จาก ASTVผู้จัดการรายวัน วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2552
‘รอมลี อูมา’ เป็นชายร่างเล็ก ผิวออกดำแดง ยามเขายืนบนฝั่ง แลดูกลมกลืนไม่โดดเด่นไปกว่าใครๆ กระทั่งเขาหยัดกายอย่างองอาจเบื้องหน้าท้องน้ำสีคราม ใต้ผืนฟ้าที่แผ่ห่ม ด้วยกิริยาสงบนิ่ง เยือกเย็น แม้ยามลำเรือปะทะคลื่นไหวเอน เมื่อนั้น รอมลี อูมา คือราชาแห่งเรือหาปลา…เรือประมงลำเล็กๆ ของตัวเขาเอง ซึ่งไม่ว่าพื้นที่สีแดงของเมืองนราธิวาสจะขยายใหญ่โตสักเพียงไร เขาจะยังออกเรือหาปลาอยู่เช่นนั้น…เช่นที่เคยเป็นมา
แลเล
เรือของรอมลี ไม่ใช่เรือกอและลวดลายประณีตซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนราธิวาส ในเมื่อทุกวันนี้ ความวิจิตรบรรจงที่ฝังลงบนเนื้อไม้ตะเคียนทอง มาพร้อมกับมูลค่าที่เกินกว่าลูกเลอย่างเขาจะอาจเอื้อมเป็นเจ้าของ เช่นนั้นแล้ว เรือประมงท้ายตัด ติดเครื่องยนต์ ดัดแปลงลวดลายพอฉาบฉวยผิวเผิน ให้แลดูคล้ายเรือกอและดั้งเดิม จึงเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าเหมาะควรกับตนมากกว่า
“เรือกอและลำหนึ่งราคาเป็นแสนนะครับ อย่างผมไม่มีปัญญาหรอก ก็ใช้แต่เรือท้ายตัดแบบนี้”
รอมลี บอกกล่าวด้วยน้ำเสียงสบายๆ ก่อนพาเราเดินย่ำไปบนหาดทรายขาวสะอาดของชายทะเลบ้านทอน อาณาเขตที่ผืนฟ้า ผืนน้ำและผืนดินนัดพบกันด้วยท่าทีสงบเงียบ เป็นบรรยากาศปรกติสามัญอย่างที่คนนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยคนนักจะวาดภาพขึ้นในใจ แต่ชายทะเลใต้ฝ่าเท้าของเราและรอมลีในวันนั้นเป็นเยี่ยงนั้น
เป็นมุมหนึ่งของเมืองนราธิวาส ที่หลากหลายชีวิตยังคงดำเนินไปตามวิถีของตน
“ผมออกเรือตั้งแต่อายุ 12 ปี จนตอนนี้ 40 ปีแล้ว ช่วงเดือน 12 ชาวประมงจะลำบากมาก เพราะเป็นช่วงมรสุม เราต้องหยุดออกเรืออย่างน้อย 2 เดือน ช่วงนั้นก็ต้องทำงานรับจ้างไปเรื่อย เขาจ้าง 20 บาท 30 บาท ก็ต้องไป
“ลำบากนะครับ การทำประมง เพราะบางปีก็มีหน้ามรสุมนาน ตั้งแต่เดือน 12 เลยไปจนเข้าเดือน 3 ของปีถัดไป ออกเรือไม่ได้เลย เพราะว่าคลื่นยังแรงอยู่มาก เมื่อหมดหน้ามรสุม ถึงเวลาออกหาปลาได้อีกครั้ง ผมยังเคยออกเรือไปไกลจนมองไม่เห็นฝั่งเลย มองเห็นแต่ภูเขาอยู่ลิบๆ ” รอมลี บรรยายภาพชีวิตช่วงหนึ่ง ก่อนลาไปออกเรือ
สมอเรือถูกยก เสียงเครื่องยนต์เริ่มคำราม บอกให้รู้ว่าตัวของมันและผู้เป็นนายพร้อมจะมุ่งทะยานสู่อ้อมกอดของโค้งน้ำและแผ่นฟ้า
“วันนี้ ไม่มีมรสุม”…ก่อนก้าวลงเรือ รอมลี บอกไว้อย่างนั้น
คล้อยหลังไม่นานนัก เพื่อนชาวเลพร้อมลำเรืออีกหลายสิบลำเริ่มทยอยยกสมอ ติดเครื่องยนต์ มุ่งหน้าสู่ท้องน้ำที่คุ้นเคย
รักษ์เล
“บ้านใครใครก็รัก บ้านใครใครก็หวง บ้านเราเราก็รัก บ้านเราเราก็ห่วง. มาช่วยเป็นหูเป็นตา มาดูทะเลบ้านเรา จะจับปลาก็ไม่ว่า แต่อย่าผิดกฎหมาย ..อวนลากอวนรุน แม่ตายลูกตาย …มาช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลทะเลบ้านเรา ปลาเราเราก็รัก อู่เราเราก็หวง เต่า เล ปะการัง กุ้งกั้ง เราก็ห่วง …มาช่วยเป็นหูเป็นตา ดูแลทะเลบ้านเรา”
เสียงขับเห่บทเพลงสำเนียงไทยผสมมลายู ดังก้องไปทั่วริมหาดบ้านทอน แม้เมื่อเรือกอและดัดแปลงหลายสิบลำ ลอยล่องอยู่กลางน้ำลึก เสียงเพลงที่บังคนหนึ่งเห่ปลุกขวัญ ก็ยังคงแว่วอยู่ในใจ
รอมลีอยู่บนนั้น บนเรือของเขาที่ทอดลอยไม่ไกลจากเรือสังเกตการณ์ของเรานัก
เขาหยิบทางมะพร้าวขึ้นผูกกับไม้ไผ่อย่างคล่องแคล่ว ฉับไว ก่อนจะค่อยๆ นำไปถ่วงกับถุงทราย แล้วหย่อนลงผืนน้ำ
ทางมะพร้าวก้านยาวสีเขียวสด ราว 3-4 ก้าน พร้อมถุงทราย ค่อยๆ จมหายไป…อันแล้ว อันเล่า แต่ไม่เพียงเฉพาะเรือของรอมลีที่บรรทุกทางมะพร้าว ไม้ไผ่ และถุงทราย เพื่อมาผูกถ่วงให้จมหายไปกลางทะเลลึก หากเรือทุกลำที่มุ่งหน้าออกจากฝั่งบ้านทอนในครานั้น ล้วนทำไม่ต่างกัน มันคือการ‘วางซั้ง’ ภูมิปัญญาอันเรียบง่ายของชาวประมง ที่ถ่ายทอด สืบต่อแก่ลูกหลานมานานเนิ่น
ทางมะพร้าวผูกกับไม้ไผ่ ถ่วงด้วยถุงทราย หรือ ‘ซั้ง’ ที่ว่านี้ ถือเป็นปะการังเทียมที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์ปลา เป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษชาวเล ผู้มุ่งหวังให้ตลอดทั้งน่านน้ำมีปลาไม่ขาดแคลน เพื่อลูกหลานจับปลาได้ไม่มีอด
“ส่วนมากชาวประมงเขาจะปล่อยซั้งกัน เป็นระยะๆ คือ ประมาณ เดือน 3 , เดือน 7 ที่ต้องปล่อยช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่ปลาวางไข่
“ความรู้ ในการวางซั้งได้รับการบอกเล่า สืบทอดมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ เราเป็นลูกหลาน ผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็บอกสอน จุดสังเกตในการวางซั้ง ต้องไปลึกๆ ระดับน้ำจากผิวถึงพื้นประมาณ 12-15 วา ซั้งช่วยให้มีปลาเยอะ และป้องกันเรืออวนรุนอวนลากไม่ให้เข้ามา เป็นที่วางไข่ของปลาด้วย วางซั้งไว้สักหนึ่งสัปดาห์ถัดมา ปลาก็โต จับได้แล้ว การวางซั้งคือภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทำให้ทุกคนอนุรักษ์พันธุ์ปลา ไม่มีใครคิดทำลายพันธุ์ปลา”
รอมลี อธิบายไว้ ก่อนลงเรือมาวางซั้งกลางน้ำลึก
“ซั้งที่หย่อนลงไปจะกลายเป็นอาหารให้ปลา ปลาชอบทางมะพร้าวใหม่ๆ มันหอม”
ทางมะพร้าวสีเขียวสดนับไม่ถ้วนจากหลายสิบลำเรือ จึงถูกหย่อนลงผืนน้ำให้ปลาเล็กปลาน้อยได้ตอดแตะ ขบกลืน และวางไข่
รักษ์เรือ
หากการวางซั้งของชาวเล คือการ ‘รักษ์’ ทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขา ย่อมกล่าวได้ไม่ต่างกัน ว่า ความตั้งใจของ ‘รุสลี บินตอเลาะ’ ที่มุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก สัมผัสกับเรือกอและ ผ่านความประณีตบรรจง ของ ‘เรือกอและจำลอง’ นั้น ย่อมถือเป็นการ ‘รักษ์’ สิ่งล้ำค่าของท้องถิ่นเช่นกัน
ต่างเพียงว่า ไม่ใช่การอนุรักษ์พันธุ์ปลาหรือท้องทะเล หากคือการรักษาและสืบต่อภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษแห่งชายทะเลบ้านทอน เมืองนราธิวาส ได้ถ่ายทอดสั่งสมผ่านลวดลายและลำเรือ
“เดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยมีใครใช้เรือกอและกันแล้ว แถบนราธิวาสนี่ ผมเคยเห็นอยู่ 5 ลำได้มั้ง เพราะว่าไม้แพง ใช้เวลาทำก็นาน อุปกรณ์ในการทำก็เยอะ ทุกวันนี้ เขาจึงหันมาใช้เรือท้ายตัด ติดเครื่องยนต์ มันใช้ระยะเวลาในการทำไม่นาน ค่าใช้จ่ายก็ไม่เยอะ ถ้าเป็นเรือกอและแท้ๆ ที่คนสมัยก่อนเขาใช้กัน ต้องใช้เวลาทำนานไม่ต่ำกว่า 1 ปีเลยนะ”
รุสลี บอกว่า เรือกอและเมืองนราฯ นั้น เมื่อออกทะเลจะโดดเด่นกว่าเรือหาปลาของที่ไหนๆ เพราะลวดลายบนลำเรือที่สวยงาม สะดุดตา แต่ใช่เพียงเท่านั้น
“นอกจากลวดลายแล้ว ลักษณะของลำเรือก็แตกต่าง เพราะเรือกอและจะมีลำเรือที่เรียวสวย มีความพลิ้ว อ่อนช้อย แล้วก็ยังจุคนได้เยอะ จุปลาได้เยอะ”
รุสลี ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนว่า เวลาที่เขาทำเรือกอและ จะไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว แต่ใช้กาวที่ทำจากยางไม้ธรรมชาติ และใช้วิธีประกอบไม้ให้ขัดหรือต่อกันได้พอดี โดยไม่ต้องตอกตะปู เมื่อใช้เพียงวัสดุธรรมชาติ เรือกอและขนานแท้จึงมีอายุใช้งานนาน 10-20 ปี และนอกจากความสวยงามกับความทนทานแล้ว เรือกอและยังมีขนาดพื้นที่สำหรับประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่าด้วย
“เรือกอและขนานแท้ เขาไม่ทำขนาดเล็กๆ กันหรอกครับ แต่จะสร้างให้มีขนาดยาวถึง 12 วา หรือราว 20 เมตรเลยนะครับ จุคนได้อย่างน้อย 30 คน ส่วนไม้ที่ใช้สร้างเรือคือไม้ตะเคียน และไม้พยอม ยิ่งถ้าเป็นไม้ตะเคียนทองจะยิ่งดีเพราะว่ามันแข็งแรง ทนทาน อยู่ได้นานเป็นสิบๆ ปีแต่เดี๋ยวนี้ไม้ตะเคียนทองหายาก เขาจึงหันมาใช้ไม้ตะเคียนทรายแทน ซึ่งเนื้อไม้จะอ่อนลงมาหน่อย คล้ายกับไม้พยอม เหตุผลหนึ่งที่คนทำและใช้เรือกอและน้อยลงเรื่อยๆ ก็เพราะไม้ตะเคียนทองหายากและราคาแพงมาก”
หลังจากบอกกล่าวถึงเรือกอและแบบดั้งเดิม รุสลีจึงเริ่มเล่าถึงความเป็นมาของ ‘ศูนย์ทำเรือกอและจำลองบ้านทอน’ ที่เขาก่อตั้งขึ้น
“กลุ่มเรือกอและจำลองก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 เหตุผลสำคัญก็เนื่องจาก ผมเริ่มสังเกตเห็นว่า สภาพความเป็นอยู่ของเยาวชนในหมู่บ้าน จะมีทั้งที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีทุนเรียนต่อก็มี รวมไปถึงเด็กกำพร้า เห็นเด็กๆ เขาอยู่กันไปวันๆ ตกกลางคืนก็มั่วสุมกันอยู่ตามชายหาด ในความคิดของผม หากปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไป อาจมีปัญหา ทั้งเรื่องเด็กว่างงาน และปัญหาเรื่องยาเสพติด”
ด้วยเหตุนี้ รุสลี จึงตั้งศูนย์ทำเรือกอและจำลองขึ้น รวบรวมเยาวชน ให้มารวมกลุ่มใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็นับเป็นการสืบสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วย เพราะเห็นว่า เรือกอและคือผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของหมู่บ้าน
“เรือกอและจำลองนี้ ผมทำขึ้นจากไม้กระท้อนล้วนๆ โดยนำไม้กระท้อนทั้งท่อนมาผ่าเป็นแผ่นๆ แล้วก็วาดลาย จากนั้นแกะสลัก หรือฉลุตามลายที่วาดไว้ แล้วจึงลงสีเหลืองเพื่อรองพื้น และเขียนลายทับอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงประกอบลำเรือ”
รุสลี บอกว่า ลายของเรือกอและจำลองที่เขาและเยาวชนในศูนย์ทำขึ้น มีอยู่ 3 แบบ คือ ลายไทย ลายชวา หรือลายอินโดนีเซีย และลายไทยผสมลายชวา แต่เมื่อถามลึกลงไปว่า ลายแบบต่างๆ นั้น มีลักษณะ รูปทรง หรือชื่อเรียกว่าอย่างไรบ้างนั้น รุสลีตอบละเอียดไม่ได้ เพราะลวดลายที่วาดออกมา เป็นการปลดปล่อยตามจินตนาการ
“ตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่มีการตั้งชื่อลายของเรือกอและหรอกครับ เขาจะวาดออกมาอย่างที่เขาจินตนาการ เรือกอและจำลองของกลุ่มผมก็เหมือนกัน หากมีลูกค้าสั่งจะเอาลายนั้นลายนี้ เด็กจะทำไม่ได้หรอก เพราะเขาจะวาดออกมาอย่างที่เขาจินตนาการ แต่แน่นอนว่าสวย และลูกค้าชอบ”
สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำเรือกอและจำลอง รุสลีบอกว่า คือ การเขียนลาย เพราะมือต้องนิ่ง ต้อง มีสมาธิ ต้องมีความปราณีต และสำคัญที่สุดต้องแม่นยำ
แล้วส่วนประกอบของเรือกอและ มีอะไรบ้าง? รุสลี อธิบายถึงเรือกอและจริงๆ ว่า มีตั้งแต่ หัวเรือ, บางา (ส่วนที่ทำไว้ผูกสมอเรือเวลาทิ้งสมอ), ซางอ ( เป็นส่วนที่มีไว้พักเสากระโดงเรือ และเอาอวนมาแขวนไว้), กอแย (มีไว้สำหรับเกี่ยวไม้พาย และผูกหางเสือ), เสากระโดง, พายเรือ, สมอเรือ และ…
“แล้วก็มี ‘ตูมุง’ ซึ่งเป็นช่องในเรือที่คนสมัยก่อนเขาจะเจาะไม้ให้กลวง ทำไว้ใส่ข้าวใส่อาหาร ซึ่งข้าวที่ใส่ไว้ในตูมุง แม้จะผ่านไป 2-3 วัน ข้าวก็จะยังอุ่นอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีตูมุงกันแล้ว ออกเรือเขาก็เอาหม้อหุงข้าวไปด้วย ส่วนประกอบอื่นๆ ที่เหลือก็มี ‘ตาแย’ หรือโอ่งใส่น้ำ แล้วสุดท้าย ก็คือหางเสือ”
เหล่านั้นคือองค์ประกอบของเรือกอและจริง ซึ่งหากย่อส่วนในรูปของเรือจำลอง รุสลี บอกว่า เรือกอและจำลองขนาด 1 เมตร ขึ้นไป จะมีส่วนประกอบเหล่านี้ครบถ้วน แต่ถ้าขนาดเล็กกว่านั้นลงมา คือราว 6-10 นิ้ว จะขาดไปบางส่วน
“ถ้าเราทำเรือลำเล็กๆ ลำเรือมันจะแคบทำตาแย กับตูมุงไม่ได้ แต่นอกนั้นมีครบ ขนาดเรือ 1 เมตรขึ้นไป จะทำได้พอดี ส่วนประกอบที่ทำยากที่สุดก็คือ ‘ตูมุง’ เพราะต้องนำไม้มาทั้งท่อน แล้วเจาะให้กลวง ใช้สิ่วเจาะ เหมือนเรือจริงที่ทำไว้ใส่ข้าว ใส่อาหาร”
น้ำเสียงของรุสลี บอกลเอย่างกะตือรือร้น แม้เมื่อบทสนทนามาจบลงตรงความฝันและความตั้งใจของเขา ที่ว่า
“ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากจะทำเรือกอและจริงๆ ให้ได้สักลำ ทำไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูของจริง แต่อย่างที่บอกแหละครับว่าไม้หายาก และราคาก็แพงมาก ส่วนใครที่ต้องการให้ผมสอนทำเรือกอและ บอกได้เลยครับ ผมยินดีไปสอนให้ฟรี เพราะถ้าเราไม่อนุรักษ์ไว้ เด็กรุ่นหลังจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลย”
‘มันเป็นเรือที่สวยมาก…สวยมากจริงๆ’
รุสลี ยังคงย้ำอยู่อย่างนั้น
……….
เรื่องโดย : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ถ่ายภาพโดย : อดิศร ฉาบสูงเนิน
หมายเหตุ
– ศูนย์ทำเรือกอและจำลองบ้านทอน ตั้งอยู่ที่ 256 / 2 ม.10 ต.โคกเคียน อ. เมือง จ. นราธิวาส โทร. 073-565024
– ขอขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มา ณ ที่นี้