออกไปประมาณ 3-4 กิโลเมตรไปจนถึงปากอ่าว จะเกิดดินจำนวนมหาศาลเป็นแสน ๆ คิว สามารถนำดินดังกล่าวไปถมเป็นเกาะในทะเลลึก ที่มีร่องน้ำลึกและพัฒนาเป็นที่จอดเรือซุปเปอร์ยอชท์ได้ พร้อมสร้างวิลล่าหรู 30-40 หลังพร้อมด้วย โรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
เขามั่นใจว่าการถมทะเลเพื่อสร้างเป็นเกาะ ไม่น่าจะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาพอสมควร แต่ก็ยืนยันว่าจะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากนักวิชาการในประเทศไทยด้วย
ในความเห็นของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า แถวนี้มีป่าชายเลน มีเขาหินปูน แลนด์สโตน ตรงนี้เป็นแหล่ง อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของชุมชน เรื่องการประมงชายฝั่ง การเพาะเลี้ยงจะมีบ้าง เรื่องการท่องเที่ยว
เรื่องเศรษฐกิจต้องคิดให้ชัด ๆ ว่า การที่ให้เขาทำจริง ๆ เราได้จริงประโยชน์จะตกไปอยู่ที่ใคร ตกชุมชนเท่าไร ลงทุนเท่าไร ต้องคิดให้ชัด เพราะพื้นที่เป็นสมบัติของเรา การที่จะเอาอะไรไปสร้างเกาะขึ้นมา ต้องพิจารณาว่าจะได้อะไร
การที่ขุดคลองออกไปจากเกาะภูเก็ต ประมาณ 3-4 กิโล ซึ่งต้องเป็นคลองที่กว้างพอสมควร จุดที่จะสร้างที่จอดเรือยอชท์ ดินเหล่านี้ จะเกิดการกระจายของฝุ่นละออง จะมีผลกระทบด้านกายภาพ ต้องศึกษาอย่างละเอียด ตลอดจนต้องศึกษากระแสน้ำหมุนเวียนช่วงนั้นด้วย
เพราะถ้าขุดคลองลงไปลึก ๆ แล้ว การหมุนเวียนของกระแสน้ำจะมีผลกระทบต่อป่าชายเลนอย่างไรบ้าง มีผลกระทบเรื่องวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ต้องคิดอย่างละเอียดว่าทรัพยากรทางน้ำ ป่าชายเลน หญ้าทะเลทางกายภาพเมื่อเสื่อมไปแล้ว ซึ่งเราอยู่บนฝั่งเรา จะมองไม่เห็น
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยังบอกอีกว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น เรื่องระบบสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ต้องทำท่อส่งน้ำไปจากในเมือง ท่อน้ำไปขวางทะเล ระบบน้ำทิ้ง ไม่ใช่เรื่องล็ก ๆ จะตัดสินใจ ต้องมองในระยะยาว เกิดผลกระทบขึ้นมาใช้เงินเป็นแสนล้านเรื่องมาคืนของดั้งเดิม คิดว่าวิถีชีวิตของคนแถวนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลง
“ขนาดแค่ทำลายป่าชายเลนไปฟื้นฟูหมื่นล้านยังไม่กลับ มีเรือใหญ่ ๆ เข้ามาการคมนาคมจะจัดอย่างไร ต้องดูให้ครบทุกมุม ต้องตอบได้อธิบายได้ให้ชัดเจน กระแสน้ำมีผลกระทบกับป่าชายเลน สัตว์น้ำ”
ด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทะเลแหล่งน้ำจืด องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย ให้อีกความคิดเห็นหนึ่งว่า โดยภาพรวมของสภาพทะเลเมืองไทย ยังไม่มีระบบนิเวศบนพื้นที่จุดไหนเสื่อมโทรมจนขนาดสามารถใช้ดินมาถมทะเลได้ บนพื้นที่บริเวณชายฝั่งบริเวณเกาะแก้ว จ.ภูเก็ต ยังไม่ถึงขั้นเสื่อมโทรม
“ปกติเราก็มีรีสอร์ตหรูอยู่บนแผ่นดินเยอะอยู่แล้ว ทั้งที่รุกพื้นที่ป่า ไม่รุกพื้นที่ป่าในภูเก็ต มีรีสอร์ตเล็กที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันให้กับ นักท่องเที่ยว ที่ไม่อยู่ในเขตอุทยาน แต่มีพื้นที่ป่าก็เข้าไปสร้างรีสอร์ต ประเทศไทย ไม่มีทะเลกว้างขวางที่จะถมพื้นที่ขึ้นมา ใหม่ พิจารณาดูแล้วผลประโยชน์ตกอยู่ ในประเทศไม่เท่าไร ต้องไม่ลืมว่า จากภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลก ในอนาคตทะเลจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์โลก”
ธรรมชาติออกแบบตัวเองมาอย่างลงตัว ให้พื้นที่จุดหนึ่งเป็นเกาะ เป็นป่าชายเลน สร้างความสมดุลของตัวเองอยู่แล้ว การก่อสร้างเกาะในทะเลเพียงเพื่อเป็นที่จอดเรือยอชท์ของเศรษฐี ที่มาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วกลับไป ทิ้งเงินไว้ก้อนหนึ่งจ่ายราคาค่าวิวสวยกลางทะเล
หากวันหนึ่งระบบนิเวศเปลี่ยนไปส่ง ผลกระทบทั้งแหล่งอาหารทะเล ป่าชายเลน วิถีชีวิต ทุกอย่างเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ เงินมหาศาลขนาดไหนก็ไม่พอจะฟื้นทะเลให้กลับมาดั่งเดิม.