marinerthai

เทคโนโลยีใต้ทะเล ผ่าตัด-ขยายพันธุ์ “ดอกไม้ทะเล”

โดย มติชน วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10695

โดย : รัตติกร รัตนเจริญ 

ความสวยงามตามธรรมชาติทุกวันนี้หาชมได้ยากลงไปทุกที นี่แค่ความงามตามธรรมชาติบนบก หากเป็น *ใต้ทะเล* ยิ่งแล้วใหญ่ หาชมได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

เพราะหนึ่งคือหนทางไปชมยาก เพราะอยู่ใต้ทะเล สองคือมีคนไปแล้วลักลอบหยิบจับขนมาเป็นเจ้าของ หรือทำลายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่มองถึงผลที่ตามมา ว่าเป็นการทำลายสมดุลธรรมชาติหรือระบบนิเวศใต้ทะเล

เพราะทั้งสัตว์ทะเลและดอกไม้ทะเล ล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ทะเลทั้งสิ้น

ฉะนั้น เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติของบรรดาดอกไม้ทะเลที่ถูกมนุษย์เห็นแก่ตัวทำลาย

*วารินทร์ ธนาสมหวัง* ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร จึงได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดอกไม้ทะเลขึ้น รวมไปถึงปลาทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์ให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่คู่ทะเลต่อไป

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เป็นหน่วยงานสังกัดกรมประมง ตั้งอยู่บริเวณริมทะเล ที่ จ.สมุทรสาคร

“อาจารย์วารินทร์” เล่าถึงงานที่ทำ ว่าศึกษาวิจัยเรื่องของดอกไม้ทะเลมาปีกว่าๆ แล้ว เหตุที่ทำเพราะเห็นว่าดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์คุ้มครอง แล้วมีพวกคนเห็นแก่ตัว ดำน้ำลงไปเก็บขึ้นมาประดับตู้ปลา คู่กับพวกปลาหายาก เช่น ปลาการ์ตูน จึงทำให้ดอกไม้ทะเลมีจำนวนลดน้อยลง ดังนั้น จึงเริ่มศึกษาหาทางขยายพันธุ์ดอกไม้ทะเลในเมืองไทย

ซึ่งเวลานี้ที่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ ทำการขยายพันธุ์มีอยู่ 5 ชนิด คือดอกไม้ทะเล เห็ดทะเล โพลิป ปะการังอ่อน และปะการังแข็ง 2 ชนิด คือปะการังลูกโป่ง และปะการังหนวดสีชมพู

อาจารย์วารินทร์บอกว่า ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน ปะการังแข็ง เป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติ 2535 ห้ามมีไว้ในครอบครอง แต่ก็มีผู้ฝ่าฝืนลักลอบเก็บนำไปขาย

“อันที่จริงแล้ว *เห็ดทะเล* ก็น่าจะเป็นสัตว์คุ้มครอง แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็ไม่รู้ว่าตกไปได้ยังไง สัตว์ทะเลพวกนี้นอกจากเราต้องดำน้ำลงไปศึกษาแล้ว บางครั้งเมื่อมีการลักลอบซื้อ-ขายกันตามท้องตลาด เจ้าหน้าที่ไปจับกุมมาได้ ก็นำของกลางมาฝากไว้ที่ศูนย์ ทางเราจะดูแลจนสามารถอยู่ในโรงเพาะฟักและสามารถขยายพันธุ์ได้ในที่สุด”

การทำงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ ของอาจารย์วารินทร์ เป็นแบบกรองชีวภาพ เมื่อพักฟื้นจนพวกสัตว์ทะเลอยู่ตัวแล้วก็หาวิธีที่จะขยายพันธุ์ต่อไป

“สัตว์ทะเลพวกนี้สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบแบ่งตัว และแบบอาศัยเพศโดยปล่อยไข่และสเปิร์มออกมาผสมกันในน้ำ ตัวอ่อนที่เป็นแพลงตอนจะลอยไปมาอยู่ในน้ำ จนกระทั่งลงจมเกาะกับพื้นผิวเพื่อเจริญเติบโตต่อไป

การสืบพันธุ์แบบแบ่งตัวของสัตว์ในไฟลัมนี้ คือหากเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ สัตว์เหล่านี้จะสามารถงอกกลายเป็นตัวใหม่ได้ในสภาวะที่เหมาะสม อาศัยหลักการดังกล่าวนี้จึงสามารถนำมาประยุกต์เป็นวิธีการในการขยายพันธุ์สัตว์ในกลุ่มนี้ โดยการตัดตัวเดิมออกเป็นชิ้นๆ แล้วนำชิ้นส่วนที่ตัดไปเลี้ยงไว้ในสภาวะที่เหมาะสม ก็จะเกิดเป็นสัตว์ตัวใหม่ขึ้นได้อีกหลายตัว จึงอาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ในการผ่าตัดขยายพันธุ์..” เสียงบอกเล่าของอาจารย์วารินทร์

*งานของอาจารย์วารินทร์ จึงเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดดอกไม้ทะเลเพื่อขยายพันธุ์*

*ดอกไม้ทะเล* อย่าได้ไปวาดภาพว่าจะเหมือนดอกไม้บนบก อย่างกุหลาบ กล้วยไม้ ขอบอกว่า !!คิดผิด!! เพราะดอกไม้ทะเล หรือชื่อภาษาทางการSea Anemone อยู่ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) ถือเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับแมงกะพรุนและปะการัง

ลักษณะลำตัวของดอกไม้ทะเลจะอ่อนนุ่ม มีหนวดจำนวนมากเรียงรายอยู่รอบปาก ดูคล้ายกับดอกไม้และเมื่อเวลาน้ำท่วมก็บานออก

หากจะขยายพันธุ์ หรือผ่าตัดตามวิธีที่อาจารย์วารินทร์ศึกษาก็คือ ใช้อุปกรณ์เพียงคัทเตอร์ ผ่ากลางลำตัวของดอกไม้ทะเล เพราะดอกไม้ทะเลจะดอกใหญ่เกาะติดกับภาชนะที่เลี้ยง ไม่สามารถดึงออกมาได้ด้วยเหตุว่า *กลัวช้ำ* จึงค่อยๆผ่าออกขณะที่ยังเกาะติดอยู่ แล้วค่อยๆ ใช้มือแซะแยกออกจากกันเล็กน้อย เพื่อให้มันมีพื้นที่ ที่จะงอกออกมาใหม่ให้เต็มดอก

ส่วน*เห็ดทะเล* หรือชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ Corallimorps จัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่งในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) ลักษณะโดยทั่วไปนั้นคล้ายกับดอกไม้ทะเลมาก แต่นักชีววิทยาทางทะเลได้จัดให้เห็ดทะเลกับดอกไม้ทะเลไว้ต่างอันดับ (Order) กัน กล่าวคือเห็ดทะเลถูกจัดอยู่ในอันดับ Corallimorpharia ส่วนดอกไม้ทะเลจัดอยู่ในอันดับ Actiniaria

วิธีการผ่าตัดของอาจารย์วารินทร์นั้น เริ่มจากแซะเห็ดทะเลออกจากฐานที่มันเกาะ ต้องระมัดระวังไม่ให้มันช้ำมากที่สุด จากนั้นใช้คัทเตอร์ผ่ากลางปากของมัน แบ่งเป็น 2 แบ่งเป็น 4 ถ้าผ่า 4 ก็จะเล็กลงหน่อยแล้วนำไปไว้ในกระชังรอแผลสมาน ทีนี้ก็นำไปติดที่หินเทียมที่ทำขึ้น

วิธีการทำหินเทียมก็ง่ายๆ โดยนำเปลือกหอยนางรม ปูนซีเมนต์ กรวดหยาบหรือทราย และน้ำมาผสมกัน เทใส่ลงในพิมพ์ รอให้แห้งแล้วแช่ไว้ในน้ำสักประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ฤทธิ์ของด่างหมดไป ก็จะได้หินเทียมที่ให้เป็นที่ยึดเกาะของพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้

เมื่อนำดอกไม้ทะเลไปติดที่หิน เลี้ยงไว้สักระยะเพื่อรอให้มันงอกออกมา ถ้ามีขนาดโตพอที่จะผ่าตัดอีกได้ ก็ทำการผ่าตัดขยายพันธุ์ต่อ

*โพลิปกระดุม* (Button Polyp) ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาของอาจารย์วารินทร์ ทำการผ่าตัดขยายพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และได้ผลดี

แน่นอนว่าโพลิปกระดุมย่อมมีรูปร่างเหมือนกระดุมหลายๆ เม็ดอยู่ด้วยกัน

ดังนั้น การผ่าตัดจึงต้องใช้กรรไกรแทนคัทเตอร์ ด้วยเหตุที่ต้องใช้กรรไกรช้อนเข้าไปข้างใต้ แล้วตัดกระดุมแต่ละเม็ดออกมา จากนั้นก็นำไปแช่ในกระชังรอให้แผลสมาน แล้วก็นำไปติดที่หินเทียม

*ปะการังอ่อน* อยู่ใน Order Alcyonacea จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่ไม่ได้สร้างโครงร่างหินปูน มีเพียงหนามหินปูน (sclerite) ซึ่งมีรูปร่างแตกต่างกัน และใช้ในการจำแนกชนิดของปะการังอ่อน

ปะการังอ่อนนี้ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลหลายชนิด ในรูปแบบการพึ่งพาที่ขาดไม่ได้ เช่น หอยเบี้ยเทียมหลายชนิด ปูลูกกวาด ฯลฯ หากไม่มีปะการังอ่อน สัตว์เหล่านี้ย่อมสูญพันธุ์ไปในที่สุด

การผ่าตัดใช้กรรไกรตัดเป็นชิ้นๆ ระมัดระวังอย่าให้ช้ำ จากนั้นนำลงกระชังรอแผลสมาน จึงนำไปติดหินเทียม รอให้โต เพื่อนำมาขยายพันธุ์ต่อไปอีกเรื่อยๆ

ปะการังแข็งจัดอยู่ในพวก ซีเลนเทอราตา (Coelenterata) กลุ่มเดียวกับดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน ต่างกันที่ปะการังจะสร้างหินปูนเป็นฐานแข็งแรง ลักษณะเด่นของปะการังคือ มีโพรงในลำตัว มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ระหว่างเนื้อเยื่อทั้งสองมีลักษณะเป็นวุ้น มีช่องปากแต่ไม่มีทวารหนัก มีหนวดซึ่งมีเซลล์เข็มพิษเพื่อป้องกันตัวหรือจับเหยื่อเป็นอาหารเรียงรายอยู่รอบปาก โพรงหินปูนเพื่อใช้เป็นที่อยู่ของ “ตัวปะการัง” ที่เรียกว่า “โพลิป (Polyp)” มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก อ่อนนุ่ม ส่วนบนช่องปากอยู่ตรงกลาง ปากทำหน้าที่ทั้งรับอาหารและขับถ่ายของเสีย รอบๆ ปากมีหนวด 6 เส้น ที่ทางศูนย์ทำมีอยู่แค่ 2 ชนิดคือ

*ปะการังลูกโป่ง* เป็นปะการังที่มีลักษณะเหมือนกับลูกโป่งหลายๆ ลูกมารวมตัวกันบนฐานของโครงแข็งที่อาศัยแคลเซียมจากท้องทะเลสร้างขึ้นมา

วิธีการผ่าตัด คือใช้กรรไกรตัดที่ลูกโป่งออกเป็นชิ้น หนึ่งชิ้นจะมีลูกเดียวหรือหลายลูกก็ได้ จากนั้นนำไปเลี้ยงไว้รอให้มันสร้างโครงแข็งขึ้นมาก็เท่านั้นเอง

อีกชนิดหนึ่งคือ *ปะการังหนวดสีชมพู* หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปะการังหนวดปลาหมึก เพราะลักษณะที่มีหนวดกระดุกกระดิกสีชมพูคล้ายกับปลาหมึกนั่นเอง วิธีการผ่าตัดก็ทำเช่นเดียวกับปะการังลูกโป่ง

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยจะมีสัตว์อื่นเช่นปลาการ์ตูน ปลาสลิดหิน ฯลฯ มาอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง เป็นโครงเป็นหลังคาเหมือนกับบ้านให้สัตว์อื่นเข้าไปอยู่

“ตอนนี้เราทำเพื่อเป็นการอนุรักษ์ แต่ต่อไปอาจจะทำเพื่อการค้าก็ได้ เพราะมีคนต้องการนำไปประดับตู้ปลาเยอะมาก หากขยายพันธุ์ได้ดี จะได้ไม่ต้องไปจับมาจากท้องทะเลอีก..” เสียงอาจารย์ผู้อำนวยการบอก

สำหรับอนาคตของสัตว์ทะเลพวกนี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาฯบอกว่า จะมีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีขยายพันธุ์โดยใช้ *เพศ*

“เพราะมีการสร้างไข่กับสเปิร์มผสมกันในน้ำ เนื่องจากสัตว์พวกนี้จัดเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง”

และอีกโครงการหนึ่งในอนาคตทางศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ ร่วมกับกรมประมง จะจัดหาพ่อ-แม่อุปถัมภ์ให้กับดอกไม้ทะเล โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการซื้อหินเทียม แล้วเขียนชื่อไว้ให้ดอกไม้ทะเลมาใช้เป็นฐานเกาะ แล้วนำไปปล่อยลงสู่ทะเล เป็นการคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

ซึ่งโครงการนี้ผู้ชื่นชอบรักสัตว์ทะเลและประชาชนผู้สนใจทั่วไป สามารถเข้าร่วมได้ใน “งานวันประมงน้อมเกล้าฯ” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน เป็นวันแรก ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว

ในโลกนี้หากความงามตามธรรมชาติบนบก คือป่าเขาลำเนาไพร ธารน้ำใส และสัตว์ป่านานาชนิดที่อยู่ร่วมกัน โลกใต้ทะเล ดอกไม้ทะเลก็คือความงามตามธรรมชาติ ที่ช่วยแต่งแต้มสีสันให้โลกใต้ทะเลงดงามมีชีวิตชีวา และเกื้อกูลสิ่งมีชีวิตอื่นในทะเลให้คงอยู่อย่างสมดุล

หากปราศจากดอกไม้ทะเลแล้ว ใต้ทะเลคงไม่ต่างอะไรกับเขาหัวโล้นและความแห้งแล้งบนพื้นดิน


ดอกไม้ทะเลคือสัตว์

“ดอกไม้ทะเล” หรือซีแอนนีโมนี่ (sea anemone) ไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มหนึ่ง มีหลายครอบครัว

ทั่วโลกพบมากกว่า 1,000 ชนิด ในแต่ละชนิดจะมีลักษณะของหนวดแตกต่างกัน อาศัยเกาะตามพื้นหินหรือทรายที่มั่นคง

พบเพียง 10 ชนิดเท่านั้น ที่ปลาการ์ตูนใช้อาศัยได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ครอบครัวได้แก่

1.ครอบครัวแอคตินีอีดี้ (Family Actiniidae) มีลักษณะของปลายหนวดโป่งออกคล้ายลูกโป่ง

2.ครอบครัวธาลัสซิแอนธิดี้ (Family Thalassianthidae) ลักษณะของหนวดสั้นคล้ายพรม

3.ครอบครัวสตีโคแดคทิวลิดี้ (Family Stichodactylidae) มีหนวดยาว

ยกตัวอย่างชนิดของดอกไม้ทะเลที่เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูน เช่น ดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูนส้มขาว, ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง

ดอกไม้ทะเลชนิด Stichodactyla gigantea เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูนส้มขาว ดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังทรายได้แก่ Stichodactyia haddoni เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง

ดอกไม้ทะเลชนิด Stichodactyla mertensii เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูน ปลาการ์ตูนอินเดียน, ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis crispa เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูนอานม้า, ปลาการ์ตูนดำแดง

และดอกไม้ทะเลชนิด Entacmaea quadricolor เป็นที่อยู่ของปลาการ์ตูนมะเขือเทศ, ปลาการ์ตูนแดง, ปลาการ์ตูนดำแดง เป็นต้น

อาวุธที่สำคัญของดอกไม้ทะเล คือเข็มพิษที่เรียกว่า *นีมาโตสิสท์* (nematocyst) ซึ่งจะอยู่ตามบริเวณหนวด ใช้สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ

การที่ปลาการ์ตูนไม่เป็นอันตรายจากดอกไม้ทะเลนั้น เนื่องจากดอกไม้ทะเลต้องสร้างเมือกบางชนิดออกมาเพื่อป้องกันตัวมันเองจากเข็มพิษที่มันปล่อยออกมาเช่นกัน

ปลาการ์ตูนจะว่ายไปที่ฐานของดอกไม้ทะเล แล้วเอาลำตัวถูกับเมือกเหล่านี้ให้ติดตัว ทำให้เข็มพิษไม่สามารถทำอันตรายได้

ปลาการ์ตูนต้องอาศัยอาหารจากดอกไม้ทะเล หากมีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ดอกไม้ทะเลได้ ปลาการ์ตูนก็อาจไม่ต้องสูญพันธุ์ หรือมีจำนวนลดน้อยลงเพราะถูกจับมาขายเป็นปลาตู้เช่นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่เวลานี้

Share the Post: