โดย หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ วันที่ 15 พฤษภาคม 2549
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท
Anak Krakatau เป็นเกาะที่ปรากฏในเดือนมิถุนายน 2470 และได้จมหายไปในทะเลในเดือนสิงหาคม แล้วระเบิดอีกในอีก 4 วันต่อมา
โลกมีภูเขาไฟประมาณ 1,300 ลูก 700 ลูก เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว และอีก 600 ลูก ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ภูเขา Visuvius ในอิตาลี ภูเขาไฟ Etna บนเกาะ Sicily และ Kilauea บนเกาะฮาวาย เป็นต้น เมื่อใดที่ภูเขาไฟระเบิด เราจะเห็นว่าลาวาร้อนไหลลงจากยอดเขา ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รายรอบภูเขาไฟ
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า Pliny ผู้เยาว์ คือ นักภูเขาไฟวิทยาคนแรกของโลกที่ได้ศึกษาและสังเกตการระเบิดของภูเขาไฟ Visuvius เมื่อปี พ.ศ. 612
ณ วันนี้ นักวิทยาศาสตร์มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับภูเขาไฟมาก จนรู้สาเหตุการเกิดภูเขาไฟว่า ใต้เปลือกโลกลงไป คือ ส่วนที่เราเรียกว่า เปลือกโลกชั้นในมีชั้นที่ลึกลงไปอีก คือ แก่นโลก เพราะอุณหภูมิใต้โลกสูงมาก ดังนั้น หินแข็งในบริเวณเปลือกโลกชั้นในจึงละลายเป็นหินเหลว ส่วนแก่นโลกนั้นเพราะมีอุณหภูมิสูงมาก จึงสามารถระบายความร้อนออกมาทุกทิศทาง เหมือนกับเวลาเราต้มน้ำในกา น้ำที่ก้นกาจะไหลวนพาความร้อนไปทั่ว ดังนั้น เวลาหินเหลวจากเปลือกโลกชั้นในไหลทะลักขึ้นผ่านรอยแตกของเปลือกโลก นั่นคือ การระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งจะนำหินเหลวร้อน (ลาวา) ก๊าซ ฝุ่น ดิน และหิน ขึ้นมาจากใต้ดินท่วมพื้นที่รอบ ๆ มีผลให้ลักษณะของภูมิประเทศในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงทันที
สถิติที่ปรากฏทุกวันนี้แสดงให้เห็นว่า ประชากร 600 ล้านคน อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ เช่น ชาวเมือง Naples อาศัยอยู่ใกล้ Visuvius และชาวเมือง Seattle อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ Rainier เป็นต้น
ชวาเป็นเกาะ ๆ หนึ่งของอินโดนีเซียที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และเกาะ ๆ นี้มีภูเขาไฟมากมาย ทั้งที่ดับแล้ว และยังมีชีวิตอยู่ เช่น ภูเขาไฟ Papandayan ที่สูงประมาณ 3,200 เมตร ซึ่งได้ระเบิดเมื่อปี 2315 และการระเบิดครั้งนั้น ได้ทำให้หมู่บ้าน 40 แห่งถูกทำลาย ผู้คน 3,000 คน เสียชีวิต และหลังการระเบิด ยอดภูเขาไฟได้หดหายไปเหลือสูงเพียง 1,700 เมตร เท่านั้นเอง
Galung Gung เป็นชื่อของภูเขาไฟอีกลูกหนึ่งที่มีป่าปกคลุมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2425 ภูเขาไฟลูกนี้ได้ระเบิดนำโคลนขุ่น น้ำร้อน ลาวา เถ้าถ่าน ควัน ฝุ่น ไปตกไกล 60 กิโลเมตร จากภูเขาและภายในเวลา 5 ชั่วโมง หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟถูกทำลายราบเรียบ จนอีก 4 วันต่อมา ภูเขาไฟลูกนี้ได้ระเบิดอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้การระเบิดรุนแรงกว่าคราวแรก ทำให้ยอดภูเขาไฟยุบหายไป เหลือเป็นแอ่งลึก นักภูเขาไฟวิทยาประมาณว่า การระเบิดคราวนั้นได้สังหารผู้คนใน 114 หมู่บ้าน ไปประมาณ 4,000 คน
ช่องแคบ Sunda ในทะเลระหว่างชวากับสุมาตรา มีภูเขาไฟลูกหนึ่งชื่อ Krakatau ซึ่งก่อนปี พ.ศ. 2426 แทบไม่มีใครในโลกรู้จักภูเขาไฟลูกนี้เลย เพราะตลอดเวลา 200 ปีก่อนนั้น ภูเขาไฟไม่เคยระเบิดเลย ทำให้ทุกคนคิดว่า ภูเขาไฟได้ดับไปแล้ว ดังนั้น ชาวบ้านบนเกาะชวา และสุมาตรา จึงพายเรือไปเก็บผลไม้ในป่าที่ปกคลุมเชิงเขาอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งถึงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ภูเขาไฟลูกนี้ได้ระเบิด สถิติการสำรวจแสดงได้ให้เห็นว่า นี่เป็นการระเบิดที่รุนแรงเป็นอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ที่ผู้คน ซึ่งอยู่ไกลออกไปถึง 4,600 กิโลเมตร ก็ยังได้ยินเสียงระเบิด แม้แต่ชาว Batavia ก็ได้ยินเสียงระเบิดเหมือนเสียงปืนใหญ่ กัปตันเรือที่อยู่บนเรือซึ่งกำลังเดินทางผ่านช่องแคบ Sunda ได้รายงานว่า เห็นฝุ่นควัน พุ่งขึ้นท้องฟ้า เป็นลำสูง 10 กิโลเมตร และเสียงระเบิดดังเป็นระยะ ๆ นาน 14 สัปดาห์ จนถึงวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม ก็มีการระเบิดใหญ่ เพราะ Krakatau ไม่มีผู้คนอาศัยเลย ดังนั้น จึงไม่มีใครรู้จักว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น แต่ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ระเบิดก็ยังรีบหนีเอาชีวิตรอด หลังการระเบิด กะลาสีเรือที่เดินทางผ่านใกล้ภูเขาไฟได้รายงานว่า เกาะทั้งเกาะได้จมหาย มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และแผ่นดินไหวรุนแรง ท้องฟ้าเหนือ Krakatau มีทะเลฝุ่นสีเหลืองปกคลุมทั่ว สำหรับคนที่อยู่ริมฝั่งก็ถูกคลื่นยักษ์สึนามิสูง 40 เมตร พุ่งถล่ม จนผู้คน 34,000 คนเสียชีวิต การสำรวจยังรายงานอีกว่า เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ตามชายฝั่งของช่องแคบ Sunda ถูกคลื่นทำลายราบเรียบ โดยเฉพาะที่เมือง Telok Betong บนเกาะ Sumatra คลื่นสึนามิได้พัดพาเรือประมงเข้าไปในฝั่งไกล 3 กิโลเมตร อนึ่ง การระเบิดของ Krakatau ในครั้งนั้นได้ทำให้ภูเขาไฟลูกอื่น ๆ บนเกาะชวาถูกกระทบกระเทือนจนเกือบระเบิดด้วย เช่น ภูเขาไฟ Semeru และ Gunung Guntur ก็ส่งเสียงคำราม แต่ไม่ระบิด อนึ่ง เหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้น ได้ทำให้ Sir Robert Ball ชาวอังกฤษเขียนหนังสือชื่อ Earths Beginnings ที่ตีพิมพ์ในปี 2445 ว่า ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เวลา 10 โมงเช้า ขณะซ้อมดนตรีอยู่ในโรงละคร บนเกาะ Rodriguez ซึ่งอยู่ไกลจาก Krakatau 4,500 กิโลเมตร เขาได้ยินเสียงระเบิด 2 – 3 ครั้ง นั่นเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากที่ Krakatau ระเบิดจริง ทั้งนี้ เพราะเสียงต้องใช้เวลาในการเดินทางนั่นเอง
ภาพวาดท้องฟ้าเหนือลอนดอน ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2426 เวลา 16.40 น. (ภาพบน) และ 17.15 น. (ภาพล่าง)
แม้กระทั่ง ลอนดอนประเทศอังกฤษก็ได้รับผลกระทบจากการระเบิด เพราะท้องฟ้าเหนือกรุงลอนดอนในฤดูใบไม้ร่วงมืดมัว และดวงอาทิตย์ดูแดง ซึ่งเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้ William Ashcroft ได้วาดภาพท้องฟ้าเหนือ Chelsea ในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2426 ไว้ (ดังภาพ) ผู้คนที่ Madagascar, Australia, Cape of good Hope และ California ต่างก็ได้รายงานการเห็นดวงอาทิตย์มีสีแดงผิดปกติ และฟ้ามีเมฆฝุ่นปกคลุม หลังการระเบิดนานเป็นสัปดาห์ ในส่วนที่เป็นด้านดี การระเบิดของ Krakatau ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ธรรมชาติของบรรยากาศเหนือโลกดีขึ้น เพราะในสมัยนั้น นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่า ที่ระดับสูงกว่า 15 กิโลเมตร มีลมพัดเหมือนบนโลก ดังนั้น เมื่อเห็นฝุ่นภูเขาไฟถูกลมพัดไปรอบโลกได้ โดยใช้เวลานานประมาณ 13 วัน นักวิทยาศาสตร์ก็รู้ว่า ลมเหนือโลกพัดเร็วเหมือนลมเฮอริเคน
ในปี 2546 Simon Winchester ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ Krakatoa : The Day the World Exploded : August 27, 1883 หนังสือราคา 25.95 เหรียญ หนา 432 หน้า มีภาพประกอบ 58 ภาพ ซึ่งได้กล่าวถึงวันที่โลกแตก และนรกผุดเหนือ Krakatau
เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดี Susilo Bamhang Yudhoyono แห่งอินโดนีเซีย ก็ได้ประกาศเตือนชาวชวาที่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ Merapi ซึ่งสูง 2,914 เมตร ว่าภูเขาไฟลูกนี้จะระเบิดในอีกไม่นาน เพราะในช่วงนี้ อุณหภูมิภูเขาไฟได้เพิ่มสูงจนภูเขามีควันระอุ และภูเขาส่งเสียงคำรามเป็นระยะ ๆ การศึกษาประวัติการระเบิดของภูเขาไฟแสดงให้รู้ว่า เมื่อใดที่แผ่นดินไหวบ่อยกว่า 90 ครั้ง/วัน นั่นคือ สัญญาณว่า ภูเขาไฟใกล้ระเบิด และในกรณีของ Merapi นี้สัญญาณแผ่นดินไหวเกิดมากถึง 150 ครั้ง/วัน
สถิติการระเบิดของภูเขาไฟลูกนี้ยังระบุอีกว่า ในปี พ.ศ. 2434 ภูเขาไฟ Merapi ได้เคยระเบิดแล้ว และทำให้ผู้คนเสียชีวิตไป 1,300 คน โดยลาวาได้ไหลเป็นทางไกล 6 กิโลเมตร และกว้าง 200 เมตร และลึก 3 เมตร และการระเบิดครั้งสุดท้ายเมื่อ 12 ปีก่อน ได้ทำให้คน 60 คนตาย
ดังนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียจึงสั่งห้ามกิจกรรมขุดเหมืองแร่ ไต่เขาหรือเดินเขาทุกรูปแบบ อย่างเด็ดขาด และได้เตรียมที่พักชั่วคราวให้ผู้คนที่อาศัยในบริเวณภูเขาไฟได้เข้าพัก เพื่อความปลอดภัยครับ
มหาวิบัติภัยคำสาปแห่งอินโดนีเซีย
โดย มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 2 มิถุนายน 2549
ตลอดเกือบเดือนที่ผ่านมาชาวเมืองย็อกยาการ์ตา เมืองเก่าแก่บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย จับตามอง “เมราปิ” ภูเขาไฟที่กำลังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาด้วยความวิตกกังวล นักวิทยาศาสตร์พิจารณาจากพฤติกรรมที่เมราปิแสดงออกมาด้วยการพ่นควันและเถ้าถ่านออกมาจากปากปล่องของมันในห้วงเวลาดังกล่าวเตือนว่า นั่นคือสัญญาณของการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟที่อยู่ห่างจากเมืองโบราณแห่งนี้ออกไปเพียง 25 กิโลเมตร มีคำสั่งอพยพชาวบ้านนับพันออกจากพื้นที่เสี่ยงโดยรอบ
เมราปิ ไม่ได้ระเบิดออกมาอย่างที่คาดหมาย ตรงกันข้ามอันตรายที่แท้จริงเกิดจากความเคลื่อนไหวใต้ดินใต้เท้าของพวกเขา ไม่ใช่จากปากปล่องภูสูงแห่งนั้น
05.54 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ย็อกยาการ์ตาทั้งเมืองสะท้านด้วยพลานุภาพของแผ่นดินไหววัดความรุนแรงได้ถึง 6.2 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางของมันอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้นอกชายฝั่งออกไป 24 กิโลเมตร แต่ความรุนแรงเพียงพอต่อการสร้างความเสียหายให้อย่างใหญ่หลวงต่อย็อกยาการ์ตาและชุมชนใกล้เคียง พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายยับเยินจนน่ากลัวคือเขตอำเภอบันตุล ทางใต้ของตัวเมืองที่บ้านเรือนหลายร้อยหลังอยู่ในสภาพเหมือนกับถูกไถกราดด้วยรถขุดขนาดใหญ่ หลงเหลือเพียงกองซากปรักหักพังราบไปทั้งชุมชน ฝังชาวเมืองที่กำลังหลับอย่างเป็นสุขในตอนย่ำรุ่งอยู่ภายใต้ซากไม่น้อยกว่า 5,000 คน อีกหลายแสนคนรอดชีวิตมาได้ในสภาพได้รับบาดเจ็บและไร้ที่อยู่อาศัยโดยสิ้นเชิงหลังจากจากเหตุการณ์เพียงไม่กี่นาทีนั้น
เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในสภาพเสียขวัญ ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนที่เพิ่งผ่านพ้นภาพเหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศเมื่อปีเศษที่ผ่านมาอย่างซึมซาบหวาดผวาหอบลูกจูงหลานหลบหนีขึ้นไปยังพื้นที่สูง ผู้ที่สูญเสียและกังวลกับบุคคลอันเป็นที่รักของตนเองภายในเมืองต้องเผชิญกับสภาวะทุกข์เข็ญอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ความช่วยเหลือมาถึงช้ากว่าความต้องการ หลายคนไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างอื่นใดนอกเหนือจากมือเปล่าในการรื้อค้นกองอิฐหินและซากปรักหักพังเพื่อค้นหาผู้ที่สูญหาย ไฟฟ้าไม่มีใช้ โทรศัพท์ถูกตัดขาด ท่าอากาศยานย็อกยาการ์ตาเสียหายจนจำเป็นต้องปิดใช้งานชั่วคราว ส่งผลให้การส่งความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ที่ชาวเมืองต้องการจำเป็นต้องหาหนทางอื่นเพื่อให้มาถึงมือ โรงพยาบาล คลีนิคต่างๆ ล้นไปด้วยผู้ได้รับบาดเจ็บที่ต้องเรียงรายไว้บนลานด้านนอกอาคารเพราะหวั่นเกรงจะเกิด “อาฟเตอร์ช็อค” ติดตามมา
สภาพของทั้งเมืองเหมือนต้องคำสาป พยาบาลประจำโรงพยาบาลสนามที่ทั้งเหนื่อยล้าทั้งสลดใจกับสภาพที่ได้เห็นถึงขนาดพร้อมที่จะหลั่งน้ำตาออกมาในทันทีที่จิตใจได้รับการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยทั้งๆ ที่พยายามทำใจไว้ล่วงหน้าอยู่บ้างแล้วจากคำเตือนให้เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด กระนั้นสภาพบ้านเรือนที่คุ้นตาหายวับ ผู้คนมากมายล้มตายจนนับจำนวนไม่หวัดไม่ไหว อีกจำนวนมากบาดเจ็บร้องหาความช่วยเหลือ อีกส่วนหนึ่งจำต้องเร่ร่อนขอบริจาคอาหารเมื่อความช่วยเหลือไปไม่ถึงมือ ล้วนบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจลงอย่างร้ายกาจ
ธรณีพิโรธที่เกิดขึ้นที่ย็อกยาการ์ตาเป็นเพียงฉากเหตุการณ์ล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความเปราะบางของพื้นผิวโลกบริเวณที่อินโดนีเซียตั้งอยู่ในเวลานี้ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ระดับหายนภัยขึ้นในอินโดนีเซียเป็นครั้งคราวเรื่อยมาตลอดระยะเวลา 50 ล้านปีหรือกว่านั้น
แกรี่ กิบสัน ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที ในนครเมลเบิร์น ออสเตรเลียอธิบายถึงลักษณะทางธรณีวิทยาของโลกไว้ว่า เปลือกโลกนั้นมีสภาพเหมือนลอยอยู่เหนือแกนกลางที่หลอมละลาย ปัญหาก็คือเปลือกโลกไม่ได้เป็นแผ่นเดียวกันทั้งหมด หากแต่มีรอยแยกมากมาย แบ่งเปลือกโลกออกเป็นแผ่นๆ ที่ขยับเคลื่อนที่อยู่ตามธรรมชาติของของแข็งที่ลอยอยู่เหนือของเหลว ทุกครั้งที่ความร้อนในแกนโลกสะสมมากขึ้นถึงระดับที่ต้องปลดปล่อยออกมามันจะผลักดันเปลือกโลกให้เคลื่อนที่เพื่อแทรกตัวขึ้นสู่ด้านบนเพื่อปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ ผลของมันหากไม่ออกมาในรูปของภูเขาไฟระเบิดก็จะเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างเสมอ
ปัญหาของอินโดนีเซียก็คือประเทศนี้ตั้งอยู่บนแนวรอยแยกของเปลือกโลกอย่างน้อย 2 รอยด้วยกัน แนวแรกนั้นอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศ อันเป็นพื้นที่ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปลายปี 2547 ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่คร่าชีวิตชาวอินโดนีเซียไปถึง 168,000 คน อีกแนวเป็นแนวด้านตะวันออกของประเทศซึ่งเป็นตะเข็บยาวระตามริมขอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกขานกันในหมู่นักธรณีวิทยาว่า “วงแหวนไฟ-ริง ออฟ ไฟร์” นั่นเอง
มาร์ก เลียวนาร์ด นักธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยจีโอไซน์สในออสเตรเลียให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าไม่เพียงอยู่บนรอยแยกเท่านั้น แต่อินโดนีเซียยังอยู่บนบริเวณที่มีความเคลื่อนไหวของเปลือกโลกซึ่งมีความถี่สูงสุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
แผ่นเปลือกโลกโดยทั่วไปจะเคลื่อนที่ในแต่ละปีประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่เปลือกโลกที่อินโดนีเซียตั้งอยู่เคลื่อนที่ในแต่ละปีมากถึง 8 เซนติเมตรหรือร่วมๆ 3 นิ้ว ที่ในทางธรณีวิทยาแล้วถือว่าเป็นการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกที่เร็วอย่างชวนให้อัศจรรย์ และหมายความพลังงานที่สะสมไว้แล้วจำเป็นต้องปล่อยออกมานั้นมีมากมายมหาศาลยิ่ง
ที่แย่ลงไปอีกก็คือ พื้นผิวเปลือกโลกบริเวณที่เป็นที่ตั้งของอินโดนีเซียนั้น ถือว่าเป็นพื้นผิวเปลือกโลกส่วนที่ “บาง” ที่สุดในบรรดาเปลือกโลกทั้งหลายอีกต่างหาก
อยู่บนรอยแยก อยู่เหนือบริเวณที่มีการสั่งสมพลังงานมหาศาลมากที่สุด เคลื่อนที่กระแทกกระทั้นเข้าหากันมากที่สุด เร็วที่สุด แถมยังเป็นส่วนที่บางที่สุด วินาศภัยจากแผ่นดินไหวจึงสามารถเกิดขึ้นกับอินโดนีเซียได้บ่อยครั้ง และทุกครั้งมักก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลเสมอ
แผ่นเปลือกโลกที่เป็นที่ตั้งของประเทศอินโดนีเซียส่วนใหญ่ (รวมถึงเป็นที่ตั้งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) นั้นเรียกว่า อินโดนีเซียนเพลตหรือเอเชียนเพลต ที่เก่าแก่และมั่นคงกว่าแผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นซึ่งเรียกว่า ออสเตรเลียนเพลต ที่เคลื่อนที่เข้ากระแทกมันอยู่ตลอดเวลาบริเวณรอยแยกดังกล่าวซึ่งทางธรณีวิทยาเรียกว่า “ซับดัคชั่นโซน” คือบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง (ออสเตรเลียนเพลต) กระแทกแล้วมุดเข้าไปใต้เปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง (เอเชียนเพลต) ส่งผลให้ด้านหนึ่งของอินโดนีเซียถูกผลักให้สูงขึ้นตลอดทุกปี ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็จะมุดต่ำลงทุกปีเช่นเดียวกัน
การกระแทกดังกล่าวก่อให้เกิดแรงกดและความตึงเครียดขึ้นซึ่งเมื่อสะสมถึงระดับหนึ่งก็จะปลดปล่อยออกมาในรูปของแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดอย่างที่เห็น
และอินโดนีเซียก็คงต้องคำสาปของธรรมชาติที่ว่านี้ไปอีกนาน
หลังจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในอินโดนีเซีย ที่ฆ่าชีวิตผู้คนไปถึง 5,500 คน ทางการอินโดนิเชียยังเตือนว่าภูเขาไฟเมราปิอาจจะระเบิดรุนแรงขึ้นได้ และจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ส่วนภาพขวาเป็นภาพภูเขาไฟเมราปิกำลังพ่นควันและเถ้าถ่าน ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 49