marinerthai

จากเกาะ‘ผีทัก’ สู่ เกาะ‘พิทักษ์’ ถึงเกาะ‘ที่รัก’

หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ โดย ปิ่น บุตรี 11 ตุลาคม 2549 16:21 น.

เกาะพิทักษ์ เกาะที่มากไปด้วยเสน่ห์แห่งวิถีชุมชน

1…

ภาษิตโบราณว่าไว้ “คนดี ผีคุ้ม” ส่วนคนซวย มักจะถูกผีทัก

แต่บางครั้ง คนไม่เฮง ไม่ซวย ก็ถูกผีทักได้เหมือนกัน อย่างกับเรื่องราวที่เล่าขานต่อๆ กันมาถึงเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งริมชายฝั่งทะเลชุมพร

…ในอดีตชาวเรือที่เดินทางผ่านไป-มายังเกาะนี้ มักจะได้ยินเสียงคนเรียกให้ขึ้นเกาะเสมอ ส่วนบางคนที่พิเศษหน่อยก็จะเห็นภาพเงาลางๆกวักมือเชิญชวนให้ขึ้นเกาะ แต่ครั้นเมื่อขึ้นไปบนเกาะ กลับเงียบเชียบไม่มีใครสักคน

เมื่อไม่มีคนแล้วใครล่ะตะโกนกวักมือเรียก

จ๊าก!!! ถ้าไม่ใช่คน งั้นก็ผีนี่หว่า?!?

ทำให้เรื่องราวของเกาะแห่งนี้ถูกโจษขาน พร้อมๆกับการขนานนามให้เป็น“เกาะผีทัก” ที่น่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง ซึ่งคงแตกต่างจาก“เกาะผีปอบ”ที่หากชาวเรือเจอผี พวกเขาคงจะตกใจวิ่งลงไปแอบในโอ่งใบเดียวแต่หลายคน ก่อนที่ผู้ลงโอ่งคนสุดท้ายจะเป็นผีปอบขอเข้าไปหลบด้วย

เสาไฟจากฝั่งทอดยาวเรียงรายสู่เกาะพิทักษ์

เอ้า!?! แล้วโอ่งมาจากไหน??? ทำไมคนเข้าไปตั้งหลายคนโอ่งไม่แตก???

เรื่องนี้คงไม่ต้องคิดให้ปวดขมอง เพราะนั่นมันเหมือนกับฉากของหนังผีเรื่องหนึ่งที่ฉายดิบฉายดีจนต้องมีภาคต่อๆมาอีก 10 กว่าภาค ส่วนที่เกาะผีทักนั้น อำพล ธานีครุฑ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันบอกกับผมว่า นอกจากตำนานเรื่องผีทักแล้ว เกาะนี้มีบันทึกว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 โจรกลุ่มหนึ่งหนีการจับกุมมาจากเกาะสมุย เมื่อล่องเรือผ่านมาทางนี้เห็นคนบนเกาะกวักมือเรียก จึงพากันหนีขึ้นไปหลบบนเกาะอย่างปลอดภัยแต่ว่าก็หาคนที่กวักมือเรียกไม่พบ จากนั้นพวกโจรได้กลับตัวกลับใจและพาครอบครัวมาสร้างบ้าน ทำมาหากินอย่างสุจริตบนเกาะแห่งนี้

“บนเกาะแห่งนี้ ยินดีต้อนรับทุกคน แม้กระทั่งคนที่ประพฤติไม่ดี เกาะนี้ก็ยินดีต้อนรับ แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อขึ้นมาอยู่บนเกาะ ต้องกลับตัวกลับใจทำมาหากินโดยสุจริต นอกจากนี้ยังต้องเคร่งครัดกับกฎระเบียบของหมู่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ถ้าพบใครมีภายใน 24 ชั่วโมงต้องรีบออกไปจากเกาะทันที ส่วนการพนันจะมีการเตือน 3 ครั้งเพื่อให้กลับตัวกลับใจ หากไม่เชื่อก็ถูกส่งออกจากเกาะเหมือนกัน”

อำพล ผู้ใหญ่อำพลกล่าวอย่างจริงจัง ก่อนที่จะพูดถึงเหตุที่เปลี่ยนชื่อของเกาะแห่งนี้ว่า เมื่อชุมชนขยายขึ้น ชาวเกาะจึงเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อจาก“เกาะผีทัก”เป็น“เกาะพิทักษ์”แทน เพื่อความเป็นสิริมงคล และให้ชาวเกาะได้รับการพิทักษ์จากเจ้าที่บนเกาะ

ซึ่งก็มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่าครั้งหนึ่งเคยมีโจรสลัดพยายามที่จะมาบุกปล้นเกาะ แต่ว่ากลับผิดคาดเพราะเห็นบนเกาะมีทหารเดินกันเต็มไปหมด(ทั้งๆที่ไม่มีทหารบนเกาะแม้แต่นายเดียว)

โจรสลัดเมื่อเห็นดังนั้นนึกว่ามีทหารอยู่จริงจึงเข้าไปขอถ่ายรูปกับทหาร เอ้ย!!! ไม่ใช่ เมื่อโจรสลัดเจอทหารก็ได้แต่หนีหัวซุกหัวซุนกลับไป ทำให้เกาะพิทักษ์อยู่รอดปลอดภัย

เรื่องนี้จริง-เท็จ อย่างไรผมไม่อาจรู้ได้ รู้แต่ว่าปัจจุบันเกาะพิทักษ์คือหนึ่งในเกาะท่องเที่ยวทรงเสน่ห์ที่น่ายลด้วยวิถีชุมชนอันสงบงาม และยังเป็นชุมชนที่พิทักษ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนคว้ารางวัล”หมู่บ้านอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลดีเด่น” ประจำปี 2545 แถมยังมีการต่อยอดด้วยการจัดตั้งกลุ่มเด็กๆนักอนุรักษ์ขึ้นบนเกาะ เพื่อรวมกันสืบสานทรัพยากรให้คงอยู่ต่อไป

ชาวบ้านหาหอยพร้อมส่งรอยยิ้มทักทายผู้มาเยือน

2…

หะแรกที่ผมเห็นเกาะพิทักษ์ เกาะนี้อยู่ใกล้ชายฝั่งเพียงนิดเดียว แต่ที่ถือเป็นความโดดเด่นของเกาะนี้ ยามน้ำลดที่หน้าเกาะจะเกิดปรากฏการณ์ทะเลแหวกเป็นสันทรายทอดยาว หากน้ำลดสุดๆทะเลแหวกจะทอดยาวไปถึงฝั่งหลังสวนที่อ่าวท้องครก จนสามารถเดินข้ามจากฝั่งไปเกาะหรือจากเกาะไปฝั่งได้อย่างสบายๆ

แม้ทะเลแหวกเกาะพิทักษ์ ทรายจะไม่ขาวละเอียดและน้ำไม่ใสแจ๋วแว๋วเหมือนทะเลแหวกที่เกาะสามเส้า จังหวัดกระบี่ แต่ทะเลแหวกแห่งนี้ก็มีเสน่ห์ตรงที่มีวิถีชีวิตชุมชนให้พบเห็นอยู่ทั่วไป เพราะในช่วงน้ำลดชาวบ้านลงเดินหาหอยกันจำนวนหนึ่งในบริเวณทะเลแหวก

และที่ดูแปลกแตกต่างจากเกาะไหนๆก็คือทะเลแหวกที่เกาะพิทักษ์มีเสาไฟฟ้าทอดยาวคู่ขนานไปกับแนวสันทราย ซึ่งบางคนก็วิจารณ์ว่ามันทำลายทัศนียภาพ แต่สำหรับผมกลับมองว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นในการนำไฟฟ้าจากฝั่งไปสู่เกาะ

บ้านเรือนบนเกาะปลูกสร้างอย่างเรียบง่าย

นอกจากนี้หากมองดีๆเสาไฟคู่ขนานสู่เกาะพิทักษ์นี่ก็เท่ไม่หยอก ดูประหนึ่งเส้นนำสายตาในมิติเชิงลึกจากฝั่งไปยังเกาะ เป็นเสาไฟที่ให้แสงสว่างแก่ชาวเกาะ ผิดกับเสาคู่ขนานโฮปเวลล์ที่ไร้ความหวัง เพราะวันนี้ยังคงถูกทิ้งร้างค้างเติ่งกลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความอัปยศจากการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองไทย

3..

ในเรือข้ามฟากนั่ง 10 คนสบาย เรือแล่นเอื่อยๆตีคู่ขนานไปกับแนวเสาไฟฟ้าที่มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเดินหาหอยกันแถวทะเลแหวกที่เริ่มไม่แหวกเพราะน้ำขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ไม่เพียงหาหอยเท่านั้น ชาวบ้านเมื่อเห็นผมนั่งเรือผ่านไปพวกเขาต่างก็ส่งยิ้มและโบกมือทักทายท่ามกลางแดดที่ร้อนเปรี้ยง

นับเป็นความประทับใจแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ที่จับหมับเข้าในดวงใจผมทันทีที่เกาะพิทักษ์ หลังจากนั้นผมนั่งร้องเพลงไทยสมัยนิยมไปได้ยังไม่ทันจะจบ 3 เพลงดี เรือก็มาจอดยังฝั่งเกาะพิทักษ์ ที่แม้น้ำเริ่มขึ้นไม่สามารถเดินฝ่าทะเลแหวกข้ามมาได้ แต่งานนี้ผมได้เดินลุยทะเลและย่ำเลนจากจุดจอดเรือขึ้นไปบนฝั่งแทน

บรรยากาศบนเกาะ

อยู่ใต้ฟ้า อย่าไปกลัวฝน คนเที่ยวทะเล อย่าไปกลัวเปียก

ว่าแล้วผมก็เดินลุยถั่วตามลุงธวัช ชิบแสง หรือลุงโจ้ยคนขับเรือไปอย่างติดๆ ซึ่งลุงโจ้ยคนนี้แหละรับอาสาเป็นไกด์จำเป็นพาผมทัวร์ทั่วเกาะที่ก็ไม่สร้างความผิดหวังเลยแม้แต่น้อย

เวลาเดินไปไหนลุงโจ้ยแกก็จะทักคนโน้น บอกคนนี้ และก็ให้ข้อมูลต่างกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของชาวเกาะที่มีด้วยกันทั้งหมด 42 ครัวเรือน แต่ว่าอยู่กันฉันพี่น้อง ชาวเกาะส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ มีอาชีพหลักคือการทำประมงพื้นบ้าน จับปลา วางลอบหมึก อวนปู เลี้ยงหอยแมลงภู่ ส่วนอาชีพรองลงมาคือการทำสวนมะพร้าว และมีอาชีพเสริมคือการทำท่องเที่ยวชุมชน มีโฮมสเตย์ให้เลือกพักอยู่หลายหลังในราคา 450 บาท/คน อาหาร 3 มื้อโดยเน้นไปที่อาหารทะเลสดๆ

ระหว่างทางที่เดินไปคุยไปกับลุงโจ้ย ผมพบเห็นวิถีชีวิตอันสงบงามเรียบง่ายของชาวเกาะอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนริมทะเลเรียบๆง่ายๆที่มีเรือประมงจอดอยู่ประปราย ส่วนบนบกก็แวดล้อมไปด้วยต้นมะพร้าวมากมาย ชาวบ้านบางคนตรวจตราความเรียบร้อยของเรือ บางคนนั่งล้อมวงสนทนาเรื่องราวต่างๆ บางคนซ่อมแซม ลอบ อวน และอุปกรณ์หาปลาอื่นๆ บางคนนั่งปอกมะพร้าว เผามะพร้าว แถมยังมีบางคนถือเบ็ดเดินสวนทางผมมาพร้อมกับปลาพวงเบ้อเริ่ม และที่สำคัญก็คือชาวบ้านบนเกาะนี้ล้วนเปี่ยมไปด้วยอัธยาศัยไมตรี ยิ้มแย้มทักทายอาคันตุกะอย่างผมอย่างเป็นกันเอง

ลุงโจ้ย ไกด์จำเป็น

สำหรับใครที่อยากสัมผัสกับธรรมชาติบนเกาะ ที่ด้านหลังเกาะมีหาดยาวประมาณ 450 เมตร น้ำใสสะอาดที่เงียบสงบให้พักผ่อนเล่นน้ำ นอกจากนี้บนเกาะยังมีจุดชมวิว สูงประมาณ 200 เมตร ให้เดินขึ้นไปชมทะเลในมุมสูง มุมกว้าง ที่วันไหนฟ้าใส สามารถมองเห็นไกลไปถึงเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงันเลยทีเดียว

ส่วนใครที่อยากดำน้ำดูปะการังลุงโจ้ยบอกว่า สามารถเช่าเรือไปดำน้ำชมปะการังรอบๆเกาะ รวมถึงเกาะใกล้เคียงอย่าง“เกาะคราม” ที่มีทั้งปะการังสวยงาม ปลาสวยงาม และหอยมือเสือให้ชมอีกด้วย หรือใครจะออกเรือตกปลา ไดหมึก ในตอนกลางคืนทางเกาะก็มีบริการเหมือนกัน

หลังจากนั้นลุงโจ้ยได้พาผมเดินตัดดงมะพร้าวไปนั่งทอดหุ่ยรับลมทะเลที่หาดหลังเกาะ พร้อมกับพูดคุยกันในเรื่องการลดน้อยถอยลงของทรัพยากรทางทะเล ที่แม้ว่าชาวเกาะพิทักษ์จะทำประมงพื้นบ้านแบบพอเพียง คือจับปลาหาพาแค่พอกินพอขาย และทุกๆปีพอถึงฤดูวางไข่ชาวบ้านที่นี่จะหยุดหาปลาอย่างเด็ดขาด

แต่กระนั้นปัจจัยจากภายนอกก็ส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลหดหายไปเป็นจำนวนมากซึ่งไม่ใช่เฉพาะเกาะพิทักษ์เท่านั้น แต่มันเป็นเกือบทั่วพื้นที่ของท้องทะเลไทยเลยก็ว่าได้

4…

แสงแดดยามบ่ายทวีความรุนแรงมากขึ้น พยาธิในท้องก็ส่งเสียงร้องเตือนความหิวมากขึ้น ซึ่งก็คงถึงเวลาที่ผมจำใจต้องอำลาจากเกาะพิทักษ์แห่งนี้ไป เพราะในทริปนี้เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะนอนค้างคืนหรือพักแบบโฮมเสตย์บนเกาะพิทักษ์

เรือข้ามฝั่งติดเครื่องอีกครั้ง ลุงโจ้ยถือหางเสือบังคับเรือมุ่งหน้าสู่ฝั่งท่ามกลางแดดกล้าที่ส่องแสงกระทบผิวน้ำเป็นประกายระยิบระยับ

ขากลับ ทะเลแหวกหายไป เช่นเดียวกับชาวบ้านที่เดินหาหอยก็หายไปเพราะน้ำทะเลขึ้นสูง เหลือเพียงเสาไฟฟ้าตั้งตระหง่านทอดยาวจากฝั่งสู่เกาะพิทักษ์ เกาะที่ผมตั้งใจเอาไว้ว่าหากกลับไปเยือนชุมพรคราวหน้า จะไม่พลาดการไปพักแบบโฮมสเตย์บนเกาะพิทักษ์ด้วยประการทั้งปวง

งานนี้ต่อให้ถูกผีทัก!?! ผมก็ยืนยันที่จะไป เพราะเกาะพิทักษ์ได้กลายเป็นหนึ่งในเกาะที่รักของผมไปแล้ว
Share the Post: