marinerthai

จากคลองด่านถึงเกาะสีชัง ยลมนต์ขลังแห่งอ่าวไทย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 ตุลาคม 2549 18:27 น.

หมู่บ้านชาวประมงคลองด่านที่หากบ่อบำบัดปล่อยน้ำลงมา บางทีพวกเขาอาจต้องย้ายที่หนีเพราะน้ำเน่าเสีย

แม้ โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จะไม่ติดโผ 1 ใน 8 โครงการทุจริตที่ คตส.จะฟันคนทุจริตคอร์รัปชั่นชุดแรก แต่ว่านี่ถือเป็นหนึ่งในโครงการอภิมหาโคตรโกงของนักการเมืองหลายคนจากหลายรัฐบาล ซึ่งมีการโกงกินกันอย่างมโหฬารเป็นล่ำเป็นสันนับหมื่นล้านแถมยังมีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง

ที่สำคัญก็คือ การเลือกพื้นที่สร้างบ่อบำบัดฯนั้นผิดตั้งแต่ต้นแล้ว?!?

เพราะคลองด่าน ไม่ใช่พื้นที่ปล่อยน้ำเสียเนื่องจากไม่มีน้ำเสียและไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่คลองด่านคือปอดใกล้กรุงที่มีพื้นที่สีเขียวแห่งใหญ่ที่สุดในสมุทรปราการด้านทิศตะวันตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ประมงชายฝั่งที่ มากไปด้วย กุ้ง หอย ปู ปลา และเป็นแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยคือ 2 หมื่นกว่าไร่

นอกจากนี้คลองด่านยังเป็นชุมชนชายทะเลเก่าแก่ที่เดิมมีชื่อสุดเก๋ไก๋ว่า “บางเหี้ย” เพราะบริเวณนี้มีตัวเหี้ยหรือตัวเงินตัวทองอยู่มาก ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเปลี่ยนชื่อให้ฟังเป็นมงคลขึ้นว่า“คลองด่าน” ใน พ.ศ. 2483 ตามลักษณะของพื้นที่ที่บริเวณนี้มีด่านอยู่ตรงประตูน้ำบางเหี้ยแม่น้ำสายหลักของตำบล

แต่ละวันจะมีเรือออกจับหอยแมลงภู่เฉลี่ยแล้วตกลำละ 2 ตัน/วัน

ด้วยองค์ประกอบอันโดดเด่นต่างๆของคลองด่าน พี่สุเทพ อยู่เย็น แห่งไทยรุ่งทัวร์ ชาวคลองด่านโดยกำเนิด จึงขันอาสาเป็นโต้โผเปิดประตูการท่องเที่ยวสู่คลองด่านโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงานอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้คนรับรู้ว่าคลองด่านนั้นมีดีเกินกว่าที่จะให้นักการเมืองเข้ามากอบโกยด้วยการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย

มิติใหม่คลองด่าน

“ผู้จัดการท่องเที่ยว” ไม่รู้ว่าจะเรียก“อันซีนคลองด่าน” ได้หรือเปล่า??? แต่นี่ถือเป็นมุมมองใหม่ในคลองด่านที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว โดยจุดเริ่มต้นของการเดินทางในทริปนี้(คลองด่าน-เกาะสีชัง) เราลงเรือนำเที่ยวปรับอากาศ 2 ชั้นที่ท่าเรือไทยรุ่งทัวร์ ณ ปากคลองด่าน ก่อนจะออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ปากอ่าวไทยที่ 2 ข้างทางเต็มไปด้วยชุมชนชาวประมงและเรือประมงจอดอยู่เรียงราย

ครั้นพอออกสู่ปากอ่าวไทย ภาพบ้านเรือนหายไปกลายเป็นเวิ้งทะเลกว้างที่เต็มไปด้วยฟาร์มหอยแครง และหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่เต็มพรึ่ดไปหมด สมดังแหล่งเลี้ยงหอยแมลงภู่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยซึ่งทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด

“วิธีการเลี้ยงหอยแมลงภู่ไม่ได้ยากเย็นอะไร เพียงนำไม้ไผ่มาปักเป็นหลักทิ้งไว้ จากนั้นหอยแมลงภู่ก็จะตามมาเกาะเองตามธรรมชาติจนเป็นพวงแน่นเต็มหลักไปหมด หอยคลองด่านแม้ตัวไม่ใหญ่เท่าหอยสุราษฎร์แต่ว่ามีรสอร่อยไม่เป็นรองใคร และที่สำคัญในตัวหอยจะไม่มีทรายเข้าไปปะปน” พี่สุเทพ อธิบาย

ชาวประมงกำลังสาวอวนลากคู่ขึ้นสู่ลำเรือ

ทุกๆวันในช่วงเช้าไปจนถึงสายจะมีชาวบ้านออกเรือมาเก็บหอยกันอยู่ทั่วไป และก็เป็นช่วงเวลาที่พี่สุเทพต้องการให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงวิธีการเก็บหอยแมลงภู่ของชาวคลองด่าน ที่จะมีการแบ่งงานกันทำอย่างคล่องแคล่ว เฉลี่ยแล้วเรือแต่ละลำจะเก็บหอยได้ประมาณวันละ 2 ตันต่อวัน ซึ่งแสดงว่าทรัพยากรหอยแมลงภู่ที่นี่ยังไม่ขาดแคลน แต่ก็น่าแปลกว่าเหตุไฉนนักการเมืองกลับจงใจละเลยเรื่องเหล่านี้ แล้วเลือกมาสร้างอนุสรณ์แห่งความอัปยศอย่างบ่อบำบัดทิ้งไว้

ไม่เพียงแค่การเก็บหอยแมลงภู่เท่านั้น บริเวณปากอ่าวคลองด่าน ยังมีการทำโป๊ะดักปลาการลากหอยแครง การดำลงไปเกี่ยวปลาดุกทะเล และการกู้อวนลากคู่ที่ถือเป็นไฮไลท์แห่งท้องทะเลในช่วงเช้า โดยไต้ก๋งเจ้าใดเมื่อจะทำการกู้อวนก็จะวิทยุบอกกับทางกับตันเรือนำเที่ยว ให้โฉบเรือเข้าไปดูวิธีการลากอวนได้

พอเรือนำเที่ยวแล่นไปใกล้ๆ เรืออวนลาก 2 คำ จะค่อยๆลากอวนตีวงจากกว้างให้แคบเข้ามาเรื่อยๆ จนอวนมีลักษณะคล้ายปากถุง จากนั้นจะค่อยๆชักรอกสาวอวนขึ้นมาโดยมีการมัดเป็นระยะๆ จนอวนกลายเป็นตุ้มหรือถุงขนาดยักษ์ ก่อนที่จะดึงขึ้นมาเทลงบนเรือและแบ่งแยกประเภทของสัตว์ที่จับได้ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา หมึก ปลาไหล กั้ง รวมไปถึงแขกไม่ได้รับเชิญอย่างงูทะเล ซึ่งบางวันก็ได้ปลาเยอะ บางวันก็ได้น้อย ส่วนบางวันดวงแตกไม่ได้เลยก็มี

หาดถ้ำพัง หาดที่น่าลงเล่นน้ำเดินเล่นชายทะเลแห่งเกาะสีชัง

นี่แหละชีวิตตังเกของชาวประมงที่ต้องใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงฝ่าคลื่น ลม มรสุม คืบก็ทะเลศอกก็ทะเล แถมยังต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่มีแต่ขึ้นไม่มีลงในขณะที่ปลาในอ่าวไทยกลับมีแต่ลดลงเรื่อยๆ

หลังชมไฮไลท์กู้อวนลากคู่เรือเร่งความเร็วขึ้นมุ่งหน้าสู่เกาะสีชัง ในขณะที่บนเรือก็เสิร์ฟอาหารที่เมนูส่วนหนึ่งซื้อมาจากการเก็บหอยและกู้อวนจากเมื่อชั่วครู่ที่ผ่านมา อาหารกลางวันมื้อนี้จึงรับประกันได้เรื่องความสด ใหม่ ในบรรยากาศลมเย็นสบายกลางอ่าวไทย

เกาะสีชัง เกาะที่ไม่น่าชัง

ประมาณ 3 ชั่วโมงจากจุดเริ่มต้น เรือนำเที่ยวแล่นมาถึงยังเกาะสีชัง เกาะน่าเที่ยวที่ไม่น่าชังดังชื่อเกาะ ก่อนจะพาไปจอดบริเวณ เกาะค้างคาว เพื่อให้นักท่องเที่ยวลงแหวกว่ายเล่นน้ำ ดำน้ำดูปะการัง หรือใครจะเลือกตกปลาก็แล้วแต่อัธยาศัย

ท้องทะเลช่องเขาขาดที่มีทางเดินสีขาวนำทางลงไปเบื้องล่าง

จากนั้นพอได้เวลาอันสมควร(ประมาณ 2 ชั่วโมง) เรือก็มาจอดเทียบท่ายังเกาะสีชัง เพื่อนั่งรถสกายแล็ป(สามล้อเครื่อง)ไปเที่ยวชมวิว ณ ช่องเขาขาด ที่เป็นแหลมริมทะเล มีสะพานสำหรับเดินชมทิวทัศน์ และสวนสาธารณะให้พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งนี่ถือเป็นจุดชมอาทิตย์อัสดงอันสวยงามอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย ก่อนที่เราจะร่ำลาตะวันไปปิดทริปแรกของวันด้วย การล่องเรือกินอาหารค่ำที่หน้าเกาะท่ามกลางคลื่นลมบางๆในอารมณ์คืบก็ทะเลศอกก็ทะเล…

สะพานอัษฎางค์ในพระจุฑาธุชราชฐาน

…เช้าวันใหม่หลัง “ผู้จัดการท่องเที่ยว” จัดการกับมื้อเช้า สกายแล็ปเจ้าเดิมมารับเราพาไปเล่นน้ำที่หาดถ้ำพัง ซึ่งเป็นหาดทรายละเอียดกว้างไกลมีน้ำใสสะอาดเหมาะแก่การเล่นน้ำยิ่งนัก ส่วนใครอยากจะเดินเล่นชายหาด เล่นบันนาน่าโบ๊ท นั่งทอดหุ่ยจิบเบียร์เย็นรับลมชมทะเลก็สามารถเลือกทำกันได้ตามใจชอบ

สถาปัตยกรรมอันงดงามของตึกอภิรมย์ในพระราชวังจุฑาธุชธาชฐาน

เวลาอันเพลิดเพลินที่หาดถ้ำพังหมดไปค่อนข้างเร็ว เพราะเผลอแผล็บเดียวมื้อเที่ยงมาเยือนอีกแล้ว หลังจากนั้นเรานั่งสกายแล็ปคันเก่าไปเที่ยวยัง พระจุฑาธุชราชฐาน สถานที่ตากอากาศเก่าแก่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังคงดูคลาสสิคไม่เสื่อมคลาย เพราะมีอาคารสวยๆงามๆอยู่หลายหลัง แถมยังมีอันซีนไทยแลนด์อย่าง สะพานอัษฎางค์สีขาวนวลที่ทอดยาวออกสู่ทะเลดูสง่าน่ามอง

ทิวทัศน์มุมสูงของเกาะสีชัง เกาะที่ไม่น่าชังดังชื่อเกาะ

นอกจากจะมีอาคารต่างๆให้ชมแล้ว พระราชวังแห่งนี้ยังเพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวเองด้วยการให้น้องๆหนูๆบนเกาะมาทำหน้าที่เป็นไกด์เยาวชนพานักท่องเที่ยวเดินชมตามจุดต่างๆในพระราชวังพร้อมกับคอยอธิบายและให้ความรู้อย่างเต็มที่

แม้ว่าความช่ำชองจะไม่เท่าไกด์มืออาชีพแต่ว่าความน่ารักและความตั้งใจไม่เป็นรองใครเลย

เจดีย์วัดอัษฎางค์นิมิตรตั้งโดดเด่นบนยอดเขามองเห็นเด่นชัด

ครั้นเวลาต้องลาจากเกาะสีชังก็มาถึง ซึ่งก่อนกลับ“ผู้จัดการท่องเที่ยว”ขึ้นไปกราบไหว้ เจ้าพ่อเขาใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมทั้งขึ้นไปดูทิวทัศน์ของเกาะในมุมกว้างที่เห็นเรือนำเที่ยวของเราลอยลำอยู่ลิบๆลำกระตี๊ดเดียว ซึ่งนึกไปก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่า มนุษย์เรานั้นหากเทียบกับธรรมชาติช่างเล็กกระจ้อยร่อยเป็นแค่เศษเสี้ยวธุลี แต่ก็น่าแปลกที่มนุษย์เรามักจะพยายามเอาชนะธรรมชาติหรือทำร้ายธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

สภาพบ้านเรือนบนเกาะสีชังที่ปลูกสร้างตามภูมิประเทศ จะสังเกตเห็นทางขึ้นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่

บางคนยิ่งเลวร้ายไปกว่านั้นอีก เพราะนอกจากจะธรรมชาติธรรมชาติแล้ว ยังโกงกินหาเงินเข้ากระเป๋า หาผลประโยชน์จากธรรมชาติที่ตนทำร้ายอย่างไม่อายฟ้าดิน ดังเช่นกรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่หากว่าปล่อยน้ำเสียลงมาเมื่อไหร่ กุ้ง หอย ปู ปลา ในบริเวณนั้นตายแทบหมดเกลี้ยง แถมยังทำให้ชาวบ้านแถวนั้นพลอยอดตายตามไปด้วยเพราะขาดอาชีพขาดรายได้ ในขณะที่นักการเมืองผู้โกงกินกับโครงการบ่อบำบัดรวยไม่รู้เรื่อง

โอ้…อนิจจา…คลองด่าน….ที่น่าสงสาร


ตำบลคลองด่าน มีพื้นที่ประมาณ 37,500 ไร่ มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 6 กม. อยู่ใน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในพ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีมติเห็นชอบในโครงการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 2 จุดใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ คือ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.บางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณบางปูใหม่ โดยทั้ง 2 บ่อใช้เงิน 13,612 ล้านบาท กระทั่งในปี พ.ศ. 2541 ได้มีการเสนอให้ยุบรวมบ่อบำบัดเป็นบ่อเดียว โดยหวยไปออกที่คลองด่าน พร้อมกับงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็น 23,701 ล้านบาท ทั้งๆที่คลองด่านคือพื้นที่สีเขียวแห่งใหญ่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการทำประมงพื้นบ้านชายฝั่ง

Share the Post: