จาก ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 กันยายน 2551 11:24 น.
นักวิทย์ออสซีสำรวจโลกใต้ทะเล พบสิ่งมีชีวิตหลากหลายสปีชีส์ และมีชนิดใหม่นับร้อย ทั้งปะการังอ่อนสีสันสวยงาม แมลงน้ำรูปร่างแปลกตา รวมทั้งแมงกะพรุน ดาวทะเล หนอนทะเล และครัสเตเชียอีกมากมาย
ทีมนักชีววิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science: AIMS) สำรวจแนวประการังบริเวณเกาะลิซาร์ด (Lizard Island) เกาะเฮอร์รอน (Heron Island) และแนวปะการังนินกาลู (Ningaloo Reef) ของประเทศออสเตรเลีย พบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหลายร้อยชนิดอาศัยอยู่ร่วมกัน และคาดว่าในจำนวนนี้เป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนจำนวนมาก เฉพาะบริเวณเกาะลิซาร์ดแห่งเดียวมีสปีชีส์ใหม่ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 โดยได้แถลงผลการสำรวจไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา
สิ่งมีชีวิตใต้โลกสีครามหลากชนิดที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามีทั้งปะการังอ่อนประมาณ 300 ชนิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นชนิดใหม่ถึงครึ่งหนึ่ง, สัตว์ขนาดเล็กที่มีเปลือกแข็งในกลุ่มของครัสเตเชียน (crustacean), แมลงน้ำหรือแอมฟิพอด (amphipod), สัตว์คล้ายกุ้งฝอยที่มีก้ามยาวกว่าลำตัว, แมงกะพรุนแคสสิโอเพีย (Cassiopeia jellyfish)
พวกเราประหลาดใจและตื่นเต้นมากที่ได้พบสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกลุ่มใหญ่ที่ไม่เคยมีใครบันทึกไว้มาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกปะการังอ่อนที่สวยสะดุดตา, สัตว์จำพวกไอโซพอด (isopod) ในกลุ่มครัสเตรเชียน และพวกหนอนทะเลต่างๆ” คำบอกเล่าของจูเลียน คาเลย์ (Julian Cale) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของทีมสำรวจ
ส่วน ดร.เอียน พอยเนอร์ (Dr. Ian Poiner) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันเดียวกันกล่าวว่า ปะการังและสัตว์ทะเลส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลเป็นกรด มลพิษ อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ไปจนถึงการทำประมงที่มากเกินไป ซึ่งการศึกษาโลกใต้ทะเลนอกจากเพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว หากเราติดตามประชากรสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับทะเลและสัตว์เหล่านั้นบ้าง