จาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4064
คอลัมน์ STORY
โดย ทีมงาน DLife
30 ปีก่อน จากสถานะของเล่นเหลือค้างสต๊อก วันนี้กลับกลายเป็นของสะสมที่บางตัวมีราคาสูงเป็นหลักแสน !
ใครจะไปเชื่อว่า เพียงชั่วข้ามคืน ราคาประมูลตุ๊กตาวินเทจตัวหนึ่งบนเว็บ eBAY จะดีดตัวพุ่งสูงขึ้นจากเดิมถึง 10 เท่า !
จากตุ๊กตาที่เด็กๆ (และผู้ใหญ่บางคน) เคยหวาดกลัวในอดีต วันนี้กลับกลายเป็นตุ๊กตาแสนน่ารัก ครองใจได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
มิหนำซ้ำยังเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจที่สร้างรายได้ในยามวิกฤตฝืดเคืองชนิดเป็นกอบเป็นกำ
…นี่คือความมหัศจรรย์ของตุ๊กตาซึ่งมีนามว่า “Blythe”…
Blythe Story…เรื่องเล่าของเด็กหญิงไบลท์
Blythe ตุ๊กตาวินเทจสัญชาติอเมริกันกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1972 ทว่าแรกทีเดียวยังไม่ดังเปรี้ยงปร้าง มีปัญหานิดหน่อยตรงดีไซน์ดวงตากลมโตที่สามารถเปลี่ยนได้ 4 สี ทั้งเขียว ชมพู ส้ม และน้ำเงิน เพียงแค่ดึงห่วงที่อยู่หลังศีรษะ นั่นทำให้ (ในยุคนั้น) เธอกลายเป็นตุ๊กตาที่เด็กๆ พากันหวาดกลัว เลยไม่เป็นที่นิยม จนต้องปิดตัวลงหลังจากออกวางขายในตลาดได้แค่เพียง 1 ปีเท่านั้น !
30 ปีต่อมา เรื่องก็กลับตาลปัตร เมื่อตุ๊กตาเด็กเล่นสินค้าเหลือค้างสต๊อกกลับกลายเป็นตุ๊กตาหายากในหมู่นักสะสม…
Blythe ฟื้นคืนชีพอีกครั้งพร้อมสัญชาติญี่ปุ่น (บริษัท Takara ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตต่อ) ด้วยโชคชะตานำพาให้เธอได้เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณา TV ให้กับห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง Parco เพียงชั่วข้ามคืนเธอก็กลายเป็นตุ๊กตายอดนิยม ส่งผลให้ราคาประมูล Blythe บนเว็บ eBAY ดีดตัวพุ่งสูงขึ้นจากเดิม 35$ เป็น 350$ รวมถึง Neo-Blythe บนเว็บประมูลของ Yahoo ขายหมดเกลี้ยงสต๊อกถึง 4 ครั้ง !
จากแวดวงนักสะสมระบาดลามข้ามมาแวดวงแฟชั่น เห็นชัดเมื่อถึงงาน Annual Blythe Charity Fashion Show ได้มีการระดมพลสุดยอดดีไซเนอร์ฝีมือดีของห้องเสื้อแบรนด์เนมชื่อดังจากทุกมุมโลกอย่าง John Galliano, Prada, Gucci, Vivienne Westwood, Issey Miyake, Versace, Sonia Rykiel ฯลฯ มาร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าตัวจิ๋วให้กับเหล่านางแบบ Blythe ได้สวมเดินเฉิดฉายอยู่บนแคตวอล์ก กลางกรุงโตเกียว
ปี 2001 Takara แปลงโฉม Blythe ให้ดูโดดเด่นขึ้นด้วยขนาดตัว 11 นิ้ว พร้อมกับชื่อใหม่ว่า “Neo Blythes” พอครบรอบ 1 ปี Blythe คลอดสายพันธุ์ใหม่ทันที ภายใต้ชื่อ “Petite Blythe” ด้วยไซซ์กะทัดรัดเพียง 4 1/2 นิ้ว ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีสีตาให้เลือกเพียงสีเดียว แต่เธอสามารถขยับเปลือกตาขึ้นลงได้พร้อมๆ กับการดัดบอดี้ส่วนต่างๆ ให้ดูมีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันตุ๊กตาวินเทจที่ชื่อ Neo Blythes มีคอลเล็กชั่นต่างๆ รวมกว่า 120 คอลเล็กชั่นแล้ว
ปี 2002 หลังจากที่ Gina Garan (โปรดิวเซอร์สาวชาวอเมริกัน) ได้รับตุ๊กตา Blythe เป็นของขวัญ ทำให้เธอตกหลุมรักมันพร้อมๆ กับถ่ายภาพเธอ Blythe เก็บไว้กว่า 100 รูป จนถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือรวมภาพถ่ายชื่อ “This is Blythe” รวมถึงหนังสือ Firecracker Alternative Book ที่ขายได้กว่า 100,000 เล่ม และจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่าย ที่ทำให้ชื่อของ Gina”s Gallery โด่งดังและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
น้องไบลท์…”เธอไม่ใช่แค่ของสะสม”
ถ้าบาร์บี้คือตุ๊กตาสาวรูปร่างหน้าตาสะสวยเปอร์เฟ็กต์มาดเจ้าหญิง “น้องไบลท์” ก็คือตุ๊กตาเด็กน้อยกะเปิ๊บกะป๊าบรูปร่างไร้ส่วนเว้าส่วนโค้งที่ยังต้องการ “เจ๊ดัน” มาปั้นให้เธอฉายแสงแห่งความสวยสง่า ไม่น่าแปลกใจ ที่ความสนุกสำหรับคนรักไบลท์ตัวจริงนั้นไม่ใช่แค่การมีเธอ (จำนวนเยอะๆ) ไว้แค่สะสม (หรือเก็งกำไรยามขายต่อ) แต่อยู่ตรงการได้ “ปั้นเติมเสริมแต่ง” ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเด็กน้อยให้กลายเป็นหญิงสาว
กิจกรรมหลักๆ ของคนรักไบลท์นั้น นอกเหนือจากการพาน้องไปเที่ยวถ่ายรูปตามที่ต่างๆ แล้ว จึงมีการ “คัสตอม” หรือการแปลงโฉมรวมอยู่ด้วย เริ่มตั้งแต่วิธีเล่นที่เบสิกสุดๆ คือ “การจับแต่งตัว” เปลี่ยนชุดตามแคแร็กเตอร์ของน้องรุ่นนั้นๆ…
“เสน่ห์อยู่ตรงความหลากหลาย เพราะชุดส่วนมากจะไม่หวือหวา ฟูฟ่อง แฟชั่นจ๋าเจ้าหญิงเหมือนบาร์บี้ แต่ชุดของน้องไบลท์จะเป็นชุดธรรมดาเหมือนกับที่คนใส่จริงในชีวิตประจำวัน อาจเป็นชุดแซก ชุดกระโปรงสั้น ใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น ฯลฯ แถมมีแอ็กเซสซอรี่เป็นผ้าคาดผม หมวก กระเป๋า สร้อยคอ รองเท้า ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนให้น้องได้เหมือนคนคนหนึ่งจริงๆ ผมของเค้าหวีได้ สระผมได้ อาบน้ำให้เค้าได้” แนน-จารวี รักยุทธ์ หนึ่งในหญิงสาวผู้หลงใหลความน่ารักของตุ๊กตาไบลท์ เล่าให้ฟัง
นอกจากเรื่องชุด ยังมีวิธีการคัสตอมขั้นแอดวานซ์ ไม่ว่าจะเป็นการเมกอัพ การต่อขนตา การติดเพชรที่ขนตา การเปลี่ยนสีตา การทำ sleep eye (หลับตาได้) การทำผม การใส่วิก เรื่อยไปจนถึงการทำผิวหน้าให้ด้าน (เพื่อให้ถ่ายรูปสวย เพราะส่วนมากผิวหน้าเมื่อออกจากโรงงานจะมีลักษณะมัน ทำให้เกิดเงาสะท้อนเวลาถ่ายรูป) ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ กลุ่มที่เล่นไบลท์ได้รวบรวมวิธี พร้อมรูปภาพประกอบอย่างละเอียดเอาไว้ให้ทำกันได้เองอย่างฟรีๆ ในเว็บไซต์ www.blythethailand.com
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไบลท์ตัวแรกเพียงตัวเดียวสามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกได้หลากหลาย ทำให้ผู้เล่นไม่ค่อยเบื่อ แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การดัดแปลงทรงผมทำได้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละรุ่นจะเจาะรูผมแตกต่างกัน ใช้สีผมแตกต่างกัน ตลอดจนเลเยอร์และชนิดของเส้นผมที่ต่างกัน (ผู้เล่นไบลท์บอกว่า เส้นผมก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแคแร็กเตอร์ด้วย) นั่นทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่ค่อยคัสตอมทรงผมหรือเปลี่ยนสีผม แต่กลับเลือกที่จะซื้อไบลท์ตัวที่ 2 3 4…
blythethailand.com…โลกออนไลน์ของคนรักไบลท์
เกือบ 2 ปีตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนคนรักไบลท์ในโลกไซเบอร์ เริ่มต้นด้วยจำนวนสมาชิกเพียงไม่กี่คน จนปัจจุบันยอดสมาชิกแตะหลัก 3 พันคน (ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมแฟนขาจรที่เข้ามาดูภาพสวยๆ และเทคนิคการคัสตอมแบบฟรีๆ) ที่สำคัญเว็บไซต์นี้เองทำกลุ่มคนเล่นไบลท์ที่ออนไลน์กระจัดกระจาย เริ่มปรากฏตัวออกมาจับกลุ่มและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่คนที่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังมีในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ที่ออกมาจัดมีตติ้งแล้วถึง 3 ครั้ง !
“ช่วงแรกตุ๊กตาไบลท์ในเมืองไทยหายากมาก เว็บนี้จึงเปิดขึ้นตอนแรกเพื่ออยากแชร์คนซื้อ ตอนนั้นเคยเข้าเว็บไซต์ในญี่ปุ่นก็ไม่มีหน้าที่ให้ลูกค้าสั่งซื้อ คือคนเล่นถ้าไม่บินไปซื้อที่ฮ่องกงเองก็ต้องรอซื้อราคาแพงในประเทศ” ไชยยศ กอสุวรรณพิพัฒ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Blythethailand.com กล่าว
ไบลท์ไทยแลนด์เป็นเว็บไซต์ภาษาไทยที่รวบรวมแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่คนรักไบลท์ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดตข่าวคราวคอลเล็กชั่นที่ออกใหม่, เรื่องราวน่ารู้ และประวัติความเป็นมาต่างๆ เกี่ยวกับตุ๊กตาไบลท์, tip และ technique วิธีการ custom Blythe, Blythe shop, บอร์ดพูดคุย สอบถามเกี่ยวกับตุ๊กตาไบลท์ ฯลฯ
จิตรลดา ศุภชัยมงคล อีกหนึ่งหัวแรงสำคัญของเว็บไซต์ไบลท์ไทยแลนด์ในส่วนของ
คอนเทนต์ เล่าให้ฟังว่า เธอเองเริ่มต้นจากความชอบไบลท์ แต่แทนที่จะสร้างบล็อกที่เขียนเรื่องราวของตัวเอง จึงหาเรื่องราวเกี่ยวกับไบลท์ที่น่าสนใจมาแปลแชร์ให้คนคอเดียวกันได้อ่าน
“ไบลท์เป็นมากกว่าตุ๊กตา อย่างการตกแต่งตุ๊กตาก็ถือเป็นงานศิลป์ชนิดหนึ่ง หรือแม้แต่การแต่งหน้าก็ได้ใช้เทคนิคสี ซึ่งคนชอบศิลปะก็ชอบตรงนี้ สำหรับคนถ่ายภาพ เวลาไปเที่ยวที่ไม่ชอบถ่ายตัวเอง พวกเขาก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านตุ๊กตาไบลท์ซึ่งมีแคแร็กเตอร์เหมือนพวกเขา หรือบางคนอาจจะคัสตอมตุ๊กตาเพื่อเสริมอารมณ์ในภาพถ่าย”
ที่ผ่านมา ไบลท์ไทยแลนด์ได้จัดเวิร์กช็อปมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกได้โตโยต้าเป็นสปอนเซอร์ในการสอนเย็บชุดฟรี ครั้งต่อมาสอนการถ่ายภาพตุ๊กตาฟรีโดยโอลิมปัส ซึ่งการตอบรับนั้นเป็นไปอย่างล้นหลาม ซึ่งแม้ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นผู้หญิง แต่ก็มีผู้ชายบางคนเข้าร่วมด้วย
ไม่ใช่แต่ผู้หญิง มีผู้ชายบางคนเล่นไบลท์เหมือนเล่นโมเดล จึงมีการคัสตอมเป็น “บอยไบลท์” ซึ่งว่ากันว่า…ราคาสูงมาก
จิตรลดายังบอกอีกว่า ประโยชน์ของการเล่นตุ๊กตาไบลท์นั้นมีแน่นอน เธอยกตัวอย่าง น้อง
กีกี้ (สมาชิกรุ่นแรกๆ) ที่เริ่มเล่นมาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ตอนนี้ช่วยคุณแม่เย็บชุดไบลท์ขายในเว็บไซต์ ยังมีโปรดักต์อื่นๆ อย่างหมวกสานใบจิ๋ว ที่มีแม่บ้านรวมกลุ่มกันทำขึ้นมาขายในกลุ่มคนเล่นไบลท์ ซึ่งทำเท่าไรก็ขายหมดทุกครั้ง จนทำไม่ทัน
Blythe impact…สารพัดธุรกิจจากความฮิตไบลท์
สาเหตุที่เสื้อผ้าตุ๊กตาไบลท์ส่วนมากนิยมตัดกันเองนั้น เพราะทั้งชุดและแอ็กเซสซอรี่ส่วนมากมักเป็นของนำเข้ามาจากต่างประเทศ ราคาของที่นำเข้าจึงมีราคาสูงเกินความจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความจริงคือ แม้ Takara หรือบริษัทแม่เจ้าของลิขสิทธิ์ตุ๊กตาจะอยู่ที่ “ญี่ปุ่น” แต่ประเทศที่เป็นแหล่งจำหน่ายแหล่งใหญ่เรื่องเสื้อผ้าและแอ็กเซสซอรี่ต่างๆ กลับกลายเป็น “ฮ่องกง” รองลงมาคือ “เกาหลี”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อละว่า สินค้าเจ้าตุ๊กตาตัวแค่นี้แพงกว่าของคนซะอีก ที่นำเข้ามาเสื้อผ้าถูกสุดๆ คิดเป็นเงินไทยแล้ว 250 บาทขึ้นไป ว่ากันว่า เทียบราคาชุดที่สั่งซื้อจากฮ่องกงตัวละ 800 บาท ที่เมืองไทยสามารถทำขายได้ในราคาไม่เกิน 200 บาท !
เห็นโอกาสอย่างนี้ “หญิง-พจนา หลีทอง” เจ้าของร้านตัวโปรดที่ยูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว หนึ่งในสาวกไบลท์ก็เลยได้ไอเดียผลิตเสื้อผ้าน้องไบลท์ขายซะเลย…
แต่เดิมร้านตัวโปรดขายตุ๊กตาผ้าอยู่แล้ว 3-4 เดือนก่อนนี่เองที่เพิ่งเปลี่ยนมาขายสินค้าเกี่ยวกับตุ๊กตาไบลท์ด้วย สำหรับตัวตุ๊กตาสนนราคาตั้งแต่ 3,900 บาทไปจนถึงหลักหมื่น ส่วนชุดที่สั่งตัดขายเอง โดยการรวมกลุ่มของแม่บ้านที่ตกงานในต่างจังหวัดมาเป็นแรงงานช่วยเย็บ (ที่ร้านมีขายทั้งปลีกและส่ง ราคาตั้งแต่ 150-300 บาท)
“จากกลุ่มแม่บ้าน 3-4 คนที่เคยเย็บชุดบาร์บี้ซึ่งส่วนมากเป็นชุดในนิยาย ก็ปรับดีไซน์ให้เย็บชุดเหมือนของคนธรรมดามากขึ้น โดยแบบก็นำมาจากชุดของคนจริงๆ เหมือนคนทั่วไปใส่ยังไง ชุดไบลท์ก็เป็นอย่างนั้น นอกจากชุดก็มีแอ็กเซสซอรี่อื่นๆ อีก เพราะคนเล่นไบลท์จะดูแลเหมือนเป็นเพื่อน จะหาหมวก รองเท้า กระเป๋า มีตู้เสื้อผ้า โต๊ะกินข้าวของเขาเอง” พจนากล่าว
นอกจากนี้ ที่ร้านตัวโปรดยังมีบริการ “โม” (modify) น้องไบลท์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำตาโต การทำ sleep eye เจาะปาก ใส่ฟันเหล็ก ทำผม ขัดหน้าให้ด้าน ฯลฯ เรียกว่า ทำทุกอย่าง อย่างที่เจ้าของต้องการให้เปลี่ยนแปลงแคแร็กเตอร์ตุ๊กตาตัวโปรด ซึ่งราคาค่าบริการมีตั้งแต่ 3,000 บาทไปจนถึง 10,000 บาท
ส่วนมากลูกค้าที่พาน้องไบลท์มาโมแต่ละครั้งก็จะทำหลายๆ อย่างไปเลย เพราะขั้นตอนในการโมนั้นต้องถอดนอตที่หัวออกมา สำหรับระยะเวลาในการโมแต่ละครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็มารับคืนได้แล้ว 😀
Do You Know
กระแสความฮิตของตุ๊กตาไบลท์ไม่เพียงจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มคนเล่นตุ๊กตา ในแวดวงแฟชั่น เราได้เห็นเสื้อเพนต์ลายตุ๊กตาไบลท์หลายต่อหลายแบบ ทั้งกระเป๋า ตุ้มหู แม้กระทั่งลายปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน กรอบรูป ฯลฯ สารพัดสิ่งของเครื่องใช้ที่ล้วนแต่มีภาพความน่ารักของตุ๊กตาไบลท์อีกครั้ง
นี่แหละ Blythe…ตุ๊กตาวินเทจที่คืนชีพกลับมาสร้างความอัศจรรย์ใจให้กับผู้คนในยุคนี้ !
ตุ๊กตาไบลท์ในเมืองไทย มีตั้งแต่ราคา 3,500 บาทไปจนถึงหลักหมื่น หลักแสน ขึ้นอยู่กับรุ่นและความเก่า ยิ่งเก่ายิ่งแพง ยิ่งหายากยิ่งราคาสูง !