โดย มติชนออนไลน์ วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2551
คอลัมน์ โลกสามมิติ
โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
แผนงานสหประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม หรือยูเนป (UN Environment Programme -UNEP) เผยผลการศึกษาธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายในปริมาณมากขึ้นกว่าสองเท่า และธารน้ำแข็งบางสายจะละลายหมดไปภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้
การศึกษานี้ ดำเนินการโดยหน่วยงานติดตามธารน้ำแข็งโลก (World Glacier Monitoring Service -WGMS) มหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากยูเนป
WGMS ศึกษาธารน้ำแข็งประมาณ 100 สาย ทั้งในทวีปแอนตาร์กติกา ยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา และแปซิฟิกตั้งแต่ปี 1980
ผลการศึกษาพบว่าธารน้ำแข็งเกือบ 30 สายใน 9 เทือกเขาละลายมากขึ้นและบางลงกว่า 2 เท่า ในระหว่างปี 2004-2005 และในระหว่างปี 2005-2006
ทีมนักวิทยาศาสตร์ศึกษาอัตราการสูญเสียของน้ำแข็งโดยดูความสมดุลของมวลของน้ำแข็งจากการละลายและการทับถมของหิมะ ซึ่งจะแสดงให้เห็นจากการความเปลี่ยนแปลงของความหนาบางของน้ำแข็ง และคิดอัตราการสูญเสียน้ำแข็งหนา 1.1 เมตรเทียบเท่ากับน้ำ 1 เมตร
ปี 2006 ธารน้ำแข็งเกือบ 30 สายสูญเสียน้ำแข็งมากกว่าในปี 2005 โดยความหนาเฉลี่ยลดลงเท่ากับน้ำ 1.4 เมตร ขณะที่ปี 2005 ความหนาเฉลี่ยลดลงเท่ากับน้ำ 0.5 เมตร
ศาสตราจารย์ ดร.วิลเฟรด แฮเบอร์ลี ผู้อำนวยการ WGMS กล่าวว่า ตัวเลขครั้งสุดท้ายคือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์แนวโน้มการละลายในอัตราเร่ง ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเลย และว่า แนวโน้มการสูญเสียน้ำแข็งในอัตราเร่งเกิดอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษครึ่งที่ผ่านมาและนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมาโลกสูญเสียน้ำแข็งรวมเทียบเท่ากับน้ำ มากกว่า 10.5 เมตร
“ในระหว่างปี 1980-1999 อัตราการสูญเสียโดยเฉลี่ยเท่ากับ 0.3 เมตร แต่นับตั้งแต่เปลี่ยนสหัสวรรษใหม่ อัตรานี้เพิ่มเป็นประมาณครึ่งเมตรต่อปี” ยูเนปเรียกร้องให้ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในการปกป้องทรัพยากรน้ำที่จำเป็นสำหรับผู้คนหลายร้อยล้านคน
อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนป กล่าวว่า ผู้คนหลายล้านหรืออาจจะหลายพันล้านอาศัยน้ำที่เก็บกักโดยธรรมชาติโดยตรงหรือโดยอ้อมเพื่อใช้ในการดื่มกิน ทำการการเกษตร อุตสาหกรรมและสำหรับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงเวลาสำคัญของแต่ละปี แต่ขณะนี้มีสัญญาณเตือนหลายอย่างจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ บางทีธารน้ำแข็งคือหนึ่งในนั้นและกำลังส่งเสียงดังๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งกับทุกคนที่ควรจะให้ความสนใจและเฝ้าสังเกตมัน
เขายังกล่าวว่า “เศรษฐกิจเขียว” ได้เริ่มขึ้นแล้วโดยการลงทุนมากกว่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการพัฒนาพลังงานที่ไม่มีวันหมด
ธารน้ำแข็งที่ละลายมากที่สุดในปี 2006 คือ ธารน้ำแข็งเบรดัลบลิกเบรียในนอร์เวย์ บางลง 3.1 เมตร (เท่ากับน้ำ 2.9 เมตร) ขณะที่ปี 2005 บางลงเพียง 0.3 เมตร (เท่ากับน้ำ 0.28 เมตร)
ธารน้ำแข็งกรอสเซอร์ โกลด์เบิร์กคีส์ ในออสเตรีย บางลง 1.2 เมตร ปี 2005 บางลง 0.3 เมตร
ธารน้ำแข็งโอโซในฝรั่งเศส บางลง เกือบ 3 เมตร ปี 2005 บางลงเกือบ 2.7 เมตร
ธารน้ำแข็งมาลาแวลในอิตาลี บางลง 1.4 เมตร ปี 2005 บางลง 0.9 เมตร
ธารน้ำแข็งมาลาเดตา ของสเปน บางลง 2 เมตร ปี 2005 บางลง 1.6 เมตร
ธารน้ำแข็งสตอร์กลาเซียเรน ในสวีเดนบางลง 1.8 เมตร ปี 2005 บางลง 0.080 เมตร
ธารน้ำแข็งฟินเดเลนในสวิสเซอร์แลนด์ บางลง 1.3 เมตร ปี 2005 บางลง 0.22 เมตร
ในจำนวนธารน้ำแข็ง 30 สายมีเพียงธารน้ำแข็งแอ๊คฮอเรน นอร์เต้ ในชิลีเท่านั้นที่หนาเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีธารน้ำแข็งในจำนวน 100 สายที่ละลายน้อยกว่าในปี 2005 อยู่หลายสาย เช่น ธารน้ำแข็ง ชาคาลตายา ในโบลีเวีย และธารน้ำแข็งเพลซ ในแคนาดา เป็นต้น
ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยก็กำลังละลายอย่างรวดเร็วเช่นกันและธารน้ำแข็งบางสายจะหายไปภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ ประชาชนราว 500 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาฮินดูกุส และอีกราว 250 ล้านคนที่อาศัยในแนวชายฝั่งแม่น้ำสำคัญๆ ซึ่งต้องอาศัยน้ำในการอุปโภคและบริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
แนวโน้มอัตราการละลายของธารน้ำแข็งที่นั่นจะทำให้แม่น้ำคงคา สินธุ พรหมบุตร และแม่น้ำอื่นๆ ทางเหนือของอินเดียกลายเป็นแม่น้ำตามฤดูกาลในอนาคตอันใกล้นี้จากผลการเปลี่ยนแปลงของอากาศจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเพิ่มความยากจนให้กับประชาชนในบริเวณนี้ บริเวณอเมริกาเหนือก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน รายงานของไอพีซีซี ฉบับที่ 4 พยากรณ์ว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งใช้น้ำในปริมาณมากจากแม่น้ำอย่างเช่น แม่น้ำโคลัมเบีย จะขาดแคลนน้ำเพราะหิมะลดลงเมื่ออุณหภูมิเพิ่ม 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2040 ในขณะที่ความต้องการน้ำเพิ่มสูงขึ้น
ณ เวลานั้น เมืองปอร์ธแลนด์ รัฐโอเรกอน ต้องการน้ำเพิ่มมากกว่า 26 ล้านลูกบาศก์เมตรเพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น
แต่ทว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโคลัมเบียจะลดลง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร
การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้สรุปว่า ธารน้ำแข็งในอเมริกาใต้ตั้งแต่ประเทศโคลัมเบียถึงชิลีและอาร์เจนตินา กำลังละลายในอัตราเร่ง
สาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอนดีสละลายนับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าอีก 15 ปีข้างหน้าธารน้ำแข็งในอเมริกาใต้จะละลายหมดไป ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงและยังกระทบต่อโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำด้วย