marinerthai

ตะลุยแดด กินลม “ซูเปอร์มด” เทิดพระเกียรติ

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3818 (3018)

กับความตั้งใจแรกในการร่วมเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ด้วยการนำ “เรือใบซูเปอร์มด” เข้ามาร่วมในการแข่งขัน “หัวหินรีกัตต้า” ที่จัดขึ้น ณ ริมหาดหน้าโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

วาดภาพและวางแผนกันไว้ว่าจะมีเรือใบซูเปอร์มดลอยลำในการแข่งขัน 61 ลำ เป็นเลขดีสำหรับปีมหามงคลเช่นนี้

หากการณ์กลับแปรเปลี่ยนเมื่อมีผู้คนให้ความสนใจในการลงแข่งเรือใบมดมากมายถึง 99 คน

เป็นเลขมงคลที่ทางคณะผู้จัดการแข่งขัน ทั้งทางกองทัพเรือ และสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ปลาบปลื้มกันสุดๆ

นั่นเท่ากับว่า “เรือใบซูเปอร์มด” เป็นที่สนใจของคนมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะนักเล่นเรือหน้าใหม่คนไทย สัญชาติไทยแท้ๆ

กองทัพเรือ ร่วมกับ สมาคมเรือใบเเห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมน์ พร้อมด้วยองค์กรจากภาครัฐเเละเอกชน จัดการเเข่งขันเรือใบ “หัวหินรีกัตต้า 2006” อย่างยิ่งใหญ่ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2549 ณ บริเวณชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (บริเวณโรงเเรม โซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน รีสอร์ท )
 

พล.ร.ต.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ เลขาธิการสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการแข่งขันเรือใบมดครั้งนี้ว่าเป็นความภูมิใจที่ได้นำเรือใบซูเปอร์มดกลับมาสู่การแข่งขันอีกครั้ง และภูมิใจที่คนไทยให้ความสนใจเยอะมาก

ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นซูเปอร์มด ?

คำตอบก็คือ เรือนี้เป็นเรือฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงต่อขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายมาเป็น “ซูเปอร์มด” เรือใบขนาดเล็กที่ทรงออกแบบมาให้เหมาะกับคนไทย ด้วยตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต ท้องแบนน้ำหนักเบาประมาณ 34 กิโลกรัม สะดวกในการเคลื่อนย้าย เก็บรักษาง่าย มีคุณสมบัติว่องไว ทรงตัวได้ดี แล่นได้เร็วมากขึ้น สู้คลื่นลมได้ดี มีความปลอดภัยสูง และราคาถูก

นักแข่งเรือใบคนหนึ่งเล่าว่า “เล่นไม่ยากแต่ต้องผ่านการอบรมก่อน เล่นเรือใบต้องใช้สมอง ต้องคิดตลอด คนกับเรือต้องดีกันคนละครึ่ง ถ้าเรือดีคนไม่ดี ก็ไม่ได้ เรือไม่ดี คนดีก็ไม่ได้อีก การแล่นเรือใบที่ดีนั้นต้องเล่นด้วยใจรัก ต้องรู้จักอาการเรือ รู้จักทิศทางลม กระแสน้ำ และตัวเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการเรียนรู้ในการนำตัวเองให้เข้าไปอยู่ในธรรมชาตินั่นเอง”

เจ้าซูเปอร์มดนี้ได้รับการจดลิขสิทธิ์ประเภท international moth class เป็นที่เรียบร้อยแล้วที่ประเทศอังกฤษ โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าของ

ซูเปอร์มดเคยได้ลงสนามใหญ่ระดับนานาชาติในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2541 มาแล้วก่อนที่จะเงียบหายไป และเหลือเพียง 44 ลำเท่านั้นในประเทศ

ล่วงมาถึงปีมหามงคลนี้ 44 ลำถูกต่อยอดแตกหน่อด้วยความร่วมมือของกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และ ปตท. สผ. ร่วมกับพลิกฟื้นให้เรือใบฝีพระหัตถ์นี้กลับคืนมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“หัวหินรีกัตต้า” จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจัดให้เกิดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะสามารถทำให้จำนวนเรือซูเปอร์มดเพิ่มจำนวนจาก 44 ลำ เพิ่มขึ้นเป็น 61 ลำแล้ว การแข่งขันรายการนี้ยังเป็นการเปิดโลกเรือใบให้กับผู้สนใจ รวมทั้งเป็นเวทีในการคัดตัวนักกีฬาทีมชาติประเภทเรือใบ ออปติมิส, โฮบี้ 16 และเบนาตัว 7.5 อีกด้วย

ทั้งยังมีโครงการที่จะผลักดันให้ซูเปอร์มดไปโลดแล่นเป็นกีฬาแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติทั้งซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์ต่อไป

สำหรับคนที่หลงรักเรือใบและอยากรู้จักซูเปอร์มดและเพื่อนพ้องให้มากขึ้น สามารถติดต่อไปได้ที่โทร.0-2472-0852, ศูนย์สมุทรกีฬา 038-438-594, 01-348-6276 (ครูตุ้ม) หรือแค่คลิกไปที่ http://www.yrat.or.th

ลองสัมผัสสักครั้งไม่แน่นักว่าหัวหินรีกัตต้าครั้งหน้าซูเปอร์มดอาจได้ต้อนรับนักกีฬาหน้าใหม่อย่างเราๆ เพิ่มขึ้นก็เป็นได้

ไปดูแข่ง “เรือมด” พระราชทาน ที่หัวหินรีกัตต้า 2006

พระราชดำรัสเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับรางวัลชนะเลิศในการ แข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทย เมื่อ 16 ธันวาคม 2510

“…การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง…”

แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นที่ทรงใช้กีฬามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติอย่างเสมอมา

ภาพของพระราชปณิธานนี้เป็นความต่อเนื่องมาจากวันที่ 19 เมษายน 2509 วันที่ชาวเรือทุกคนไม่มีวันลืม เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเรือใบฝีพระหัตถ์ประเภท โอเคชื่อ “เวคา” เสด็จข้ามอ่าวไทยจากหน้าพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ฝ่าคลื่นลมกว่า 17 ชั่วโมง 60 ไมล์ทะเล ไปยังอ่าวนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ. สัตหีบ จ.ชลบุรี

วันนั้นเองเป็นวันที่พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ให้แก่กองทัพเรือ

และหางเสือเรือนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นการแข่งขันแล่นเรือใบทางไกล ในรายการ “หัวหิน-รีกัตต้า” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เช่นเดียวกับเครื่องกีฬาฝีพระหัตถ์อย่าง “เรือใบมด” จึงไม่ได้เพียงจะตอบสนองความสนพระทัยของพระองค์เองเท่านั้น หากเรือใบมดยังเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์ “มด” ในแวดวงเรือใบอีกมากมาย ทั้ง “ไมโครมด” และ “ซูเปอร์มด” เรือใบขนาดเล็กที่ทรงออกแบบให้เหมาะกับคนไทย ด้วยตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต ท้องแบน น้ำหนักเบาประมาณ 34 กิโลกรัม สะดวกในการเคลื่อนย้ายเก็บ รักษาง่าย ว่องไว ทรงตัวได้ดี แล่นได้เร็ว สู้คลื่นลมได้ดี ปลอดภัยสูง และราคาถูก

และที่สำคัญ “มด” พันธุ์นี้ได้รับลิขสิทธิ์สากลประเภท International Moth Class จากประเทศอังกฤษ

และด้วยศักยภาพของเรือใบมดนี้ เคยแผลงฤทธิ์ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2541 มาแล้ว

จนมาในปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ สมาคมแข่งขันเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงร่วมกันจัดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ “หัวหิน-รีกัตต้า 2006” ขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม

การชิงชัยครั้งนี้จะเป็นรายการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยชิงรางวัลพระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ในประเภทเรือใบประเภท OPIMIST และเรือใบประเภท PLATU (One Design)

และพิเศษสุดๆ ด้วยรายการแข่งขันเรือใบประเภท “ซูเปอร์มด” ทั้งสิ้น 61 ลำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มาร่วมเฉลิมฉลองปีแห่งมหามงคลที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

การแข่งขันเรือใบ “หัวหิน-รีกัตต้า 2006” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2-6 สิงหาคม ณ ชายหาดหัวหิน หน้าโรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เวลานั้น “ซูเปอร์มด 61 ลำ” จะได้ออกไปโลดแล่นอีกครั้ง

จ่าวิวัฒน์ซิว2แชมป์ปิดฉากแล่นใบหัวหิน

วิวัฒน์ พูนพัฒน์ แล่นใบมือฉมังคว้าแชมป์เรือใบทางไกลสมัยที่ 2 ให้ตัวเองได้สำเร็จ ทำเวลาเฉือนคู่แข่ง 5 นาทีเศษในประเภทเรือเดียวกัน 420 พร้อมกันนั้นยังเป็นการคว้าแชมป์ที่ 2 ของทัวร์นาเมนต์นี้ โดยก่อนหน้านี้ 1 วัน คว้าแชมป์เรือ “ซูเปอร์มด” ไปครอง เป็นการส่งท้ายศึกเรือใบ หัวหินรีกัตต้า 2006 ที่ประจวบคีรีขันธ์ ทันที

ถ้วยรางวัลในเเต่ละประเภท

การแข่งขันเรือใบ หัวหิน รีกัตต้า 2006 ที่ชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันวันสุดท้าย เพื่อหาผู้ชนะเลิศในประเภทต่างๆ ในพิธีปิดการแข่งขันได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธี ที่โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทรัล หัวหิน พร้อมกับร่วมในการมอบรางวัลกับผู้ที่ชนะเลิศแต่ละประเภทด้วย

ไฮไลต์การแข่งขันวันสุดท้ายอยู่ที่ประเภททางไกล ชิงรางวัลพระราชทานหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” โดยมีเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ 6 ประเภท ซึ่งแชมป์ของรายการตกเป็นเรือใบประเภท 420 ซึ่งเป็นแชมป์เก่าเมื่อปี พ.ศ. 2547 นำทีมโดย จ.อ.วิวัฒน์ พูนพัฒน์ ในฐานะนายเรือ และ นายกฤษณศักดิ์ พิบูรณ์ ลูกเรือ ซึ่งทำเวลารวมได้ 4:55.32 ชม., ที่ 2 เรือ 420 จาก จ.อ.กิติพงษ์ ขำบาง นายเรือ, นายสุรพงษ์ ไวทยกูล ลูกเรือ เวลา 5:01.50 ชม., ที่ 3 เรือ 420 น.ส.ดวงหทัย บุญเชิด นายเรือ, น.ส.อัคณา พูลศิริคช ลูกเรือ เวลา 5:12.39 ชม.

ที่ 4 เรือไฟต์บอล นักเรียนนายเรือพลเทพ สุขอุดม นายเรือ, นักเรียนนายเรือฑักษกร ตัณฑวุฒิโฒ ลูกเรือ เวลา 5:20.05 ชม., ที่ 5 เรือไฟต์บอล จ.อ.สุธี พูนพัฒน์ นายเรือ, จ.อ.วรวิทย์ วรแสน ลูกเรือ เวลา 5:21.40 ชม. สำหรับผลงานของ จ.อ.วิวัฒน์ พูนพัฒน์ ดีกรีนักแล่นใบทีมชาติไทยชุดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 15 ที่ทำได้จากประเภททางไกล ในครั้งนี้ ถือเป็นแชมป์ที่ 2 ของรายการนี้ทันที หลังจากก่อนหน้านี้เคยคว้าแชมป์ในประเภทซูเปอร์มดไปครองได้สำเร็จ

ส่วนผลการแข่งขันประเภทอื่นๆมีดังนี้ ประเภทออฟติมิต ในรายการชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2549 ซึ่งทำการแข่งขัน 8 เที่ยวด้วยกัน ปรากฎว่าแชมป์ตกเป็นของ เด็กหญิงนพเก้า พูนพัฒน์ จากหมวดเรือใบเยาวชนแห่งชาติประเทศไทย โดยมีคะแนนเสียน้อยที่สุดที่ 35 คะแนน, ที่ 2 เด็กหญิงจิตรทิวา ธนะวิทวิลาศ จากหมวดเรือใบเยาวชนแห่งประเทศไทย มีคะแนนเสียที่ 37 คะแนน

ที่ 3 เด็กชายพลเพชร สุขอุดม จากหมวยเรือใบเยาวชนแห่งประเทศไทย มีคะแนนเสียที่ 38 คะแนน, ที่ 4 เด็กชายณัฐ บุญมาศรี จากหมวยเรือใบเยาวชนแห่งประเทศไทย มีคะแนนเสีย 46 คะแนน, ที่ 5 เด็กชายศุภกร พงษ์วิเชียร์ จากสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ มีคะแนนเสีย 47 คะแนน

เรือใบ ออปติมิสต์ (Optimist)
เรือใบ โฮบี้ 16
Share the Post: