โดย ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4016
คอลัมน์ Dejavu
โดย สุมิตรา จันทร์เงา
ไอเย็นของสายน้ำโชยชายมาทักทายจนสะท้าน เป็นความเย็นชื่นหนาวสั่นของเดือนเมษายนที่ไม่เคยได้พานพบในเมืองไทย
ผืนน้ำเบื้องหน้าใสเหมือนกระจก สะท้อนความงามทุกอย่างรายรอบลงไปซุกซ่อนไว้เหมือนขุมทรัพย์ที่ยั่วเย้าให้ดำดิ่งลงไปค้นหาสิ่งที่ว่างเปล่า
ทุกสิ่งนิ่งสนิท ช่างเงียบและสงบงามเหลือเกิน ราวกับโลกทั้งใบถูกฉุดเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนชั่วขณะ แต่สิ่งที่บ่งบอกว่าเวลายังเดินทางไปข้างหน้าสม่ำเสมออย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่ลังเล ไม่หวั่นไหว ก็คือสีที่เปลี่ยนไปของท้องฟ้าและการร่ายรำอย่างเชื่องช้าของก้อนเมฆ
การแรมคืนใน “เรือบ้าน” กับ “เรือนแพ” ของบ้านเราเป็นการพักผ่อนเหนือผืนน้ำดุจเดียวกัน เพียงแต่เรือบ้านในแคชเมียร์ไม่ใช่แค่ “แพ” ที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ แต่เป็น “บ้าน” ถาวรที่ใครก็สามารถอยู่อาศัยปักหลักอย่างมั่นคงได้จวบจนสิ้นอายุขัยของเขา
ในแคชเมียร์เรือบ้าน (HOUSE BOAT) คือ “สวรรค์บนดิน” ที่มนุษย์สามารถสัมผัสแตะต้องได้ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ทั้งรูปลักษณ์ การออกแบบตกแต่ง และสุดยอดของเอกลักษณ์ก็คือ ที่ตั้งท่ามกลางภูมิทัศน์อันงดงามตระการตาด้วยผืนทะเลสาบกว้างใหญ่ในโอบล้อมของส่วนปลายเทือกเขาหิมาลัยสลับซับซ้อนแซมด้วยทิวไม้เขียวขจี
เรือบ้านของชาวแคชเมียร์เป็นมรดกตกทอดจากอังกฤษมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมสมัยควีนวิกตอเรีย ในช่วงที่ชาวอังกฤษยึดครองอินเดียอยู่นั้น ดินแดนแถบจัมมูแคชเมียร์อยู่ภายใต้การดูแลของเหล่ามหาราชายุคโมกุลซึ่งมีกฎเหล็กว่าแม้อังกฤษจะมีอำนาจเหนือกว่าแต่ก็ไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน ด้วยเหตุนี้ชาวอังกฤษจึงหาทางออกด้วยการสร้างเรือเป็นบ้าน ตกแต่งภายในอย่างสวยงามเหมือนบ้านในอังกฤษด้วยไม้ซีดาร์ มีเฟอร์นิเจอร์อันงามประณีตด้วยฝีมือช่างและวัสดุชั้นยอดจอดเรียงรายอยู่ตามริมทะเลสาบ ใช้ชีวิตอย่างหรูหราแบบที่ตนเองเคยชินบนแผ่นดินที่มีอากาศเย็นสบายกว่าที่อื่นๆ ในอินเดีย กลายเป็นชุมชนเจ้าอาณานิคมขนาดใหญ่ที่ได้ครอบครองทำเลการอยู่อาศัยที่สวยงามที่สุดในศรีนาคา
เมื่ออินเดียปลดปล่อยตัวเองเป็นเอกราชได้ เรือบ้านเหล่านี้ก็ตกเป็นของรัฐ และเปลี่ยนถ่ายมาอยู่ในมือเอกชนในภายหลัง บางส่วนกลายเป็นที่พักอาศัยถาวรของชาวบ้าน แต่ส่วนใหญ่ถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักของนักเดินทางไกลที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศอันน่าหลงใหลของแคชเมียร์ผ่านสายตาของชาวอังกฤษในอดีต
ว่ากันว่า เรือเหล่านี้แต่เดิมมีอยู่ซึ่งนับพันลำ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 500 ลำ และแทบไม่เห็นการต่อเรือบ้านลำใหม่ๆ ขึ้นอีก เพราะทางการควบคุมไม่ให้เพิ่มจำนวนมากไปกว่านี้ เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้าไปมากขึ้นทุกขณะ ทำให้น้ำในทะเลสาบดาลเริ่มจะเน่าเสียจากสิ่งปฏิกูล เรือแต่ละลำจึงมีราคาแพงมาก การซื้อขายเปลี่ยนมือ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 25,000 ดอลลาร์เป็นอย่างน้อย
เรือบ้านแต่ละหลังจะปลูกอยู่ในน้ำติดตลิ่ง นิยมตกแต่งด้านหลังบ้านเป็นสวนดอกไม้และผลไม้ ส่วนที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายอยู่ภายในเรือซึ่งมีตั้งแต่ 2-4 ห้องนอน ภายในเรือทุกลำจะมีองค์ประกอบเหมือนกัน คือ มีระเบียงรับลมที่หัวเรือเก๋ไก๋พร้อมบันใดท่าน้ำ ถัดมาเป็นห้องนั่งเล่นและห้องกินข้าว (มีครัวเล็กๆ สำหรับปรุงอาหารด้วย) ส่วนห้องพักจะอยู่ติดๆ กันในส่วนท้ายเรือ
ภายในเรือนอกจากจะตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งสวยงามน่าใช้แล้ว ยังมีพรมทอมือแบบแคชเมียร์ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นหนึ่งในตองอูไม่แพ้พรมเปอร์เซียเลยทีเดียว ห้องพักมีทั้งแบบเตียงเดี่ยวและเตียงคู่ มีห้องน้ำทันสมัย ส้วมชักโครกนั่งสบาย เครื่องนอนนั้นเน้นผ้าห่มหนักๆ ที่ให้ความอบอุ่นเป็นพิเศษ เรือบางลำมีถุงน้ำร้อนเอาไว้ให้กอดนอนอุ่นๆ บางลำก็มีผ้าห่มไฟฟ้าอุ่นสบายอย่าบอกใคร
ที่พักแบบเรือบ้านนี้มีหลายระดับราคาตั้งแต่เกรด A จนถึงเกรด D ส่วนใหญ่เป็นราคาต่อหัวตั้งแต่คืนละ 400-800 รูปีหรืออาจจะมากกว่า ราคานี้รวมอาหารเช้า-เย็นไว้แล้ว เพราะแคชเมียร์ไม่ค่อยมีร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว
วิธีที่สะดวกที่สุดก็คือการกินบนเรือทั้งสองมื้อหลัก ดังนั้นเรือแต่ละลำจะต้องมีคนรับใช้คอยดูแลประจำอย่างน้อย 1 คน มีหน้าที่ทำอาหารอินเดียอร่อยๆ คอยปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดและเติมไฟต้มน้ำร้อนให้แขกทั้งเช้า-เย็น
ในเรือไม่มีฮีเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรือระดับหรูหราแค่ไหนก็ไม่มี เพราะแคชเมียร์ขาดแคลนไฟฟ้า ไฟดับอยู่บ่อยๆ กระแสไฟมีพอแค่ให้แสงสว่างเท่านั้น บางทีจะชาร์จแบตเตอรี่ก็ยังไม่ได้ ดังนั้นน้ำร้อนของที่นี่จึงร้อนจัดแบบน้ำต้มด้วยฟืนที่จะไหลมาตามท่อเป็นเวลา
ไม่น่าเชื่อว่าท่ามกลางความขาดแคลนในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน คนแปลกหน้ายังได้รับความสุข สะดวกสบาย ใช้ชีวิตได้หรูหราตามราคาที่จ่าย
เพราะที่นี่คือแคชเมียร์ 😀