marinerthai

พบปลาทะเลและปลาน้ำจืด สายพันธุ์ใหม่ของโลก

โดย มติชน 4 กุมภาพันธ์ 2549

 คอลัมน์ โลกสามมิติ

โดย บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปลาทะเลสายพันธุ์ใหม่ในมหาสมุทรมากกว่า 600 สายพันธุ์ และคาดว่ามีปลาทะเลอีกจำนวนหลายพันสายพันธุ์หลุดรอดจากการค้นหา

นี่คือผลงานของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติราว 300 คน จาก 53 ประเทศ ซึ่งสำรวจสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรตั้งแต่ขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้เพื่อทำฐานข้อมูลตามโครงการ “Census of Marine Life” (CoML)

มหาสมุทรซึ่งปกคลุมพื้นผิวโลกถึงร้อยละ 71 มีสิ่งชีวิตหลากหลายอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทว่าในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่าเรายังรู้เกี่ยวสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรน้อยมากเพราะประมาณ 95% ของมหาสมุทรยังไม่ถูกสำรวจทางชีววิทยา

การสำรวจสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรครั้งใหญ่ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 10 ปี โดยเครือข่ายของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติมากกว่า 70 ประเทศ จึงเริ่มขึ้นในปี 2000 ภายใต้โครงการ CoML เพื่อประเมินและอธิบายความหลากหลาย การกระจาย และความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

การสำรวจครั้งนี้ยังจะบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของสัตว์น้ำในมหาสมุทรและผลกระทบซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ด้วย ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าสัตว์น้ำชนิดใดบ้างตกอยู่ในภาวะอันตรายและจะหาวิธีการปกป้องพวกมันอย่างไร

เจสซี ออซูเบล ผู้อำนวยการโครงการ CoML พูดถึงโครงการนี้ว่า “เรากำลังเริ่มต้นการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ เหมือนกับการเดินทางไปดวงจันทร์”

โครงการนี้ตั้งเป้าหมายสำรวจปลาทะเลจำนวน 15,304 สายพันธุ์ และคาดว่าจะสามารถทำการสำรวจได้จำนวนประมาณ 2000-3000 สายพันธุ์หรือมากกว่า ก่อนสิ้นสุดโครงการในปี 2010 และในจำนวนนี้จะเป็นการค้นพบปลาทะเลสายพันธุ์ใหม่ๆจำนวนมาก

1.ปลา blue-green damselfish ปลาตู้ยอดนิยม นำเข้าสหรัฐและยุโรปปีละกว่า 500,000 ตัว

2.ปลาคาร์ดินาล ปลาตู้ยอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการค้นพบปลาทะเลสายพันธุ์ใหม่หลายร้อยสายพันธุ์ในทะเลลึกจะช่วยเราให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบริเวณก้นทะเลลึกกับความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในแนวน้ำลึก

หนึ่งในการค้นพบที่เด่นมากคือ การพบว่าบริเวณก้นทะเลลึกซึ่งเป็นตะกอนนอกชายฝั่งประเทศอังโกลามีสภาพแวดล้อมซึ่งทำให้สัดส่วนสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ต่อพื้นที่สูงกว่าบริเวณอื่นๆ ในมหาสมุทรทั้งหมด

และการค้นพบที่น่าตื่นเต้นคือ พบว่าปลาแซลมอนอายุน้อยตายในทะเลเปิดมากกว่าในแม่น้ำอย่างที่เคยเชื่อกันมา ไมก์ เวคชีโอนี นักวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมิธโซเนียนบอกว่า ความสนใจส่วนใหญ่ต่อปลาแซลมอนมุ่งไปที่การอาศัยอยู่ในแม่น้ำของพวกมัน

“แต่ทว่าการสำรวจพบว่าการตายของปลาแซลมอนอายุน้อยส่วนใหญ่เกิดในทะเลเปิด” ความรู้นี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลรักษาปลาแซลมอน

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นพบปลาทะเลสายพันธุ์ใหม่ๆ จำนวนมาก ปลาทะเลน้ำลึกหลายสายพันธุ์และปลาทะเลสีสันสวยงามกำลังถูกคุกคาม

งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์คานาดาซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมกราคม 2006 ที่ผ่านมาระบุว่า ปลาทะเลน้ำลึกอย่างน้อย 5 สายพันธุ์กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย และปลาทะเลน้ำลึกอีกหลายสายพันธุ์ก็น่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันจากการทำประมงน้ำลึก ที่สำคัญมีความหวังน้อยมากที่จะปกป้องพวกมัน

4.ปลาเกรนาเดียส สายพันธุ์ใหม่

5ปลาน้ำจืดขนาดจิ๋วที่เกาะสุมาตรา

6.ปลาแมงป่องสายพันธุ์ใหม่

ส่วนปลาทะเลสีสันสวยงามนั้น รายงานของ UN Environment Programme”s World Conservation Monitoring Centre ที่ชื่อว่า “Ocean To Aquarium: The Global Trade In Marine Ornamentals” เมื่อปี 2003 ระบุว่า ปลาทะเลที่มีสีสันสวยงามในทะเลเขตร้อนกำลังถูกคุกคามจากการค้า “ปลาตู้” โดยในแต่ละปีมีการจับปลาทะเลสวยงามจำนวน 1,471 สายพันธุ์ จำนวนมากกว่า 20 ล้านตัว ซึ่งถูกส่งไปขายยังตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้นยังมีการจับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีกประมาณ500 สายพันธุ์ จำนวน 9-10 ล้านตัว เช่น ปะการัง รวมทั้งสัตว์จำพวกหอย และกุ้งฝอย

มูลค่าการซื้อขายปลาทะเลสวยงามที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 2-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีทีเดียว ที่เกาะมัลดีฟส์ ปลาทะเลสวยงามหนัก 1 กิโลกรัมจะมีมูลค่าถึง 500 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ปลาที่ใช้สำหรับบริโภคจากแนวหินโสโครกในน้ำหนักเดียวกันมีมูลค่าเพียง 6 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ที่ศรีลังกาการค้าปลาทะเลสวยงามมีมูลค่าประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยประมาณ 50,000 คน

ขณะที่ชาวประมงจำนวนมากมีรายได้อย่างงามกับการจับปลาทะเลสวยงาม แต่งานของพวกเขาในทะเลบางแห่งมันเป็นการทำลายระบบนิเวศของท้องทะเล อย่างเช่นในทะเลของประเทศอินโดนีเซีย

คอเลตเต้ แวบนิตส์ หนึ่งในทีมศึกษาของสหประชาชาติบอกว่า มีชาวประมงส่วนน้อยในบางประเทศอย่างเช่นชาวประมงในอินโดนีเซียใช้โซเดียม ไซอะไนด์จับปลาทะเลสวยงามซึ่งวีธีนี้ทำให้ปลาสลบ แต่ทว่าผลกระทบของวิธีนี้สามารถฆ่าปะการังและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

สำหรับปลาน้ำจืดมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ค่อนข้างน้อย นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบปลากดสายพันธุ์ใหม่ที่เกาะบอร์เนียว เมื่อไม่กี่ปีมานี้และล่าสุดค้นพบปลาขนาดจิ๋วที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

มาวรีซ คอตเตลัต นักวิทยาศาสตร์จากสวิสเซอร์แลนด์และทาน เฮก ฮุย นักวิทยาศาสตร์จากสิงคโปร์ค้นพบปลาในสกุล Paedocypris ขนาดเล็กเพียง 7.9 มิลลิเมตร ในหนองน้ำซึ่งต้นไม้ทับถมจนเกือบมีสภาพเป็นถ่านหินและน้ำมีสภาพเป็นกรด

ลักษณะเด่นปลาชนิดนี้คือ มีลำตัวโปร่งแสง ไม่มีกะโหลก ตัวเมียมีช่องบรรจุไข่ได้เพียงไม่กี่ฟองเท่านั้น เนื่องจากสภาพน้ำที่เป็นกรดอาหารจึงหายาก แต่ปลาชนิดนี้ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินแพลงก์ตอนที่บริเวณก้นหนองน้ำ และยังทนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายได้ดีโดยสามารถมีชีวิตรอดจากการอาศัยอยู่ในโคลนตม

ปัจจุบันหนองน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาขนาดจิ๋วของโลกชนิดนี้กำลังถูกคุกคามโดยมนุษย์ จากการตัดไม้ทำลายป่า การส่งน้ำจากหนองน้ำไปยังโรงงานปาล์มน้ำมัน และไฟไหม้ป่า

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า นี่คือการค้นพบที่ทันเวลา ในขณะที่ปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของพวกมันน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

Share the Post: