โดย หนังสือพิมพ์มติชน คอลัมน์ โลกสามมิติ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10780
โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อนเกิดจากสาเหตุใด? มีทฤษฎีอยู่หลายทฤษฎีที่อธิบายสาเหตุการล้มตายของไดโนเสาร์ อาทิ การระเบิดของซุปเปอร์โนวา แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) หรือดาวหางชนโลก
ปัจจุบันทฤษฎีที่น่าเชื่อที่สุดคือ ทฤษฎีดาวเคราะห์น้อยชนโลก ซึ่งทำให้เกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์ หลักฐานสนับสนุนทฤษฎีนี้คือ หลุมอุกกาบาต “ชิคซูลูป” (Chicxulub) บริเวณก้นอ่าวเม็กซิโก คาบสมุทรยูคาตัน
นับตั้งแต่ค้นพบหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป ตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ได้เพียรพยายามจะพิสูจน์หาแหล่งที่มาของดาวเคราะห์น้อยดวงที่ชนโลกดวงนี้ แต่ก็ยังไม่พบร่องรอย
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์สหรัฐจาก Southwest Research Institute (SwRI) เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด และนักวิทยาศาสตร์เชกจาก Charles University กรุงปราก เผยผลการศึกษาในวารสารเนเจอร์ ฉบับวันที่ 6 กันยายน 2007 ว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงที่พุ่งชนโลกในครั้งนั้น เป็นเศษของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่สองดวงที่ชนกันในวงแหวนดาวเคราะห์น้อย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เบาะแสจากการค้นพบดาวเคราะห์น้อยตระกูลใหม่ที่ชื่อว่า “แบพติสตินา” (Baptistina) หนึ่งในตระกูลดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 40 ตระกูล
การศึกษาโดยการคำนวณจากโมเดลคอมพิวเตอร์พบว่า ดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินาเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่แตกออกจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยขนาด 170 กิโลเมตรกับดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 60 กิโลเมตรในบริเวณวงแหวนหรือเข็มขัดดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีเมื่อ 160 ล้านปีก่อน
เศษจากการชนกันของดาวเคราะห์น้อยในครั้งนั้นกลายเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่า 10 กิโลเมตร ประมาณ 300 ดวง และขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรประมาณ 140,000 ดวง ในจำนวนนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินามากกว่า 2,000 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 40 กิโลเมตร
ดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินาถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีเหวี่ยงเข้ายังด้านในของระบบสุริยะและกาลต่อมาได้พุ่งชน ดาวศุกร์ โลก และดวงจันทร์ของโลก
ดร.วิลเลียม บอตต์เก้ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์จาก SwRI อธิบายว่า ดาวเคราะห์น้อยบางส่วนโคจรเข้ามาในบริเวณวงโคจรของโลกและดวงจันทร์ และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่บางดวงจะชนกับดาวเคราะห์ด้านในของระบบสุริยะ
ทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในจำนวนนี้มีดาวเคราะห์น้อยสมาชิกของตระกูลแบพติสตินาดวงหนึ่งพุ่งชนดวงจันทร์เมื่อ 108 ล้านปีก่อนจนทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตไทโค ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 85 กิโลเมตร และอีกดวงหนึ่งซึ่งมีขนาด 10 กิโลเมตรพุ่งชนโลกที่อ่าวเม็กซิโก เมื่อ 65 ล้านปีก่อนทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 185 กิโลเมตร และเป็นสาเหตุทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนว่ามีความเป็นไปได้สูงนั่นคือ การพบว่าองค์ประกอบทางเคมีของดาวเคราะห์น้อยตระกูลแบพติสตินาเหมือนกับองค์ประกอบทางเคมีในหลุมอุกกาบาตชิคซูลูป
ดร. วิลเลียม เบตต์เก้ กล่าวว่า “พวกเราเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกันโดยตรงระหว่างเหตุการณ์การชนกันในครั้งนั้นซึ่งทำให้เกิดกลุ่มดาวเคราะห์น้อยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวงเมื่อ 65 ล้านปีก่อนซึ่งเชื่อกันว่าได้ทำลายล้างไดโนเสาร์จนสูญพันธุ์”
ในอดีตโลกเคยถูกดาวหางและดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนมาแล้วหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดจนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบทั้งหมดสูญพันธุ์เกิดขึ้นในปลายยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสสิก (251 ล้านปีก่อน) ซึ่งเรียกกันว่ายุคแห่งการล้มตายครั้งยิ่งใหญ่ (the great dying)
ครั้งนั้นทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลประมาณ 95% ของสายพันธุ์ทั้งหมดและสิ่งมีชีวิตบนทวีปซึ่งขณะนั้นมีเพียงทวีปเดียวคือแพนเจีย (Pangea) ประมาณ 70% ล้มตายและสูญพันธุ์ไปจากโลก
ดร.ลูแอน เบกเกอร์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบตำแหน่งที่ดาวเคราะห์น้อยชนโลกในปลายยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสสิก ที่ก้นทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลียซึ่งเป็นขอบทวีปออสเตรเลียที่เรียกกันว่า “เนินเบดูต์”
การศึกษาตัวอย่างหินใต้ดินลึกถึง 3,000 เมตรที่ใจกลางเนินเบดูต์ ซึ่งบริษัทน้ำมันเก็บไว้เมื่อครั้งขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันและก๊าซเมื่อต้นทศวรรษปลายทศวรรษ 1970 แล้วพบว่ามีเศษผลึกแก้ว
หลักฐานนี้ชี้ว่ามันเกิดจากการชนอย่างรุนแรงของวัตถุขนาดใหญ่ซึ่งทำให้เกิดความร้อนมหาศาลซึ่งหลอมละลายแร่ธาตุ และเมื่ออุณหภูมิค่อยๆ ลดลงแร่ธาตุก็รวมตัวกันใหม่เป็นผลึก
การตรวจวัดอายุของหินใต้เนินเบดูต์พบว่ามันมีอายุประมาณ 250.1 ล้านปี ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับยุคแห่งการล้มตายครั้งยิ่งใหญ่พอดี
ดาวเคราะห์น้อยชนโลกครั้งสุดท้ายที่ทังกัสกา ไซบีเรีย เมื่อปี 1908 อานุภาพการทำลายในครั้งนั้นเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 15 เมกะตัน ทำให้ผืนป่าแบนราบกว่า 2,150 ตารางกิโลเมตร โชคดีที่มันไม่ได้ชนโลกในเขตชุมชนหนาแน่นอย่างเมืองใหญ่ๆ ของโลก
นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อว่า มนุษยชาติจะไม่อาจหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางชนโลกได้ หลุมอุกกาบาตบนโลกเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่าได้เกิดอะไรขึ้นในอดีต
ปัจจุบันองค์การนาซามีโปรแกรม NASA”s Spaceguard Survey โปรแกรมตรวจจับดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลกที่เรียกว่า เทหวัตถุใกล้โลก ซึ่งขณะนี้พบแล้วมากกว่า 800 ดวง และนาซาหวังว่าจนถึงปี 2008 จะสามารถตรวจพบเทหวัตถุใกล้โลกได้จำนวน 90%
ปี 2029 ชาวโลกจะต้องระทึกใจ เมื่อดาวเคราะห์น้อยอโพฟิส (99942 Apophis) ขนาด 300 เมตร จะโคจรเฉียดโลกในระยะใกล้เพียง 18,640 ไมล์ หรือ 30,000 กิโลเมตร ใกล้กว่าดาวเทียมหลายดวง ในวันที่ 13 เมษายน 2029