marinerthai

ตราดเกาะช้าง…ในวันที่ไม่จำเป็นต้องเห็นทะเล และหาดทราย

จาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายงานโดย : ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ

ในช่วงที่ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนเทกระหน่ำลงมาแทบทุกวันเช่นนี้

คงมีน้อยคนนักที่คิดจะเดินทางไปท่องเที่ยวในแถบจังหวัดที่ติดกับชายทะเล … ยิ่งถ้าหากนึกอยากไปสัมผัสกับธรรมชาติในบรรยากาศแบบทะเลๆ ละก็ ภาพวันที่ท้องฟ้าสดใส ท้องน้ำสีครามตัดกับพื้นทรายสีขาวละเอียดนุ่มเท้าคงมีอยู่แค่เพียงในจินตนาการ

แต่หากลองนึกดูดีๆ … ในแง่มุมของการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน บางทีเจ้าบรรยากาศแบบนั้นอาจไม่ได้มีความสลักสำคัญมากนัก ความสวยงามของสถานที่หรือบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ ความจริงก็เป็นแค่เพียงองค์ประกอบหนึ่งที่นำไปสู่ “ความสุข” ที่เกิดจากการเดินทาง … ในวันฟ้าหม่นๆ ทะเลขุ่นๆ ตราดเกาะช้าง อาจดูเหมือนซึมเซาเงียบเหงาจากสีสันของนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่นิยมมาเยือนในช่วงวันฟ้าใส แต่ไม่ว่าผู้คนจะคึกคักหรือสร่างซา วิถีชีวิตของคนชายทะเลและชาวเกาะก็ยังคงดำเนินต่อไป ลมหายใจของผู้คนในชุมชนยังคงเข้าออก และเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของกิจวัตร ภาพการดำเนินชีวิตในฉากจริงอาจแตกต่างจากภาพที่ถูกสร้างขึ้น ตราดเกาะช้าง ในบางแง่มุมนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจยังไม่เคยรู้จัก

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ตราดเกาะช้าง มีแหล่งท่องเที่ยวทางด้านชุมชนที่น่าสนใจ (ที่เคยได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว) ถึง 4 แห่ง ในบริเวณที่ไม่ห่างกันมากนัก

รอยยิ้มและวิถีอันเรียบง่าย… โฮมสเตย์บ้านห้วยแร้ง

หากเดินทางจากกรุงเทพฯ บ้านห้วยแร้ง อยู่ก่อนถึงตัวเมืองตราดประมาณ 10 กม. เส้นทางเข้าบ้านห้วยแร้งเป็นถนนลาดยางขนาดเล็กที่ลัดเลาะไปตามสวนผลไม้ สลับกับธรรมชาติที่เป็นป่าไม้และลำคลอง จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติ ผู้คนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายและพอเพียง รอยยิ้มและอัธยาศัยที่ดีของผู้คนในชุมชนเป็นสิ่งแรกๆ ที่สามารถสัมผัสได้ สิ่งน่าสนใจที่เป็นจุดเด่นคือ วิสาหกิจชุมชนที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น สบู่เปลือกมังคุดที่ใช้แม่พิมพ์จากบ้องไม้ไผ่ ข้าวห่อกาบหมาก ที่เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่นำวัสดุในท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นภาชนะใส่อาหาร การล่องเรือชมธรรมชาติริมคลองห้วยแร้ง ด้วยเรือหางยาวเล็กของชาวบ้านที่ทำจากพีวีซี และการพักร่วมกับชาวบ้านในรูปแบบโฮมสเตย์ เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบ้านสวน ยามค่ำคืนสามารถออกไปตกกุ้งหลวงร่วมกับชาวบ้าน

ย่านค้าขายเก่ากลางเมืองตราด … ชุมชนรักษ์คลองบางพระ

ย่านริมคลองบางพระเคยเป็นชุมชนการค้าอันเก่าแก่ของ จ.ตราด เป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ ริมคลองบางพระจึงยังคงมีเรือนแถวไม้เก่าแก่ที่เคยเป็นร้านค้า ยังคงมีร้านค้าแบบโบราณหลงเหลืออยู่บ้างอย่างร้านขายยาไทย จุดเด่นที่น่าสนใจที่สุดของชุมชน คือการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไบโอดีเซล ที่รับซื้อน้ำมันเก่าที่เหลือใช้จากการทำอาหารในครัวเรือน มาผ่านกระบวนการต่างๆ จนสามารถกลายเป็นไบโอดีเซลที่ได้มาตรฐาน จากนั้นขายคืนให้คนในชุมชนในราคาที่ถูกกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไป

‘งอบน้ำเชี่ยว’ กับชุมชนพุทธและมุสลิมริมป่าชายเลน

บ้านน้ำเชี่ยวเป็นหมู่บ้านที่เป็นเส้นทางผ่านก่อนจะขึ้นเรือไปเกาะช้าง ตั้งอยู่ประมาณกิโลเมตรที่ 7 ของถนนตราดแหลมงอบ เป็นหมู่บ้านริมทะเลที่มีคลองน้ำเชี่ยวไหลผ่าน เป็นชุมชนที่มีคนพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อยู่ร่วมกันมานานด้วยความสมานฉันท์ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์ ตั้งอยู่ใกล้ปากอ่าว มีเส้นทางเดินเล็กๆ ให้เดินลัดเลาะเลียบไปตามริมคลองน้ำเชี่ยว รายล้อมไปด้วยบ้านเรือน มัสยิด และเรือประมงพื้นบ้านที่จอดเรียงรายอยู่ในลำคลองช่วงใกล้ปากอ่าว ไปจนสุดทางเข้าพื้นที่ป่าชายเลนจะมีสะพานไม้ที่ทำไว้ให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีหอดูนก และมีสิ่งน่าสนใจที่โด่งดังอีกอย่าง คือ “งอบน้ำเชี่ยว” ซึ่งเป็นหมวกที่สานจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่บรรพบุรุษชาวตราดสืบทอดมาช้านาน

Share the Post: