marinerthai

มองผ่านเลนส์ … โลกใต้น้ำ กับ ‘ นัท สุมนเตมีย์ ’

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 28 มกราคม 2551

เรื่อง: อรพรรณ สกุลเลิศผาสุข
ภาพ: นัท สุมนเตมีย์

–  เปิดประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปีกับนักเล่าเรื่องใต้ท้องทะเลผ่านภาพนิ่ง

–  “1 ใน 55 ช่างภาพโลก” บันทึกความงามทะเลไทยลง “Thailand : 9 Days in the Kingdom”

–  กับเส้นทางอาชีพกว่าจะถึงฝั่งฝันในวัยเยาว์ ชี้รายได้ไม่คุ้มค่าแม้ผลงานเทียบชั้นต่างประเทศ

–  เคาะ “3 หนทาง” เด็กใหม่ก้าวสู่อาชีพ “ดำน้ำเก่ง-รู้จักรอคอย-ศึกษาข้อมูล”

หากความงามใต้ท้องทะเลมีเพียงแค่ “นักดำน้ำ” ดูจะเป็นการตัดโอกาสสำหรับผู้ที่ดำน้ำไม่เป็น

ช่างภาพใต้น้ำ” เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำให้คนรู้ว่าโลกใต้ทะเลมีความงดงามมากเพียงใด

“Smart job” จะถ่ายทอดเรื่องราวของ “ช่างภาพใต้น้ำ” จากภาพนิ่งที่บรรยายถึงความงามสู่ตัวอักษรที่พร้อมเล่า วิถีชีวิต ขั้นตอนการทำงาน เส้นทางอาชีพ กว่าจะมาถึงฝั่งการเป็นมืออาชีพที่ช่างภาพระดับโลกยอมรับ พร้อมแนะ 3 ทักษะที่ช่างภาพใต้น้ำควรมี

จากความชอบสู่อาชีพ

นัท สุมนเตมีย์” เริ่มอาชีพการเป็นนักเล่าเรื่องใต้ท้องทะเล หรือช่างภาพใต้น้ำ จากการที่เคยดำน้ำมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเป็นนักดำน้ำ หลังจากนั้น เคยมีโอกาสได้มาฝึกงานที่อนุสาร อ.ส.ท. 3 เดือน ซึ่งจังหวะที่เขาเข้ามาเป็นช่วงที่หนังสือกำลังโปรโมทการดำน้ำเป็นการท่องเที่ยวประเภทใหม่

เขา บอกว่า ก่อนหน้ากระแสความนิยมดำน้ำในไทยเป็นที่รู้จักแค่กลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น อย่างนักธุรกิจ หรือคนที่เรียนจบจากต่างประเทศ แต่ขณะนั้นกำลังจะโปรโมทให้กระแสความนิยมดำน้ำมีวงกว้างขึ้น

ปัจจุบัน “นัท” ไม่ได้ทำงานกับ อ.ส.ท.แล้ว แต่ทำให้กับหนังสือ “Nature Explorer ” และยังเป็น 1 ใน 55 ช่างภาพทั่วโลก หรือ 1 ใน 11 ช่างภาพไทย ที่มีโอกาสได้ถ่ายภาพลงหนังสือภาพถ่าย “ไทยแลนด์ ไนน์ เดย์ อิน เดอะ คิงดอม” (Thailand : 9 Days in the Kingdom) ซึ่งเป็นการให้ช่างภาพจากทั่วโลกมาบันทึกภาพเมืองไทยในเวลา 9 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

เหตุที่เขาตอบตกลงร่วมงานนี้โดยไม่คิดมาก เพราะสมัยที่เป็นเด็กเคยเห็นหนังสือ “Thailand : 7 Days in the Kingdom” แล้วฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งอยากได้ทำงานแบบนี้ และครั้งนี้เป็นโอกาสของเขา ที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดภาพในมุมที่ถนัด คือ ภาพโลกใต้น้ำ ชีวิตสรรพสัตว์ ธรรมชาติความงามของท้องทะเลไทย ในอันดามันเพื่อให้ชาวโลกได้รู้ว่าหลังจากเมืองไทยผ่านเหตุการณ์สึนามิมาแล้ว ใต้ท้องทะเลก็ยังมีธรรมชาติของแนวปะการัง และสัตว์น้ำใต้ทะเลที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่

โดย “นัท” ยังรู้สึกดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับมืออาชีพ ได้เห็นการทำงานที่เป็นสากล และเห็นว่างานที่ทำทุกวันนี้ได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า เพราะเขาทำงาน 9 วันได้ค่าตอบแทน 100,000 บาทเป็นระดับเดียวกับช่างภาพต่างประเทศ ซึ่งจากนี้เขาจะรับงานจำกัด เพราะใครก็ตามที่ต้องการจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสม แม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าสูงเกินไป แต่สำหรับเขาถือว่าเป็นรายได้ปกติ เพราะไม่ได้ถ่ายรูปทุกวัน และผลงานก็เป็นที่ยอมรับของช่างภาพระดับโลกด้วย

ไขขั้นตอนสร้างภาพ

ถ้าถามถึงขั้นตอนในการทำงานเป็นช่างภาพใต้น้ำ “นัท” เล่าว่า ปกติหนังสือจะมีการประชุมประจำปีก่อน เพื่อทราบว่าแต่ละเดือนทำธีมใด เมื่อถึงเดือนก็จะมาประชุมอีกทีว่าควรจะมอบหมายให้นักเขียน หรือช่างภาพคนใดทำ การจะได้งานใดขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน แต่สำหรับเขาจะได้รับมอบหมายให้ “ถ่ายภาพใต้น้ำ” จนกลายเป็นงานหลัก

บางครั้งเขามีโอกาสเดินทางไปที่ใด ก็จะเก็บภาพและเรื่องราวกลับ เพราะสำหรับเขาการเที่ยวกับงานแยกกันไม่ออก ทุกครั้งที่ลงไปดำน้ำไม่เคยลงไปโดยไม่มีกล้อง ซึ่งแหล่งดำน้ำบางแห่งขายเรื่องราวได้แค่ครั้งเดียว แต่บางแหล่งก็ได้หลายครั้ง โดยก่อนที่จะออกเดินทางไปทำงาน เขาจะหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ไป ซึ่งอินเทอร์เน็ท คือ อุปกรณ์สำคัญแม้ว่าจะเชื่อถือได้บางส่วนก็ตาม ข้อมูลที่ต้องหา คือ ข้อมูลพื้นฐาน อย่าง เดือนที่จะเดินทางสภาพอากาศเป็นแบบใด เพื่อเตรียมความพร้อม

ส่วนระยะเวลาในการทำงานจะใช้เวลาไม่นาน 4-5 วัน หากถามว่าเวลาแค่นี้เพียงพอหรือไม่ เขา บอกว่า เวลายิ่งมากยิ่งได้งานดี การทำงานสองวันกับเดือนหนึ่งผลงานต่างกันอยู่แล้ว นอกจากว่าบังเอิญไปสองวันแรกแล้วได้งานดีเลย

สำหรับความแตกต่างของช่างภาพใต้น้ำทั่วไปกับถ่ายสำรวจ “นัท” บอกว่า ต่างกัน เขายกตัวอย่างเช่นการถ่ายสำรวจเรือจ่มต้องถ่ายให้เห็นภาพรวมของเรือ และจุดที่สามารถจะผูกใช้สายโยงเกี่ยวเรือขึ้นมา แต่ถ้าถ่ายแบบทั่วไปก็จะถ่ายให้เห็นความสำคัญ เรื่องราว ของเรือจ่ม

มือสมัครเล่นดึงงานมืออาชีพ

“นัท” ได้เล่าถึงการแข่งขันในอาชีพว่า ช่างภาพทุกประเภทมีการแข่งขันที่สูง อย่าง คนเดินมา 10 คน เป็นช่างภาพไปแล้ว 8 คน เพราะนักดำน้ำบางคนก็ถ่ายรูปได้ดี ในขณะที่ปริมาณงานไม่ได้มีมากจนถึงขั้นขาดแคลน

“แต่การจะมาทำเป็นอาชีพผมพิสูจน์แล้วยากในการจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะรายได้น้อยมากๆ หากเทียบกับหลายอาชีพอื่น อาชีพนี้ในไทยต่อเรื่องได้หมื่นกว่าบาทก็หรูแล้ว อย่างผมรายได้ในการเขียนเรื่องไม่เกิน 15,000 บาท แต่ผมยังมีรายได้จากส่วนอื่น คือขายภาพสต๊อกเพื่อใช้ในงานโฆษณา”

ด้วยความที่ช่างภาพมือสมัครเล่นมีปริมาณมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อช่างภาพอาชีพ แต่สำหรับเขาไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงแต่เป็นทางอ้อม เพราะถ้าองค์กรธุรกิจใดต้องการงานของเขาไปใช้นั้นหมายความว่าองค์กรนั้นต้องการภาพที่ดีที่สุดไปใช้งาน

แต่บางครั้งองค์กรธุรกิจก็มองข้ามเรื่องสถาบันอาชีพไป อย่างเช่นต้องการภาพสำหรับทำปฎิทินก็ไม่นำภาพของช่างภาพมืออาชีพไปลง แต่นำของช่างภาพมือสมัครเล่นซึ่งคนกลุ่มนี้เขาต้องการให้ภาพของตัวเองได้ตีพิมพ์อยู่แล้ว หรือบางครั้งช่างภาพสมัครก็เข้ามาตัดราคามืออาชีพ ทำให้ขณะนี้อาชีพช่างภาพทั่วโลกกำลังถูกคลุกคามจากองค์กรธุรกิจที่ไม่ได้มองการถ่ายภาพเป็นวิชาชีพ

“ผมมองเรื่องของวิชาชีพคนทำงานเป็นหลัก มีคนถามทำไมไม่รวมเล่มพ็อคเกตบุ๊ค เพราะผมไม่พอใจระบบ 10% ที่ให้นักเขียน คือ กระดาษที่มาพิมพ์เป็นหนังสือจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่ผ่านหัวสมองของนักเขียนแต่นักเขียนได้แค่ 10% หรือเคยมีหลายบริษัทมาขอรูปไปใช้แล้วจะลงเครดิตให้ผม ผมก็จะตอบอย่างง่ายๆ ว่าถ้าให้คุณออกแบบนิทรรศการให้แล้วผมจะลงเครดิตให้คุณจะพอใจหรือเปล่า คนทุกคนทำงานก็ต้องมีรายได้เลี้ยงตัวเองเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้”

ส่วนอุปสรรคการทำงาน “นัท” บอกว่า ภูมิอากาศ อย่าง คลื่นลม เพราะวันใดที่ออกทะเลและเจอคลื่นแรงๆ จะเหนื่อยเป็นพิเศษ บางครั้งไปสายการบินต้นทุนต่ำถ้าเอาอุปกรณ์ไปมากก็จะต้องโดนชาร์จค่าขนส่ง ด้านความประทับใจในการทำงานเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะมีโอกาสได้ไปในที่ต่างๆ ที่คนอื่นไม่ได้ไป ได้เห็นโลกกว้างที่มากกว่ากรุงเทพฯ

“ผมไม่เคยไปปารีส ลอนดอน นิวยอร์ค ผมเคยไปประเทศแปลกๆ อย่าง ปาปัวนิวกินี เกาะกาลาปากอซ ได้มีเพื่อนอยู่ทุกมุมโลก”

Share the Post: