marinerthai

ค้ามนุษย์! จดหมายฉบับสุดท้าย… จากแรงงานประมงไทย

จาก ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 11 มกราคม 2552 19:51 น.

กราบแทบเท้าแม่ที่เคารพรักเป็นอย่างสูง แม่ครับตอนนี้ผมโดนจับที่อินเดีย นี่ก็เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้ว ก็ไม่รู้จะได้กลับเมื่อไร คดียังไม่เสร็จ เดินเรื่องช้ามาก จะติดต่อให้ทูตช่วยก็ติดต่อไม่ได้เลย ที่ผมได้ส่งจดหมายมาได้เพราะ ได้เจอกับทหารไทยที่มาประเทศอินเดีย เขาให้ความช่วยเหลือเป็นธุระช่วยส่งจดหมายให้ผม

ตอนนี้ผมก็ลำบากพอสมควร เพราะทางเถ้าแก่เมืองไทยเขาไม่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลืออะไรเลย มีแต่ทางอินเดียที่เขาให้เพียงแต่ข้าวกินไปวันหนึ่ง เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน ของใช้ต่างๆ ก็ไม่มีเงินให้ซื้อ แม่ไม่ต้องเป็นห่วงผม ผมทำใจได้ เป็นห่วงเพียงแม่คนเดียว สุดท้ายนี้ ผมขออำนาจของหลวงพ่อทวด ช่วยคุ้มครองแม่ผมให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาวตลอดไปด้วยเทอญ

รักและเทิดทูนแม่เสมอ

“ลูกแม่”

จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่ลูกเรือประมงไทยรายหนึ่งได้เขียนถึงแม่ของเขา ด้วยความหวังว่าจะได้กลับมาอยู่ดูแลแม่หลังจากออกจากคุกที่ประเทศอินเดีย แต่สุดท้าย สิ่งที่ผู้เป็นแม่ได้รับกลับเป็นเถ้ากระดูกของลูกชายเพียงเท่านั้น…

นี่เป็นเพียงหนึ่งในจดหมายหลายฉบับของลูกเรือประมงไทยที่โดนกักกันและถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุกต่างแดน หลังจากที่พวกเขาได้ตรากตรำทำงานหนักกลางทะเล ไม่รู้วันไม่รู้เวลา มีชีวิตที่เสี่ยงตายอยู่ทุกวินาทีท่ามกลางทะเลมรสุม เพื่อแลกกับค่าแรงที่แสนต่ำ และเป็นผู้รับกรรมจากความโลภมากและความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการที่ไม่ได้คำนึงถึงขอบเขตน่านน้ำในการหาปลาที่ถูกต้องตามกฎหมาย สุดท้ายถูกจับ กลายเป็นนักโทษ ต้องทนทุกข์อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ โดยไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ประกอบการ ไร้หนทางกลับบ้าน และมีชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง…

จดหมายฉบับสุดท้ายที่ลูกเรือประมงไทยรายหนึ่งได้เขียนถึงแม่ของเขา

เรือโฉบ

“เรือประมงไทยส่วนใหญ่ในอ่าวไทยหาปลาไม่ได้ เรือที่หาปลาได้คือเรือที่ไปวันเดียวหรือไปสองวันสามวันกลับ พวกที่ออกไปไกลต้องรับสัมปทาน คือมีไลเซ่นส์ (ใบอนุญาต) เรือประมงไทยมีเป็นพันๆ ลำครับส่วนหนึ่งขอสัมปทาน ส่วนหนึ่งไม่ขอ พวกนี้, ภาษาของคนเรือเรียกว่า ‘เรือโฉบ’ คือโฉบไปเอา (ปลา) เลย พวกนี้โฉบไปสักประมาณเดือนสองเดือน ล้ำน่านน้ำเข้าไป ตักเลย แล้วก็รีบวกกลับเข้ามา

“แต่บางกรณีโฉบไปแล้วไม่ทัน คือโฉบรอบหนึ่งเป็นล้านนะครับ ดังนั้นเขาบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องลงทุน ผมคุยกับผู้ประกอบการเรือบางคน เขาบอกว่า โฉบกันทั้งนั้น โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียเกาะแก่งมันเยอะ และมีกระแสน้ำเย็นกับน้ำอุ่นไหลมาชนกันดังนั้นจึงเป็นที่ที่มีปลาเยอะมาก เรือก็ไปโฉบ ปรากฏว่าพวกโฉบถูกจับ พอถูกจับปุ๊บ โดยปกติแล้วเจ้าของเรือต้องไปไถ่เรือกับไถ่ลูกเรือออกมา แต่บางที่มันทิ้งเลย ไถ่แต่เรือ 5 ล้านบาท เรือลำหนึ่งมูลค่า 10 ล้าน มันไถ่แต่เรือ 5 ล้าน แต่ลูกเรือไม่ไถ่…”

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรือประมงไทย เอกลักษณ์ทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์มาเป็นเวลาห้าปี เขาเอาตัวเองลงไปคลุกคลีอยู่กับตำรวจ โจร และผู้คนสารพัด งานถนัดของเขาส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายทั้งนั้น หมั่นคอยหาข่าว และเฝ้าสังเกตดูสถานที่และพฤติกรรมของบุคคลที่น่าสงสัย ดูๆ ไปการทำงานของเขาก็ไม่ต่างกับสายลับเท่าไหร่…

“…หลังจากนั้นลูกเรือจะถูกจับติดคุก ถูกจับปล่อยเกาะ ที่อินโดนีเซียมีหลายเกาะ โดยเฉพาะมีเกาะหนึ่งชื่อ ‘เกาะตรวน’ ที่นั่นมีลูกเรือไทยติดอยู่เป็นร้อยคน ติดทั้งคุก ติดทั้งแบบถูกปล่อยทิ้งไว้ ลูกเรือจะเขียนจดหมายกลับมาเพื่อขอความช่วยเหลือ บอกว่าจะมีทางไหนที่จะช่วยเหลือเขาได้บ้าง ที่อินโดนีเซียก็จะเป็นแบบว่า มึงต้องจ่ายเงินไถ่ คือไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่เขาอยากให้ลูกเรือไถ่ตัว เขาต้องการเงิน ไม่ต้องการให้ติดคุก แต่เจ้าของเรือไม่สนใจ มึงถูกจับติดไป กูหาลูกเรือใหม่ เขาก็ติดคุกอยู่อย่างนั้น ก็จะมีลูกเรือเขียนจดหมายมาหาครอบครัว, ครอบครัวก็พยายามประสานงาน ตอนนี้เรากำลังช่วยเหลือเคสแรงงานแบบนี้อยู่ที่อินโดนีเซีย 8 คน”

ขาดแคลนแรงงานกว่า 10,000 อัตรา

ภาวะการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความต้องการแรงงานเพื่อป้อนสู่ตลาดและกระบวนการผลิต เป็นลักษณะอุปสงค์ และอุปทาน เมื่อมีความต้องการมาก จึงมีความพยายามในการนำแรงงานลงเรือประมงด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่องมีอัตราการขาดแคลนแรงงานกว่า 10,000 อัตรา

“จะบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี น้ำมันแพงอะไรก็แล้วแต่ ยังไงเรือก็ต้องออกหาปลา เพราะว่าเรือเขาทำมาลำหนึ่งเป็นสิบล้าน แล้วออกไปรอบหนึ่ง บางทีได้เงินคืนมานับสิบล้านเลย รอบเดียว ปีเดียว สิบล้าน แล้วออกไปอีกมันก็เป็นกำไร คือมันมหาศาล เพราะว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่หาปลาได้มากที่สุดในโลก เราเป็นประเทศเล็กๆ แต่ติด 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้นลองคิดดูว่าติด 1 ใน 5 เรือประมงจะเยอะขนาดไหน แต่ตัวเลขเรือประมงที่แท้จริงมันหาคำตอบลำบากมาก เพราะว่าเรือผีเยอะ”

เมื่อมีความต้องการแรงงานเยอะ ดังนั้นจึงเกิดอาชีพนายหน้าคอยล่อลวงคนไปขายให้เรือประมง

“นายหน้ามันจะได้ค่าหัว, หัวหนึ่ง 10,000-30,000 ต่อคน นั่นหมายความว่าถ้ามันเอาคนไปส่งสิบคนมันจะได้เท่าไหร่ สามแสน! ใช่ไหมครับ มันเลยหากินกับเรื่องนี้กันเป็นว่าเล่นเลย ไอ้พวกนี้เวลาคนลงรถมามันจะเข้าไปถามเลย น้องไปไหน มีรถไหม มันจ้องอยู่แล้ว คนที่ลงรถมาเหลอๆ หลาๆ แบบไม่รู้จะไปไหน นั่นแหละ โดน!”

ส่วนใหญ่คนที่ตกเป็นเหยื่อจะเป็นคนที่มากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก พูดตรงๆ ว่ามาจากบ้านนอก การศึกษาน้อย แล้วไม่มีงานทำ ไม่มีที่ไป กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นเพศชายร้อยเปอร์เซ็นต์ อายุ 14 – 60 ปี ส่วนลักษณะและวิธีการล่อลวงก็มีหลายแบบ เช่น ใช้วิธีการพูดคุยชักชวนแบบปกติ ใช้สารออกฤทธิ์ต่อประสาท ใช้สารเสพติด – ของมึนเมา และใช้กำลังประทุษร้าย…

“อย่างที่สมุทรปราการมียามสามคนโดนหลอกลงเรือ ไปโผล่ที่สงขลา คุยกันถูกคอ เขาเลี้ยงกาแฟ ตื่นขึ้นมาอีกทีก็อยู่บนเรือแล้ว เรามีเคสเด็ก 15 ปีจากบุรีรัมย์ บอกว่าเดินอยู่ที่ห้องน้ำที่หมอชิต เดินแล้วก็มีคนเดินสวนออกมา แล้วรู้สึกว่าตัวเองมือไม้อ่อน แล้วก็หมดสติ จนมารู้ตัวอีกทีก็อยู่บนเรือแล้ว นอกจากนี้ยังมีวิธีการล่อลวงโดนปิดประกาศรับสมัครงานตามสถานีขนส่งต่างๆ มันเป็นพวกงานที่ไม่ค่อยบอกรายละเอียด อย่าง รับสมัครพนักงานด่วน ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ รายได้ดี แล้วก็มีเบอร์โทรศัพท์ ก็ไม่รู้ว่างานอะไร เนี่ย, ป้ายประกาศลักษณะนี้ต้องระวังไว้ให้ดี”

คาราโอเกะของคนหลอกลวง

นอกจากนี้ยังมีการเปิดร้านคาราโอเกะเอาไว้ล่อลวงคนไปขายอีกด้วย…

“มีร้านคาราโอเกะที่สงขลา ที่น่าสนใจ ผมให้ดูรูป (เอกลักษณ์เปิดรูปร้านคาราโอเกะที่ว่าให้ดู) ร้านคาราโอเกะที่สงขลามีลักษณะเป็นร้านค่าหัว คือบางร้านทำร้านไว้เฉพาะเพื่อการนี้เลย ให้ดื่มกินจนเมามาย เต็มที่เลย เช็กบิลมาเป็นหมื่น อ้าว, มึงไม่มีเงินเหรอ ลงเรือใช้หนี้ มีผู้หญิงไว้บริการด้วย กินฟรี เอาฟรี เต็มที่ แล้วก็ใช้หนี้ หรือบางทีกินให้เมา มึน หลับไป ยกลงเรือ เดี๋ยวมันมีภาพที่น่าสนใจอยู่ร้านหนึ่ง ร้านนี้ขึ้นชื่อเลย สายเราบอกว่าร้านนี้เป็นร้านค่าหัวแน่นอน ชัวร์, พอคนเมาแล้วมันก็เอาไปขังไว้ข้างบน คือลักษณะหน้าต่างจะตีปิดตายจากข้างนอก ดูสิครับ (ชี้ให้ดูภาพหน้าต่างที่ถูกปิดตาย) มันตีปิดตายเลย กันไม่ให้คนออกมา”

เอกลักษณ์บอกว่าตั้งแต่ปี 2549 ศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ได้รับเคสเกี่ยวกับเรื่องคนถูกล่อลวงมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 60 กรณี ตอนแรกเป็นเรื่องคนหายออกจากบ้าน พ่อแม่มาแจ้งว่าลูกตัวเองมาทำงานกรุงเทพฯ แล้วขาดการติดต่อไปเลย

“เราก็นึกว่าไปทำงานที่ไหนหรือเปล่า สุดท้ายลูกกลับมาบอกว่า ถูกหลอกไปลงเรือประมง มันก็มีเคสเข้ามาเรื่อยๆ จนถึง 60 กว่ากรณี คราวนี้เราลงพื้นที่ไปที่จังหวัดสงขลา หน่วยงานที่นั่นเขาบอกว่ามีเคสเข้ามาปีละประมาณ 50 เคสที่ถูกหลอก อันนี้เฉพาะที่เข้าถึงนะครับ หมายถึงเข้ามาแจ้งว่าตัวเองถูกหลอก ถูกค่าหัว ภาษาค้ามนุษย์เรียกว่า ‘ถูกค่าหัว’ เราก็เข้าไปดูข้อมูล ปรากฏว่ามีแก๊งต่างๆ อยู่จริง โดยเฉพาะเรื่องประมงนอกน่านน้ำ ออกเรือไป 1-5 ปีไม่กลับเข้าฝั่ง ต้องการคนไปทำงานตั้งแต่ 20-50 คนต่อเรือหนึ่งลำ ส่วนใหญ่เจ้าของเรือจะจ้างไต้ก๋ง คือผู้ควบคุมเรือ บอกว่าเอาไปเลยหนึ่งล้าน จัดการทั้งหมด ไต้ก๋งก็จะเป็นคนหาคน ดังนั้นไต้ก๋งก็เลยพยายามลดต้นทุนของตัวเองโดยการไปซื้อคนแบบนี้มาโดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง หมายความว่าเขาจ่ายให้นายหน้าสามหมื่นบาทเพื่อไปหาคนให้เขา เขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าแรงของคนคนนี้แล้ว ดังนั้นมันจึงเกิดภาวะแบบนี้ขึ้นมา”

นายหน้า, ขาใหญ่!

เอกลักษณ์บอกว่าลักษณะของนายหน้าจะมีอยู่ 3 กระบวนการ คือ นายหน้ารายย่อย อยู่ตามหมอชิต สนามหลวง หัวลำโพง วงเวียนใหญ่ และสวนรมณีนาถ (หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร) ตรงนี้เป็นแหล่งใหญ่ และมีคนโดนหลอกเยอะ

“ขบวนการมันเป็นอย่างนี้ครับ คือ นายหน้ารายย่อยส่งให้นายหน้ารายใหญ่ ไอ้พวกนี้มาส่งปุ๊บทีละคนสองคน ขังไว้จนได้ประมาณ 5-6 คน แล้วค่อยเอาไปส่งที่ท่าเรือ แล้วก็จะมีนายหน้าที่ท่าเรือคอยรับป้อนตามเรืออีกทอดหนึ่ง (เอกลักษณ์เอาภาพถ่ายให้ดู) นี่เป็นเครือข่ายจริงๆ นะครับ ผู้ต้องหาจริง คนนี้ (ชี้ไปที่ภาพใบหน้าของผู้ชายคนหนึ่ง) ปฏิบัติการอยู่ที่หลังวัดดงมูลเหล็ก โซนพวกนี้จะเดินตามหมอชิต สนามหลวง วงเวียนใหญ่ ผลัดเปลี่ยนกันไป”

(ชี้ไปที่ภาพบ้านหลังหนึ่งที่ปิดประตูและมีซี่ลูกกรงเหล็กล้อมรอบแน่นหนา) “แล้วนี่ก็คือบ้านของพวกมันที่ใช้ในการขังคน ผมไปเฝ้ามาแล้ว ลักษณะบ้านวางรั้วลวดหนามไว้ มีคนโดนซ้อมในนี้ วิ่งหนีออกมาขอความช่วยเหลือ แล้วก็ถูกลากกลับไป พวกนี้วางสายไว้เป็นวินมอเตอร์ไซค์ตามซอยต่างๆ เวลามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจะถูกเคลียร์หมด และที่สำคัญจะมีรถแท็กซี่มาส่งเหยื่อประมาณตีสี่ตีห้าทุกวัน คือพวกแท็กซี่ส่วนหนึ่งแอบแฝงเป็นนายหน้าในการหาคนมาส่งที่บ้านหลังนี้”

ถามว่าบ้านผิดสังเกตขนาดนี้ ชาวบ้านเขาไม่สงสัย และไม่แจ้งตำรวจหรือ ?

“มันเส้นใหญ่ครับ! เขาแจ้งไปแล้ว แต่พวกนี้มีสายป่าน บ้านหลังนี้เสิร์ชในอินเตอร์เน็ตปรากฏว่า ถูกจับไม่ต่ำกว่าสิบครั้งแล้ว แต่มันดำเนินการอะไรไม่ได้… (เอกลักษณ์เอาภาพเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้ดู) อันนี้คือผู้เสียหายจริงๆ นะครับ เขากำลังชี้ให้ดูจุดเกิดเหตุบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนามหลวง เขาถูกมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลอก เดินๆ อยู่มอเตอร์ไซค์รับจ้างขับมาเทียบ ถามว่าจะไปไหน เด็กบอกว่ามาหางานทำ อ๋อ, เดี๋ยวพาไปส่ง แล้วเขาก็พามาส่งที่นี่ (ชี้ไปที่บ้านหลังเดิมในแฟ้ม) ชุมชนหลังวัดดงมูลเหล็ก บ้านหลังนี้ล่ะครับ อันนี้ผมพาผู้เสียหายไปชี้มาแล้ว”

ผู้เสียหายชี้จุดที่โดนล่อลวงบริเวณสนามหลวง

(เปิดภาพบริเวณสนามหลวง) “และนี่เป็นที่สนามหลวงครับ คนนี้ญาติมาแจ้งว่าหลานหาย จนกระทั่งหลานกลับมา บอกว่าถูกหลอกไปลงเรือ คนนี้ชื่อตั๊กไปลงเรือที่สงขลา แล้วก็ออกมาเพราะว่าเรือไปแวะเติมน้ำมันกับไปแสตมป์ตั๋ว เขาหนีไปให้ตำรวจจับ ติดคุกที่มาเลเซีย 4 วัน แล้วถูกผลักเข้ามาทางด่านสุไหงโก-ลก คนนี้หนีออกมาได้ อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี”

เอกลักษณ์บอกว่าวงเวียนใหญ่น่าสนใจตรงที่มีบริษัทจัดหางานอยู่ 5 ที่ เขาปลอมตัวเข้าไปสมัครงานทั้ง 5 ที่ เขาพบว่างานที่ติดประกาศไว้ตามป้าย พอเข้าไปสอบถามดู คนข้างในจะบอกว่าเต็มหมดแล้ว แต่มีงานให้ทำที่มหาชัย ไม่พูดรายละเอียดเรื่องงาน บอกแต่เพียงว่าเก็บกระเป๋าแล้วมาเลย ทุกที่เป็นเหมือนกันหมดคือไม่บอกรายละเอียดเรื่องงาน นั่นหมายความว่าถ้าเป็นคนจากต่างจังหวัดมาไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ตกรถมา ยืนอยู่วงเวียนใหญ่ ยังไงก็เจอพวกมันแน่นอน

ขาใหญ่มาก!

(เอกลักษณ์เปิดภาพให้ดูอีก) “อันนี้สวนรมณีนาถ ที่มีการหลอกลวงกัน เดี๋ยวผมให้ดูอีกภาพหนึ่ง (เอาภาพบรรดานายหน้าทั้งหลายให้ดู) มันมีโครงสร้างโครงข่ายของมันทั้งหมดเลยนะพวกนี้ มีเอเย่นต์ มันก่อคดีอะไรยังไงบ้าง มีหมด มีลูกน้องกี่คน เนี่ย, ไอ้คนนี้ขาใหญ่มาก (ชี้ไปที่ภาพผู้ชายคนหนึ่ง) ผมจับมันมาสองครั้งแล้ว แต่มันหลุดทุกครั้ง ขาใหญ่, ไอ้หมอนี่ทำมาเป็นสิบปีแล้ว (ชี้ไปที่ภาพผู้ชายอีกคน) ไอ้ตัวนี้ก็ทำเหมือนกัน แต่ว่าถูกยิงตายไปแล้ว ทำอยู่ที่บ้านหลังนี้แหละ ส่วนไอ้หมอนี่ปัจจุบันมันก็ยังทำอยู่ ถูกจับแล้ว อีกวันหนึ่งมันก็ทำต่อ”

ที่ได้ข้อมูลมาขนาดนี้ เป็นเพราะเอกลักษณ์ลงพื้นที่ไปคุยกับตำรวจบ้าง คุยกับโจรบ้าง คุยกับหลายคน เขาเอาตัวเองเข้าไปในหลายๆ จุดที่ไม่ปลอดภัย บางอย่างต้องใช้เงินซื้อ ซื้อสาย ซื้อข่าว คุยกับตำรวจบางคนที่ไว้ใจได้ แต่ตำรวจบางคน เอกลักษณ์บอกว่า มันเป็นพวกเดียวกับโจร!

“ตำรวจน้ำดีก็มีที่เขาทำมา แล้วเอาข้อมูลมาจอยกัน เรามีผู้เสียหายมาชี้รูปให้ดู มีคนส่งอีเมลมาหาผมบอกว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องการค้นข้อมูลอะไรให้ส่งอีเมลหาเขาได้เลย ผมไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ผมเข้าใจว่าเขาเป็นตำรวจ เขาก็จะส่งรูปส่งอะไรต่างๆ มาให้ผม คือมันก็มีตำรวจน้ำดีบางคนเขาอยากช่วยเหลือ แต่เขาออกหน้าออกตาไม่ได้ แต่บางอย่างต้องจ่ายเงิน”

นอกจากนี้ยังมีจดหมายลับๆ ส่งมาถึงเขา ไม่ลงชื่อ ไม่ลงอะไร บอกแค่ว่ามีข้อมูลตรงนั้นตรงนี้… “เฮ้ย, น้องเอาจดหมายที่เขาส่งมาให้พี่หน่อย” (เอกลักษณ์ตะโกนบอกน้องทีมงานผู้หญิง, เราหันมองตาม โอ… – เออว่ะ แปลกดี, สายลับสมัยนี้เป็นเด็กแนวด้วย)

“นั่นแหละ มีคนส่งมาที่นี่หลายฉบับเลย คนนี้มีสายสัมพันธ์กับคนนี้นะ คนนี้อะไรกับคนนี้ยังไงบ้าง บางคนเขาก็เตือนว่า พวกคุณน่ะทำอะไรเขาไม่ได้หรอก พวกนี้เขาเส้นใหญ่! มีสายสัมพันธ์ที่… พอสืบดูจริงๆ แล้วจะรู้ว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมีฐานมาจากเรื่องการเมือง เป็นนักการเมือง อยู่ตามกรรมาธิการต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่แบบ โอ้โห… มันก็แก้ยากจริงๆ คือเขาก็จะมองในแง่ของการปกป้องสิทธิ์ตัวเอง… เนี่ย, (หยิบจดหมายมาให้ดู) ส่งมาโดยตรงถึงผมเลย แล้วพิมพ์ดีดมาเพื่อไม่ต้องการให้รู้ว่าเป็นใคร ไม่ใส่ที่อยู่ ไม่ใส่อะไร แต่มาจากสมุทรสาคร คือแหล่งท่าเรือประมง แล้วดูเนื้อในเขาพิมพ์มาเลย เขาบอกละเอียดเลยว่ามีกลุ่มไหนบ้าง มีห้องเย็นไหนบ้าง มีรถบรรทุกใครบ้าง โรงงานไม่มีชื่อ มีบ้านพักคนงานละ 60-70 คน เป็นข้อมูลแบบลับๆ มีคนที่มีตำแหน่งใหญ่โตด้วย”

เป่าคดี…

(เอกลักษณ์เปิดแฟ้มภาพคนร้ายให้ดูอีก) “เนี่ย! พวกนี้ไปจับมาหมดแล้วนะครับ ไอ้คนนี้ (ชี้รูปชายคนหนึ่ง) อยู่ที่หมอชิต เป็นขาใหญ่ ชื่อไอ้… ไปจับมาแล้ว แต่หลุด คดีหลุด คือท้ายสุดแล้วผมคิดว่าผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะตำรวจก็มีปัญหาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหน่วยไหน ตำรวจพื้นที่ก็ไม่กล้าขยับอะไรมาก เพราะว่าสายสัมพันธ์ความเป็นเจ้าของเรือ ความเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมันบีบให้เขาทำอะไรมากไม่ได้ ปัญหาภายในก็เยอะพอสมควร และที่สำคัญคือผมเชื่อว่ามันมีการคอรัปชั่นเกิดขึ้นในหน่วยงาน หลายคดีไปแบบ… ถ้าพูดภาษาเทคนิค บางอย่างมีการเป่าคดี บางอย่างมีการเรียกรับเงิน คือคดีล้มไปเลย หรือแบบพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการต่อ บางทีไม่เรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำ ไม่ดำเนินการ แล้วก็ปล่อยให้เรื่องมันเงียบหายไป จนตัวผู้เสียหายเองไม่อยากดำเนินคดี”

เอกลักษณ์บอกว่าตอนนี้เคสที่อายุต่ำสุดคือ 14 ปี โดนหลอก เด็กคนนี้บ้านอยู่บุรีรัมย์ กำลังรอขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง เพื่อกลับบ้าน…

“เด็กถูกหลอกบริเวณนี้ครับ (ชี้ที่เกิดเหตุบริเวณด้านข้างก่อนขึ้นสถานีรถไฟใต้ดิน) เด็กคนนี้นั่งอยู่ มีคนมาชวนคุย เป็นชั่วโมง ไม่ได้คุยเรื่องงานเลย คุยเรื่อง… เอ้ย, จะไปไหนไอ้หนู เด็กก็บอกจะกลับบ้าน เออ, มาอยู่กรุงเทพฯ เป็นยังไง… พูดคุยแบบไว้เนื้อเชื่อใจกันเลย เหมือนเป็นคนบ้านนอกด้วยกัน สุดท้ายก็บอกว่า ไปทำงานก่อนไหม ตอนนี้เอ็งไม่มีเงินกลับบ้าน, กลับบ้านไปก็อายเขา ไปทำงานก่อนไหม เดือนละเก้าพัน ไปทำแค่สามเดือน กินอยู่พร้อม

“เด็กเขาก็ซื้อตั๋วกลับบ้านแล้วนะครับ เขารอขึ้นขบวนรถไฟตอนเช้ามืด ขนาดเขาซื้อตั๋วกลับบ้านแล้วเขายังหลงเชื่อ เด็กก็ไปกับเขา มันก็พาไปปากน้ำ ไปที่ชุมชนตรอกมะพร้าว แล้วก็พาเด็กลงเรือ พอเด็กลงเรือไปก็ เฮ้ย! กูถูกหลอกหรือเปล่าวะ คนบนเรือ ก็คือคนที่เคยไปทำงานมาแล้ว แบบพวกไปแบบสมัครใจ เขาก็บอกเด็กว่า เฮ้ย, เอ็งน่ะถูกขายมาแล้ว นั่นแหละ เด็กก็เลยกระโดดน้ำ ตรงปากอ่าวไทย ไกลพอสมควร ออกไปประมาณครึ่งชั่วโมงจากปากน้ำ แล้วตรงนั้นมันจะมีทุ่นลอยน้ำอยู่ เป็นทุ่นนำร่องน้ำลึก เด็กเห็นทุ่นก็เลยกระโดดน้ำ แล้วว่ายน้ำไปลอยคออยู่ครึ่งชั่วโมง คือถ้าไม่มีทุ่นเด็กก็ตาย จนกระทั่งมีเรือน้ำมันมาช่วย”

เด็กคนนี้อาจจะโชคดีที่รอดชีวิตมาได้ แต่แรงงานประมงโชคร้ายหลายคนยังคงรอคอยความช่วยเหลือ สิ่งที่พวกเขาต้องการก็เพียงได้กลับสู่ผืนแผ่นดินไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน และพวกเขาก็ได้แต่เฝ้าตั้งตารอ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี… ถึงแม้หนทางจะดูริบหรี่ แต่เราก็ได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะได้กลับบ้าน…

ติดต่อ : ศูนย์ปฎิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา

โทรศัพท์ 02-642-7991-2 ต่อ 11, โทรสาร 02-642-7991 ต่อ 18

อีเมล : info@notforsale.in.th

www.notforsale.in.th , www.mirror.or.th

Share the Post: