หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 27 กันยายน 2549 14:51 น.
เอเจนซี – ผู้เชี่ยวชาญเตือนหากมนุษย์ไม่หยุดยั้งการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกอาจพุ่งสูงถึงระดับเดียวกับเมื่อหลายล้านปีก่อน โดยเฉพาะในบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก แหล่งกำเนิดปรากฏการณ์เอลนิโนตัวร้าย
โลกร้อนขึ้นทุกวัน น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายหนัก ไม่เว้นแต่เจ้าหมีขั้วโลกที่เดือดร้อนเพราะไม่มีก้อนน้ำแข็งจะให้เกาะ หมีเหล่านี้อาจต้องจมทะเลขั้วโลกตายสักวัน และจากนักมนุษย์อย่างพวกเราก็จะจมน้ำไปตามกัน เพราะเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำก็ย่อมไหลเพิ่มปริมาณตามมหาสมุทรต่างๆ มากขึ้น
จากข้อมูลของทีมวิจัยที่นำโดยเจมส์ แฮนเซน (James Hansen) นักอุตุนิยมวิทยา แห่งสถาบันกอร์ดดาร์ด (Goddard Institute) เพื่อการศึกษาอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในนิวยอร์กซิตี้ ที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารโปรซีดดิงส์ ออฟ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ฉบับวันที่ 26 ก.ย. ระบุว่าปรากฏการณ์เอลนิโนเป็นปัจจัยสำคัญในการติดตามตรวจสอบภาวะโลกร้อน
รายงานดังกล่าวระบุว่า เพราะเอลนิโนสามารถผลักดันให้อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ ดังที่เกิดขึ้นในปี 1998 ซึ่งเรียกกันว่า ‘ซูเปอร์เอลนิโน’ ที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนเป็นประวัติการณ์ ประเด็นสำคัญที่นักวิจัยทีมนี้ค้นพบก็คือ ในปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกอยู่ในระดับเดียวกับปี 1998 และอาจถือเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุด โดยปราศจากสัญญาณว่า ผิวน้ำบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรด้านตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของเอลนิโน ร้อนขึ้นแต่อย่างใด
ขณะนี้ น้ำในแนวเส้นศูนย์สูตรทางแปซิฟิกตะวันตกอุ่นกว่าด้านตะวันออก และความแตกต่างของอุณหภูมิผิวน้ำระหว่างสองบริเวณนี้ อาจทำให้อุณหภูมิผันผวนรุนแรงขึ้นระหว่างสภาพอากาศปกติกับเอลนิโน ที่สำคัญปรากฏการณ์โลกร้อนในขณะนี้กำลังส่งผลต่อผิวน้ำบริเวณแปซิฟิกตะวันตกก่อนซึมซับลงสู่น้ำทะเลด้านล่าง
ในการศึกษาของแฮนเซนพบว่า อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ย 0.4 องศาฟาเรนไฮต์ (0.2 องศาเซลเซียส) ต่อทศวรรษตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และหากอุณหภูมิโลกขยับขึ้นไปอีกเพียง 1.8 องศาฟาเรนไฮต์ (1 องศาเซลเซียส) ก็จะเท่ากับอุณหภูมิสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน
“หลักฐานนี้บ่งชี้ว่า เรากำลังเข้าใกล้ระดับมลพิษจากฝีมือมนุษย์ที่อันตรายอย่างยิ่ง” แฮนแซนระบุในรายงาน
แฮนเซน ซึ่งเป็นคนแรกที่เตือนถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศเมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว กล่าวว่าก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้น โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์เอลนิโนและพายุโซนร้อน เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจะกักความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้ผิวโลกร้อนขึ้น
“ผลต่อความถี่ในการเกิดปรากฏการณ์เหล่านั้นยังไม่ชัดเจน เนื่องจากขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่าง แต่ระดับความรุนแรงอาจเพิ่มขึ้น ตามการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกัน การชะลออัตราขยายตัวของก๊าซเรือนกระจกจะช่วยลดความเป็นไปได้ในการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโนและพายุโซนร้อนที่มีความรุนแรงสูงสุด”
เดือนนี้ร่องรอยของปรากฏการณ์เอลนิโนปรากฏขึ้นจางๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน และอาจพัฒนาสู่ระดับปานกลางในฤดูหนาว ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การบริหารด้านสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ
แฮนเซนสำทับว่า สภาพภูมิอากาศในโลกขณะนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับในช่วงที่อุ่นที่สุดระหว่างยุคน้ำแข็ง แต่หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2-3 องศาเซลเซียส โลกจะเปลี่ยนไปกลายเป็นดาวเคราะห์ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน
“ครั้งล่าสุดที่โลกร้อนขนาดนั้นคือในช่วงกลางของยุคไพลโอซีน (middle Pliocene) เมื่อราว 3 ล้านปีที่แล้ว ที่เชื่อกันว่าระดับน้ำทะเลสูงกว่าในขณะนี้ 25 เมตร”
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังได้อ้างอิงรายงานในวารสารเนเจอร์ (Nature) ที่ว่า ต้นไม้ สัตว์ และแมลง 1,700 สายพันธุ์ อพยพไปทางแนวทิศเหนือเข้าหาขั้วโลกซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า ในอัตราเฉลี่ย 6 กิโลเมตรต่อทศวรรษในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และถ้าหากเรายังไม่ลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก ก็เท่ากับว่าเรากำลังผลักไสไล่ส่งสัตว์หลายสายพันธุ์ให้สูญหายไปจากโลก