จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 มีนาคม 2552 20:02 น.
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-อดิศร ฉาบสูงเนิน
รอยเส้นโค้งที่ทะเลสีครามกับท้องฟ้าสีฟ้าแตะต้องกัน เริ่มต้นจากจุดที่มีภูเขาและเกาะวางนิ่งทางด้าน ขีดยาวตีโค้งโอบมาทางซ้ายเป็นเส้นสวย ก่อนจะสิ้นสุดตรงกองโลหะสีมันวาวที่ผุดขึ้นมาจากขอบฟ้า สูงๆ ต่ำๆ ไล่เข้ามาในแผ่นดิน เป็นความสูงต่ำของปล่องไฟและสิ่งปลูกสร้างของโรงงาน
สายตาสามารถจำแนกแยกออกโดยทันทีว่า มันเป็นสิ่งรกเรื้อของทิวทัศน์ ทำให้ความเพลิดเพลินทางสายตาสะดุดอย่างไม่ควรจะเป็น
คุณลุง กนก จงใจ เฒ่าทะเลวัย 66 ปี อาสาพาเดินไปดูเรือประมงลำเล็กของแกที่จอดลอยคว้างไว้ไม่ไกลจากริมหาดพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ลุงกนกชี้ให้ดูลำแขนใหญ่หนา เส้นเลือดปูดโปน กับรอยยับย่นบนผิวมือกร้านคล้ำ มันเป็นเครื่องยืนยันวันเวลา ความโชกโชน และความแข็งแกร่ง คนวัยฉกรรจ์เห็นเข้าก็ยังต้องถอย
คุณลุงกนกคือหนึ่งในกลุ่มคนระยองที่ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อแผ่นดินถิ่นเกิดและวิถีหาเลี้ยงชีวิต…
ห้วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านเลย ข่าวศาลปกครองพิพากษาให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไม่แพ้เหตุการณ์ไร้สาระในสภา เหนืออื่นใด คำพิพากษาครั้งนี้อาจมีนัยอย่างสำคัญสำหรับการต่อสู้ของภาคประชาชนในอนาคต
คำพิพากษา-ทะเลแปลกหน้า
คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะและนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ย เพียงแต่ทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. ยอมรับคำพิพากษาโดยดีไม่มีการอุทธรณ์ จึงทำให้กรณีมาบตาพุดเป็นเป้าลอยเป้าเดียวที่สังคมสนใจ เมื่อมีแรงกดดันรายวันจากภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องการให้ประกาศเขตเทศบาลมาบตาพุด ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยต้องการให้มีการอุทธรณ์เพื่อหวังพลิกคำพิพากษา
‘จะเกิดผลกระทบต่อการลงทุน นักลงทุนต่างประเทศจะชะลอการลงทุน’ …เป็นเหตุผลอมตะนิรันดร์กาลของภาคอุตสาหกรรมที่ถูกหยิบใช้สม่ำเสมอ และโดยส่วนใหญ่รัฐบาลก็มักจะบ้าจี้ตามคำขู่เสียด้วย
(ไหนจะบอกว่าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูงมากๆ อยู่แล้ว ถามไถ่คนทั่วไปก็ให้งุนงงเต็มประดาว่า ถ้าดีอยู่แล้ว ทำไมคนมาบตาพุดต้องย้ายโรงเรียนหนี ทำไมคนมาบตาพุดจึงมีอัตราการเป็นมะเร็งสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ แถมยังมีงานวิจัยอีกเป็นกระบุงที่ยืนยันเรื่องนี้)
เพียงแต่ครั้งนี้ต่างออกไป เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธานมีมติว่าจะไม่อุทธรณ์คำตัดสินที่ให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่จะไม่ตัดสิทธิกรมควบคุมมลพิษในการอุทธรณ์ส่วนที่ระบุว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้จนกว่าจะถึงวันยื่นเอกสารอุทธรณ์ เพราะการสอดไส้อาจเกิดขึ้น ดังที่ สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก อธิบายว่า
“การอุทธรณ์อาจจะไม่ได้อุทธรณ์แค่กรณีละเลยเท่านั้น แต่จะเป็นการอุทธรณ์เรื่องเขตควบคุมมลพิษด้วย เราจะรู้ความจริงก็เมื่อเขามีการเขียนคำอุทธรณ์ส่งไปที่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อเห็นคำอุทธรณ์ก็จะบอกได้ว่าเขาอุทธรณ์เรื่องการละเลยหรืออุทธรณ์ทั้งกระบวนการ ถ้าเขาอุทธรณ์ทั้งกระบวนการก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะที่ประกาศออกมาแล้วว่าให้เจ้าหน้าที่อุทธรณ์ในประเด็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ซึ่งเรากำลังติดตามอยู่”
ท้องทะเลเปลี่ยนไปเป็นคนแปลกหน้า คนระยองในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมรู้ดีว่าพวกเขาไม่สามารถสนิทสนมกับทะเลได้เหมือนก่อน เดี๋ยวนี้ จันทร์เพ็ญ พันธุ์พิริยะ แม่บ้าน วัย 44 ไม่ได้พาลูกๆ หรือตัวเองลงเล่นน้ำทะเล ไม่กินอาหารทะเล ทำไมคงไม่ต้องบอก
‘เพราะได้รับผลกระทบเลยต้องออกมาเรียกร้องใช่มั้ย?’
เธอตอบแบบบ้านๆ ตรงไปตรงมา
“มันคัน ตากฝนแล้วมันคัน น้ำฝนก็ใช้ไม่ได้ พยายามจะใช้ให้ได้ แล้วน้ำบ่อก็มาแห้งอีก มันก็โมโหน่ะสิ มันหลายอย่าง ไปเล่นน้ำทะเลก็ไม่ได้ พาลูกไปเล่น ลูกก็ขึ้นหมดเลย คัน ญาติพี่น้องเป็นประมงเรือเล็กออกทะเลก็คัน”
ผลพวงแห่งคำพิพากษา-เฒ่าทะเลผู้ช่ำชอง
ท่ามกลางความสาหัสด้านเศรษฐกิจ สุ้มเสียงของภาคอุตสาหกรรมย่อมดังมากกว่าปกติที่ก็ดังมากอยู่แล้ว เพราะสังคมเกิดความรู้สึกว่าทำไมจึงต้องประกาศในห้วงเวลาที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน
แต่หากมองอย่างเป็นธรรม ประเด็นเรื่องจังหวะเวลาออกจะไม่สมเหตุสมผลนัก ข้อเรียกร้องของชาวมาบตาพุดที่ต้องการให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 แต่เมื่อรัฐบาลในขณะนั้นไม่รู้ร้อนรู้หนาว ชาวบ้านจึงยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง กระบวนการดำเนินตามปกติกระทั่งตัดสินเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 พอดี
ประเด็นที่ฟากฝ่ายอุตสาหกรรมวิตกกังวลก็คือแผนลดและขจัดมลพิษจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน โดยอ้างการชะลอการลงทุนของโครงการปิโตรเคมีเฟส 3 บ้าง การชะลอการลงทุนจากต่างประเทศบ้าง ซึ่งทางฝ่าย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ติดตามเรื่องมาบตาพุดมานาน แสดงความเห็นว่า
“ที่ผ่านมาในอดีตที่เรามีการเก็บรวบรวมข้อมูลใน 12 จังหวัดที่มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ มันไม่ได้มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดนั้น เรามีการเปรียบเทียบระหว่างปีก่อนที่จะมีการประกาศกับ 3 และ 5 ปีหลังมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษก็ไม่พบความเปลี่ยนแปลงในทางลบ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นปกติ บางจังหวัด เช่น สระบุรี สมุทรปราการ กลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย”
ดร.เดชรัตเห็นว่าการกระทบคงเกิดขึ้นในแง่ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับตัวและใช้เทคโนโลยีให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวไม่ถือว่าเป็นความเสียหายอย่างที่กังวล
จากการโทร. สอบถาม สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าทางโรงงานอุตสาหกรรมจะดำเนินการอย่างไรต่อ เขาบอกว่าขณะนี้ทางภาคอุตสาหกรรมจะขอรอดูสถานการณ์และระเบียบมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาก่อน เพื่อดูว่าจะมีผลกระทบแค่ไหน อย่างไร
ยิ่งเรื่องการท่องเที่ยวก็ยิ่งไม่มีผลกระทบดังที่มีคนพยายามกล่าวอ้าง ไม่ว่าจะหัวหิน พัทยา หรือภูเก็ต ก็ล้วนแต่เป็นเขตควบคุมมลพิษทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้เกิดผลเสียต่อการท่องเที่ยว ตรงกันข้าม กลับจะส่งผลดีในอนาคตและทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ
“ถ้าเป็นหอการค้าระยอง เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นไม่ได้รับผลกระทบอะไร หรือสมาคมการท่องเที่ยวระยอง ไม่มีปัญหา เขาบอกว่าไม่กระทบ และในระยะยาวจะทำให้การท่องเที่ยวดีขึ้น เพราะเมื่อภาคส่วนบางภาคถูกขีดวงให้แคบลง ภาคการท่องเที่ยวก็จะโตขึ้นเองตามธรรมชาติ” สุทธิอธิบาย
“โอ้โห สมัยนั้นออกไปแค่ 15 นาทีก็ได้ทั้งปู ทั้งปลา เอาไม่ไหวไม่หวาด เดี๋ยวนี้ออกไปครึ่งค่อนวันแทบไม่ได้อะไรเลย พื้นที่ก็เปลี่ยน ดินก็เปลี่ยน แต่ก่อนมันขาว เดี๋ยวนี้ไปทางด้านโน้นเขาขุดเอาดินในทะเล ตักขึ้นไปใส่ข้างบน กั้นเป็นเขื่อน ฝุ่นละอองนอนก้นทุกวันๆ ก็กลายเป็นเลน หนาเข้าๆ หอยก็ตายหมด เรื่องหากินเรารู้ว่าไปไล่เขาไม่ได้ แต่เรื่องมลพิษก็ขอให้ยั้งๆ บ้าง อย่าปล่อยเต็มที่ สงสารคนที่ไม่มีจะกินบ้าง”
คุณลุงกนกเป็นคนอารมณ์ดี แกบอกเล่าเคล้าเสียงหัวเราะทุกระยะว่าเดี๋ยวนี้ปูน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก พื้นที่ทำกินก็น้อยลงเพราะด้านหนึ่งติดกับเขตทหารในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี อีกด้านก็มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง ซ้ำยังห้ามไม่ให้เรือประมงเข้าไปใกล้ มันจึงบีบให้เรือเล็กๆ ของลุงกนกต้องออกห่างฝั่งดินเข้าหาฝั่งฟ้ามากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าปูจะมากตามความห่างไกล
ลุงกนกเดินเลาะริมหาดพลา เปิดบทสนทนาถึงอดีตสลับกับปัจจุบัน แต่ไม่มีเรื่องอนาคตเพราะยังไม่มีใครรู้
ว่ากันว่าลูกทะเลย่อมรู้จักทะเลมากกว่าคนบนฝั่ง ลองถามลุงกนกดู แกเล่าให้ฟังได้เป็นฉากๆ ถึงวิธีการดูเมฆ ไหนเมฆฝน ไหนเมฆลม ลมนอก ลมในเป็นยังไง ไอ้ที่เรียกกันว่าอุกาฟ้าเหลืองคืออะไร …คนไกลคลื่นไกลลมต้องฟังด้วยความอยากรู้อยากเห็นระคนทึ่ง แต่จะให้มาอธิบายต่อเห็นทีจะยาก
วางอนาคตร่วมกัน-รอยยิ้มแห่งชัยชนะ
หลายคนเข้าใจผิดว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษเท่ากับชาวมาบตาพุดประสบชัยชนะหลังการต่อสู้แรมปี ไม่ผิดอะไรถ้าจะรู้สึกเช่นนั้น แม้ว่าการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น
สุทธิเล่าว่าระหว่างรอให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา พวกเขากำลังเก็บรวบรวมข้อมูล งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาบตาพุด จากทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคราชการ เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นแผนลดและขจัดมลพิษ
“สิ่งหนึ่งที่พวกเราเห็นตรงกันก็คือต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องมีกลไกพิเศษคือต้องมีตัวแทน ต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดทำแผน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เราจะรับฟังกลุ่มต่างๆ นี้อย่างไร ใครคือตัวแทนกลุ่มเหล่านี้ ต้องออกแบบให้ชัดเจน กลุ่มโรงงานจากนิคมอุตสาหกรรมก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องทำข้อมูลมาให้ชัดเจนว่าอยากจะเห็นอะไรในเขตควบคุมมลพิษบ้าง”
โดยสรุป ณ ขณะนี้ ในส่วนของภาคประชาสังคมได้วางแผนการทำงานไว้ 3 ขั้นตอนคือ
หนึ่ง-รวบรวมข้อมูล งานวิจัยกรณีมาบตาพุดและผลสรุปจากเขตควบคุมมลพิษอื่นๆ ที่เคยประกาศไปแล้ว
สอง-นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นแผนลดและขจัดมลพิษ พร้อมทั้งประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน
และ สาม-นำแผนที่ได้ออกไปสำรวจสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน
เมื่อผลออกมาเป็นอย่างไรก็จะนำไปปรึกษาหารือหรือประยุกต์ใช้ร่วมกับแผนของหน่วยงานท้องถิ่นต่อไป
ดร.เดชรัต พูดถึงแผนรูปธรรมที่น่าจะต้องเกิดขึ้นเป็นตัวอย่างว่า
“มีรูปธรรมสองสามประการที่เราพูดในแง่หลักการ เช่น ขณะนี้น้ำบ่อตื้นในพื้นที่มาบตาพุดไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะมีโลหะหนักปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกิน แผนปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้นจะตอบได้หรือไม่ว่าในเวลา 3 ปี ชาวบ้านจะมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต หรือการที่มีปรอทปนเปื้อนในน้ำ ในทะเล ในอากาศ เราต้องพิจารณาค่ามาตรฐานของปรอทหรือไม่ เพราะในปัจจุบันนี้อาจจะยังไม่มีค่ามาตรฐานของปรอท รวมถึงการที่โรงงานมีการขยายตัวออกไปครอบพื้นที่ชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดเรื่องที่มาบตาพุดจนทุกวันนี้ เพราะแต่เดิมมีการกันพื้นที่เป็นพื้นที่กันชน ต่อมารัฐบาลมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วง อุตสาหกรรมกับชุมชนก็เลยอยู่ชิดกัน เราจะกำหนดเขตการใช้ที่ดินอย่างไรเพื่อให้พื้นที่กันชนดั้งเดิมกลับมีขึ้นมาใหม่ เป็นต้น”
อาการภูมิแพ้ในครอบครัวจันทร์เพ็ญรวมถึงตัวเธอเองมีสภาพไม่ผิดแผกข่าวคราวที่เคยได้ยิน เธอพูดติดขำปนขมว่าอนาคตตัวเธอเองอาจจะได้มะเร็งด้วย …ไม่รู้ว่าเป็นของขวัญหรือคำสาป
“วันที่ศาลตัดสินพี่ก็ไปฟัง ดีใจ อู้หูย น้ำตาแทบร่วง บรรยายออกมาเป็นคำพูดแทบไม่ถูก ไม่ได้เฮ เอะอะโวยวาย ออกมาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มทั้งวัน อิ่มอกอิ่มใจ”
ท้องฟ้าร้างเมฆส่งแดดระยับตกกระทบท้องถนน ร้อนเสียจนน้ำในตัวแทบเหือด บอกลาจันทร์เพ็ญเพื่อขอตัวเข้าไปดูพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม
ก่อนลา เธอทิ้งท้ายเหมือนกับจะรู้แกวภาครัฐว่า เรื่องยังไม่จบ ต้องตามดูต่อ
“ไม่มั่นใจ เรายังกลัวนโยบายของรัฐบาล ทุกอย่างมันมีช่องว่างช่องโหว่”
จุดเปลี่ยน-เส้นขอบฟ้าที่ไม่มีจริง
ดังที่บอกไว้แต่ต้นเรื่อง การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษหรือการชดเชยความเสียหายให้แก่ชาวแม่เมาะไม่ได้หยุดความสำคัญไว้โดยตัวมันเองเพียงเท่านี้ เราจะเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญ 3 จุดตั้งแต่กระบวนการก่อนหน้าของภาคประชาชน, คำพิพากษาของศาลปกครอง และการตัดสินใจไม่อุทธรณ์ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลต่อการต่อสู้ภาคประชาชนในอนาคตแน่นอน
สุนี ไชยรส หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่าการประสานสรรพกำลังระหว่างภาคประชาชนและภาควิชาการทำให้มีข้อมูลที่แข็งแรงพอจะยันข้อเท็จจริงในชั้นศาลได้ และจะเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นอื่นๆ
สอง-คำพิพากษาของศาลปกครองจะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และจะเกิดการบังคับใช้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องอ้างเรื่องการไม่มีกฎหมายลูกกำกับเสียที
“เมื่อศาลปกครองมีคำวินิจฉัยอย่างนี้จึงถือเป็นจุดที่ดีมาก เพราะทำให้เห็นชัดว่าอย่ามองปัญหารูปธรรมที่ชาวบ้านเรียกร้องเป็นชิ้นๆ ไปตามกฎหมาย แต่ต้องดูภาพรวมโดยอิงรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง”
และสาม-รัฐบาลเองก็ได้สร้างมาตรฐานใหม่ แทนการใช้มาตรฐานสำเร็จรูปเหมือนทุกครั้งที่ไม่ว่าจะยังไงเป็นต้องอุทธรณ์ไว้ก่อน แม้ว่าคนกำลังจะตายอยู่ต่อหน้า
ลมทะเลพัดตึงตัง ลุงกนกยืนมองทะเล สำหรับคนนอกคงมองเห็น ‘ความเป็นอยู่’ ของทะเล แต่ลุงกนกมองเห็น ‘ความเป็นไป’ ของทะเล แกยังคงคุยไปหัวเราะไปบอกว่าพรุ่งนี้เช้าต้องออกไปกู้อวนตามกิจวัตรชาวประมง
มีเรื่องเล่าของตังเกหนุ่มคนหนึ่งละทิ้งครอบครัวและญาติมิตรออกเรือตามหาสมบัติที่ฝังอยู่ตรงเส้นขอบฟ้า จุดบรรจบของฟ้าและทะเล หวังกอบสมบัติเต็มลำกลับมาให้ลูกเมียสุขสบายทั้งชาติ เขาเดินทางแรมปีจนเรียนรู้ว่าเส้นขอบฟ้าเป็นเพียงเส้นสมมติ ไม่มีวันไปถึง เขาเดินทางกลับ พบหน้าครอบครัวญาติมิตรเตรียมหากุ้ง หอย ปู ปลาสดๆ จากทะเลให้เขากินจนอิ่มหมีพีมัน เขาได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว ทรัพย์สมบัติที่ตามหาอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเลย
เมื่อมองดูเส้นขอบฟ้าด้วยกัน ลุงกนกห่วงว่าลูกหลานวันข้างหน้าจะไม่มีปูปลาให้หากิน...
เขตควบคุมมลพิษ???
เขตควบคุมมลพิษ หรือ Pollution Control Area ใน พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 59 ระบุว่า
“ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้”
โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ประเภทคือ มาตรการด้านกฎหมายและมาตรการการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ทั้งนี้เพื่อดูแลและบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อม ส่วนการจะกำหนดว่าพื้นที่ใดควรประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจะพิจารณาจากดัชนีชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือตัวแปรที่บ่งชี้ภาวะมลพิษด้านต่างๆ
เขตควบคุมมลพิษที่มีการประกาศไปแล้ว ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 17 พื้นที่ประกอบด้วย 1.เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี 2.จังหวัดภูเก็ต 3.อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 4.อำเภอเมืองสงขลา 5.หมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 6.จังหวัดสมุทรปราการ 7.จังหวัดปทุมธานี 8.จังหวัดนนทบุรี 9.จังหวัดสมุทรสาคร 10.จังหวัดนครปฐม 11.อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 12.อำเภอเมืองเพชรบุรี 13.อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 14.อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 15.อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 16.อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 17.ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี