โดยหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ 29 พฤศจิกายน 2549 15:36 น.
โดย ปิ่น บุตรี
1…
โลกหมุนไปวันๆ ฤดูกาลผ่านผันไปตามเวลา
สรรพสิ่งในใต้หล้าล้วนแปรเปลี่ยนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ทะเลสาบสงขลา…ไยมิใช่ประสบกับสภาพการณ์เปลี่ยนแปรเฉกเช่นเดียวกัน
จากลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่คนแก่ในพื้นที่เล่าว่า ถึงขนาดปลาในทะเลสาบแทบว่ายชนกัน หรือบางครั้งว่ายมาให้จับกินถึงหน้าบ้าน ส่วนกุ้งนั้นแน่นเอี๊ยด หน้ากุ้งทีไรช้อนเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น มาวันนี้ทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ได้ลดน้อยถอยลงไปตามสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก
แต่กระนั้นในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาก็ยังคงมีคนกลุ่มหนึ่งยังคงยึดในอาชีพทำการประมงพื้นบ้านอย่างเหนียวแน่น ซึ่งถึงแม้ว่าอาชีพประเภทนี้นับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อย
แต่อาชีพการทำประมงพื้นบ้านก็ยังดำรงคงอยู่
แถมยังเป็นการดำรงคงอยู่ที่ที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่น้อยทีเดียว อีกทั้งทะเลสาบสงขลายังเป็นแหล่งเลี้ยงปลาในกระชังแหล่งใหญ่มากแห่งหนึ่งในเมืองไทย มีปลากะพงขาว เป็นผลผลิตแห่งท้องทะเลที่ขึ้นชื่อลือชา
เมื่อมีของดีมากเสน่ห์ เมื่อต้นปี 49 ทางอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีนครสงขลา จึงได้ริเริ่มกิจกรรมนั่งเรือเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในทะเลสาบสงขลาแถบปากอ่าวไทยในตัวเมืองสงขลาขึ้น หลังจากที่ผ่านมาปล่อยให้ทางเกาะยอ และทางทะเลน้อย จ.พัทลุง จัดกิจกรรมลักษณะนี้ล่วงหน้าไปเสียหลายปี
นอกจากนี้ยังมีการสร้างท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นอีกด้วย
เป็นท่าเทียบเรือที่ผมมองว่ามีบรรยากาศยามราตรีที่น่านั่งไม่น้อย เพราะยิ่งมืดยิ่งมองคล้ายกับร้านเหล้ายังไงยังงั้น
ส่วนกิจกรรมล่องเรือเที่ยวในทะเลสาบบริเวณปากอ่าวนี่ก็ถือว่ามากไปด้วยเสน่ห์ยิ่งยวดเช่นกัน
เพราะทะเลสาบสงขลาที่ดูธรรมดาๆนั้น หากแต่ว่าเมื่อล่องเรือไปก็จะได้พบกับวิถีชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง
2…
เวลาประมาณ 10 โมงกว่าๆเห็นจะได้ เรือขนาดความจุราว 20 ที่นั่งแล่นมาเทียบท่ายังท่าเรือแห่งใหม่ ที่ฝั่งตรงข้ามเป็นเขาตั้งกวนตั้งตระหง่าน ส่วนรอบๆเชิงเขาตั้งกวนและทางฝั่งท่าเรือก็เป็นชุมชนชาวประมงที่ตั้งอยู่เรียงราย
เมื่อเรือพร้อม คนพร้อม นาวาลำย่อมก็ติดเครื่องแล่นฝ่าคลื่นลมไปอย่างเนิบนาบ
ระหว่างทางช่วงแรกๆ นอกจากเรือประมงและวิถีชาวประมงที่สามารถพบได้ทั่วไปริมฝั่งน้ำแล้ว กลางทะเลสาบก็โดดเด่นไปด้วยโพงพางจำนวนมากมายหลายปาก ที่สร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ดักปลาในทะเลสาบสงขลาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลากระบอกและปลากะพงขาว
พี่ “สุเทพ การะกน” ไกด์กิตติมศักดิ์จากเทศบาลเล่าให้ผมฟังว่า แม้การจับปลาด้วยโพงพางจะมีมาในทะเลสาบสงขลามาช้านานแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันชาวประมงในทะเลสาบต่างมีกฎว่าห้ามสร้างโพงพางเพิ่ม แต่ถ้าเสีย พัง ก็สร้างขึ้นใหม่ในที่เดิมได้ และสามารถขายทอดต่อๆกันได้ ปัจจุบันตกปากละ 7 หมื่น ถึงแสนบาททีเดียว แต่หากว่าใครที่ซื้อไปก็คุ้มไม่น้อย เพราะวันหนึ่งๆโพงพาง 1 ปาก สามารถดักปลาขายได้เฉลี่ย 3-4 พันบาททีเดียว นอกจากนี้ชาวประมงยังมีกฎอีกว่า ห้ามแล่นเรือฝ่าเข้าไปในโพงพางมิฉะนั้นจะถูกปรับ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการจับปลาด้วยโพงพาง ณ วันนี้จะสะดวกโยธินไปเสียทีเดียว เพราะกรณีพิพาทกันอยู่ระหว่าง เรือที่สัญจรไป-มา กับ ผู้ทำโพงพาง ยังเป็นหนึ่งในปัญหาค้างคาของทะเลสาบสงขลา ที่ภาครัฐคงต้องลงไปเจรจาไกล่เกลี่ย หาจุดสมดุล และกฎระเบียบที่เป็นธรรมเกิดขึ้นระหว่าง 2 ฝ่าย
ส่วนปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบผมเห็นในระหว่างล่องเรือวันนั้นก็คือเรื่องของขยะแถวท่าเทียบเรือสินค้า ไกด์ของเราบอกว่านี่เป็นปัญหาโลกแตกเพราะขยะที่เกิดขึ้นบริเวณนี้เป็นขยะจากที่อื่นที่ไหลมาตามกระแสน้ำ เก็บยังไงก็เก็บไม่หมด เพราะพอถึงช่วงกระแสน้ำไหลออกก็จะพัดพาขยะออกไป แต่พอถึงช่วงน้ำไหลเข้าก็จะพัดพาขยะเข้ามา วนเวียนไป-มาอยู่อย่างนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนแถวท่าเทียบเรือสินค้าไปแล้ว
เรื่องนี้ผมฟังแล้วก็นึกถึงทะเลหลายแห่งที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันคือ กระแสทะเลน้ำที่เข้า-ออกจะพาขยะมาด้วย ที่ไหนโชคร้ายหน่อยขยะก็จะพัดไปเกยตื้นยังฝั่ง ยังชายหาด ดูไม่น่าอภิรมย์ ส่วนขยะที่อยู่ในทะเลก็จะลอยไป-ลอยมา ลอยเข้า-ลอยออก
ไม่มีใครตอบได้ว่าขยะไหลมาจากไหนและจะลอยไปที่ไหน แต่ที่รู้ก็คือ ขยะส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือการทิ้งของมนุษย์แน่นอน!?!
3…
พูดถึงโพงพางสำหรับผมถือว่าไม่ใช่ของแปลกใหม่เท่าไหร่เพราะเคยเห็นมาแล้วหลายที่ เช่นเดียวกับการกู้อวนที่พบเห็นกลางทะเลสาบสงขลาก็ถือว่าไม่แปลกใหม่เช่นกัน
แต่ว่าไอ้เรื่องเดิมๆธรรมดาๆนี่แหละหากมองให้ลึกลงไป กลับมีความแปลกใหม่และความไม่ธรรมดาอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะไอ้เจ้า กุ้ง กั้ง ปลา ปู ที่สาวอวนขึ้นมาตัวโตๆจนเพียบแปล้ลำเรือนั้นมันน่าซื้อกับไปปิ้ง ไปนึ่งกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บเสียนี่กระไร โดยเฉพาะกับปูดำหลายตัวที่ติดขึ้นมานี่ถือเป็นของหายากของกินในระดับหรูทีเดียว ว่าแล้วผมก็ตะโกนบอกคนกู้อวนว่าขอซื้อปูปลาไปนึ่งกินกับเมนูพื้นบ้านรสเด็ดในมื้อเที่ยง ที่รอพวกเราอยู่ในขนำน้อยกลางทะเลสาบสงขลา
แต่ประทานโทษ!?! คนกู้อวน หน้าเข้ม ผิวเข้ม แต่มากไปด้วยรอยยิ้มบอกกับผมว่า ไม่สามารถขาย กุ้ง กั้ง ปู ปลา เหล่านี้ให้ผมได้ เพราะมีคนเหมาเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว
ในทะเลสาบสงขลาอันกว้างใหญ่ นอกจากชาวประมงจะมีกฎระเบียบในการออกทะเลอย่างเคร่งครัดแล้ว กฏระเบียบแห่งการกระกอบอาชีพก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ(มาก)เช่นกัน
…เพราะหากไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบแห่งการทำมาหากิน…อาจจะส่งผลให้ขาดความน่าเชื่อถือได้
…และหากไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบของการใช้ชีวิตกลางทะเล…บางทีอาจจะส่งผลถึงชีวิตได้
4…
ต้องถือว่าการล่องเรือช่วงแรกของวันนั้น ผมค่อนอับโชคที่ไม่เห็นการกู้โพงพาง และการล้อม “หมำ”ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาอันโดดเด่นแห่งทะเลสาบสงขลา งานนี้ผมจึงทำได้เพียงกลับกรุงเทพฯมารอดู เท่งกะโหน่งวิ่งไล่ล้อม “หม่ำ”(จ๊กม๊ก) ในรายการของ “เสี่ยตา” ปัญญา นิรันดร์กุล แทน
แม้จะไม่เห็นการจับหมำ แต่พี่สุเทพก็อธิบายถึงการล้อมหมำอย่างคร่าวๆให้เกิดกิเลสอยากมาล่องเรือเที่ยวที่ทะเลสาบสงขลาอีกว่า
“การล้อมหมำ เป็นการจับปลารูปแบบหนึ่ง โดยชาวประมงจะตัดต้นไม้แล้วไปนำมาปักไว้ในน้ำบริเวณแหล่งที่มีปลาชุกชุม ก่อนจะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ จากนั้นเมื่อแน่ใจแล้วว่ามีปลามาอาศัยอยู่เต็มในบริเวณที่ปักต้นไม้ไว้ จึงนำแหมาล้อมดักปลา แล้วค่อยๆล้อมเข้าไปให้ชิดเรื่อยๆ ระหว่างที่ล้อมก็ต้องคอยเอาต้นไม้ที่ปักไว้ โยนออกไปนอกบริเวณหม่ำที่ล้อมจับด้วย ถ้าไม่ใช่ชาวประมงที่เชี่ยวชาญจะทำวิธีนี้ไม่ได้ เพราะต้องอาศัยทักษะความชำนาญและประสบการณ์เป็นพิเศษ”
หลังเรือแล่นฝ่าคลื่นลมมาจนมองเห็นขนำกลางทะเลที่เป็นจุดแวะหม่ำมื้อเที่ยงในเมนูพื้นบ้านรสเด็ดท่ามกลางบรรยากาศคืบก็ทะเลศอกก็ทะเล โชคได้เริ่มเข้าข้างผมแล้ว
เพราะในท้องทะเลผมเห็นชายคนหนึ่งกำลังง่วนอยู่กับการดำผุดดำว่ายงมหากระบอกสีดำ แล้วก็ยกไปย้ายมาก่อนจะดำไปงมหากระบอกอันต่อไป
เอ…เขาทำอะไรหนอ??? หรือเขาหาใบสมัครเข้าพรรคชาติไทย ของสนธยา คุณปลื้ม
เรื่องนี้ดูเหมือนว่าพี่สุเทพจะรู้ว่าผมและเพื่อนๆหลายในเรือสงสัยใคร่รู้ว่า ว่าแล้วพี่แกก็บอกให้นายท้ายเรือค่อยๆแล้วเรือเข้าไปใกล้ๆยังชายปริศนาผู้งมหากระบอกคนนั้น พร้อมๆกับอธิบายว่า นี่คือการจับปลาที่เรียกว่าการยก(กระ)บอกปลามีหลัง หรือปลาดุกทะเลเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้านแห่งทะเลสาบสงขลา ที่มีการทำมาช้านานแล้ว ปัจจุบันยังคงหลงเหลืออยู่เฉพาะในลุ่มน้ำแถวนี้
“สำหรับวิธีการทำ ชาวประมงจะหาไม้ไผ่ขนาดเขื่องยาวประมาณเมตรๆกว่าถึง 2 เมตร กว้านข้อข้างในออกให้เป็นรูกลวง แล้วนำไปไว้ในแหล่งของปลาดุกทะเลพร้อมทำตำแหน่งไว้ จากนั้นก็รอเวลาที่เหมาะสมค่อยกลับมางมกระบอก ซึ่งก็แล้วแต่โชคด้วยว่าจะได้ปลาในกระบอกหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเป็นปลามีหลังหรือปลาดุกทะเล เพราะมันชอบอาศัยอยู่ในรู และชอบกลิ่นของไม้ไผ่ พอเอาไปปักไว้มันก็จะเข้ามานอนในนั้น”
“บางทีกระบอกหนึ่งมันเข้ามานอนถึง 3-4 ตัวแนะ พอชาวประมงมาจับ เขาคลำกระบอกจากประสบการณ์รู้ว่าในกระบอกมีปลาหรือมีสัตว์น้ำอยู่ เขาจะรีบยกขึ้นมาเทด้านหนึ่งใส่ถังหรือตาข่ายให้ปลามันไหลลงไป เท่านั้นก็ได้แล้ว แต่ว่าคนที่จะทำได้ต้องดำน้ำเก่งและมีประสบการณ์มาก” พี่สุเทพอธิบาย
พูดถึงปลาดุกทะเลนี่ นำไปทอดกรอบหรือผัดเผ็ดอร่อยเด็ดนักแล ซึ่งนี่นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นการจับปลาด้วยวิถีการที่ดูเหมือนไม่ยากเย็นอะไร แต่ว่าจริงๆแล้วกลับแฝงไว้ด้วยวิถีแห่งภูมิปัญญาและประสบการณ์อันโชกโชนของชาวประมงแห่งทะเลสาบสงขลา
ทะเลสาบที่วันนี้ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง เพราะถึงแม้ กุ้ง หอย ปู ปลา บางส่วนจะหายไปตามสภาพแวดล้อม แต่ก็ยังคงมีเหลือมากพอให้ชาวประมงพื้นบ้านในทะเลสาบเลือกทำมาหากินกันอย่าง“พอเพียง”
พอเพียง…คำของพ่อหลวงที่เรียบง่าย แต่ว่าช่างทรงคุณค่ากับมนุษยชาติเสียนี่กระไร เพราะหากทุกคนตั้งมั่นอยู่ในความพอเพียง โลกคงน่ารื่นรมย์กว่านี้ ธรรมชาติคงไม่ถูกทำลายมากมายเท่าทุกวันนี้…