จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 มีนาคม 2553
ลุล่วงไปแล้วสำหรับปฏิบัติการสำรวจแอนตาร์กติกาอันหนาวเหน็บของ “ดร.สุชนา ชวนิชย์” หญิงไทยคนแรกที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งพบอุปสรรคทั้งทะเลน้ำแข็งที่หนากว่าปกติทำให้การเดินทางล่าช้า หรือพายุหิมะพัดกระหน่ำจนต้องหยุดภารกิจ แต่งานทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย
“สุชนาทำงานได้ครบทุกอย่างตามเป้าหมาย แต่มีเรื่องจำนวนงานที่อาจจะลดไปจากที่ตั้งเป้าไว้ เช่น สำรวจทะเลสาบที่กำหนดไว้ 10 แห่ง ก็สำรวจได้เพียง 3-4 แห่ง เป็นต้น” ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์วัย 38 ปีจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ หลังกลับจากการเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์ติกา และเพิ่งมาถึงเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 มี.ค.53 ที่ผ่านมา
อุปสรรคก้อนแรก น้ำแข็งหนา 4.5 เมตร
ทั้งนี้ ดร.สุชนาได้เดินไปสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่น คณะที่ 51 (Japanese Antarctic Research Expedition: JARE-51) ณ สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ของประเทศญี่ปุ่น เกาะอีส อองกูร์ (East Ongul Island) ทวีปแอนตาร์ติกา ตั้งแต่เดือน พ.ย.52 ที่ผ่านมา โดยเดินทางไปกับเรือตัดน้ำแข็งลำใหม่ของญี่ปุ่น “ชิเรส 2” (Shirase II) ซึ่งจอดรอคณะเดินทางอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรเลียฝั่งตะวันตก และใช้เวลาเดินทาง 3 สัปดาห์จึงไปถึงขั้วโลกใต้
การเดินทางสู่ทวีปแอนตาร์กติกาของคณะสำรวจเจออุปสรรคตั้งแต่การเดินทางด้วยเรือตัดผ่านทะเลน้ำแข็ง ซึ่งแม้เรือชิเรสจะได้รับการออกแบบมาใหม่ให้ทำงานได้ดีกว่าเรือตัดน้ำแข็งรุ่นก่อนๆ โดยจะฉีดน้ำเพื่อละลายน้ำแข็งจากนั้นจึงพุ่งชน แต่เมื่อต้องเผชิญกับน้ำแข็งที่หนากว่าปกติ ทำให้การทำงานเริ่มต้นล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งปกติฤดูร้อนของขั้วโลกใต้จะมีน้ำแข็งหนาเพียง 1-2 เมตร
“ปีนี้มีหิมะตกหนักกว่าปกติจนทำให้น้ำแข็งหนาถึง 4.5 เมตร การพุ่งชนแต่ละครั้งตัดน้ำแข็งออกได้เพียง 20 เมตร และวันหนึ่งตัดน้ำแข็งได้เพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น เหมือนเรือลอยนิ่งๆ อยู่บนทะเลแข็ง” ดร.สุชนากล่าว
เผชิญพายุหิมะกระหน่ำสถานีวิจัย
เมื่อไปถึงสถานีวิจัย ดร.สุชนายังไม่สามารถเริ่มปฏิบัติงานได้ทันที เนื่องจากเรือตัดน้ำแข็งที่ขนสัมภาระสำหรับงานวิจัยยังเข้าไปไม่ถึงสถานีวิจัย ทางคณะสำรวจต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์เข้าไปยังสถานีวิจัยก่อน ซึ่งหลังจากไปถึงเป้าหมายได้ไม่นานนักวิจัยหญิงไทยคนแรกในขั้วโลกใต้ยังเผชิญกับพายุหิมะหลายสิบครั้ง ทำให้ออกไปสำรวจนอกอาคารที่พักไม่ได้ เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี โดยเมื่อเกิดพายุหิมะแต่ละครั้งนักวิจัยไม่สามารถมองเห็นเส้นทางหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวได้ แม้อยู่ในระยะ 2-3 เมตรก็ตาม
ทั้งนี้เคยมีนักวิจัยญี่ปุ่นในรุ่นที่ 4 หรือเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว เสียชีวิตเนื่องจากอยู่นอกอาคารขณะเกิดพายุหิมะและหาทางกลับอาคารไม่เจอ กว่าจะพบศพของนักวิจัยคนดังกล่าวใช้เวลาหลังจากนั้น 7 ปี โดยศพอยู่ห่างจากสถานีวิจัยออกไป 6-7 กิโลเมตร ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมเช่นนั้นอีก
“เขาไม่อยากให้เกิดเหตุเช่นนั้นอีก แม้ 1 ชีวิต ไม่มาก แต่เขาไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย ดังนั้นการออกไปนอกอาคารต้องบอกคนอื่นๆ และบันทึกในตารางว่าในแต่ละช่วงเวลาจะอยู่ที่ไหน เมื่อออกข้างนอกต้องไปเป็นคู่ หากจะออกนอกเส้นทางต้องใช้วิทยุสื่อสารบอกคนอื่นให้รับทราบ” ดร.สุชนากล่าว
หากต้องออกไปนอกอาคารระหว่างเกิดพายุหิมะนักสำรวจต้องใช้เชือกซึ่งมีคลิปสำหรับเกี่ยวเชือกที่เชื่อมระหว่างอาคารเป็นสิ่งนำทาง และต้องพกเชือกดังกล่าวไว้เสมอ และนอกจากเชือกแล้วทุกคนต้องพกนกหวีด เข็มทิศและที่เจาะน้ำแข็งขนาดเล็กไว้ติดตัวเสมอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับตัวเองให้เป่านกหวีดให้ดังที่สุดเพื่อให้คนอื่นๆ ได้ยินและไปช่วยเหลือได้ทัน
ครั้งหนึ่งระหว่างออกไปสำรวจนอกพื้นที่อาคาร ขาข้างหนึ่งของ ดร.สุชนาได้ติดเข้ากับร่องน้ำแข็งที่ลึก 4.5 เมตร ซึ่งมากพอที่ผู้หญิงร่างเล็กและสูงเพียง 1.5 เมตรอย่างเธอจะหล่นหายไปได้ ด้วยความตกใจเธอจึงตะโกนร้องให้เพื่อนช่วยจนลืมเป่านกหวีด แต่โชคดีที่เธอช่วยเหลือตัวเองออกมาได้
เมื่อออกไปนอกอาคารทุกคนต้องสวมหมวกคล้ายหมวกกันน็อคตลอดเวลา เนื่องจากอาจมีสิ่งของปลิวมากระแทกศรีษะได้ โดยหมวกกันดังกล่าวยังมีผ้าคลุมใบหน้าบริเวณแก้มและต้นคอ เพื่อป้องกันความหนาวเย็น และมีแผ่นกระจกบริเวณหน้าผากเพื่อป้องกันหิมะและเศษดินเข้าตาเมื่อมีพายุหิมะหรือลม และเนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีจะส่องตรงมายังบริเวณขั้วโลกใต้ จึงต้องสวมผ้าสำหรับปกคลุมใบหน้าทั้งหมด และสวมแว่นตาป้องกันรังสียูวีตลอดเวลา
ดร.สุชนาต้องปฏิบัติงานตั้งแต่ 08.00-18.00 น. หลายครั้งต้องเดินเท้าไปเก็บตัวอย่างถึง 3 ชั่วโมง และใช้เวลาเดินกลับอีก 3 ชั้วโมง หรือไปเก็บตัวอย่างที่ทะเลสาบต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับรวมถึง 4 ชั่วโมง ส่วนการเก็บตัวอย่างปลาต้องเจาะน้ำแข็งแล้วใช้เบ็ดตกปลา ซึ่งกว่าจะได้ปลาแต่ละตัวใช้เวลานาน 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้เธอเก็บตัวอย่างปลามาได้ 3 ชนิดรวมกว่า 40 ตัว และขุดดินตัวอย่างมา 3-4 กิโลกรัมจากบริเวณต่างๆ 6-7 จุด พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง น้ำทะเลและตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจำพวกกริลล์ (krill) หรือเคอย
ตัวอย่างที่เก็บมานั้นส่วนหนึ่งเก็บไปให้นักวิจัยที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นำไปศึกษาต่อ แต่ตัวอย่างส่วนใหญ่จะนำขึ้นเรือซิเรสแล้วส่งตรงไปยังญี่ปุ่นก่อนที่จะส่งกลับมาเมืองไทย เนื่องจากต้องขออนุญาตินำเข้าสิ่งมีชีวิตจากกรมประมงเสียก่อน โดยตัวอย่างปลานั้นจะนำมาผ่าท้องดูอาหารที่ปลากิน เพื่อหาข้อสรุปว่าปลาปรับตัวอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง
นอกจากการสำรวจเชิงสมุทรศาสตร์แล้ว ดร.สุชนายังได้ร่วมกับชุดสำรวจธรณีวิทยาเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน และอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นน้ำแข็ง และจากการศึกษาพบว่าแผ่นน้ำแข็งบริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาเคลื่อนตัวประมาณ 5 เมตรต่อปี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราส่วนการเคลื่อนตัวเฉลี่ยของเปลือกโลกบริเวณทวีปแอนตาร์กติกาที่มีค่าประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี รวมถึงการสำรวจอุกกาบาต ซึ่งปีนี้ญี่ปุ่นสำรวจพบอุกกาบาตแล้ว 635 ชั้น โดยชิ้นใหญ่ที่สุดหนักถึง 5 กิโลกรัม
ในระหว่างการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปศึกษาต่อเธอได้พบซากแมวน้ำ 4 ตัว ซึ่งตายมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ซากยังสมบูรณ์อยู่ และไม่ทราบสาเหตุการตาย ทางทีมวิจัยจึงได้ขุดดินบริเวณโดยรอบกลับมาศึกษาหาชนิดจุลินทรีย์ ซึ่งอาจทำให้ทราบถึงสาเหตุ
ดร.สุชนาพร้อมด้วยคณะสำรวจภาคฤดูร้อนใช้เวลาทำวิจัยที่สถานีวิจัยโชว์วะเป็นเวลา 2 เดือน และใช้เวลาเดินทางกลับโดยเรือชิเรสเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ซึ่งระหว่างนั้นได้แวะเยี่ยมสถานีวิจัยขั้วโลกใต้ของจีนด้วย ส่วนนักสำรวจภาคฤดูหนาวจะใช้เวลาอยู่ที่สถานีวิจัยนาน 14 เดือน
ร้างราความร่วมมือวิจัยขั้วโลกใต้ไทย-ญี่ปุ่นเกือบ 6 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2546 ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาญี่ปุ่น คณะที่ 46 เพื่อมุ่งหน้าสำรวจขั้วโลกใต้ โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทางสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งญี่ปุ่น (National Institute of Polar Research) และรัฐบาลไทยผ่านทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการร่วมกันเฉพาะกิจเพื่อสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนและคนทั่วไป ส่วนการเดินทางสู่ขั้วโลกใต้ของ ดร.สุชนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือโดยต
ในช่วงเวลาไม่ถึง 6 ปี การสำรวจขั้วโลกใต้ของนักวิทยาศาสตร์ไทยทั้งสองคนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย ดร.วรณพได้เผชิญพายุหิมะเพียงไม่กี่ครั้งก่อนเดินทางกลับ ขณะที่ ดร.สุชนาพบพายุหิมะหลายสิบครั้ง และระหว่างเดินทางกลับเธอยังเห็นปรากฏการณ์แสงออโรร่า (Aurora) หลายครั้ง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะที่ขั้วโลกเหนือและใต้ เนื่องจากอนุภาคมีประจุวิ่งกระทบกับอนุภาคในชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่วนใหญ่คือไนโตรเจนและออกซิเจน และหากกระทบไนโตรเจนจะเกิดแสงสีแดง ส่วนออกซิเจนจะให้แสงสีเขียว
นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันนั้นความสะดวกสบายบนสถานีวิจัยที่ขั้วโลกใต้ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นได้เดินทางสำรวจขั้วโลกใต้มากว่า 50 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ และสามารถโทรศัพท์จากขั้วโลกใต้กลับไปยังญี่ปุ่นได้
คณะสำรวจที่ 51 ของญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียง ดร.สุชนา เป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียว แต่ยังมี นางศศิวิมล อยู่คงแก้ว สื่อมวลชนไทยร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย รวมถึงนักวิจัยจากชาติอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน