marinerthai

‘เครื่องบินทะเล’ ลาดตระเวนชายฝั่ง

จาก หนังสือพิมพ์ คม-ชัด-ลึก วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รายงานโดย ไชยฤทธิ์ เสนาะวาที : เรื่อง วัชรชัย คล้ายพงษ์ : ภาพ  (และภาพประกอบอื่นๆ จากอินเตอร์เน็ต)

เป็นเวลา 4 ปี แล้วที่กองทัพเรือซุ่มวิจัยการผลิตเครื่องบินทะเล เครื่องบินขนาดเล็กสารพัดประโยชน์ขึ้นลงได้ทั้งบนบกและบนผิวน้ำ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเล ทร. ล่าสุดได้เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ “คม ชัด ลึก” ได้ร่วมทดสอบสมรรถนะของเครื่องบินดังกล่าว 2 รุ่นด้วยกัน คือ “NAX 01” และ “NAX 03” (N-naval A-aircraft X- experimental) บริเวณอ่างเก็บน้ำคลองไผ่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งการทดสอบดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

พลเรือโท สมหมาย ปราการสมุทร ผอ.โครงการวิจัยยานพาหนะทางทะเล เพื่อใช้ประโยชน์กับกองทัพเรือ กล่าวว่า โครงการวิจัยเครื่องบินทะเล นี้เกิดมาครั้งแรกเมื่อสมัยที่ยังเป็น ผอ.สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ได้ร่วมทำโครงการวิจัยยานเหินน้ำร่วมกับนานาชาติ โดยประเทศไทยได้รับสิทธิ์วิจัย ยานเหินน้ำประเภท 2 ที่นั่ง ส่วนสิงคโปร์ได้วิจัยยานเหินน้ำประเภท 8 ที่นั่ง โดยสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องใช้เวลาวิจัยทันทีหลังจากได้รับสิทธิ์ไม่เกิน 2 ปี

หลังจากได้รับสิทธิ์ปี 2550 กองทัพเรือให้เงินทุนมา 5 แสนบาท จึงเริ่มศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการผลิตเครื่องบินประเภทนี้ โดยใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบทั้งหมด โดยขั้นตอนดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการบิน ด้านการออกแบบโครงสร้าง หลังจากออกแบบเสร็จได้ไปซื้อซากเครื่องบินเก่ามาดัดแปลง ทั้งเครื่องยนต์และสรีระของเครื่องบินที่แต่เดิมสามารถร่อนลงแค่เพียงบนพื้นรันเวย์ปกติเป็นสามารถร่อนลงทั้งบนบกและบนผิวน้ำตามที่ออกแบบไว้ในครั้งแรก

แต่ก็ต้องพบอุปสรรคในช่วงแรกจนทำให้การวิจัยต้องชะงักลงเมื่อ 4 ปีก่อน คือ ไม่มีนักบินคนไหนกล้าบินทดสอบให้แก่เครื่องบินทะเลที่วิจัยขึ้น พลเรือโทสมหมาย วัย 57 ปี จึงตัดสินใจใช้เงินทุนของตัวเองราว 5 แสนบาท เพื่อเข้าเรียนการบินหวังที่จะทดสอบเครื่องบินที่ผลิตขึ้น และหลังจากที่มีการทดลองบินก็มีนักบินทดสอบอาสาสมัครเข้ามาในโครงการมากขึ้นถึง 4 คน และได้รับเงินทุนต่อยอดจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)เป็นเงิน 12 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม อีก 15 ล้านบาท

ด้าน นาวาเอก กฤชพล เรียงเล็กจำนง นักบินทดลองในโครงการวิจัยเครื่องบินทะเล ซึ่งมีประสบการณ์การบินผาดแผลงมานานกว่า 10 ปี เปิดเผยว่า ครั้งแรกที่ทราบข่าวว่ามีโครงการสร้างเครื่องบินทะเล ก็มีความสนใจอย่างมาก เพราะชื่นชอบในเครื่องบินและรักการบินเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดที่อาสาเข้ามาเป็นนักบินในโครงการนี้คือเครื่องบินดังกล่าวสร้างโดยคนไทยทั้งหมด โดยมีแรงบันดาลใจจากแนวพระราชดำริในการพึ่งพาตนเอง ที่กองทัพเรือได้น้อมนำมาปฏิบัติ

“ครั้งแรกที่เข้ามาเป็นนักบินทดสอบที่โครงการนี้เจอปัญหาทุกอย่าง ทีมงานต้องแก้ไปปัญหาไปทีละจุด ทีละขั้นตอน เรียนรู้กับมันพัฒนาไปทีละขั้น จนวันนี้เราสามารถควบคุมมันได้ทุกอย่างอย่างที่เราต้องการ ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างมากที่สามารถออกแบบและผลิตเครื่องบินทะเลได้เอง” นาวาเอกกฤชพล กล่าว

นาวาเอกกฤชพล บอกอีกว่า เครื่องบินที่สร้างขึ้นมานี้ได้มาตรฐานสากลอย่างแน่นอน เพราะนักบินต่างชาติมาทดสอบเขายังตกใจว่าเราทำได้อย่างไร อย่างเช่นลำตัวเครื่องที่เครื่องบินทั่วไปจะมีความแข็งแรงแค่ 3 จี แต่ของเราแข็งแรงถึง 6 จี หรือพูดง่ายๆ คือถ้าเครื่องบินปกติจะรองรับแรงกระแทกได้ 300 กก. แต่ของโครงการจะมากกว่าเท่าตัว

“ผมบินเครื่องบินเล็กที่สร้างขึ้นจากต่างประเทศ ที่เป็นสากลมาหลายชนิด บอกได้เลยว่าสมรรถภาพที่เราสร้างเองนั้นไม่ได้ด้อยกว่า เราทำได้เหมือนเขาหมด แต่ที่เหนือกว่าคือความแข็งแรงในการลงจอดได้ทั้งบนบกและในน้ำที่สำคัญราคาถูก และถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่สลับซับซ้อน ตั้งแต่ดูแล บำรุงรักษา หรือแม้แต่ตอนบิน” นาวาเอกกฤชพลกล่าว

สำหรับ “เครื่องบินทะเล” ที่โครงการวิจัยอยู่นั้นมี 4 ลำด้วย คือ “NAX01” – “NAX04” ปัจจุบันเสร็จแล้ว 2 ลำคือ “NAX01” และ “NAX03” ส่วน “NAX02” อยู่ระหว่างการประกอบคาดว่าจะเสร็จภายในอีก 2 สัปดาห์ ส่วน “NAX04” จะเสร็จก่อนสิ้นปี โดยน้ำหนักตัวเปล่าอยู่ที่ 360 กก. 2 ที่นั่ง บรรทุกสูงสุดไม่เกิน 600 กก. เติมน้ำมันเชื้อเพลิง 91 และ 95 ได้ 81 ลิตร ระยะบินได้ 576 กม. ความเร็ว 90 น็อต บินได้สูงสุด 1 หมื่นฟุต จอดได้ทั้งบนบกและในน้ำ ระยะเทคออฟและร่อนลง(ทั้งบนบกและผิวน้ำ) 500 เมตร ตัวเครื่องสร้างจากคาร์บอนไฟเบอร์ ใช้เครื่องโลว์เทค 1,100 ซีซี จากออสเตรเลีย ราคาราว 5 ล้านบาท คาดว่าจะถูกลงหากผลิตจำนวนมากในอนาคต

ส่วนภารกิจที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ สามารถใช้ลาดตระเวนตามแนวชายฝั่ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ในเขื่อน บินสำรวจ ตรวจการณ์ ถ่ายภาพทางอากาศ โดยภารกิจแรกของเครื่องบินทะเลนั้นจะบินสำรวจพื้นที่จุดขนถ่ายทางทะเลให้แก่กระทรวงคมนาคม วันที่ 19 พฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางคณะผู้จัดสร้างและวิจัยเครื่องบินทะเล ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเล ทร. เตรียมที่จะทำเรื่องน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องบินทั้ง 4 ลำ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะปิดการสัญจรทางน้ำชั่วคราวระหว่างสะพานพุทธถึงสะพานพระปิ่นเกล้า แล้วนำเครื่องบินทะเล บินไปจากสนามบินอู่ตะเภาสถานที่ที่วิจัยและจัดสร้าง ไปลงจอดที่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

Share the Post: