marinerthai

100 ปี ไททานิค ตำนานแห่งเรือ (ที่ไม่มีวัน) จม

จาก หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์  วันที่ 19 เมษายน 2555

โดย…โยธิน อยู่จงดี

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ image-581.png

ในโลกใบนี้ล้วนมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นมากมายให้เราได้รำลึกถึง แต่มีเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนได้ระลึกถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ หนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือการล่มของเรือไททานิค (RMS Titanic) อันที่จริงแล้วตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไททานิคไม่ได้สูงไปกว่าเหตุการณ์หายนะอื่นๆ แต่ด้วยความที่เรือเดินสมุทรขนาดยักษ์ที่มีความหรูหรา เป็นเรือแห่งความฝันและผู้คนต่างนิยามว่านี่คือเรือที่ไม่มีวันจม จึงกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และดับความโอหังของมนุษย์ที่จะต่อกรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

ความประมาทบนไททานิค

ก่อนหน้าเรือไททานิคจะชนกับภูเขาน้ำแข็งในทะเลแถบแอตแลนติกเหนือ ลูกเรือในห้องวิทยุได้รับคำเตือนจากเรือลำอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ถึงภูเขาน้ำแข็งยักษ์ในเส้นทางที่พวกเขากำลังมุ่งหน้าไปหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าพนักงานห้องวิทยุจะยุ่งอยู่กับการส่งโทรเลขถึงแผ่นดินใหญ่ให้ผู้โดยสาร และคิดว่าเป็นหน้าที่ของต้นเรือในการดูแลเรื่องเส้นทาง

ที่สำคัญ พนักงานวิทยุนี้ไม่ได้เป็นลูกเรือโดยตรงของสายการเดินเรือ ไวต์ สตาร์ (White Star Line) ผู้สร้างเรือไททานิค จึงเป็นไปได้ว่าไม่รู้ระบบการทำงานภายในเรือที่จำเป็นต้องแจ้งให้กัปตันและต้นเรือทราบ

กระทั่งผู้บังคับเรือได้รับแจ้งว่าพบภูเขาน้ำแข็งอยู่ในเส้นทาง แต่ด้วยกำลังเดินเรือด้วยความเร็ว 21 นอต ทำให้ไม่สามารถหันหัวเรือหลบได้ทัน จึงถูกชนด้านกราบขวาเรือ เป็นเหตุให้อับปางลงในเวลา 02.15 น. ของวันที่ 15 เม.ย. 1912

ในเวลานั้นเรือที่ใกล้ไททานิคที่สุดคือ เรือแคลิฟอร์เนียน (SS Californian) กลับไม่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือเพราะเจ้าหน้าที่ห้องวิทยุหลับ ส่วนเรือที่ได้รับสัญญาณคือเรือคาร์พาเธีย ((RMS Capathia) ของสายการเดินเรือคูนาร์ด (Cunard Line) ซึ่งเป็นคู่แข่งของสายการเดินเรือไวต์ สตาร์ ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง เพื่อเดินทางมาช่วยเหลือ อีกทั้งเรือชูชีพยังมีไม่เพียงพอและเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ฝึกซ้อมและทราบจำนวนที่นั่งที่แท้จริง เหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงมีผู้เสียชีวิตราว 1,500 คน เป็นความประมาทอย่างไม่ให้โอกาสกัปตันเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ ซึ่งเป็นกำลังฝีมือดีและกำลังจะเกษียณอายุงานและลูกเรือได้แก้ตัวอีกเลย

ลางร้ายไททานิค

ย้อนกลับถึงช่วงตอนต้นของการสร้างเรือ มีเหตุการณ์ที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นลางร้ายของเรือไททานิคมากมาย เริ่มตั้งแต่ก่อนหน้าการสร้างเรือถึง 14 ปี มีนวนิยายที่เขียนโดย มอร์แกน โรเบิร์ตสัน ชื่อ Futility กล่าวถึงเรือโดยสารยักษ์นามไททัน ซึ่งมีขนาดและความจุผู้โดยสารใกล้เคียงกับไททานิค มีสัญชาติอังกฤษเหมือนกัน เส้นทางเดินเรือเดียวกัน จุดที่เรือจมคือแถบทะเลแอตแลนติกเหนือ โดยเวลาในนิยายกับความเป็นจริงนั้นต่างกันเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเนื้อเรื่องก็กล่าวถึงการล่มของเรือด้วยการชนกับภูเขาน้ำแข็งเช่นเดียวกัน เรียกว่าเป็นการสอดคล้องกันอย่างบังเอิญเท่านั้น

มาถึงวันก่อนหน้าการเดินทางของไททานิค มีการประท้วงของคนงานโรงถ่านหิน ทำให้เรือหลายลำต้องจอดเต็มท่าเรือเพราะไม่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจริงๆ แล้ว เรือไททานิคต้องเป็นหนึ่งในนั้นด้วย หากเนื่องจากมีลูกค้ามารออยู่เกือบเต็มลำ ทั้งไม่อยากให้เสียกำหนดการ แล้วพวกเขาก็มีถ่านหินสำรองเพียงพอที่จะเดินทางได้ จึงออกเดินเรือในที่สุด

ระหว่างที่ออกตัว ด้วยความที่เป็นเรือใหญ่ ทำให้เกิดกระแสน้ำดูดเรือลำข้างๆ เข้าหาจนเกือบไม่ได้ไปต่อตั้งแต่เริ่มเดินทางนั่นแหละ นับเป็นอีกหนึ่งลางร้ายที่บอกเหตุว่าไททานิคไม่ควรที่จะออกจากท่า โดยการออกตัวในครั้งนั้นทำให้เรือโอลิมปิก ซึ่งเป็นเรือพี่ของไททานิคได้รับความเสียหาย ต่อมาไวต์ สตาร์ จึงปรับปรุงซ่อมแซมใหม่จนกลายเป็นเรือที่ใหญ่กว่าไททานิคภายในปีเดียวกัน

ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เรือไททานิคจมก็คือคำสาปมัมมี่ ที่อยู่ในโลงพระศพเจ้าหญิงอาเมนรา ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ในช่วง 1,500 ปีก่อนคริสตกาล เดิมทีพระศพนี้ตั้งอยู่ในสุสานลักซอร์ ริมแม่น้ำไนล์ และถูกขโมยส่งต่อมาถึงพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ว่ากันว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของพระศพ กระทั่งเจ้าหน้าที่ยกโลงของพิพิธภัณฑ์ ช่างภาพที่ถ่ายโลงพระศพล้วนแต่ไม่ตายดี ไม่เจออุบัติเหตุหรือฆ่าตัวตาย ก็เป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย ถ้ารอดชีวิตก็มีชะตาตกต่ำถึงขีดสุด กระทั่งทางพิพิธภัณฑ์เองยังไม่สามารถเก็บรักษาโลงพระศพนี้ไว้ได้ เพราะยามเฝ้าพิพิธภัณฑ์ได้ยินเสียงทุบโลงและเสียงร่ำไห้ออกมาทุกค่ำคืน และเหตุการณ์แปลกประหลาดชวนขนหัวลุกอีกมากมาย จนมีนักโบราณคดีชาวอเมริกันยอมซื้อไปเก็บไว้ที่กรุงนิวยอร์ก โดยขนส่งทางเรือไททานิคเที่ยวปฐมฤกษ์ และในที่สุดก็จมลงไปพร้อมกับเรือและชีวิตลูกเรือระหว่างเดินทางครั้งนั้น อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดว่าไททานิคได้ขนมัมมี่ในเที่ยวนั้นจริงหรือไม่

ลางร้ายอีกอย่างหนึ่งของเรือไททานิค คือไม่เคยผ่านพิธีกรรมในการตั้งชื่อเรือตามธรรมเนียมที่ถูกต้องมาก่อน การตั้งชื่อเรือนั้นโดยปกติแล้วจะตั้งตามชื่อเมือง สถานที่สำคัญ ตัวละครที่มีชื่อเสียง ในยุคหลังจึงเริ่มนำชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นชื่อเรือเพื่อบ่งบอกถึงบุคคลิกและวัตถุประสงค์ของการสร้างเรือนั้นๆ

สำหรับเรือไททานิค ซึ่งเวลานั้นมีสายการเดินเรือคู่แข่งสำคัญ คือสายการเดินเรือคูนาร์ด หากเป็นยุคปัจจุบันเปรียบได้กับบริษัทโบอิ้งและแอร์บัส คู่แข่งด้านการผลิตเครื่องบินโดยสาร ทั้งสองค่ายนี้จะมีเอกลักษณ์การตั้งชื่อเรือที่แตกต่างกันออกไป โดย ไวต์ สตาร์ จะตั้งชื่อเรือโดยลงท้ายด้วย -ic อย่างเช่นชื่อเรือก่อนหน้านี้ คือ เรือเซลติก (RMS Celtic) เรือเซดดริก (RMS Cedric) และเรือบอลติก (RMS Baltic) คำนำหน้าชื่อเรืออาร์เอ็มเอสนั้น ย่อมาจาก รอยัล เมล ชิป (RMS – Royal Mail Ship) หมายถึง เรือที่ได้รับอนุญาตส่งจดหมายและพัสดุของสหราชอาณาจักร ซึ่งต้องเป็นเรือที่มีความเร็วในการเดินเรือสูง เพื่อจดหมายจะต้องส่งถึงปลายทางอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ คูนาร์ด จะตั้งชื่อเรือลงท้ายด้วย ia เช่น เรือลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) เรือมอริทาเนีย (RMS Mauretania) และเรือที่มาช่วยผู้โดยสารไททานิค อย่าง คาร์พาเธีย

โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ ผู้บริหารของไวต์ สตาร์ วางแผนสร้างเรือที่มีขนาดใหญ่และหรูหรากว่าเรือมอริทาเนียของคูนาร์ด ที่ครองความเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกนานถึง 4 ปี ด้วยการสร้างเรือกลุ่มโอลิมปิกขึ้นมา 3 ลำ ให้เป็นเรือโดยสารที่มีความใหญ่โตและหรูหรา โดยมีชื่อเรือทั้ง 3 ลำนี้ ว่า โอลิมปิก ไททานิค และไจแกนติก ซึ่งนำชื่อเหล่านี้มาจากตำนานเทพปกรณัม

เรือโอลิมปิก (RMS Olympic) จึงเป็นอีกชื่อเรียกของเขาโอลิมปัส (แต่ลงท้ายด้วย –ic ตามสไตล์การตั้งชื่อของไวต์ สตาร์) สถานสถิตแห่งเหล่าทวยเทพ เรือโอลิมปิกจึงบ่งบอกถึงวิมานสวรรค์ ซึ่งถูกตกแต่งอย่างหรูหรา

เรือไททานิคนำมาจากชื่อเรียกกลุ่มเทพไททัน (Titan) ทั้ง 12 องค์ ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่ากลุ่มเทพ ไจแกนทีส (Gigantis) บุตรแห่งเทพีไกอาและเทพยูเรนัส ด้วยพลังแห่งเทพนั้นแรงกล้า เหล่าเทพไททันจึงมีร่างกายใหญ่โต เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์พลังมหาศาล จึงเป็นที่มาของศัพท์ “Titan” แต่ถูกเทพยูเรนัสส่งลงไปอยู่แดนทาร์ทารัส (Tartarus) ด้วยความกลัวลูกๆ จะขึ้นมาแย่งอำนาจ

สุดท้ายชื่อเรือไจแกนติก (RMS Gigantic) นั้น นำมาจากชื่อเรียก ไจแกนทีส ซึ่งหมายถึงความใหญ่โตของเรือนั่นเอง เพราะเรือลำนี้มีขนาดใหญ่กว่าไททานิคถึง 1,800 ตัน ถูกนำไปใช้เป็นเรือพยาบาลในสงครามโลกครั้งที่ 1 และจมลงด้วยทุ่นระเบิดในปี ค.ศ. 1916

ตามตำนานเทพปกรณัม ผู้นำกลุ่มเทพไททันนาม โครนอส ถูกเทพซุสและพี่น้องลูกของโครนอสเองล่มบัลลังก์วังเทพ และตั้งพี่น้องขึ้นมาปกครองโลกในนามกลุ่มเทพแห่งเขาโอลิมปัส และส่งโครนอสลงไปสู่ทาร์ทารัส

ดูเหมือนว่าแม้กระทั่งชื่อไททัน หรือไททานิค ยังเป็นอัปมงคลแห่งท้องทะเล เพราะในตำนานเทพปกรณัม กลุ่มเทพไททันนั้นไม่ค่อยถูกกับซุสและเหล่าพี่น้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเทพโพไซดอนผู้ดูแลมหาสมุทรและแม่น้ำ เทพโพไซดอนอาจไม่ชอบใจนักที่ไททันมาผยองความยิ่งใหญ่ในท้องทะเล จึงบันดาลให้ไททานิคจมลงสู่ทาร์ทารัส อันหมายถึงหุบเหวลึกใต้บาดาลอันมืดมิด หรือในอีกความหมายคือขุมนรกใต้พิภพอันลึกสุดหยั่ง สถานที่ซึ่งเหล่าเทพฝ่ายซุสช่วยกันจับขังเหล่าเทพไททันไว้นั่นเอง เพราะบางหลักฐานจากบางปากคำของลูกเรือ กล่าวถึงแสงสว่างและกลุ่มควันบังตา พลันแสงสว่างนั้นหายไปจึงปรากฏภูเขาน้ำแข็งอันยากจะหลีกเลี่ยง

หายนะไททานิค

หลังจากไททานิคล่ม ได้มีการตั้งกฎการเดินเรือใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การกำหนดให้มีลูกเรือทำงานในห้องวิทยุตลอด 24 ชั่วโมงที่มีการเดินเรือ เพราะเจ้าหน้าที่ห้องวิทยุเรือแคลิฟอร์เนียนที่อยู่ใกล้ที่สุดหลับ มีการกำหนดให้มีเรือชูชีพเท่ากับจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเขียนจำนวนที่นั่งบนเรือชูชีพที่รองรับได้อย่างชัดเจนจากปัญหาเรือชูชีพบนไททานิค

ปัจจุบันซากเรือไททานิคได้กลายเป็นจุดอนุรักษ์ขององค์การสหประชาชาติ ห้ามให้มีการดำลงไปเก็บสิ่งของบนเรือเพื่อนำมาซื้อขาย สงวนไว้เป็นสถานที่อนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์ ว่าเหตุการณ์ไททานิค ใช่เพียงความสูญเสียชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน แต่ยังหมายถึงการดับความฝันของมนุษย์ ที่อยากแสดงความยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างเรือที่ไม่มีวันจม ในยุคใหม่ของการเดินเรือข้ามมหาสมุทร แต่สุดท้ายก็ต้องพ่ายให้กับธรรมชาติด้วยความประมาทของมนุษย์เอง

Share the Post: