โดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ดินแดนทะเลโอบอย่างประเทศออสเตรเลียย่อมมีร่องรอยหลักฐานการพาณิชย์นาวีโบราณอยู่ไม่น้อย ยุวดี มณีกุล บอกเล่าเนื้อหาการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติออสเตรเลีย รวมถึงการขุดค้นแหล่งเรือจมบางแหล่ง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แนวความคิดในการจัดการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Live Museum) อาจเพิ่งปรากฏเป็นรูปธรรมในสังคมไทยไม่เกิน 5 ปี ที่ผ่านมา แต่ในประเทศพัฒนาแล้วได้มีการยกระดับการจัดการพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของการพัฒนาสังคม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน
ที่มหานครซิดนีย์ เมืองใหญ่แห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย มีพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ทั้งพิพิธภัณฑ์เมือง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์-ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางต่างๆ และหอศิลป์ประจำเมือง
ความที่มีดินแดนติดทะเลและมหาสมุทรแปซิฟิค เมืองซิดนีย์จึงเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National Maritime Museum) ริมอ่าวซิดนีย์
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชั้นแบบเล่นระดับ จากโถงบริการมีทางลาดนำขึ้นสู่ห้องจัดแสดงชั้นสอง ข้างทางมีร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์-โบราณคดีทางทะเล โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับแหล่งเรือโบราณที่จมลงรอบๆ เขตน่านน้ำประเทศออสเตรเลีย
โครงกระดูกมนุษย์ในตู้แสดง
ก่อนถึงชั้นลอยมีตู้กระจกแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเดินเรือเป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้ชม บริเวณชั้นลอยนี้มีพื้นที่บริการสอนต่อเรือโบราณจำลองแบบต่างๆ โดยไม่เสียค่าเรียน ผู้สอนเป็นอาสาสมัครเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00-15.00 น. ไม่ไกลกันจัดแสดงสมอไม้เรือเก่าแก่ที่นำมาจากการทำงานขุดค้นโบราณคดีใต้น้ำ พร้อมป้ายคำบรรยายเกี่ยวกับการสงวนรักษาโบราณวัตถุจากใต้ทะเลชิ้นนี้ รวมถึงเครื่องประกอบตัวเรือจำพวกตะปู สลัก ฯลฯ ที่จัดแสดงในตู้กระจกใกล้ๆ กัน กล่าวได้ว่าเป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุจากการทำงานโบราณคดีใต้น้ำนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการจำลองบางส่วนของเรือสำเภาโบราณที่ติดตั้งปืนใหญ่ประจำเรือไว้สำหรับป้องกันภัยจากโจรสลัดระหว่างการเดินทางท่องทะเล
โถงจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนบริเวณไม่ไกลกันนำเสนอภาพถ่ายขาวดำ เป็นภาพเรือแบบต่างๆ ต่อด้วยห้องนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งนำทางในการเดินเรือสมัยต่างๆ มีหอประภาคารจำลองตั้งโดดเด่นกลางห้อง ตามผนังมีป้ายคำบรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการของสิ่งบอกทางเหล่านี้
หากต้องการเข้าใจภาพเรือสินค้า ก็ต้องชมห้องนิทรรศการการติดต่อค้าขาย ผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ได้จัดพื้นที่ว่างสำหรับแสดงอุปกรณ์ชักรอกลังสินค้าโดยใช้เชือกแหขนาดใหญ่เกี่ยวตะขอยกลังสินค้าขึ้น-ลงเรือ แม้จะเป็นการจำลองฉากแต่ก็ใช้สัดส่วนเสมือนจริง สิ่งจัดแสดงชิ้นนี้ตั้งอยู่ด้านล่างพุ่งสูงไปถึงระเบียงทางเดินชั้นสอง ป้ายคำบรรยายระบุถึงสินค้านำเข้าและส่งออกในสมัยโบราณจากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์
ห้อง passengers exhibition ทำทางเข้าด้านหน้าเป็นรูปปั้นเด็กชายนักท่องสมุทรนั่งอยู่บนกองกระเป๋าเสื้อผ้า ห้องนี้บอกเล่าความเป็นมาของเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่จมลง ลักษณะคล้ายเรือสำราญแบบไททานิค มีลูกเรือและผู้โดยสารหลากหลายอาชีพเดินทางไปกับเรือลำนี้ การจัดแสดงยังได้จำลองห้องโดยสารของผู้โดยสารบางส่วน สะท้อนให้เห็นความแตกต่างทางสถานะสังคมและเศรษฐกิจ
นิทรรศการที่น่าสนใจอีกห้องหนึ่ง ได้แก่ เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ตามช่องแคบและเกาะเล็กๆ นั่นคือกลุ่ม Merana Eora Nora เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตแบบนักท่องทะเล ยังชีพด้วยการจับสัตว์น้ำ พวกเขาคิดค้นอุปกรณ์พื้นบ้านอย่างเรียบง่ายในการล่าสัตว์ทะเล กลุ่มชาติพันธุ์นี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมบนแผ่นดินที่รู้จักกันในนามกลุ่มอะบอริจินิส นักขว้างบูมเมอแรงแห่งแดนจิงโจ้ ตู้จัดแสดงยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรมของชนเผ่านี้ด้วย
เมื่อมองจากระเบียงเล่นระดับด้านบนลงมายังพื้นห้อง จะเห็นการจัดแต่งแสงและลวดลายที่ดึงดูดความสนใจได้ดี ลวดลายแสงไฟกระทบพื้นเป็นรูปปลา 3 ตัว ไล่ล้อกันเป็นวงกลม
ห้องนิทรรศการต่างๆ เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินลักษณะคล้ายทางเดินบนเรือ เป็นทางแคบๆ มีราวจับด้านข้าง และมีแสงสว่างพอมองเห็นทาง ก่อนจะนำสู่ห้องนิทรรศการที่ติดตั้งระบบไฟตามเนื้อหา
บนระเบียงทางเดินนี้เอง ผู้ชมจะเห็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการสงครามในอดีตติดตั้งอยู่กลางอากาศ หลายคนสงสัยว่าเหตุใดเฮลิคอปเตอร์จึงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางทะเล ก็สามารถฟังคำบรรยายบนจอคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัสได้ บนผนังโล่งกว้างด้านหนึ่งยังมีการฉายภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับฉากการสงครามในอดีต
ครั้นเดินไปตามระเบียงชั้นสองจนสุดทาง จะมีบันไดขั้นเล็กๆ นำสู่ชั้นล่าง
ห้องจัดแสดงชั้นล่างหากเริ่มต้นตั้งแต่โถงทางเข้าจะพบ USA Gallery จัดแสดงเนื้อหาความร่วมมือในกิจการพาณิชย์นาวีของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ห้องนิทรรศการ Navy exhibition แสดงวัตถุและเรื่องราวความเป็นมาของกองทัพเรือออสเตรเลีย จำลองห้องพักโดยสารของทหารเรือ และห้องควบคุมเรือ เครื่องแบบทหารเรือชายและหญิงสมัยต่างๆ นอกเหนือจากคำบรรยายบนจอคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัสแล้ว ห้องนี้ยังมีบอร์ดเครื่องหมายตราที่ผู้เยี่ยมชมสามารถพลิกดูข้อมูลเองได้ โดยจะมีข้อมูลตำแหน่งประจำตรายศนั้นๆ ระบุไว้
ก่อนผ่านไปสู่ห้องแสดงต่างๆ มีกล้องส่องที่ปรับมาจากกล้องส่องผิวน้ำของเรือดำน้ำ ผู้ชมสามารถเล็งกล้องโดยหมุนไปรอบทิศ เด็กบางคนเพลิดเพลินกับกิจกรรมนี้ เขาบอกว่าลองส่องแล้วจะเห็นเฮลิคอปเตอร์ที่ติดตั้งตรงระเบียงชั้นสองชัดเจน
ถัดไปเป็น Watermarks exhibition แสดงเครื่องยนต์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเรือแบบดั้งเดิม
ด้านท้ายของโถงแสดงเป็นนิทรรศการร่วมสมัย เน้นนำเสนอเรื่องของกีฬาทางน้ำ ทั้งกระดานโต้คลื่น เรือใบ เรือพาย มีเรือคยัครุ่นโบราณและกระดานโต้คลื่นแบบโบราณเรียงรายไปตามผนังห้อง แถมด้วยภาพขาวดำของนักกีฬาโต้คลื่นที่มีชื่อเสียง พร้อมโล่รางวัลจากการแข่งขันกีฬาทางน้ำประเภทต่างๆ
ใกล้กับห้องนิทรรศการร่วมสมัยนี้ปรากฏแบบเรือสำเภาโบราณจำลองขนาดประมาณ 3 คนโอบ ที่มองจากด้านบนจะเห็นเป็นเรือสำเภาสีเขียว แต่เมื่อมองในระยะใกล้พบว่าสร้างขึ้นจากกระป๋องเบียร์เปล่าต่อเรียงเป็นรูปเรือสำเภา นับเป็นการนำวัสดุใช้แล้วมาดัดแปลงได้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ยังมีส่วนบริการ ประกอบด้วยห้องพักผ่อนสำหรับสมาชิกพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก และห้องสุขา
ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียนในอาคารพิพิธภัณฑ์ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด ทั้งยังสามารถบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ด้วย เริ่มด้วยการติดต่อเจ้าหน้าที่ตรงเคาน์เตอร์บริเวณโถงต้อนรับ เจ้าหน้าที่จะแจกสติ๊กเกอร์ไว้ติดหน้าอกเสื้อเป็นใบเบิกทาง ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มาเป็นครอบครัว แม้จำนวนผู้เข้าชมต่อวันจะเทียบไม่ได้กับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เลือกไปเยือนสวนสัตว์และสวนสัตว์น้ำติดแอร์ฝั่งตรงข้ามอ่าวซิดนีย์ ซึ่งต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูในราคาแพง แต่ก็นับว่าเป็นจำนวนที่น่าพอใจ
อาจเป็นเพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีบริษัทเอกชนหลายรายให้การสนับสนุนจึงมีทุนมากพอสำหรับการเนรมิตบรรยากาศและเนื้อหาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ชนิดที่ต้องใช้เวลาเป็นครึ่งวันสำหรับการเดินชมให้เต็มอิ่ม เมื่อออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว ใครต้องการเดินชมเรือโบราณของกัปตันคุก และเรือดำน้ำที่เคยใช้ในการสงคราม ซึ่งจอดเทียบท่าด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องซื้อบัตรผ่านประตู
แม้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทะเลแห่งชาติออสเตรเลียจะประจำการอยู่ที่ซิดนีย์ แต่เมืองในรัฐต่างๆ ทั้ง 6 รัฐ ของประเทศออสเตรเลียก็มีพิพิธภัณฑ์โบราณคดีใต้น้ำตั้งอยู่เช่นกัน เน้นจัดแสดงโบราณวัตถุและเรื่องราวของแหล่งเรือจมตามแหล่งขุดค้นใต้ทะเลจุดต่างๆ ในเขตน่านน้ำออสเตรเลีย
เจเรมี กรีน (jeremy Green) นักโบราณคดีใต้น้ำชื่อดังประจำ Department of Maritime Archaeology พิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียตะวันตก เขียนถึงเรือโบราณบัตตาเวีย (Batavia) ไว้ในบทความชื่อ ‘Batavia 1629’ ในหนังสือ ‘Shipwreck Archaeology in Australia’ ตีพิมพ์ใหม่เอี่ยมปีนี้ มีใจความว่าทางฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียมีสถานะเป็นเมืองท่าชายฝั่งมานานกว่า 4 ศตวรรษ พ่อค้าชาวดัตช์ประจำอินเดียตะวันออก (VOC) ได้ออกเดินทางจากยุโรปที่มหาสมุทรอินเดียจนถึงจุดหมายคือสถานีการค้าย่อย VOC ของพวกดัตช์ในแถบหมู่เกาะชวาหรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน
ระหว่างการเดินทาง เรือสำเภาจำนวนหนึ่งของกลุ่มพ่อค้าชาวดัตช์แห่ง VOC ได้อับปางลงใกล้ชายฝั่งออสเตรเลีย เรือบัตตาเวียคือหนึ่งในนั้น
บัตตาเวียล่มลงในปี ค.ศ.1629(พ.ศ.2172) โดยมีเรือที่จมลงก่อนหน้านี้ 7 ปี หลังจากนั้นมีเรือสำเภาล่มลงใกล้ชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลียอีกอย่างน้อย 3 ลำ เรือทั้งหมดมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 17-18
เรื่องราวของผู้รอดชีวิตกว่า 200 คน (เมื่อ 300 ปีเศษ) ต้องเผชิญภาวะการเอาตัวรอดบนเกาะที่ขาดแคลนน้ำจืด นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ไม่อาจลืมเลือนเมื่อผู้นำกลุ่มตัดสินใจก่อฆาตกรรมครั้งใหญ่ ในที่สุดมีผู้เหลือรอดไม่ถึง 100 ชีวิต ต่างเดินทางไปหาเกาะใกล้เคียงแห่งใหม่ที่มีน้ำจืด ส่วนศพผู้ถูกฆ่าทั้งชายหญิงและเด็กถูกฝังไว้บนเกาะเล็กๆ แห่งนั้น จนเพิ่งมีการขุดค้นพบโครงกระดูกในช่วงปี คศ.1999-2001 (พ.ศ.2542-2544)
ทุกวันนี้ ซากหลงเหลือของเรือบัตตาเวียยังคงอยู่ที่ความลึกราว 5 เมตร ไม่นับรวมเรือลำอื่นๆ
นักโบราณคดีใต้น้ำเริ่มสำรวจเรือบัตตาเวียอย่างจริงจังราวต้นปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ต่อมารัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจึงมีการขุดค้นอย่างต่อเนื่องถึง 3 ปี (พ.ศ.2516-2519) พบสมอเรือขนาดต่างๆ 9 ชิ้น ภาชนะทองเหลืองหลายแบบ ภาชนะดินเผามากมาย เหรียญเงินเก่าแก่ของพ่อค้าชาวดัตช์ หินทรายรูปทรงเหลี่ยมแบบต่างๆ 137 ชิ้น และโบราณวัตถุอีกมากมายในระวางสินค้า นอกจากนี้ยังพบคำเรียกหน่วยเงินอันเป็นต้นแบบของ ‘dollar’ ว่า ‘thaler’
หลักฐานโบราณคดีเหล่านี้นำไปเสริมข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์ว่าด้วยการพาณิชย์นาวีโบราณ เช่นเดียวกับแหล่งเรือจมแห่งอื่นๆ และเป็นเนื้อหานำไปสู่การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางทะเลในที่สุด
Australian National Maritime Museum เปิดบริการตั้งแต่เวลา 9.30 น.-17.00 น. (เปิดถึง 18.00 น. ช่วงเดือนมกราคม) ตั้งอยู่ริมอ่าวซิดนีย์ บนถนนดาร์ลิง ฮาร์เบอร์ เชิงสะพานเพียร์มอนท์ (สะพานคนเดินที่มีรถไฟฟ้ารางเดียว Monorail ข้ามผ่าน) หรือเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.anmm.gov.au
ภาพ : ยุวดี มณีกุล