โดย ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 พฤษภาคม 2551
คอลัมน์ Delicious GROOVE
โดย อัษฎา อาทรไผท
ทุกวันนี้มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบนโลกบ่อยกว่าที่เคยเป็นมา แถมความรุนแรงยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยอดผู้เสียชีวิตมากมายก่ายกอง จนไม่อยากเชื่อว่านี่คือของจริงมิใช่อิงนิยาย สถานที่ที่ไม่เคยเกิดภัยพิบัติก็กลายเป็นจุดเสี่ยงแห่งใหม่ ที่ที่เคยมีภัยก็ยิ่งมีภัยยิ่งใหญ่กว่าเก่า หรือนี่จะเป็นจุดสิ้นสุดของโลกกัน แน่นอนว่าไม่มีใครตอบได้ เพราะเราไม่ใช่พหูสูต แต่ตั้งแต่เมื่อร้อยห้าสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อสมัยที่โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เพิ่งก่อกำเนิดออกมา เริ่มพ่นมลพิษฆาตกรรมธรรมชาติอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ก็มีคนคาดคะเนเอาไว้แล้วว่าวันสุดท้ายของโลกน่าจะกำลังมาเยือน
เขาคนนั้นคือ John Martin จิตรกรชาวเมืองผู้ดี ผู้เป็นผู้ให้กำเนิดภาพวาดสีน้ำมัน The End of the World หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า วันโลกาพินาศ เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของมหานครลอนดอน และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งความเจริญนี้ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแก่ธรรมชาติที่เคยอยู่คู่โลกมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล เขาสื่อออกมาเป็นภาพโทนสีถมึงทึงหม่นหมองสยองขวัญ มันคือภาพการสิ้นสุดของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น ทุกสิ่งถูกทำลายล้างโดยน้ำมือภัยธรรมชาติ ในภาพมีพายุ ฟ้าผ่า โหมกระหน่ำ ภูเขาไฟระเบิด ลาวาพวยพุ่ง แผ่นดินไหวสะเทือน ปฐพีแยกออกจากกัน คลื่นยักษ์กลืนกินผู้คนทั้งเป็น
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติประเทศอังกฤษวิเคราะห์ว่า ภาพวาดของ John Martin ภาพนี้ สะท้อนเรื่องราวของจุดจบของโลก จาก Revelation 6 ในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่กล่าวถึงแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนดวงอาทิตย์เป็นสีดำ พระจันทร์เป็นสีเลือด ดวงดาวร่วงลงสู่พื้นดิน ลมพัดกระหน่ำจนแม้ต้นไม้ใหญ่ก็ยืนหยัด
ไม่อยู่ ภูเขาและเกาะแก่งเคลื่อนย้ายจากที่เดิมที่เคยอยู่ ผู้ดีมีจนทุกผู้ทุกคนต่างพากันหนีตายไปหลบในโพรงถ้ำ ภาวนาให้หินหล่นลงมาปิดปากถ้ำเพื่อที่จะได้หลบซ่อนตัว
นอกจากภาพจะหลอนแล้ว ประวัติของมันก็น่ากลัวไม่แพ้กัน เพราะนี่คืองานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของผู้วาด เขามีความคิดที่จะเขียนภาพสามภาพเกี่ยวกับจุดจบของโลกทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือภาพ The End of the World นี่เอง แต่แล้วในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1853 อยู่ๆ เขาก็เป็นอัมพาต มันร้ายแรงขนาดเขาไม่สามารถใช้แขนขวาหรือพูดได้อีกต่อไป หลังจากทรมานอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุดเขาก็สิ้นลมลงในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1854 เป็นเหตุให้รูปทั้งสามภาพสุดท้ายของเขากลายเป็นรูปที่เขียนยังไม่เสร็จไป เมื่อเขาจากไป ภาพของเขาได้ถูกนำไปแสดงตามเมืองสำคัญต่างๆ ในอังกฤษ แม้ผู้คนจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี แต่ Royal Academy of Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะเก่าแก่และยิ่งใหญ่แห่งกรุงลอนดอน กลับไม่ยอมรับงานของ John Martin ไปจัดแสดง ด้วยเหตุผลว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม จนในที่สุด Tate Gallery แห่ง National Gallery of British Arts เห็นความสำคัญ และซื้อไปจัดแสดงเป็นการถาวรจนถึงทุกวันนี้
หาก John Martin ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ เขาคงจะได้รับข่าวสารถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลก ซึ่งไม่ได้ต่างไปจากในภาพวาดของเขาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
แต่อย่างไร สำหรับพวกเราชาวปัจจุบัน ไม่ทราบว่าอีกร้อยห้าสิบปีข้างหน้าโลกที่เรารู้จักจะยังเป็นอย่างที่เรารู้จักหรือไม่ รู้อย่างเดียวว่าเดี๋ยวนี้ไม่ต้อง
ไปหาดูรูปมหันตภัยสิ้นโลกกันตามภาพวาดแล้ว แค่เปิดทีวีดูข่าว เดี๋ยวก็ได้เห็นของจริงกัน