โดย ข่าวสด วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5822
คณะนักวิจัยนานาชาติ ประกอบด้วยนักนิเวศวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ เตือนพลเมืองโลกว่า ภายในเวลาอีกเพียง 50 ปีข้างหน้าเราอาจไม่มี “อาหารทะเล” บริโภคกันอีกต่อไป เนื่องจากปัญหาการทำประมงจับสัตว์ทะเลเกินความจำเป็น และมลพิษที่กำลังบ่อนทำลายสภาพแวดล้อมของทะเล รวมถึงมหาสมุทรทั่วโลก จะทำให้สัตว์ทะเลสูญพันธุ์จนอาจหลงเหลืออยู่แค่ในความทรงจำ!
การวิจัยระบบนิเวศวิทยาทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ มีศาสตราจารย์บอริส เวิร์ม จากมหาวิทยาลัยดัลฮูซี เมืองฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา เป็นผู้นำการวิจัย และตีพิมพ์รายงานลงในวารสารวิทยาศาสตร์ไซเอินซ์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เวิร์มและคณะนักวิจัยนานาชาติ ร่วมมือกันวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาระบบนิเวศทางทะเล 32 จุด ข้อมูลจากแหล่งคุ้มครองสัตว์น้ำ 48 พื้นที่ และสถิติการจับสัตว์น้ำทั่วโลกระหว่างปีพ.ศ.2493-2546 ที่รวบรวมโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ)
นอกจากนั้นคณะของเวิร์มยังตรวจสอบพื้นที่สภาพชายฝั่ง 12 แห่งทั่วโลกในรอบ 1,000 ปีผ่านการสืบค้นข้อมูลจากเอกสาร บันทึกการประมง หลักฐานทางโบราณคดี และสภาพชั้นตะกอนตามแนวชายฝั่ง
เป้าหมายการวิจัยเพื่อประเมินว่าทรัพยากรแหล่งอาหารทางทะเลของมนุษยโลกจะมีเพียงพอต่อการบริโภคไปอีกกี่ปี
ผลลัพธ์ที่ปรากฏสร้างความตกตะลึงให้กับคณะผู้วิจัย เพราะคาดว่า ปลาและสัตว์ทะเลแทบทุกสายพันธุ์จะไม่สามารถอาศัยอยู่ในทะเลได้อีกต่อไปภายในปีค.ศ.2048 หรือพ.ศ.2591
“เมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปีก่อน อัตราการคงอยู่ของปลาและสัตว์ทะเลทั่วโลกลดน้อยลงกว่าเดิม 29 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โลกจับสัตว์ทะเลได้น้อยลงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์..
“ถ้าระบบนิเวศทางทะเลยังถูกทำลายเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในระยะยาวเราเชื่อว่าทั้งวงจรชีวิตของปลาและสัตว์น้ำที่เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารทะเลจะล่มสลายลงภายในช่วงชีวิตของผม ซึ่งอาจเกิดขึ้นราวปีพ.ศ.2591” เวิร์มระบุ
คณะนักวิจัยชี้ว่า ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นต้นเหตุทำลายระบบนิเวศทางทะเลเสียหายอย่างร้ายแรง ได้แก่
1.คุณภาพน้ำทะเลที่เสื่อมสภาพเพราะมลพิษจากน้ำมือมนุษย์
2.สาหร่าย (Algae Bloom) ในทะเลเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำทะเลลดต่ำลง
3.การทำประมงมากเกินความจำเป็น
4.มหาสมุทรหลายแห่งมีพื้นที่ขาดออกซิเจน (Dead Zone) เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปลาอาศัยอยู่ไม่ได้
และ 5.เหตุน้ำท่วมชายฝั่ง
“ความหลากหลายทางชีวภาพคือทรัพยากรที่ใช้ไม่มีวันหมด แต่เราแทบไม่มีสิ่งเหล่านี้หลงเหลืออยู่อีกแล้วในท้องทะเล” เวิร์มกล่าว
ดร.สตีฟ พาลัมบี จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในกลุ่มนักวิจัยผู้ร่วมโครงการเดียวกันกับเวิร์ม เสริมว่า
ถ้าโลกยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอย่างถอนรากถอนโคน เพื่อให้ระบบนิเวศกลับมาทำงานตามปกติอีกครั้ง โอกาสที่เราจะไม่มีอาหารทะเลบริโภคภายในศตวรรษนี้ก็มีสูงมาก
ผลวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลการจับสัตว์ทะเล ช่วงปี 2537-2546 พบว่า
ถึงแม้อุตสาหกรรมประมงทั่วโลกจะมีขนาดและประสิทธิภาพสูงขึ้น
ทั้งในด้านกำลังการบรรทุกของเรือ เทคโนโลยีการค้นหาแหล่งสัตว์น้ำที่แม่นยำมากขึ้น และอวนจับปลาที่ดีกว่าในอดีต
แต่เมื่อดูตัวเลขพบว่าปริมาณปลา-สัตว์ทะเลที่จับได้นับตั้งแต่ปี 2537 จนถึง 2546 ลดลงถึง 13 เปอร์เซ็นต์
เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลของโลกเราร่อยหรอลงอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยพบด้วยว่า ในจุดที่ระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งหมายถึงมีสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอื่นๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จะช่วยให้การฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำเกิดขึ้นดีกว่าในพื้นที่ที่ขาดความหลากหลาย
“ผมเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้ ไม่เกินความสามารถ ถ้าโลกร่วมมือกัน”
ศ.เวิร์ม กล่าว ก่อนอธิบายถึง “ทางออก” กว้างๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนอาหารทะเลที่อาจระเบิดขึ้น
ข้อสรุปสำคัญจากคณะวิจัยกลุ่มนี้คือ ควรออกมาตรการ “บริหารจัดการระบบนิเวศวิทยาทางทะเล” ในลักษณะการตั้งเขต “โซนนิ่ง” กำหนดพื้นที่สงวน ห้ามไม่ให้มนุษย์เข้าไปทำกิจกรรมใดๆ โดยเด็ดขาด
แนวทางข้างต้นเหมือนกับการตั้งเขตป่าสงวน หรือเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์นั่นเอง
ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจก็ต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่ทางทะเลแต่ละจุดกันไปเลยว่า
จุดไหนจะใช้เพื่อการท่องเที่ยว การทำวิจัย หรือการประมง ซึ่งการประมงในความหมายนี้ต้องอยู่ในความควบคุมเช่นกัน
นอกจากนี้นักวิจัยยังเสนอแนะวิธีบริหารจัดการการประมงรูปแบบใหม่
ดึงให้อุตสาหกรรมประมงเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องรักษาปริมาณสัตว์น้ำในท้องถิ่นให้เหลืออยู่ในระดับที่เหมาะสม
โดยต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจกับกลุ่มประมงว่า ถ้าเร่งจับสัตว์น้ำจนหมดผลสุดท้ายจะจบลงด้วยสภาพทะเลที่มีแต่น้ำ
กลุ่มนักวิจัยเชื่อมั่นว่าเมื่อเปิดห้วงเวลาให้ธรรมชาติได้มีโอกาสพักหายใจบ้าง ระบบนิเวศจะพลิกฟื้นตัวมันเอง ช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลกลับคืนมาสู่ระดับปกติ
สิ่งสุดท้ายที่ฝากไปถึง “ผู้บริโภค” ก็คือ ต้องมีจิตสำนักในการกิน อย่าสร้างนิสัยกินอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ
เพราะพฤติกรรมดังกล่าวเป็นตัวกำหนดให้กลุ่มประมงต้องตั้งหน้าตั้งตาจับปลามาเพียงแค่ตอบสนอง “ความอยาก” ของคน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต!