โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 มิถุนายน 2550 17:01 น.
โดย : วินิจ รังผึ้ง
หลายคนคงคุ้นเคยกับสำนวนที่พูดกันจนติดปากว่า “ไม่เป็นสับปะรด” ซึ่งให้ความหมายในทำนองว่าไม่ได้เรื่องอะไรทำนองนั้น ซึ่งความจริงแล้วสำนวนที่ถูกต้องมาแต่โบราณนั้นต้องเป็นสำนวนที่ว่า “ไม่เป็นสรรพรส” คือไม่เป็นรสเป็นชาติอะไร เป็นสำนวนที่ใช้กับอาหารมากกว่า แต่เมื่อใช้กันมากขึ้นบ่อยขึ้นแล้วผ่านกาลเวลาจนกระทั่งไม่รู้รากที่มาที่แท้จริงก็ใช้เพี้ยนกันเป็น “ไม่เป็นสับประรด” ไปแล้ว และเชื่อไหมครับว่าใครลองไปใช้สำนวนที่ถูกต้องว่า “ไม่เป็นสรรพรส” ในภาษาพูดแล้ว คนฟังอาจจะรู้สึกผิดๆหู รู้สึกเหมือนพวกใช้ภาษาโบราณเชยๆอะไรทำนองนั้น คือใช้กันจนผิดเป็นถูก และถูกกลับเป็นผิด ก็คงต้องทำใจครับ เพราะภาษานั้นมันมีวัฒนาการ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ล่าสุดราชบัณฑิตยสถานก็ยังมีโครงการจัดทำพจนานุกรมกลุ่มคำที่นอกเหนือจากกลุ่มคำหลักที่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรมเลย ซึ่งกลุ่มคำที่จะรวบรวมขึ้นนี้มีทั้งคำและสำนวนของวัยรุ่น คำและสำนวนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะแก๊ง เฉพาะเพศ เฉพาะวัยก็มี ซึ่งก็ดีครับเพราะอนาคตพ่อแม่ฟังลูกพูดแล้วไม่รู้เรื่องจะได้ไปเปิดพจนานุกรมฉบับพิเศษนี้ดูจะได้เข้าใจว่าลูกพูดอะไร
ความจริงจะเป็นสับปะรด ไม่เป็นสับปะรด หรือจะเป็นสรรพรสหรือไม่นั้น ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับโลกใต้ท้องทะเล แต่มันก็เกิดมีเรื่องเกี่ยวข้องกันขึ้นมาจนได้ เพราะใต้ท้องทะเลนั้นเกิดมีปลาชนิดหนึ่งซึ่งดูจากลักษณะรูปร่างหน้าตาลวดลายและสีสันแล้ว จะให้ตั้งชื่ออื่นใดคงไม่ได้นอกจากจะต้องเรียกมันว่า “ปลาสับปะรด” เท่านั้น เพราะรูปร่างหน้าตา สีสัน ลวดลายของมันนั้นเหมือนกับลูกสับปะรดไม่มีผิด หากนึกรูปร่างหน้าตาของมันไม่ออกก็ลองจินตนาการด้วยการนึกถึงสับปะรดสีเหลืองลูกหนึ่งนำมาตัดก้านและขั้วที่ยอดทิ้ง เหลือเพียงลูกสับปะรดกลมๆ แล้วเติมตากลมๆลงไป นั่นแหละครับปลาสับปะรดที่ว่า มันเป็นความเหมือนที่แทบไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ว่าจะมาเกี่ยวข้องกัน เพราะสิ่งหนึ่งอยู่บนบกอีกสิ่งหนึ่งอยู่ใต้ทะเลลึก บางทีทฤษฎีของผมที่ว่าพระเจ้าผู้สร้างโลกสร้างชีวิต สร้างมนุษย์และสรรพสัตว์นั้นท่านอาจจะเกิดอาการตีบตันขึ้นมาเมื่อสร้างสรรพชีวิตมามากๆเข้า จึงอาจจะมีการลักไก่ลอกแบบสิ่งมีชีวิตบนบกไปไว้ใต้ทะเลลึกบ้าง ด้วยนึกว่าคงไม่มีใครรู้หรอก ที่ไหนได้ วันหนึ่งมนุษย์ที่ท่านสร้างขึ้นให้ใช้ชีวิตอยู่บนบกนั่นแหละกลับดำลงไปพบไปเห็นเข้าเสียจนได้
ความจริงไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่เห็นปลาชนิดนี้เหมือนสับปะรด เพราะตามรายงานการค้นพบอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2325 ในต่างประเทศนั้นก็เรียกมันว่า Pineapple Fish เช่นกัน โดยชื่อวิทยาศาสตร์นั้นคือ Monocentris japonicus (Houttuyn1782) และมีอีกพันธุ์หนึ่งคือ Cleidopus glorismris (De Vis,1882 ) ซึ่งมีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน และมีชื่อเรียกขานว่าปลาสับปะรดเช่นเดียวกัน ซึ่งเจ้าปลาสับปะรดนี้เป็นปลาที่ค่อนข้างจะหาดูได้ยาก และไม่เคยมีภาพถ่ายหรือมีรายงานการพบอย่างเป็นทางการในทะเลไทยกันมาก่อน กระทั่งเมื่อฤดูกาลดำน้ำฝั่งทะเลอันดามันที่ผ่านมา ได้มีรายงานว่าไดฟ์ลีดเดอร์ท่านหนึ่งไปพบเจ้าปลาสับปะรดนี้เข้าที่บริเวณกองหินริเชลิว กองหินใต้น้ำใกล้กับหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นเป็นที่ฮือฮากันในหมู่นักดำน้ำ เรียกว่าใครที่ไปกองหินริเชลิวก็ต้องถามหาเจ้าปลาสับปะรดตัวนี้ ไม่น่าเชื่อครับว่าเจ้าปลาตัวเล็กๆตัวเดียวจะสร้างมูลค่าจากกิจกรรมดำน้ำได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งก็คงจะไม่ต่างอะไรกับวงการดูนกแหละครับ หากมีข่าวการพบนกหายากตัวใดขึ้นมาที่ไหน บรรดานักดูนกก็มักจะหลั่งไหลกันไปดูให้เห็นกับตา มันเป็นความสุขที่คนที่ไม่ได้เข้าไปสัมผัสคงยากจะเข้าใจ
ผมได้มีโอกาสลงไปดูเจ้าปลาสับปะรดตัวนี้ตอนปลายฤดูกาลดำน้ำก่อนที่คลื่นลมจะเข้าปกคลุมฝั่งทะเลอันดามัน โชคดีที่ทริปนั้นน้ำทะเลค่อนข้างใส เพราะฤดูกาลที่ผ่านมานั้นน้ำทะเลแถบอันดามันนั้นเอาแน่เอานอนอะไรไม่ค่อยได้ ไดฟ์ลีดเดอร์ของเรือภานุณีพาดำลงไปตรงผาหินใกล้ๆกับสายทุ่น บริเวณผาหินตรงจุดนั้นเป็นผาหินโล่งๆไม่น่ามีอะไรให้ดู แต่ก็มีโพรงหินขนาดใหญ่กว่าตัวคนนิดหน่อย เว้าลึกลงไปราวเมตรกว่าๆ ภายในโพรงหินแคบๆนั้น ตามผนังหินมีกุ้งมดแดงซึ่งเป็นกุ้งตัวเล็กๆสีแดงๆอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ธรรมดาแล้วกุ้งมดแดงนั้นแม้จะมีสีแดง แต่ก็เป็นกุ้งที่มีมากมาย หาดูได้ทั่วไปเป็นกุ้งประเภทกุ้งสามัญประจำบ้านที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ภายในโพรงที่ค่อนข้างมืดๆนั้น ผมสังเกตเห็นเจ้าปลาสีเหลืองตัวเล็กขนาดใหญ่กว่าเหรียญห้าบาทนิดหน่อย ลองตัวหมุนเอียงไปมาอย่างน่ารัก สีเหลืองบนลำตัวของมันเด่นชัดสะดุดตาตัดกับสีดำของโพรงหิน ลวดลายตาข่ายเป็นเส้นสีดำบนลำตัวของมันนั้นเด่นชัด ผิวของมันมีเกล็ดหนาขนาดใหญ่เรียงรายลักษณะเหมือนเป็นเกราะแข็งของนักรบ คงด้วยลักษณะเหมือนสวมเสื้อเกราะเช่นนี้นี่เองที่มันได้รับชื่อเรียกขานอีกนามหนึ่งว่า “Knight Fish”
ความจริงเจ้าปลาสับปะรดนี้เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในถ้ำหรือตามโพรงหินในความลึกตั้งแต่ 25 เมตรลงไปถึง 200 เมตร ในตอนกลางวันมักจะอาศัยหลบตัวอยู่ในถ้ำหรือโพรงหินที่มีแสงน้อย และจะออกหากินในเวลากลางคืน นอกจากลักษณะพิเศษที่มีเกล็ดแข็งเหมือนเป็นเกราะแล้ว เจ้าปลาชนิดนี้ยังมีอวัยวะที่มีลักษณะเรืองแสงบริเวณขากรรไกรใกล้ๆกับปากซึ่งมันจะเก็บสะสมแบคทีเรียที่เรืองแสงไว้เพื่อใช้หลอกล่อเหยื่อจำพวกแพลงก์ตอนกุ้งปลาขนาดเล็กให้หลงเข้ามาเล่นไฟ แล้วฮุบกินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย เจ้าปลาสับปะรดนี้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดราว 25 เซนติเมตร โดยปรกติแล้วมันจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เจ้าสับปะรดตัวจิ๋ว ที่พบในโพรงหินที่ริเชลิวนี้ พบอยู่เพียงตัวเดียวอย่างโดดเดี่ยว บริเวณความลึกราว 13-14 เมตร ซึ่งน่าจะเป็นปลาวัยเด็กที่เมื่อฟักเป็นตัวแล้วก็จะกระจายกันไปแอบหาที่ซ่อนที่ปลอดภัยเป็นที่อาศัย จนกระทั่งเมื่อโตพอที่จะออกเผชิญโชคก็จะว่ายออกไปท่องเที่ยว เมื่อพบเจอเข้ากับเผ่าพันธุ์เดียวกันก็จะเริ่มรวมกลุ่มอยู่อาศัยด้วยกัน
ผมก้มๆเงยๆสำรวจเจ้าปลาสับปะรดอยู่อย่างชั่งใจ ว่าจะมุดลงไปถ่ายภาพดีหรือไม่ สำรวจดูรอบข้างโชคดีว่าทำเลรอบข้างเป็นหินล้วนๆ ไม่มีปะการัง การมุดลงไปถ่ายในช่องโพรงหินที่มีขนาดพอดีๆตัวคงพอทำได้โดยไม่ยาก แต่สิ่งที่กังวลก็คงกลัวว่ากำลังมุดถ่ายภาพอยู่ดีๆ อาจจะเจอพวกฝรั่งโรคจิตบางคนมากระตุกแข้งกระตุกขาให้เสียอารมณ์ ด้วยความเบาปัญญาหรืออาจจะไม่รู้ว่ากำลังมุดไปทำอะไร แต่เมื่อตรึกตรองดูอย่างถี่ถ้วนก็ตัดสินใจมุดลงไป เพราะหากไม่ถ่ายเจ้าปลาสับปะรดที่พบกันเป็นครั้งแรกตัวนี้ในไดฟ์นี้แล้ว พรุ่งนี้หากมันว่ายย้ายที่ไป แล้วไม่มีรายงานว่าใครพบเจ้าปลาชนิดนี้อีกเลยในน่านน้ำทะเลไทย นั่นคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าเสียดายมากกว่า เอ้าเป็นไงก็เป็นกันครับไม่อย่างนั้นคงไม่ได้ภาพที่น่ารักของเจ้าปลาสับปะรดตัวจิ๋วนี้มาฝากท่านผู้อ่าน.