โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤษภาคม 2550
บีบีซีนิวส์/ไซน์เดลี่/อินดิเพนเดนท์/เอเจนซี – นักสำรวจพบสิ่งมีชีวิตใหม่กว่า 700 สปีชีส์ นับเป็นขุมทรัพย์มหาศาลใต้ท้องทะเลลึกของ “แอนตาร์กติก” ที่ไม่คาดคิดว่าจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ หลังล่องเรือสำรวจนานกว่า 3 ปี พบทั้งฟองน้ำกินเนื้อ หอยคล้ายหอยทาก และสัตว์เปลือกแข็ง
การสำรวจกว่า 3 ปีลึกลงไป 6 กิโลเมตรใต้ทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) ซึ่งเป็นแหล่งหมุนเวียนน้ำในเขตน้ำลึกปริมาณมากแก่มหาสมุทรทั่วโลกบริเวณแอนตาร์กติก คณะสำรวจในโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ “แอนดีพ” (Andeep: Antarctic benthic deep-sea biodiversity project) เปิดเผยว่าพบสิ่งชีวิตชนิดใหม่กว่า 700 สปีชีส์ซึ่งมีชนิดที่ยังไม่จำแนกอีกมาก
สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่เป็นไอโซพอด (isopod) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีมากในอันดับครัสเตเชียน (crustacean) หรืออันดับของสิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกแข็ง และมีขนาดตั้งแต่ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าไปจนถึงขนาดเกือบ 30 เซนติเมตร โดย 674 สปีชีส์ซึ่งมากกว่า 80% ของสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบในครั้งนี้เป็นสปีชีส์ที่ยังไม่เคยถูกจำแนกมาก่อน
ทีมสำรวจยังเผยอีกว่า 160 สปีชีส์ที่ค้นพบเป็นหอยฝาเดียว (gastropod) และหอยสองฝา (bivalve) ที่มีลักษณะคล้ายหอยทาก ไส้เดือนทะเลอีก 81 สปีชีส์ ออสตราคอด (ostracod) ซึ่งเป็นครัสเตเชียนขนาดเล็กอีก 70 สปีชีส์ และฟองน้ำอีก 76 สปีชีส์ ส่วนที่เหลือยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใหม่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์
แองเจลิกา บรันด์ท (Angelika Brandt) นักชีววิทยาทางทะเลจากพิพิธภัณฑ์สัตววิทยาแห่งฮัมบูร์ก (Zoological Museum of Hamburg) ประเทศเยอรมนี และผู้นำคณะสำรวจในครั้งนี้กล่าวว่าทีมนักวิจัยนานาชาติที่รวมสำรวจต่างประหลาดใจกับสิ่งที่ค้นพบมาก เนื่องจากมีสปีชีส์ใหม่จำนวนมหาศาล และพวกเขายังคาดหวังจะได้พบสิ่งมีชีวิตในรูปแบบเดียวกันนี้ในบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำรอบมหาสมุทรในขั้วโลกเหนือ
“ทะเลลึกในแอนตาร์กติกมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งรวมสปีชีส์ที่ดำรงชีวิตในทะเลของโลก นักวิจัยของเราได้รับความคิดที่ท้าทายว่าความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลลึกในมหาสมุทรตอนใต้ไม่น่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ ตอนนี้เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสปีชีส์ในทะเล และเข้าใจว่าพวกมันสามารถปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร” บรันด์ทกล่าว
การศึกษาก่อนหน้านี้คาดว่าความลึกของทะเลในแอนตาร์กติกจะทำให้มีสิ่งมีชีวิตน้อยลงเช่นเดียวกับในทะเลลึกของอาร์กติก แต่บรันด์ทได้ยกคำอธิบายถึงความแตกต่างราวนิยายระหว่างระบบนิเวศน์ในขั้วโลกทั้งสองขึ้นมา 2 เหตุผล อย่างแรกคือแถบอาร์กติกยังมีอายุไม่มาก ขณะที่สิ่งมีชีวิตในแอนตาร์กติกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ล้านปีในการวิวัฒนาการ ส่วนการวิวัฒนาการในอาร์กติกจะใช้เวลาสั้นกว่านั้น
อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุผลแรกคือความสัมพันธ์ในการหมุนเวียนของน้ำระดับลึกในมหาสมุทรได้เคลื่อนย้ายมวลน้ำปริมาณมากผ่านบริเวณที่มีการสำรวจและอาจจะพัดพาสารอาหารไปเลี้ยงสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นได้ดีกว่าบริเวณทะเลลึกอื่นๆ
ทางด้าน ดร.กาตริน ลินส์ (Dr. Katrin Linse) นักชีววิทยาทางทะเลจากสถาบันสำรวจแอนตาร์กติกแห่งอังกฤษ (British Antarctic Survey) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ร่วมสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า เดิมเคยคิดกันว่าสิ่งแวดล้อมที่มีความเคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จะเป็นสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ แต่การพบขุมทรัพย์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลเป็นกองทัพเช่นนี้จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ความเข้าใจในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างใต้ห้วงมหาสมุทรที่อยู่ลึกลงไปกับการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในทะเล
ทะเลเวดเดลล์นั้นเป็นแหล่งของน้ำลึกที่สำคัญของมหาสมุทรอื่นๆ และเปิดช่องทางแก่สปีชีส์ต่างๆ ให้เข้าไปดำรงชีวิตในทะเลน้ำลึก และในเส้นทางสำรวจนี้คณะนักวิจัยก็ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตประจำถิ่นในน้ำลึกซึ่งยังพบในแนวรอยต่อที่เชื่อมกับมหาสมุทรอื่นๆ ด้วย