โดย มติชน วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10240
ทีมข่าวเฉพาะกิจ
ท่ามกลางบรรยากาศอึดอัดคับข้องด้วยกระแสความร้อนแรงของการเมือง ที่ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย ปักหลักชุมนุมกันเป็นสองโซน ฝ่ายหนึ่งขับไล่ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุน ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะลงเอยเช่นไร
ไหนจะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดำดิ่งลงทุกขณะ ตรงข้ามกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกที
ความอึมครึมของเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่เบาบาง ความคุกรุ่นในอารมณ์ของประชาชนทั้งประเทศก็ต้องตระหนกอีกครั้ง กับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา *ศาลท้าวมหาพรหม* ที่สี่แยกราชประสงค์ ถูกชายสติไม่ดีปีนรั้วเข้าทุบทำลาย เหลือเพียงฐานของศาล ขณะที่ชายคนดังกล่าวถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิตเช่นกัน
เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะที่ผ่านมา ศาลท้าวมหาพรหม คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พักพิงทางใจของคนไทยมากว่า 50 ปี
ทั้งนี้ ในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์เชื่อกันว่า พระผู้เป็นเจ้ามี 3 องค์ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง คือ “ตรีมูรติ” ได้แก่ พระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม
โดยเฉพาะพระพรหมนั้น ถือเป็นผู้สร้าง พระองค์เป็น “สยมภู” คือเกิดเองได้ มีน้ำพระทัยเยือกเย็น เป็นผู้มีคุณธรรมสูงสุด เปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ซึ่งเป็นมโนจริยา 4 ประการ ซึ่งตรงกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ได้ยึดถือสั่งสอนพุทธบริษัทข้อหนึ่งที่เรียกว่า “พรหมวิหาร 4”
นอกจากจะสร้างโลกแล้ว พระพรหมยังเป็นผู้สร้างสวรรค์และมนุษย์อีกด้วย
ไม่แปลกที่ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งจะพาดหัวข่าว
“อดีตโหรแม้วฟันธง ทุบพระพรหมลางร้าย นองเลือดแน่ถ้าไม่ลาออก”
ก่อนจะมาเป็นศาลท้าวมหาพรหม ที่สี่แยกราชประสงค์ เล่าขานกันถึงเรื่องราวอัศจรรย์ที่หาคำตอบไม่ได้ และเป็นที่มาของการตั้งศาล
กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ.2496 บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ซึ่งมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานกรรมการ ได้เริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณขึ้น แต่เนื่องจากในสมัยเริ่มก่อสร้างโรงแรมเอราวัณใหม่ๆ นั้นมีอุปสรรคมากมายอย่างไม่คาดฝัน อาทิ การสั่งของและอุปกรณ์มาแล้ว ใช้ไม่ได้ เพราะผิดขนาดและผิดความต้องการของฝ่ายช่างเสมอ ทั้งคนงานก็กระทำผิดวัตถุประสงค์ ต้องแก้ไขทำใหม่ เป็นเหตุให้เสียเวลาอยู่เป็นนิจ
ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าช่างปูน ช่างเหล็ก มักจะประสบอุบัติเหตุถึงแก่เลือดตกยางออก อันเป็นสาเหตุให้คนงานเสียขวัญไปตามๆ กัน จึงทำให้ผลงานล่าช้ายิ่งขึ้น จนถึงจะทำให้การก่อสร้างโรงแรมเอราวัณหยุดชะงักได้
เมื่อความทราบไปถึง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและประธานกรรมการบริหารโรงแรมเอราวัณในสมัยนั้น ว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด จึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร และได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ม.ล.จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ไปติดต่อหารือท่านอาจารรย์ พล.ร.ต.หลวงสุวิชานแพทย์ ด้วยกิตติศัพท์ของการเป็นผู้มีตาทิพย์ หยั่งรู้สิ่งที่มองไม่เห็น
ปรากฏว่าหลังจากที่ท่านอาจารย์นั่งสมาธิดูเหตุการณ์ต่างๆ พบว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุปสรรคนานาประการใดมาจาการตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า “เอราวัณ” ซึ่งเป็นนามของช้างทรงของพระอินทร์ ต้องแก้ไขด้วยการบอกกล่าวขออำนาจต่อท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ ขอบารมีของพระองค์ท่าน ดลบันดาลให้สิ่งที่ร้ายทั้งหลายกลับกลายเป็นดี
และเมื่อได้ก่อสร้างโรงแรมเรียบร้อยแล้ว จะต้องตั้งศาลท่านท้าวมหาพรหมทันที โดยได้กำหนดตำแหน่งสถานที่ตั้งศาลที่หัวมุมโรงแรมด้านสี่แยกราชประสงค์
สำหรับศาลของท่านท้าวมหาพรหมนี้ คุณเจือระวี ชมเสวี กับ ม.ล.ชุ่ม มาลากุล เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ ส่วนพระรูปหล่อจำลองนั้น คุณจิตร พิมโกวิท ช่างโทในสมัยนั้นที่ประจำแผนกกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นช่างปั้นตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยการค้นคว้าของพระยาอนุมาราชธน
เมื่อทำพิธีประดิษฐานพระรูปของพระองค์นั้น ได้อัญเชิญพระวิญญาณของท่านท้าวมหาพรหมให้มาสถิตอยู่ ณ พระรูปของท่านด้วย เพื่อจะได้ช่วยเหลือปัดเป่าความทุกข์ยากของประชาชนที่มาสักการะบูชา
เชื่อกันว่าตามปกติพระองค์จะเสด็จประทับยังศาลในตอนค่ำของทุกวัน ยกเว้นวันพระ เพราะพระองค์เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์
ขณะเดียวกันก็มีการทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำทุกปีในวันที่ 9 พฤศจิกายน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ซึ่งประดิษฐานศาลแห่งนี้เป็นครั้งแรก
หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตระหนกตกใจแก่ชาวไทยและผู้ที่ศรัทธาในท้าวมหาพรหม ศรีสล้าง สุขสมสถาน กรรมการผู้จัดการมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม เล่าว่า เธอเองมาอยู่ที่นี้เกือบ 50 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ตั้งศาลได้สองปี
“เชื่อกันว่าพระพรหมเอราวัณศักดิ์สิทธิ์มาก คนที่มากราบไหว้จะประสบความสำเร็จตามที่ขอ จึงเล่าขานกันปากต่อปาก ทำให้มีคนมากราบไหว้บูชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะคนไทย ชาวต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และไต้หวันก็นับถือกันมาก ถึงกับจำลองรูปท่านไปสร้างที่ไต้หวันและรวมทั้งที่ลอสแองเจลิสด้วย”
ศรีสล้างเล่าต่อไปว่า ทุกวันผู้คนจะเดินทางมาสักการะท้าวมหาพรหมกันตั้งแต่ก่อนเปิดให้เข้าคือ 6 โมงเช้า มีรถทัวร์พานักท่องเที่ยวมาลงวันละหลายคัน โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์ และแม้จะเลยเวลาศาลปิดคือ 5 ทุ่ม ไปแล้วก็ยังมีผู้มากราบไหว้กันนอกรั้วอยู่ตลอด
กราบไหว้ขอพรกันสารพัด ตั้งแต่เรื่องโชคลาภ หน้าที่การงาน การเรียน ความรัก ขอลูก ขอให้สุขภาพแข็งแรง หายป่วยไวๆ แม้กระทั่งขอหวย
จะไหว้จะบนด้วยอะไรก็แล้วแต่ ใครบนอะไรไว้ก็แก้อย่างนั้น บางคนบนแบบวิตถาร แก้ผ้ารำถวายก็มี แต่ทางมูลนิธิไม่อนุญาตให้ทำที่ศาลพระพรหม หากจะแก้บนก็ให้ไปแก้ผ้าที่บ้านแล้วใช้การจุดธูปบอกท่านท้าว หรือบางคนจะแก้บนโดยการนำหนังโป๊มาฉายก็มี ซึ่งจะใช้วิธีการฉายที่ป้ายแล้วจุดธูปบอกท่าน
ส่วนใหญ่จะได้ตามที่ขอ เพราะเห็นคนมาขออะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่เห็นใครมาบอกว่าบนแล้วไม่ได้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น คนที่ทราบข่าวแม้จะตกใจกัน แต่ก็ยังมากราบไหว้เหมือนเดิม โดยจุดธูป แขวนพวงมาลัยไว้กับรั้วด้านนอก
“มีคนมาร้องไห้หลายคน แขกต่างชาติหลายๆ คนที่เคยมาไหว้เป็นประจำ อย่าง คนสิงคโปร์และฮ่องกง เมื่อทราบข่าวก็โทร.ทางไกลเข้ามาถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และว่าต้องใช้เงินเท่าไรจะส่งเงินมาให้ รวมทั้งคนไทยด้วย
จริงๆ ทางมูลนิธิเองก็มีเงินพอจะซ่อมใหม่ได้ เพราะมีคนบริจาคเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละเกือบร้อยล้านบาท อย่างปีที่ผ่านมาได้ 90 กว่าล้านบาท ซึ่งทุกปีเราก็จะนำเงินบริจาคไปซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารเพื่อรักษาคนยากไร้อยู่แล้ว
ในฐานะผู้ดูแลก็เป็นธรรมดาที่ของเสียก็ต้องใจหาย ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นคนที่ทำก็รับกรรมไปแล้ว มีคนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า คนที่ทุบตีก็มีบ้าง แต่เห็นบอกว่าเขาชักตายไปเอง”
ความผูกพันและความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพระพรหมเอราวัณ ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวกับผู้ที่มากราบไหว้ขอพรเท่านั้น สำหรับผู้ที่ทำมาหากินในบริเวณนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างกระทบกับจิตใจของพวกเขาไม่น้อย
วันดี วิชัย เล่าว่า ขายของที่นี่มาตั้งแต่เด็กๆ 30 กว่าปีแล้ว ผูกพันกับที่นี่มาก แม้ว่าองค์ท่านจะเปลี่ยนไปแต่ความรู้สึกที่เคารพก็ยังคงเหมือนเดิม
“เรื่องรายได้ตอนนี้ต้องทำใจ เพราะว่าตั้งแต่มีการประท้วงคนก็เริ่มน้อยลง นักท่องเที่ยวก็ลดลง แต่ก็ยังมีคนเดินทางมาสักการะอยู่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น ชาวฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น”
สมศักดิ์ ราดพันแสน คนขับรถสามล้อรับจ้างบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ เล่าว่า รู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปกติแล้วตนจะออกมาขับรถในเวลาไล่เลี่ยกับที่ศาลเปิด-ปิด แต่เดิมนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ รปภ.ดูแลความเรียบร้อยภายในสถานที่นั้นอยู่ แต่ช่วงหลังพอเลยเวลาแล้วมักจะมีตำรวจผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแลบ้าง บังเอิญว่าช่วงที่เกิดเหตุนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ในบริเวณนั้นเลย
“หากมีการบูรณะโดยการเปลี่ยนองค์พระพรหมใหม่ พวกเราก็ยังนับถือและศรัทธาเหมือนเดิม เพราะคิดว่าอย่างไรก็ตาม องค์ท่านยังอยู่ในใจ ยังคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ พวกเราเสมอ”
แม่ค้าขายดอกไม้ สมใจ เรืองผล เล่าว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ทุกคนมีความรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะเชื่อกันว่าองค์ท่านเป็นเหมือนศูนย์รวมทางจิตใจ ปกติแล้วผู้คนที่เดินทางมาสักการะบูชานั้นในส่วนของพรที่ขอจากท่านนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขอให้อยู่ดีมีสุข ทำมาค้าขึ้น ขอลูก และสิ่งที่ขอนั้นก็ประสบผลทั้งนั้น เมื่อแขกต่างชาติเดินทางมากราบไหว้กันมาก ก็นำรายได้เข้าประเทศต่อปีไม่น้อย
“จริงๆ แล้วฉันก็ไม่ได้อยากให้คนที่ทุบท่านต้องตายด้วยซ้ำ แต่อยากถามคนที่ทำจริงๆ ว่าเขาทำไปทำไม นี่ก็ได้ยินว่าทางมูลนิธิจะดำเนินการนำชิ้นส่วนที่แตกหักมาใส่ในองค์ใหม่ ก็รู้สึกดีใจ”
ขณะที่ สุภา ศิลป์สว่าง หนึ่งในผู้ที่เดินทางมาสักการะท่านท้าวมหาพรหม กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกใจหายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสียใจมาก อาจจะเป็นลางร้ายแก่ประเทศก็ได้
“มาสักการะ 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสือ จนเดี๋ยวนี้มีครอบครัวแล้ว บูชาท่านกันทั้งบ้าน เพราะขอพรอะไรก็ได้ ส่วนใหญ่ก็จะมาขอพรท่านเรื่องสุขภาพ ให้หายป่วย ขอเรื่องงานการ อย่างหลานชายก็เคยมาบนก็ได้ตามที่ขอ
คิดว่าอีกไม่นานก็คงจะมีการนำองค์ใหม่มาประดิษฐาน ก็จะมาสักการะเช่นเดิม”
มิเชล เป็นนักท่องเที่ยวอีกคนที่ตั้งใจเดินทางจากแคนาดามากราบไหว้พระพรหมโดยเฉพาะ เธอเล่าทั้งน้ำตาว่า เมื่อ 6 เดือนก่อน เธอเดินทางมากับสามี มากราบขอลูกกับท่าน แล้วก็สมหวังได้ลูกชาย ครั้งนี้จึงมาแก้บน ตอนที่รู้ข่าวไม่คิดว่าจะรุนแรงขนาดนี้ แต่เมื่อมาเห็นว่าองค์ท่านแตกหัก เหลือเพียงช่วงหัวเข่า รู้สึกตกใจมาก ซึ่งหากว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้ ยินดีจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่
อีกอาชีพหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งด้านจิตใจและรายได้ คืออาชีพรำแก้บน
อนุวัฒน์ ปานประยูร เจ้าของคณะ “ดำรงศิลป์ ปานประยูร” หนึ่งในสี่คณะรำแก้บน เล่าว่า ในคณะมีนางรำทั้งหมด 14 คน นักดนตรี 6 คน แบ่งเป็น 4 ชุด คือ ชุด 2 คน 260 บาท ชุด 4 คน 360 บาท ชุด 6 คน 610 บาท และชุด 8 คน 710 บาท
“ราคานี้เป็นราคามาตรฐาน เท่ากันทุกคณะ คณะผมรำวันละประมาณ 50 รอบ เมื่อแบ่งรายได้ให้แต่ละคนแล้วก็พออยู่ได้ไม่เดือดร้อน เพราะเราสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่ามาจนถึงรุ่นพ่อแม่ เป็นรายได้หลักของครอบครัว ไม่มีอาชีพเสริมที่ไหน เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ คงต้องรอดูว่าทางมูลนิธิจะดำเนินอย่างไร แต่ให้หยุดไปก่อนระยะหนึ่ง”
แม้ว่าองค์ท้าวมหาพรหมจะถูกทุบทำลายลง แต่สภาพภายนอกนอกจากผู้ที่ตั้งใจเดินทางมาสักการะจริงๆ แล้ว ผู้ที่เดินทางไปมาจะคิดว่าเพียงปิดปรับปรุง เพราะมีการนำผ้าขาวพันรอบองค์ศาล และติดป้ายปรับปรุงชั่วคราว โดยทางมูลนิธิยืนยันว่าจะเร่งบูรณะองค์ท้าวมหาพรหมโดยเร็วที่สุด
เพราะในยามที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ หนึ่งในที่พึ่งทางใจของใครหลายๆ คน
กำเนิดพระพรหม
ตำนานกำเนิดพระพรหมนั้น มีหลายกระแส ในฝ่ายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุดเล่าว่า พระพรหมเกิดอยู่ในดอกบัวซึ่งผุดมาจาก “สะดือ” ของพระวิษณุ ในขณะที่บรรทมหลับอยู่บนหลังพระยาอนันตนาคราช ที่เกษียรสมุทร พรหมจึงมีกำเนิดจากวิษณุ
ส่วนฝ่ายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดเล่าว่า เมื่อโลกยังว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุอยู่นั้น พระเวทย์ทั้งหลายได้มาประชุมรวมกัน เกิดเป็นพระผู้เป็นเจ้าขึ้นองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระปรเมศวร หรือพระศิวะนั่นเอง พระศิวะได้เอาพระหัตถ์ลูบพระอุระ สะบัดออกไปเบื้องหน้าพระพักตร์ บังเกิดเป็นพระอุมาภควดี แล้วเอาพระหัตถ์ซ้าย ลูบพระหัตถ์ขวา บังเกิดเป็นพระนารายณ์ และเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระหัตถ์ซ้าย บังเกิดเป็นพระพรหมขึ้น มารับภาระในการสร้างโลกสร้างมนุษย์ พรหมจึงมีกำเนิดจากพระศิวะ
ส่วนตำนานที่แพร่หลายอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า แต่เดิมครั้งยังไม่มีโลก ทั้งหมดเต็มไปด้วยความมืดมิด พระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีลักษณะ “สยมภู” คือกำเนิดขึ้นมาเอง ได้ปรากฏขึ้น และสร้างน้ำหว่านพืชลงในน้ำ จากพืชได้กำเนิดเป็นไข่ทอง เรียกหิรัณยครรภ์ ภายในไข่นั้นคือพระพรหม
ไข่นั้นหมายถึงจักรวาลและโลก เวลายาวนานหลายกัปกัลป์ ไข่นั้นได้แตกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งลอยสูงขึ้นเป็นท้องฟ้า อีกซีกลงต่ำกลายเป็นแผ่นดิน แล้วพระพรหมก็ก่อเกิดเป็นรูปกายขึ้น และเนรมิตสตรีเพศยาม “สรัสวดี” ภายหลังกลายมาเป็นมเหสี ร่วมกันสร้างสัตว์พืชพันธุ์ เทวดา อสูร และมนุษย์ขึ้นมา
พระพรหมทรงหงส์เป็นพาหนะ มีวรกายเป็นสีแดง มี 4 กร ถือธารพระกรไม้เท้า, ช้อน, หม้อ และคัมภีร์ มีประคำคล้องพระศอ เดิมพระองค์มี 5 เศียร เรียกว่า “พรหมปัญจมุข” เล่ากันว่า พระองค์ทรงรักหวงแหนมเหสีมาก หากมีอะไรเกิดขึ้น จะได้เสด็จไปช่วยได้ทัน ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมี 5 เศียร 4 เศียรหันไปสู่สี่ทิศ
อีกเศียรหนึ่งอยู่บนยอด ในภายหลังพระพรหมต้องเสียเศียรบนสุดไป เพราะไปกล่าววาจาดูถูกพระอุมาเทวี มเหสีของพระศิวะ จนถูกพระศิวะลงโทษตัดพระเศียร พระพรหมจึงเหลือเพียง 4 เศียร 4 พักตร์ ตั้งแต่นั้นมา
ภาพชุดพิธีอัญเชิญ-สมโภช องค์ท่านท้าวมหาพรหม
ประมวลภาพขบวนแห่พิธีอัญเชิญ-สมโภช องค์ท่านท้าวมหาพรหม จากสำนักช่างสิบหมู่ มายังบริเวณศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ซึ่งบรรยากาศคึกคักหนาแน่นมีประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดย ผู้จัดการออนไลน์ 21 พฤษภาคม 2549
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเชิญองค์ท่านท้าวมหาพรหมประดิษฐานในเทวาลัย
ประชาชนนับพันคนที่มารอคอยก็ไม่ย่อท้อ ไม่มีใครยอมถอย ยังคงอยู่ร่วมพิธีอย่างต่อเนื่อง
ตามฤกษ์ 11.39 น. 21 พฤษภาคม 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเชิญองค์ท่านท้าวมหาพรหมประดิษฐานในเทวาลัย และนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี จุดธูปเทียนและวางพวงมาลัยสักการะองค์ท่านท้าวมหาพรหมทั้ง 4 พระพักตร์ ซึ่งก็เป็นการเสร็จสิ้นพิธีอัญเชิญและสมโภชในครั้งนี้
สำหรับบรรยากาศพิธีสมโภชครั้งนี้ มีฝนตกพรำๆ อยู่ตลอด แต่ประชาชนนับพันคนที่มารอคอยก็ไม่ย่อท้อ ไม่มีใครยอมถอย ยังคงอยู่ร่วมพิธีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนก็จำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สะพานลอยตรงห้างเกษรพลาซ่าขณะนี้ไม่สามารถเดินไปมาได้แล้ว เพราะประชาชนเยอะมาก ซึ่งภายหลังจากที่พิธีอัญเชิฐและสมโภชเสร็จแล้ว ประชาชนจำนวนมากต่างเข้าไปบริเวณศาลท่านท้าวมหาพรหมเพื่อสักการะ โดยเชื่อว่าการสักการะในวันแรกจะทำให้การอธิษฐานจิตได้ผล ขณะที่การทำข่าวของสื่อมวลชนก็เป็นไปอย่างทุกลักทุเลเพราะสถานที่คับแคบ