marinerthai

อิทธิพล “เอลนิญโญ” พา “แมเจลแลน” ข้ามแปซิฟิกเมื่อ 500 ปีก่อน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2551

ลมฟ้าอากาศอาจเป็นใจมากกว่าเทพยดา เมื่องานวิจัยล่าสุดเผยว่าปรากฏการณ์ “เอลนิญโญ” อาจพัดพาให้ “เฟอร์ดินัลด์ แมเจลแลน” นักสำรวจชาวโปรตุเกสเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้เมื่อต้นศตวรรษที่ 15 แต่พาเขาหลุดเป้าหมายไปไกลกว่า 2 พันกิโลเลยทีเดียว

ภาพวาดเฟอร์ดินันด์ แมเจลแลน (จาก wikimedia)

แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนิญโญ (El Niño) จะเพิ่งสร้างความฉงน ให้กับนักวิทยาศาสตร์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ แต่การศึกษาล่าสุดของ ดร.สก็อตต์ ฟิตซ์พาทริค (Dr.Scott Fitzpatrick) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลนา สเตท (North Carolina State University) สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าการเดินทางของนักสำรวจในประวัติศาสตร์ เฟอร์ดินันด์ แมเจลแลน (Ferdinand Magellan) ชาวโปรตุเกสที่เดินทางรอบโลกเมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมานั้น ดูคล้ายได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศที่ไม่ปกติซึ่งรวมถึงปรากฏการณ์เอลนิญโญด้วย

ภาพจากเอพีแสดงเส้นทางเดินเรือของแมเจลแลนที่คาดว่าได้รับการเอื้อประโยชน์จากปรากฏการณ์เอลนิญโญ

ตามรายงานของทั้งไซน์เดลี (Science Daily) และสำนักข่าวเอพี ต่างนำเสนอการศึกษาของ ดร.ฟิตซ์พาทริคซึ่งระบุว่าสภาพอากาศที่ไม่ปกติ อย่างปรากฏการณ์เอลนิญโญนั้น ทำให้แมเจลแลนเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้อย่างง่ายดาย แต่ก็ประมาณว่าสภาพอากาศดังกล่าวได้พัดพาให้นักเดินทางสำรวจแห่งประวัติศาสตร์ผู้นี้ หลุดจากเป้าหมายไปไกลหลายพันกิโลเมตรเลยทีเดียว

แมเจลแลนได้ออกเดินทางจากสเปนเมื่อปี พ.ศ.2062 ด้วยความหวังที่จะได้อ้างสิทธิบนความอุดมสมบูรณ์ของหมู่เกาะเครื่องเทศ (Spice Islands) หรือมาลัคคัสให้กับชาวสเปน และ 2 ปีหลังจากนั้นเขาไปถึงเกาะกวม ซึ่งนับเป็นการติดต่อระหว่างชาวยุโรปกับวัฒนธรรมแห่งหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นครั้งแรก แต่เป้าหมายที่ว่า ก็ห่างไกลจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งใจไว้อยู่ไกลโขถึงราว 2,400 กิโลเมตร

คำถามจึงตามมาว่า เขาเดินทางไกลขนาดนั้นได้อย่างไร?

และเขาพลาดหมู่เกาะเครื่องเทศไปไกลเช่นนั้นได้อย่างไรกัน?

ทั้งนี้มาเจลแลนพยายามตามหาหมู่เกาะเครื่องเทศซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย และการเดินทางนำเขาไปถึงบริเวณที่อยู่ทางตอนเหนือของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวอาจถูกควบคุมโดยเงื่อนไขและกระแสลมที่เป็นใจระหว่างปรากฏการณ์เอลนิญโญ

ขณะที่ข้อมูลเพิ่มเติมจากเอพีรายงานว่าเมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนิญโญขึ้น น้ำบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้นกว่าปกติทำให้อากาศลอยตัวสูงขึ้นและเปลี่ยนแปลงรุปแบบลมและสภาพอากาศ โดยอาจเกิดผลกระทบไปทั่วโลกซึ่งอาจรวมถึงความแห้งแล้งทางด้านตะวันตกของแปซิฟิกและการเกิดฝนมากขึ้นในเปรูและชายฝั่งทางตอนใต้ของอเมริกา

แผนที่แสดงการเดินทางของแมเจลแลนและเซอร์ฟรานซิส แดรค

หลังจากผ่านช่องแคบที่ภายหลังตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เขา แล้วแมเจลแลนล่องเรือขึ้นเหนือผ่านชายฝั่งทางตอนใต้ของอเมริกา จากนั้นก็เลี้ยวไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเส้นศูนย์สูตรแล้วไปถึงฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาถูกสังหารจากการสู้รบกับชนพื้นเมือง ซึ่งตามข้อมูลสภาพอากาศชี้ว่าปรากฏการณ์ปรากฏการณ์เอลนิญโญเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2062 กับ 2063 และอาจจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2061 ด้วย

ส่วนไซน์เดลีระบุว่า ดร.ฟิตซ์พาทริคได้ร่วมศึกษากับ ดร.ริชาร์ด คาลลากัน (Dr.Richard Callaghan) จากมหาวิทยาลัยคาลการี (University of Calgary ) แคนาดานั้น โดยใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์และข้อมูลทางประวิตศาสตร์ เพื่อค้นหาปัจจัยเกี่ยวทางด้านมหาสมุทรที่อาจมีบทบาทต่อการเดินทางอันราบรื่นของแมเจลแลน

หลังจากวนรอบแหลมฮอร์น (Cape Horn) ที่ปลายทวีปอเมริกาใต้และตัดสินใจที่จะล่องเรือออกไปไกลจากตอนเหนือของหมู่เกาะเครื่องเทศซึ่งมาเจลแลนรู้ว่าอยู่ในแนวเส้นสูตรศูนย์

ในรายงานที่ทั้งสองร่วมกันศึกษาสรุปว่าเงื่อนไขของสภาพอากาศที่เป็นใจอย่างผิดปกติ และดูคล้ายมีความสัมพันธ์กับปรากฏการ์ณเอลนิญโญนี้ล่องเรือขึ้นทางเหนือ และอาจชักจูงให้เขามุ่งหน้าต่อในทิศทางดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการอดอาหาร ซึ่งทำให้การเดินทางของแมเจลแลนไม่ใช่คณะแรกที่เดินทางรอบโลก แต่ก็เป็นการบันทึกแรกๆ ทางประวัติศาสตร์ของปรากฏการณ์เอลนิญโญ

รายงานยังสรุปอีกว่าแมเจลแลนล่องเรือรอบแหลมฮอร์น และมุ่งสู่ส่วนท้ายของปรากฏการณ์เอลนิญโญเป็นผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นมากกว่าปกติ และยังทำให้เขาล่องเรือไปยังตอนเหนือผ่านชายฝั่งของชิลีได้อย่างง่ายดายเช่นกัน ซึ่ง ดร.ฟิตซ์พาทริคและดร.คาลลากันวิเคราะห์ว่า หลังออกจากชายฝั่งชิลีแล้ว แมเจลแลนได้เลือกที่เดินทางต่อไปทางเหนือ จากลมที่มีมากและกระแสที่พัดพาให้คณะเดินทางเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ดี อีกทั้งยังทำให้เขาเดินทางต่อไปได้ในขณะที่ลูกเรือเจ็บป่วยจากโรคลักปิดลักเปิดและอาการเจ็บป่วยอื่นๆ

เซอร์ฟรานซิส แดรค (Sir Francis Drake)

ขณะที่นักเดินทางอื่นๆ ก็อาจจะได้รับแรงเกื้อหนุนจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยเช่นกัน อาทิ เซอร์ฟรานซิส แดรค (Sir Francis Drake) ที่เดินทางผ่านช่องแคบแมเจลแลน (Strait of Magellan) เมื่อปี พ.ศ.2121 แต่เขาก็ต้องเผชิญกับพายุ ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่หลายเดือน ซึ่งทำให้เรือของเขาอับปางลง ขณะที่กัปตันเจมส์ คุก (Jame Cook) ก็ดูคล้ายจะได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์เอลนิญโญเช่นกันระหว่างเส้นทางสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อปี พ.ศ.2312

สำหรับงานวิจัยนักโบราณคดีจากสหรัฐฯ และแคนาดาครั้งนี้จะตีพิมพ์ลงวารสารแปซิฟิกฮิสทรี (Pacific History) ฉบับเดือน ส.ค. นี้

Share the Post: