จากเซ็คชั่นกรุงเทพวันอาทิตย์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
โดย : ปวิตร สุวรรณเกต
ความน่าสนใจของรายละเอียดที่แวดล้อมโศกนาฎกรรม Titanic เหลือเชื่อยิ่งกว่าภาพยนตร์ จากการรวบรวมของ อัมพร จักกะพาก นักสะสมข้อมูลเรือลำนี้
กาลเวลาทำให้เหตุการณ์กลายเป็นประวัติศาสตร์ มนุษย์บันทึกประวัติศาสตร์เหล่านั้นไว้เพื่อจดจำ แต่มีบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่เคยลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนไม่ว่าจะผ่านไปนานสักเพียงใด เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455) ที่เรือสำราญขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้จมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก จากวันนั้นจนถึงวันนี้ไม่เคยมีใครลืมชื่อ ไททานิค (Titanic)
บริษัท ไวท์ สตาร์ ไลน์ (White Star Line) เริ่มก่อสร้างเรือ อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) หรือ เอสเอส ไททานิค (SS Titanic) ในปี ค.ศ.1909 พร้อมกับเรือคู่แฝดที่ชื่อว่า อาร์เอ็มเอส โอลิมพิค (RMS Olympic) ซึ่งเบากว่าไททานิค 1000 ตัน การก่อสร้างเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ.1911 วันพุธที่ 10 เมษายน ค.ศ.1912 เรือไททานิค ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อของเทพเจ้าผู้ทรงพลัง ออกเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร มุ่งหน้าสู่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1912 เวลา 23.40 น. ไททานิคซึ่งได้รับการขนานนามว่า Unsinkable Ship หรือเรือที่ไม่มีวันจม ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง และเวลา 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1912 เรือทั้งลำจมลงสู่ความลึก 12,500 ฟุต หรือประมาณ 4 กิโลเมตร ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก
“สนใจเรื่องไททานิคมานานแล้วเหมือนกัน เริ่มจากตัวเองเป็นคนสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ว่า จริงหรือไม่จริง เช่น เชอร์ล็อคโฮห์ม หรือกษัตริย์อาร์เธอร์ ซึ่งไททานิคเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเราได้ยินมา คิดอยู่ในจินตนาการตลอดเวลา…
มันเป็นโศกนาฎกรรมซึ่งเป็นธีมที่เป็นสากล มันเหลือเชื่อยิ่งกว่าภาพยนตร์อีก เป็นได้อย่างไรว่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก สวยที่สุด โก้หรูที่สุด บรรทุกเศรษฐีออกไปในเที่ยวแรกแล้วก็จมลงก้นทะเล มันเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน เพราะว่าทุกคนร่วมชะตากรรมหมดตั้งแต่เศรษฐีไปจนถึงผู้โดยสารชั้นสาม อยู่บนเรือที่มั่นคงที่สุดในโลกที่มีฉายาว่า Unsinkable คือไม่สามารถจะจมได้ ตอนที่เรือชนกับน้ำแข็งยังเล่นไพ่กันอยู่ ยังเล่นฟุตบอล เอาเศษน้ำแข็งมาเตะเล่นกัน ทุกคนเฮฮา วงดนตรีก็ยังเล่นต่อ จนกระทั่งผ่านไป พอเรือเริ่มเอียงเริ่มรู้แล้วว่าอันตราย พอไปถึงในที่สุดรู้แล้วว่าจมแน่ไม่มีทางรอด เราพยายามนึกภาพสมัยนั้นนะคะว่าแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร…
บางคนที่เป็นเศรษฐีมีสิทธิจะลงเรือกู้ชีพ บอกขอไม่ลง จะอยู่ ภรรยาเจ้าของห้าง Mercy ไม่ยอมลง บอกจะอยู่กับสามีจนวาระสุดท้าย เศรษฐีอีกคนหนึ่งก็แต่งตัวเปลี่ยนชุดไปใส่ชุดโก้หรูสำหรับรับประทานอาหารเย็น แล้วก็ให้กลับไปบอกกับภรรยาว่าผมตายอย่างสุภาพบุรุษ มันอย่างกับหนัง แต่มันเป็นเรื่องจริง เพราะว่าเป็นการเล่าจากคนที่รอดชีวิตมา หรือว่าวงดนตรีทั้งหมดเล่นเพลงสุดท้าย ถ้ามันเกิดขึ้นในสมัยนี้ มันจะเป็นไปได้หรือไม่” คุณ อัมพร จักกะพาก กรรมการผู้จัดการบริษัท ไพซิสมิวสิค จำกัด คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา ‘สีลม’ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในความสนใจเรื่องราวของไททานิค
“เรื่องเหล่านี้อยู่ในความคิดจนกระทั่งเมื่อปีค.ศ.1986 ซึ่งมีการค้นพบซากเรือไททานิค พอภาพแรกที่เราเห็นออกทางทีวี เรารู้สึกสะเทือนใจ เราเป็นคนไทยเราไม่ได้เกี่ยวนะ (หัวเราะ) แต่เราก็รู้สึกสะเทือนใจ มันเต็มตื้นขึ้นมา เคยเห็นภาพเรือไททานิคที่เขาถ่ายมา ข้างในสวยงามที่สุด เห็นห้องโถง เห็นทุกๆ อย่างที่เป็นความโก้หรูที่สุด แล้วเราเห็นเป็นซาก ที่สำคัญคือมันหักเป็นสองท่อน กระเด็นแบบรัศมีกว้างเท่าสนามฟุตบอล เลยเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่นั้นมา เริ่มซื้อหนังสือต่างๆ เก็บสะสมมาเรื่อยๆ ซื้อทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรือไททานิค”
มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่องราวของไททานิคออกมามากมาย และมีอยู่เล่มหนึ่งที่คุณอัมพร บอกว่ามีความน่าสนใจเป็นพิเศษ
“มันไม่มีหมดนะ หมดเล่มนี้ก็มีอีกเล่มหนึ่งในประเด็นใหม่ ประเด็นของผู้โดยสารเล่าบ้าง ลูกเรือเล่าบ้าง หรือเรื่องเขียนขึ้นมาใหม่บ้าง แต่ที่น่าสนใจไปเจอเล่มหนึ่งชื่อว่า The Wreck of the Titan เขียนโดย มอร์แกน รอเบิร์ตสัน (Morgan Robertson) เขียนตั้งแต่ปีค.ศ.1898 เรือไททานิคจมปีค.ศ.1912 ใช่ไหมคะ รอเบิร์ตสันเขาได้ข่าวมาว่า อีกไม่นานมนุษย์จะคิดค้นเรือที่ใหญ่ยักษ์ที่สุด เขาเกิดความกลัว ก็เลยเขียนนิยายขึ้นมาถึงเรือลำหนึ่งชื่อ ‘ไททาน’ เหมือนไททานิคเลย ไททานมีขนาดใหญ่เกือบใกล้เคียงเรือไททานิคหมดทุกอย่าง และก็มีเรือช่วยชีวิตไม่พอ ออกเดินทางเดือนเมษายนเหมือนกัน ชนภูเขาน้ำแข็งแล้วก็จม เป็นเหมือนกับคำพยากรณ์ล่วงหน้า ตอนที่ไททานิคสร้างก็ไม่มีคนสนใจหนังสือเรื่องนี้ จนกระทั่งไททานิคจม ถึงมีคนนึกออกว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่เคยเขียนพยากรณ์เหตุการณ์แบบเหลือเชื่อที่สุด…
มันน่าสนใจหลายๆ อย่าง อย่างเรื่องคำว่า ‘ไททาน’ เป็นชื่อยักษ์ในวรรณคดีกรีก ซึ่งทำให้เทพเจ้าโมโห โกรธ แล้วก็เอาสายฟ้าฟาดจมลงสู่ใต้ทะเล (หัวเราะ) ถ้าคนไทยคงไม่ตั้งชื่ออะไรแบบนี้ คงหาชื่อที่เป็นมงคลกว่านี้”
ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับไททานิคถูกนำเสนอในหลากหลายแง่มุม ซึ่งเป็นเรื่องราวที่คุณอัมพร บอกว่า ไม่มีวันเบื่อ
“ส่วนใหญ่จะแตกต่างกันในแง่การบอกเล่าของผู้โดยสารต่างๆ ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ผู้โดยสารชั้นสาม เป็นเชิงสารคดีบ้าง เชิงประวัติศาสตร์บ้าง เชิงเทคนิคบ้าง แต่เราก็ไม่เบื่อเลยที่จะอ่าน มีอันหนึ่งที่ได้มาและมีค่ามาก เพื่อนคนหนึ่งจากอังกฤษเขารู้ว่าดิฉันชอบเรื่องไททานิค เขาไปหามาเป็นภาพวาดสมัยนั้น แล้วก็รายชื่อผู้โดยสารที่รอดชีวิตทั้งหมด เป็นรายละเอียดทุกอย่างว่าเรือไททานิคบรรทุกอะไรลงไปบ้าง อันนี้ออกมาหลังจากเรือไททานิคจมไม่นาน มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว ราคาสองเพนนีเอง”
ความสนใจในเรื่องราวของไททานิคของผู้คนทั่้วโลกเพิ่มมากขึ้นเมื่อภาพยนตร์เรื่อง ไททานิค (TITANIC) ของ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ออกฉายในปีค.ศ.1997
” ..ตอนที่ได้ข่าวว่าเจมส์ คาเมรอน จะสร้างมาเป็นหนังฮอลลีวูดโดยส่วนตัวแล้วไม่แฮปปี้เลย (หัวเราะ) คล้ายๆ กับว่า คือไททานิคเป็นอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่ลี้ลับ ไม่ควรที่จะให้มันระเบิดออกมาเป็นฮอลลีวูด แล้วก็จะมีทัวร์ไปดูซากไททานิคอะไรอย่างนี้ เหมือนกับความศักดิ์สิทธิ์และอนุสรณ์แห่งความจำมันจะเปลี่ยนไป ตัวดิฉันเองดูหนังเรื่องนี้ครั้งเดียว รู้สึกว่าเรือมันเก๊มาก รู้สึกว่าเรือมันไม่มีชีวิต โดยเฉพาะฉากที่อยู่ตรงหัวเรือ รู้สึกว่ามันเล็กๆ อย่างไรไม่รู้ รู้สึกว่าไททานิคมันยิ่งใหญ่กว่านั้น…
แต่พอมีหนังเรื่องไททานิคออกมา ทำให้โลกหันมาสนใจ.. พอดีมีคนที่ทราบว่าดิฉันสะสมและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเรือไททานิคก็มาสัมภาษณ์ ..ตอนนั้นใครๆ ก็ถามว่าในหนังตกลงจริงหรือเปล่า ดิฉันบอกว่าจริง จริงทุกอย่างเลย แม้แต่รถสีแดงคันนั้นที่พระเอกนางเอกเข้าไปนั่ง ยังมีจริงเลย ที่ไม่มีจริงคือแจ็คกับโรสเท่านั้นเอง ‘โรส’ เจมส์ คาเมรอน บอกว่า เขาเอามาจากคาแรคเตอร์ของเพื่อนคนหนึ่ง แต่ ‘แจ็ค’ ไม่มีจริง ดิฉันไปค้นคว้ามา มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือว่ามีผู้โดยสารเรือไททานิคคนหนึ่งเป็นผู้โดยสารเฟิร์สคลาสชื่อ แจ็ค เทเยอร์ (Jack Thayer) เขารอดมาเล่าให้กับนักข่าวซึ่งอยู่บนเรือคาพาเทียร์ซึ่งมาช่วย ฟังว่าเรือก่อนจมเป็นอย่างไร เจมส์ คาเมรอน อาจจะเอาแจ็คคนนี้ทำเป็นคนวาดรูป กลับนิดหน่อยเป็นผู้โดยสารชั้นสาม ก็สงสัยว่านี่น่าจะใช่ ลีโอนาโด” คุณอัมพร บอก
ภาพยนตร์ที่คุณอัมพรแนะนำให้ผู้ที่สนใจเรื่องราวของเรือไททานิคชมคือ A Night to Remember
“A Night to Remember เขียนโดย วอลเธอร์ ลอร์ด (Walter Lord) เป็นหนังขาวดำ ซึ่งถือว่าเป็นหนังเกี่ยวกับเรื่องไททานิคที่ดีที่สุดที่ทำมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าคลาสสิคมาก เป็นทั้งข้อมูล (Document)ทั้งดราม่าอยู่ด้วยกัน”
เรื่องราวของไททานิคกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านกาลเวลามาจนครบรอบ 100 ปี และสิ่งที่ที่ผู้คนยังคงให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่องของการจมลงของเรือนั่นเอง
” ..มีการพยายามรื้อฟื้นเรื่องราวต่างๆ มามากมาย เช่นทางช่อง Discovery ช่อง History, Geographic ดิฉันได้ดูครบถ้วนทั้งหมด ดิฉันเคยให้สัมภาษณ์ตอนคนมาถามว่า จากการที่ได้ศึกษาคิดว่าการที่เรือไททานิคจมเพราะอะไร เหตุการณ์เกิดเพราะอะไร สมัยนั้นดิฉันตอบไปว่า น่าที่จะเป็น Human Error คือความผิดพลาดของมนุษย์ คือเรือไททานิคไม่น่าที่จะวิ่งต่อไปในขณะที่มีน้ำแข็งล้อมรอบ เรือที่อยู่ใกล้เคียงทั้งหมดเขาส่งสัญญาณมาที่เรือไททานิคว่าน้ำแข็งเยอะมาก ภูเขาน้ำแข็งใหญ่มาก เรือหยุดหมดแล้ว แต่ไททานิคไปอยู่คนเดียวด้วยความมั่นใจ เรือไททานิคที่บอกว่าไม่จมเพราะว่ามันมี ‘ประตูน้ำ’ ซึ่งถ้าสมมติว่าน้ำเข้าห้องเครื่องแล้วปิดประตูน้ำ เรือก็จะไม่จม อาจจะไปต่อไม่ได้แต่ก็ไม่มีวันจม ต่อให้น้ำเข้าเรือครึ่งหนึ่งข้างหน้าก็ยังไม่จม ถึงกับว่ามีคำพูดว่า ‘Even God cannot sink this ship‘ ซึ่งมันน่ากลัวมาก เป็นคำพูดที่ท้าทายมาก อย่าลืมนะว่าเทพเจ้าเป็นคนสาปไททานสู่ก้นทะเล (หัวเราะ) ดิฉันก็เคยคิดว่า หนึ่งเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ และสองเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรือไททานิคเลินเล่อในการนำทุกอย่างลงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นแชมเปญอย่างดี คริสตัลแชนเดอร์เลีย แก้วไวน์ แต่ว่าทำไมลืมกล้องส่องทางไกล” คุณอัมพร เล่าให้ฟัง
“แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปนาน ดิฉันได้ดูที่เขาวิเคราะห์ต่างๆ ณ ปัจจุบันมนุษย์สามารถที่จะวิเคราะห์ได้โดยทางเทคโนโลยีทั้งหมด ในโอกาสที่ครบร้อยปีไททานิค สถาบันต่างๆ ก็พยายามวิเคราะห์ เพราะว่าตอนนี้เอาซากเรือขึ้นมาได้แล้ว ก็เอาหมุดขึ้นมาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ว่า มันไม่แข็งแรงหรือเปล่า เอาเหล็กของเรือไททานิคไปวิเคราะห์ดูทางวิทยาศาสตร์ว่าเปราะหรือเปล่า เพราะว่าก่อนเดินทางมีห้องเครื่องห้องหนึ่งไฟไหม้อยู่นะ แต่เรือออกไปทั้งอย่างนั้นเพราะเขาคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ดับ…
ความเห็นของดิฉันหลังจากที่ดูมาทั้งหมด ดิฉันสรุปว่าเหตุการณ์โศกนาฎกรรมคืนนั้นเกิดขึ้นเพราะสองอย่างคือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และ ชะตากรรมของมนุษย์ นี่พูดแบบไทยๆ (หัวเราะ) ภาษาไทยเขาเรียกว่าดวง ดวงคนมันจะถึงต้องไปตายด้วยกันหมดนะ พูดว่าธรรมชาติเพราะอะไร เพราะว่าเป็นเหตุบังเอิญเหลือเกินที่คืนที่เรือไททานิคจม ที่ชนภูเขาน้ำแข็ง เป็นคืนที่ทะเลเงียบสงบที่สุด พื้นน้ำยิ่งกว่ากระจกอีก ไม่ค่อยเกิดขึ้นในมหาสมุทร การที่มันไม่มีคลื่นทำให้กลางคืนมองไม่เห็นภูเขาน้ำแข็งเลย อย่างน้อยถ้ามีคลื่นไปกระทบภูเขาน้ำแข็งก็จะเกิดฟองคลื่นขึ้น พอไม่มีเลยก็มองไม่เห็น เขาก็ไปเรื่อยๆ ไม่เห็นอะไรประกอบกับมีดาวอยู่เต็มฟ้าด้วย มันควรจะเป็นอะไรที่สวยงามมาก ทะเลเรียบมีดาวอยู่เต็มฟ้า อยู่ดีๆ อุณหภูมิก็เย็นลง ผู้โดยสารที่รอดมาให้การตรงกันหมดว่าอยู่ดีๆ อากาศเย็นเยือกขึ้นมา แสดงว่ามันเกิดปฏิกิริยาธรรมชาติ การที่อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็วมันทำให้เกิดไอขึ้นมาทำให้ไม่เห็นขอบฟ้ากับทะเล เพราะฉะนั้นการคำนวณรัศมีของภูเขาน้ำแข็งมันทำไม่ได้ และไม่ใช่ความผิดพลาดของการไม่มีกล้องส่องทางไกลด้วย เพราะตอนหลังผู้เชี่ยวชาญให้การณ์ตรงกันว่าในการมองอย่างนี้ตาเปล่าจะดีกว่า เพราะว่าใช้กล้องมันหลอกตา ไม่รู้ว่ารัศมีมันใกล้เท่าไร”
ผู้ที่สนใจและศึกษาเรื่องราวของไททานิคทุกคนจะรู้จักชื่อเรือ แคลิฟอร์เนียน (SS Californian) คุณอัมพร เล่าให้ฟังว่า
“หนังสือทุกเล่มที่เขียนเกี่ยวกับไททานิคจะต้องมีประเด็นเรือแคลิฟอร์เนียนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรือที่มีการเล่าว่าเห็นเรือไททานิคส่งสัญญาณความช่วยเหลือ แต่ไม่มา เป็นปริศนาลึกลับว่าทำไมไม่มา เรือแคลิฟอร์เนียนเป็นเรือสัญชาติอังกฤษ กัปตันชื่อ สแตนลี ลอร์ด (Stanley Lord) หลังจากเหตุการณ์โดนประนามไปตลอดชีวิตชั่วลูกหลานเลยว่าไม่มาช่วย พอ 100 ปีผ่านไป จากการพิสูจน์เอาข้อมูลหลายๆ อย่างประมวลว่า การที่ดาวเต็มฟ้าคืนนั้นมันส่งภาพลวงตาลงมามองไกลๆ ไม่รู้ว่าแสงแวบๆ อะไร เขาลองไปจำลองเหตุการณ์ที่สก็อตแลนด์ ว่าถ้ามีดาวอยู่เต็มฟ้า แล้วเรืออีกลำส่งสัญญาณอะไรมา ก็เห็นแวบๆ แต่ไม่รู้ว่าอะไร…
อีกอย่างกัปตันก็ไม่คิดว่าเรือไททานิคจะขอความช่วยเหลือ เขาเป็นเรือลำเล็กๆ ก็นึกว่าเรือสุดยิ่งใหญ่จะมาขอความช่วยเหลือ จะจมได้อย่างไร ก่อนหน้านั้นแคลิฟอร์เนียนอยู่ใกล้ที่สุด บอกว่าเราจะจอดแล้วนะ แล้วไททานิคบอก Shut Up ก็อาจจะโมโหนิดๆ ก็เลยปิดเครื่องนอนเลย ไททานิคส่งสัญญาณ SOS มานี่ไม่ได้ยินเลย เพราะว่าปิดเครื่องไปแล้ว พอตื่นเช้ามาเปิดเครื่องอีกครั้งถึงรู้ว่าไททานิคจม หลังจากร้อยปีผ่านไป ข้อมูลในปัจจุบันก็ช่วยในประเด็นว่าเรือแคลิฟอร์เนียนอาจจะไม่ผิด คือไม่เห็นจริงๆ ไม่รู้ว่าแสงตรงนั้นคืออะไร หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้มีกฎว่าวิทยุจะปิดไม่ได้ ต้องเปิด 24 ชั่วโมง”
บทเรียนจากไททานิคยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน
“สิ่งหนึ่งที่ดีเกี่ยวกับเรื่องไททานิคคือหลังจากเกิดเหตุการณ์เรือไททานิค เขาไม่ยินยอมให้เกิดอีกเลย ข้อหนึ่งตอนนี้กฎสากลคือไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจะต้องมีเรือช่วยชีวิตเท่ากับจำนวนผู้โดยสาร จะมาถือว่าไม่จมหรืออะไรแบบนี้ไม่ได้ ตอนนั้นเรือไททานิคเขาเอาเรือช่วยชีวิตไปพอสังเขปเพราะคิดว่าอย่างไรก็ไม่จม และคนไม่อยากลงไปด้วยเรือช่วยชีวิต ตอนแรกเรือไม่เต็มเพราะคนไม่อยากลงไปเพราะคิดว่าลงไปข้างล่างมันหนาว…
สอง) ตั้งสถานีตรวจน้ำแข็ง เรียกว่า Ice Station เพราะฉะนั้นจะไม่มีอีกแล้วเหตุการณ์ที่เรือจะออกไปโดยไม่มีคำเตือน และตอนนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับน้ำแข็งได้แล้ว และก็ออกกฎว่าต้องมีพนักงานอยู่ที่วิทยุตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นเช่นเรือไททานิคอีกเลย นอกจากเรืออิตาลีลำนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือความประมาทของกัปตันอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์”
แต่เรื่องราวที่ทำให้ไททานิคน่าจดจำที่สุดยังคงเป็นแง่มุมของความเป็นมนุษย์ซึ่งสะท้อนผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น
“มนุษย์ไม่มีทางยิ่งใหญ่ไปกว่าธรรมชาติและไม่สามารถที่จะหลบหนีชะตากรรมได้.. ไททานิคเป็นอะไรที่จับจินตนาการของมนุษย์ อย่างที่ดิฉันพูดว่า มันเหลือเชื่อยิ่งกว่าเหลือเชื่อ ทุกๆ แง่มุมของมันคือความเป็นมนุษย์.. เรือไททานิคเกิดขึ้นในช่วงที่มนุษย์ฟุ้งเฟ้อมากเพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีสงคราม คือสร้างแข่งกัน ก่อนหน้านั้นมีเรือคิวนาร์ด (Cunard Line) ซึ่งเป็นเรือสำราญที่โก้หรูที่สุดในโลก ในคัมภีร์ก็มีว่าพระเจ้าจะสั่งสอนมนุษย์ว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่เหนือพระเจ้าได้ ในพระคัมภีร์มนุษย์พยายามสร้างหอคอยที่สูงเสียดฟ้า นี่ก็เหมือนกันในที่สุดก็มาเจอชะตากรรมเดียวกันหมด…
เรือลำนี้มีเศรษฐีที่รวยที่สุดในขณะนั้น คือ จอห์น เจคอบ แอสเตอร์ (John Jacob Astor) รวยที่สุดในโลกก็ไม่รอด ในขณะเดียวกันก็ผู้โดยสารชั้นสามก็ไม่รอด สมัยนั้นในอังกฤษมีชนชั้นจริงๆ ทุกคนไปเพราะหวังว่าอเมริกาจะเป็นโอกาสให้เขามีความเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเรือไททานิคมันโรแมนติก แต่ความเป็นจริงแล้วมีเหตุการณ์ที่น่าเกลียดเกิดขึ้นด้วย คือเห็นหลายด้านของมนุษย์ เห็นด้านของมนุษย์ที่เสียสละ ตอนนั้นมีกฎว่า Women and children first ผู้ชายจะต้องยอมตาย ขณะเดียวกันก็มีความทรนงตัวอย่างเช่น กัปตันสมิธ (Edward John Smith) มีคนเห็นว่า ตอนที่จะจมกัปตันตะโกนบอกกับลูกเรือว่า Be British Boy, be British! เหมือนกับว่าเราเป็นคนอังกฤษเราต้องเข้มแข็งอะไรแบบนี้ ในขณะเดียวกันเจ้าของเรือ โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay) แอบลงเรือเฉยเลย ก็โดนประนามไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน เจ้าของเรือเขามีเหตุผลของเขาว่าต้องลงมาเพื่อมาดูแล จริงๆ แล้วก็มีผู้โดยสารชายที่รอดเพราะเขาให้ลงทีหลัง แต่นี่เขาลงก่อนเลย” คุณอัมพร บอก
“มันทำให้เห็นหลายๆ อย่างของมนุษย์ อย่างเช่นมีเรือช่วยชีวิตลำที่ 8 นี่คืออีกหนึ่งความผิดพลาด คือเรือไททานิคควรจะมีคนรอดมากกว่านี้ แต่เรือช่วยชีวิตบางลำคนลงไปไม่ถึงครึ่งลำก็ไปแล้ว อย่างเรือหมายเลข 8 ภรรยาขอร้องว่าให้สามีลงมาด้วยได้ไหม ก็ไม่ยอม ทั้งๆ ที่เรือไม่เต็ม ก็ต้องลาจากกัน พอลงไป เรือไททานิคจะจมแล้ว ลูกเรือบอกว่า เรากลับไปรับพวกเขากันเถอะ ผู้หญิงเหล่านั้นที่เคยจะให้ช่วยสามีตัวเองไม่ยอมกลับ กลัวว่าเดี๋ยวจะมีคนมาแย่งกันขึ้นเรือจนจม หรือมีเรือลำหนึ่งซึ่งมีเศรษฐีคนหนึ่งก็บอกว่า ถ้าถึงฝั่งแล้วทุกคนจะได้คนละ 5 ปอนด์ นี่คือความโรแมนติกของเรือไททานิค คือเรื่องราวของมนุษย์หลายๆอย่าง ที่จับจินตนาการของคนทั่วโลก”
กลุ่มคนที่มีเรื่องราวซึ่ง คุณอัมพร ประทับใจเป็นพิเศษคือ นักดนตรี และ ช่างเครื่อง
“ในเรื่องราวของไททานิคที่เขาถือว่าเป็นฮีโร่มากคือ ‘นักดนตรี’ ซึ่งมีทั้งหมด 8 คน มิสเตอร์ฮาร์ทลี (Wallace Hartley) เป็นแบนด์มาสเตอร์ เรือจะจมแล้วทุกคนรีบวิ่งเพื่อเอาตัวรอด แต่วงดนตรีเล่นไปเรื่อยๆ เซไปเซมาถือเครื่องดนตรีจนกระทั่งจมไปกับเรือ คือทำหน้าที่ ก็รู้นะว่าจะต้องตายไปกับเรือ นึกไหมว่าสมัยนี้คนจะทำอะไรแบบนั้น มีการพูดว่าเพลงสุดท้ายที่เล่นบนเรือไททานิคคือเพลงอะไร ผู้โดยสารที่รอดชีวิตให้การณ์แตกต่างกัน บางคนบอกว่าเล่นเพลง Nearer My God to Thee เป็นเพลงช้าๆ แต่ผู้โดยสารให้การณ์ว่าไม่ใช่ เป็นเพลงคึกคักชื่อว่า Song of Autumn เป็นเพลงแจ๊ส คิดว่าน่าจะเป็นเพลงนี้ เพราะว่าเป็นเพลงที่ไม่ต้องใช้โน้ต มันคงกางโน้ตกันไม่ได้แล้ว อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสะเทือนใจมากว่า เราจะมีไหมเรื่องราวของวีรบุรุษอย่างนี้ที่ทำหน้าที่แม้จะเป็นแค่นักดนตรีแต่ยังทำหน้าที่จนถึงนาทีสุดท้าย” คุณอัมพร เล่าให้ฟัง
“อีกกลุ่มนึงที่ถือว่าเป็นฮีโร่คือพวกที่อยู่ใต้ท้องเรือ สมัยนั้นต้องใช้ถ่านหินให้ความร้อนตลอดเวลา น่าแปลกไหมว่าเรือไททานิคสว่าง เรือจะจมอยู่แล้วใกล้วินาทีสุดท้ายเรือยังสว่าง เพราะช่างเครื่องเหล่านี้ เรือจะจมแล้วยังทำให้เรือมีพลังงานอยู่ อยู่ข้างใต้นั้นมันตายแน่นอน สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมากว่าคนสมัยก่อนนี้เขายึดมั่นอยู่กับหน้าที่เขาจริงๆ”
เรื่องราวจากคำบอกเล่าเหล่านั้นยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อมีการค้นพบซากเรือ และคุณอัมพรบอกว่า เรื่องราวของไททานิคจะยังคงเป็นที่เล่าขานไปอีกนานแสนนาน
“พอค้นพบซากเรือแล้ว สำหรับดิฉันมันเหมือนกับว่าตำนาน ประวัติศาสตร์ และความจริง มันมาเจอกัน ยิ่งทำให้เรื่องนี้น่าศึกษา พอเขาถ่ายรูปขึ้นมาเราได้เห็นซาก เห็นของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราสะเทือนใจ.. พอเห็นอย่างนี้มันมีพลังมากขึ้น ..ในต่างประเทศเขาให้ความสนใจ เคยไปที่เซาท์แทมป์ตันที่เป็นที่ปล่อยเรือไททานิคจะมีพิพิธภัณฑ์ของไททานิค เพราะว่าคนต่างชาติเขาให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์มาก เรือไททานิคเกี่ยวข้องกับหลายประเทศมา เพราะว่าต่อที่เมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ (Belfast) เรือออกที่เซาท์แทมป์ตัน มีศพหลายชีวิตที่ไปเจอแล้วฝังอยู่ที่ฮาลิแฟก (Halifax) ในแคนาดา คือตอนที่เรือไททานิคจมไม่พบศพ เจอน้อยมาก ถูกกระแสน้ำพัดไปหมดแล้ว ลอยไปจนถึงแคนาดา ตรงนั้นถ้าไปจะเห็นหลุมศพเป็นทิวแถว ความทรงจำเกี่ยวกับเรือไททานิคในต่างประเทศยังลุกโชนอยู่เสมอ แต่คนไทยเราอาจจะเกี่ยวข้องน้อย”
สำหรับนิทรรศการ 100 ปี ไททานิค (Titanic : The Artifact Exhibition) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 2 กันยายน 2555 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ไลฟ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 คุณอัมพร บอกว่า
“เมื่อมีนิทรรศการดีๆ อย่างนี้มาให้ดูมันเป็นระดับโลกก็ควรที่จะดู ในบ้านเราไม่ค่อยมีคนไปดูเท่าไร (หัวเราะ) อยากที่จะให้ไปดูกันอันนี้โฆษณาให้ฟรี เพราะเรื่องราวเหล่านี้มีคุณค่ามากทางประวัติศาสตร์”