โดย หนังสือพิมพ์ มติชน คอลัมน์ โลกสามมิติ 18 สิงหาคม 2550
โดย : บัณฑิต คงอินทร์ bandish.k@psu.ac.th
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากที่สุดในโลก น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์รายงานสถานภาพของโลมาชนิดนี้ในวารสาร Biology Letters journal หลังจากการค้นหาครั้งล่าสุดในแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเวลานาน 6 สัปดาห์เมื่อปลายปี 2006
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River dolphin) หรือ “ไป๋จี” เป็นโลมาน้ำจืด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lipotes vexillifer อาศัยอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียงตอนกลางและตอนล่างของประเทศจีน รวมทั้งแม่น้ำเชียนถังที่อยู่ใกล้เคียง
โลมาชนิดนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดึกดำบรรพ์สปีซีส์เดียวของแฟมิลี Lipotidae ซึ่งแตกแขนงออกมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำชนิดอื่น เช่น วาฬ และโลมา เมื่อประมาณ 40-20 ล้านปีก่อน
ชาวจีนขนานนามโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงว่า “เทพธิดาแห่งแม่น้ำแยงซีเกียง” ลักษณะเด่นของโลมาแยงซีเกียงคือ มีลำตัวสีขาว จงอยปากแคบและยาว ครีบหลังต่ำ ตัวผู้ยาว 2.3 เมตร ตัวเมียยาว 2.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 135-230 กิโลกรัม อายุยืนประมาณ 24 ปี
การสำรวจในทศวรรษที่ 1950 ไม่พบว่ามีโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่ในแม่น้ำเชียนถังอีกเลย และการสำรวจในปลายทศวรรษที่ 1970 พบว่ามีโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียงและในคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำนี้ประมาณ 400 ตัว ทว่าอีกสองทศวรรษต่อมาพวกมันเหลืออยู่เพียง 13 ตัว เท่านั้น
มีผู้เห็นโลมาแยงซีเกียงครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกันยายน ปี2004 ก่อนหน้านั้นโลมาแยงซีเกียงตัวผู้ชื่อ “ชีชี” ที่สถาบันไฮโดรไบโอโลยี แห่งวูฮาน (Institute for Hydrobiology Wuhan) เลี้ยงไว้ตายลงเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2002
สหพันธ์อนุรักษ์สากล (World Conservation Union-IUCN) จึงได้ขึ้นบัญชีแดง
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด (critically endangered) และสมาคมสัตววิทยาแห่งกรุงลอนดอน (Zoological Society of London-ZSL) จัดให้เป็น 1 ใน10 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมของโลกที่ต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
นักวิทยาศาสตร์พบว่าสาเหตุที่โลมาแยงซีเกียงมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วจนในที่สุดต้องสูญพันธุ์ไปเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ และว่าพวกมันเป็นตกเป็นเหยื่อของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีน
โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงติดอวนของเรือประมงอย่างไม่ตั้งใจจนตายไปเป็นจำนวนมาก การจับปลาที่มากเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกมันสูญเสียอาหาร นอกจากนั้นพวกมันต้องเผชิญกับภาวะมลพิษ และจากการจราจรทางเรือที่คับคั่งทำให้พวกมันชนกับเรือและยังสับสนในการใช้คลื่นเสียงหรือโซนาร์ในการค้นหาอาหาร รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย
การค้นหาพวกมันครั้งใหญ่ที่สุดดำเนินการเมื่อเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2006 ด้วยความสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรของจีน โดยนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากหลายองค์กร อาทิ สถาบันไฮโดรไบโอโลยี แห่งวูฮาน สถาบัน Swiss Federal Institute of Aquatic Science and Technology (Eawag) องค์กร National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) สถาบัน Hubbs-Seaworld Institute ซานดิเอโก และกรมประมงของญี่ปุ่น
เรือสำรวจสองลำติดอุปกรณ์ไฮโดรโฟน (hydrophones)
เครื่องมือตรวจฟังเสียงของโลมานำนักวิทยาศาสตร์ไปตามแม่น้ำแยงซีเกียง เริ่มต้นจากเมืองยิชางถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงและแล่นกลับมาด้วยระยะทางเกือบ 3,500 กิโลเมตร ในเวลา 6 สัปดาห์ แต่ผลที่ได้คือ ความสิ้นหวัง ไม่มีร่องรอยใดๆ ที่แสดงว่ามีโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงอยู่อีกเลย
ออกัสต์ ฟลูเกอร์ ผู้อำนวยการของ baiji.org องค์กรอนุรักษ์โลมาแม่น้ำแยงซีเกียงหนึ่งในผู้นำในการค้นหา สรุปว่า “เรายอมรับว่าไป๋จีสูญพันธุ์ไปแล้ว มันเป็นโศกนาฏกรรมและเป็นการสูญเสียไม่เพียงเฉพาะจีนเท่านั้นแต่เป็นโลกทั้งมวล”
ด้าน ดร.แซม เทอร์วีย์ จากสมาคมสัตว์วิทยาแห่งกรุงลอนดอน ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ช้อคความรู้สึกทีเดียว และว่าโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะเด่นซึ่งแตกแขนงออกมาจากสปีซีส์อื่นๆ เมื่อกว่า 20 ล้านปีมาแล้ว
“การสูญพันธุ์เท่ากับการหายไปของวิวัฒนาการการแตกแขนงของสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ และเป็นการเน้นย้ำว่าเราต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อบทบาทในฐานะผู้พิทักษ์ดวงเคราะห์ดวงนี้” เขากล่าว
คาดกันว่า IUCN จะปรับสถานภาพของโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงในบัญชีแดงจาก สัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดเป็น สัตว์ป่าที่น่าจะสูญพันธุ์แล้ว ในการประชุมปรับสถานภาพสัตว์ป่าในบัญชีแดงครั้งต่อไปในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007
หากโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงสูญพันธุ์ไปจริงๆ ก็นับเป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่สปีซีส์ล่าสุดที่สูญพันธุ์ไปหลังจาก สิงโตทะเลญี่ปุ่น (Japanese Sea Lion) สปีซีส์ย่อยของสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย และ แมวน้ำแคริบเบียน (Caribbean Monk Seal) สูญพันธุ์ไปเมื่อทศวรรษที่ 1950
ยังมีโลมาหายากอีกชนิดหนึ่งในแม่น้ำแยงซีเกียงคือ โลมาไร้ครีบหลัง (Finless Porpoise) หรือที่คนไทยเรียกว่าโลมาหัวบาตรหลังเรียบ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า N. phocaenoides asiaeorientalis หนึ่งในสามของสปีซีส์ย่อยของสปีซีส์ Neophocaena phocaenoides ซึ่งมีอยู่เฉพาะในแม่น้ำแยงซีเกียงเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าโลมาชนิดนี้กำลังจะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับโลมาแม่น้ำแยงซีเกียงในไม่ช้านี้