าก หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 13 พฤษภาคม 2553
โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
แอบมีความสุขเล็กๆเมื่อได้ค้นพบที่ซ่อนตัวของเหล่าเศรษฐี ยามเร้นกายหนีความวุ่นวายหายไปกับสายลมและเกลียวคลื่น…
ฝูงเรือยอชท์นับร้อยลำจอดเรียงรายเป็นทิวแถวอยู่ใน‘โอเชี่ยน มารีน่า ยอชท์ คลับ’ เจ้าของเรือหลายคนเป็นชาวต่างชาติ และหลายคนเป็นนักธุรกิจมีชื่อเสียง อาทิ คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส,จรัญ เจียรวนนท์ ,จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รวมถึง กีรติ อัสสกุล เจ้าของโอเชี่ยน มารีน่า ยอชท์ คลับ รายนี้มีนัดแข่งเรือใบที่นี่เป็นประจำแทบทุกเดือน
ตั้งแต่เช้ากัปตันกีรติกระโดดขึ้นประจำการอยู่บนเรือโซนิค ตระเตรียมความพร้อมก่อนที่เขาและลูกเรือทั้ง 8 ชีวิตจะออกแล่นเรือเหนือน่านน้ำพัทยาในวันสุดท้ายของ การแข่งขันเรือใบนานาชาติ‘ท็อป ออฟ เดอะ กัลฟ์ รีกัตต้า’ ซึ่งจัดต่อเนื่องกันปีนี้เป็นปีที่ 6
“ปกติทุกเดือนที่นี่ก็จะมีการแข่งขันเรื่อยๆ เพราะทะเลพัทยาสามารถเล่นเรือใบได้เกือบตลอดทั้งปี แต่งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีซึ่งผมจะมาอยู่ทุกปี 4 วันติดต่อกัน ” หนุ่มใหญ่กัปตันทีมเรือใบวัย 51 เล่า
เรือโซนิคเป็นเรือใบประเภทมัลติฮัลส์ ภายในเรือลำใหญ่มีสองท้องเรือลำนี้มีทั้งห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ มีเครื่องปั่นไฟสำหรับเครื่องปรับอากาศ เตาไมโครเวฟ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆภายในเรือที่สามารถพาผู้โดยสาร 6-8 คนล่องเรือไปเที่ยวค้างคืนได้แบบสบายๆ แต่ภารกิจสำคัญวันนี้คือการชิงชัยเจ้าแห่งนานน้ำร่วมกับเรืออีกหลายสิบลำที่โต้คลื่นอยู่กลางทะเล
การเล่นเรือใบถือเป็นกิจกรรมพักผ่อนสำหรับคนที่รักการท้าทาย และพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เมื่อเรือจะแล่นฉิวบนผิวน้ำได้ต้องอาศัยทั้งฝีมือการบังคับใบและตัวเรือให้สอดรับกับแรงน้ำและทิศทางลม
ขณะที่ประสบการณ์แข่งขันเรือใบให้แง่คิดที่นำมาใช้ได้ดีทีเดียวกับการใช้ชีวิตและการบริหารธุรกิจซึ่งต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม การผ่อนหนักผ่อนเบาควบคุมเรือให้ถึงเป้าหมาย
“ในเรือโซนิคเรามีทีมทั้งหมด 8 คน แต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำ คนขับ 1 คน หัวเรือ 3 คน และอีก 4 คนคอยดูแลใบหลังและใบหน้า ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ต่างจากบริหารบริษัทที่ต้องมีคนทำหน้าที่การผลิต การตลาด การขาย ประชาสัมพันธ์ บริหารจัดการ แต่ละคนมีหน้าที่ต่างๆกัน หากขาดคนไดคนหนึ่งองค์กรก็จะมีความอ่อนแอลงไป”
กีรติ บอกว่า การแข่งเรือใบก็เช่นกัน เราทำงานกันเป็นทีม จุดไหนที่อ่อนแอจะมีผลกระทบทำให้สามารถแพ้-ชนะได้ทันที จะทำอย่างไรให้แต่ละคนในทีมเข้าใจหน้าที่ตัวเองอย่างเด่นชัด ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเลิศ และในเวลาเดียวกันยังต้องชำเลืองมองด้วยว่าคนอื่นในทีมกำลังทำอะไรอยู่
ไม่ว่าจะยามเมื่อหันหัวเรือเข้าหาลมและเปลี่ยนทิศทาง หรือจังหวะที่ต่างคนต่างช่วยกันสาวเชือกเพื่อชักใบใหญ่ขึ้นเร็วที่สุดให้เรือวิ่งฉิวตามแรงลม ทุกคนในทีมต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน
“ในฐานะของคนที่บริหารทีม เราจะใช้แต่อำนาจอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องใช้ความเข้าใจด้วย“
กีรติ เริ่มเล่นเรือมาตั้งแต่วัยแรกรุ่นอายุ 13 สมัยนั้นยังเป็นเรือไม้ บ้านอัสสกุลถือเป็นครอบครัวที่ผูกพันกับทะเล โดยเฉพาะคุณพ่อของเขา (กฤษณ์ อัสสกุล ผู้ก่อตั้งไทยสมุทรประกันชีวิต) ที่ชื่นชอบการเล่นเรือใบมาก
การออกเรือใบลอยลำอยู่กลางทะเล ไม่ต้องพะวงกับเรื่องใดๆ รอบตัวมีแต่เสียงคลื่นและลม เป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนทั้งคู่
แต่ละธุรกิจของตระกูลอัสสกุลยังล้วนมีชื่อพ้องจองกับมหาสมุทรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไทยสมุทรประกันชีวิต,โรงงานแก้ว “โอเชี่ยนกลาส” ,โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในเครือโอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ รวมถึงโอเชี่ยน มารีน่า ยอชท์ คลับ พัทยา
กีรติยิ้มน้อยๆแจงว่าน่าจะเป็นความบังเอิญว่าเป็นชื่อที่ฟังเพราะสอดคล้องกับธุรกิจและตัวสินค้ามากกว่า แต่ก็ถือว่าครอบครัวเราทุกคนผูกพันกับน้ำ ตอนนี้ ลูกๆ 2 คนจากทั้งหมด 4 คนก็สนใจเล่นเรือใบเช่นเดียวกับเขา
“การได้ออกทะเลเป็นอะไรที่เราสนุกด้วยกันได้ทั้งครอบครัว นอกจากนี้ ผมเรียนมาทางด้านวิศวะด้วยเลยทำให้มีความสนใจเรื่องเทคนิคฟิสิกส์ หลักการต่างๆ ที่ทำให้เรือใบวิ่งได้”กีรติ เล่าก่อนจะขอตัวเตรียมเข้าสู่การแข่งขันกลางทะเล ก่อนที่วันนั้นทีมเรือใบโซนิค จะคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันเรือใบประเภทมัลติฮัลส์
ขณะที่ทีมที่คว้าถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปครองในปีนี้เป็นทีมนักแข่งเรือใบ“เดอะ เฟอร์เรต”จากประเทศออสเตรเลีย ท่ามกลางงานเลี้ยงฉลองชัยและพลุสว่างไสวปิดท้ายการแข่งขันในยามค่ำคืน
เทียบท่า‘ฝั่งฝัน’
ถึงวันนี้จะไม่มีเสียงที่ดังกังวานของ กฤษณ์ อัสสกุล นักธุรกิจใหญ่ผู้ล่วงลับ แต่มรดกความฝันของเขาที่ปลายหาดจอมเทียน พัทยา ยังคงทำหน้าที่ต้อนรับเรือลำแล้วลำเล่าที่เข้ามาจอดเทียบท่าภายในมารีน่ามาตรฐานโลกถึงวันนี้เป็นเวลา 16 ปีแล้ว โดย สก็อตต์ ฟินส์เทน ทำหน้าที่เป็น Harbour Master หรือผู้จัดการท่าเรือคนปัจจุบัน
“อยู่ที่นี่เหมือนมีท่าจอดเรืออยู่หน้าบ้าน”เสียงใครบางคนเอ่ยขึ้น…มองจากหน้าต่างห้องพักบนชั้น 22 คอนโดมิเนียมหรู‘โอเชี่ยน พอร์โตฟิโน่’ สุดสายตาพาโนราม่าจะมองเห็นวิว 180 องศาของท่าจอดเรือยอชท์นับร้อยลำ ที่นี่สวยสงบที่สุดตอนพระอาทิตย์ดวงใหญ่กำลังลับขอบฟ้า
จำนวนเรือยอช์ทที่เข้ามาเทียบท่าราวๆ 300 ลำทำให้ปีนี้ โอเชี่ยน มารีน่า ยอชท์คลับ ต้องเตรียมขยายท่าจอดเรือใหม่เพิ่มอีก 100 ลำ ภายในโครงการบนพื้นที่ 120 ไร่ยังมีบริการครบครันสำหรับคนเล่นเรือ ทั้งอู่ต่อเรือ ซ่อมเรือ ร้านขายอุปกรณ์เรือ ส่วนใครยังไม่มีเรือส่วนตัวแต่อยากลองประสบการณ์ใหม่ๆก็มีคอร์สสอนเล่นเรือ พร้อมเรือให้เช่า รวมถึงกัปตันและลูกเรือไว้คอยบริการไว้สำหรับล่องเรือเที่ยวเกาะหรือจัดงานเลี้ยงปาร์ตี้บนเรือ โดยมีโรงแรมและยอช์ทคลับให้บริการบนชั้น 1-4 ของคอนโดมิเนียมหรู’ซานมารีโน่’อาคารแรกซึ่งปัจจุบันทั้ง132 ห้องมีเจ้าของแล้ว
ใครที่อยากมาเป็นลูกบ้านที่นี่จึงมีห้องชุดโครงการใหม่ ‘โอเชี่ยน พอร์โตฟิโน่’ 36 ชั้นให้เลือกจับจองอยู่ตอนนี้ โดยมีประสบการณ์จากบรรดาลูกบ้านวีไอพี อาทิ ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี,พรเทพ พรประภา,สุภาพ อิงคะวัต,ดร.ณทัย ทิวไผ่งาม,อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน ที่เต็มใจมาช่วยโปรโมทโครงการเต็มที่ นอกจากนี้ยังเปิดให้ทดลองเข้าพักสัมผัสประสบการณ์แบบมารีน่าไลฟ์สไตล์ราคาพิเศษก่อนตัดสินใจซื้อ
ถึงยังไม่เคยไปถึงท่าเรือเมืองพอร์โตฟิโน่ชวนฝันของอิตาลี แต่คำว่า Harbour your dreams ก็ไม่ยากเกินจะสัมผัสและเข้าใจ เมื่อได้เห็นความฝันของใครหลายคนจอดเทียบท่าอยู่ที่นี่…