จาก กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ วันที่ 22 มกราคม 2552
โดย : ไพศาล รัตนะ
คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ประกาศข่าวดี พะยูนโผล่ภูเก็ต หลังหายตัวกว่า 30 ปี หวั่นท่องเที่ยวรุกต่อ ทำพะยูนเผ่นซ้ำ ทิ้งน่านน้ำไทยถาวร
ข่าวพบเห็นการกลับมาของ “พะยูน” ที่บริเวณอ่าวตังเข็น แหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถูกจัดวางเอาไว้ด้านในของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หลายคนอาจพลิกข้ามผ่าน แต่สำหรับ คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก แม้ไม่ใช่ “ข่าวใหญ่” ที่สร้างความเกรียวกราวขนาดหน้า 1 ต้องมอบพื้นที่ให้ .. แต่นี่คือ “ข่าวดี” ครั้งสำคัญ หลังจาก “พะยูน” ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่เคยปรากฏกายให้ใครๆ (ในภูเก็ต) ได้เห็นอีกเลยนานเกือบ 30 ปี ผู้อยู่เบื้องหลังคราวนี้ มีอยู่ 3 คน ได้แก่ กาญจนา อดุลยานุโกศล เผ่าเทพ เชิดสุขใจ และ สนธยา มานะวัฒนา คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก แม่ทัพสำคัญจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตีกลองบอกข่าวดี
เผ่าเทพ เชิดสุขใจ นักวิชาการประมง หนึ่งในกลุ่มเจ้ากรมข่าวดีครั้งนี้ เริ่มต้นเล่าว่าภาพที่สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับคณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ. ภูเก็ต ได้เป็นครั้งแรกเกิดขึ้นราวกลางเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา หลังจากได้สำรวจพบรอยกินหญ้าทะเลของพะยูน (feeding trails) จำนวนมากที่อ่าวตังเข็น แหลมพันวา และจุดนี้สถาบันฯ เคยได้ต้อนรับพะยูนความยาว 2.8 เมตรจากอ่าวตังเข็น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 และนั่นคือตัวสุดท้าย
ภารกิจติดตามค้นหาตัว “พะยูน” จึงเกิดขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้รับแรงสนับสนุนอย่างดีจากภาคเอกชน โดยเฉพาะโรงแรมเดอะรีเจนท์ ซึ่งวางตัวอยู่บนเขาสูงด้านขวาของอ่าวตังเข็น ได้อนุญาตให้ทีมเข้าไปสังเกตการณ์พะยูนอย่างอิสระ ในที่สุดเวลาที่ทุกคนรอคอยก็เดินทางมาถึง แต่ละคนล้วนสะกดความตื่นเต้นกันแทบไม่อยู่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 เวลาประมาณ 10:00 น. ภาพของพะยูนลำตัวสีชมพูขนาดใหญ่จำนวน 1 ตัวโผล่ขึ้นมาหายใจและดำลงไปกินหญ้าทะเลในบริเวณแนวหญ้าทะเลกลางอ่าว เป็นเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง และสามารถบันทึกภาพไว้ได้
หลังจากนั้นทีมงานก็ยังเพียรเฝ้าสังเกตพะยูนจากอาคารของโรงแรมเดอะรีเจนท์เกือบทุกวันที่มีโอกาส “แต่ละวัน เราจะเฝ้ารอดูอยู่ 2-3 ชั่วโมง ในช่วงน้ำทะเลขึ้นเต็มฝั่ง เพราะช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่พะยูนจะเข้ามากินหญ้าทะเล ซึ่งบางครั้งเราก็ได้เห็นพะยูนมากินหญ้านาน 2 ชั่วโมง โดยจะขึ้นมาหายใจทุกๆ 2-3 นาที แล้วค่อยดำลงไปกินต่อ” เจ้าพะยูนตัวนี้ มีขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร ตามคำบอกเล่าของเผ่าเทพที่สังเกตการณ์อยู่ไม่ไกล แล้วพอน้ำทะเลลง เจ้าหน้าที่จะใช้โอกาสตรงนั้นสำรวจและติดตามรอยกินหญ้าทะเลของพะยูน ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเศษ จากนั้นก็จะทำการวางทุ่นเพื่อบอกกำหนดบริเวณพื้นที่ที่ศึกษาจำนวน 5 ทุ่น พร้อมทำเครื่องหมายรอยกินของพะยูนเพื่อให้สามารถติดตามรอยกินครั้งใหม่ๆ ได้ถูกต้อง
“เราพบรอยกินหญ้าวันละ 19-30 รอย แต่ละรอยกินความกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2 เมตร” จากการเฝ้าสังเกตทั้งหมด 26 ครั้ง คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สามารถสังเกตเห็นพะยูนเพียง 5 ครั้งใน 4 วัน (วันที่ 29 พฤศจิกายน และ 6,7 และ 9 ธันวาคม 2551) ระหว่างนั้นก็มีอุปสรรคแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ “วันที่ 6 ธันวาคม เวลาประมาณบ่ายสามโมงสิบห้า มีพะยูน 1 ตัวเข้ามาหากินหญ้าทะเลในตำแหน่งใกล้ทุ่นที่เราวางไว้ แล้วจู่ๆ ก็มีเรือติดเครื่องยนต์วิ่งเข้ามาวางลอบในอ่าวใกล้กับที่พะยูนหากินอยู่ พอชาวประมงโยนลอบลงไป พะยูนก็ตกใจ ว่ายน้ำหนีออกไปอย่างรวดเร็ว” แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ทีมวิจัยฯ ถอยหลังกลับ ทุกคนยืนยันว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นนับว่าเล็กน้อยมาก และจะเดินหน้าตามหาพะยูนต่อไป
“สิ่งที่น่าห่วงใย คือ หาดแห่งนี้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์มาก ชายหาดด้านในมีแหล่งหญ้าทะเล ส่วนด้านนอกเป็นแนวปะการัง และด้านขวาของหาดเป็นป่าชายเลน จากเดิมที่อ่าวนี้มีเฉพาะชาวบ้านและชาวประมงขนาดเล็กเพียงไม่กี่หลังคาเรือน แทบไม่มีการทำการประมงในอ่าวนี้เลย ชาวบ้านอาจหาเก็บหอยเป็นครั้งคราวในตอนน้ำลง แต่ปัจจุบัน มีการพัฒนาชายหาดอ่าวตังเข็นเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ถ้ามีการสร้างท่าเทียบเรือ หรือมีเรือเร็วเข้าออกในอ่าวนี้ พะยูนคงอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน” นอกจากความห่วงและกังวล นักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ยังเสนอแนะว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมกันอนุรักษ์พะยูนและระบบนิเวศหญ้าทะเล ปะการังและป่าชายเลน
“อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศก็ได้ โดยสถาบันฯ จะช่วยในเรื่องจัดทำ Nature trail เอง” อาจไม่ได้มาแค่ตัวเดียว ก่อนการปรากฏกายของ “พะยูน” ที่อ่าวตังเข็นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษนั้น นักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก บอกว่านี่เป็นสัญญาณของการกลับมาของพะยูนภูเก็ตแล้ว โดยทางฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ต
ลุงต๋อย หรือ จุรณ ราชพล เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์บ้านป่าคลอก ก็เคยพบเห็นพะยูนดอดเข้ามากินหญ้าทะเลหน้าหาดบ้านป่าคลอก และบางครั้งในช่วงน้ำขึ้น พะยูนก็ขึ้นมาหายใจ ส่วนร่องรอยการกินหญ้าที่พบจะเป็นเฉพาะหญ้าทะเลชนิด หญ้าอำพัน หรือ หญ้าชะเงา (ชื่อวิทยาศาสตร์ Halophila ovalis) “รอยกินหญ้าของพะยูนจะไม่เป็นเส้นตรง ยาวตั้งแต่เมตรเศษๆ ไปจนถึง 5-6 เมตร บางครั้งก็พบรอยกินของลูกพะยูน รอยกินของเจ้าตัวเล็กมักอยู่ห่างจากรอยกินของแม่พะยูนประมาณ 1 เมตร” ลุงต๋อยร่วมให้ข้อมูล
ขณะนี้นักวิจัยได้ติดตามรอยกินหญ้าทะเลของพะยูนที่หาดแห่งนี้ เพื่อใช้ในการประเมินประชากรพะยูนที่เข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าว และศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของพะยูน ด้วยหวังว่าจะพบเห็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับอ่าวตังเข็น แหลมพันวา นอกจากนี้ ที่ อ่าวฉลอง (ห่างตัวเมืองภูเก็ตไป 11 กม.) ก็ส่งสัญญาณบ่งบอกการกลับมาของพะยูนภูเก็ตเช่นกัน โดย “เครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง” พลังขับเคลื่อนจากชาวบ้านกลุ่มสำคัญที่รวมตัวกันผลักดันการเรียกคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำต่างๆ ให้กลับมา
สุทา ประทีป ณ ถลาง ประธานเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอ่าวฉลอง ได้สำรวจพบแหล่งหญ้าทะเลในอ่าวฉลองว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้พบเต่าทะเลและโลมากลับเข้ามาหากิน และนำไปสู่การเดินทางกลับมาของพะยูน ที่ปรากฏต่อสายตาชาวบ้านเป็นครั้งคราวอีกด้วย ส่วนประเด็นที่ว่า ความสมบูรณ์ของธรรมชาติทางทะเลเป็นปัจจัยสำคัญหลักที่ส่งผลให้ “พะยูน” เดินทางกลับบ้านหลังเดิมที่ภูเก็ตอีกครั้งหรือไม่นั้น คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก กำลังไขปริศนาและหาคำตอบชนิดเร่งวันเร่งคืน
ใครพรากพะยูน? คำถามที่ว่า “พะยูนกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากจังหวัดภูเก็ตจริงหรือ?” วันนี้ยังมีใครบางคนมองเป็นเรื่องตลก แต่ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์เช่นนี้กลับไม่ไกลเกินความเป็นจริงเลย พิสูจน์ได้จากความเพียรพยายามในการเฝ้าติดตามการกลับมาอีกครั้งของพะยูน ที่ต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปี และจากข้อมูลของ นักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ภูเก็ต พบว่า พะยูนที่อาศัยอยู่ทั่วโลกได้สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่และกำลังจะสูญพันธุ์ในอีกหลายๆ แห่ง ที่สำคัญ ประเทศไทยตกอยู่ในข่ายนั้น
เมื่อพิจารณาจากสถิติแนวโน้มจำนวนประชากรพะยูนที่น้อยลงเรื่อยๆ อัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิด “ถ้าเรายอมให้พะยูนวัยหนุ่มสาวที่พร้อมจะสืบพันธุ์ได้ ตายเกินร้อยละ 5 ตัวต่อหนึ่งปี นั่นก็คือเส้นทางแนวดิ่งของการสูญพันธุ์ของพะยูนในน่านน้ำไทยอย่างแน่นอน” เป็นคำพูดของ กาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมง 8 ว หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ร่วมให้ข้อมูลอีกว่า ในประเทศไทย สาเหตุที่ทำให้พะยูนตายส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการประมงอวนติดตาหรืออวนลอยประเภทต่างๆ รองลงไปเป็นโป๊ะน้ำตื้นน ความยาว 2.5 ม. เพศเมียติดอวนลอย บริเวณอ่าวฉลอง อ.เมือง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน
ต่อมาปี 2529 พบซากพะยูน ความยาว 1.8 ม. ติดอวนลอย บริเวณอ่าวฉลอง อ.เมือง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 2 สิงหาคม 2541 พบพะยูน ความยาว 2.19 ม. หนัก 184 ก.ก. เพศผู้ ถูกเรือชนในท่าเรือน้ำลึก ใกล้เกาะตะเภาใหญ่ อ.เมือง 17 มกราคม 2543 พบซากพะยูน ติดอวนลอย ณ หาดป่าคลอก อ.ถลาง ชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 10 เมษายน 2543 พบพะยูนติดโป๊ะที่บางโรง อ.ถลาง สามารถช่วยชีวิตไว้ได้และปล่อยไป วันที่ 25 ตุลาคม 2543 พบซากติดอวนลอย บริเวณหาดป่าคลอก อ.ถลาง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 28 มีนาคม 2545 พบพะยูน ความยาว 2.14 ม.น้ำหนัก 174 ก.ก.เพศผู้ ติดโป๊ะ บริเวณหัวแหลมบ้านพัด ต.วิชิต อ.เมือง วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547พบพะยูนความยาว1.15 ม.น้ำหนัก 30 ก.ก.เพศเมีย บริเวณบ้านพารา ป่าคลอก อ.ถลาง ตายหลังจากอนุบาลที่สถาบันฯ ได้ 79 วัน วันที่ 1 มกราคม 2548 พบซากพะยูนติดอวนลอย ป่าหล่าย อ่าวฉลอง อ.เมือง ตายและชาวบ้านนำเนื้อไปกิน วันที่ 2 เมษายน 2550 พบพะยูนขนาด 1.92 ม.น้ำหนัก 126 ก.ก.เพศผู้ ติดโป๊ะที่อ่าวป่าคลอก อ.ถลาง ตายและผ่าชันสูตรซาก
โดยพะยูนตัวล่าสุดที่ได้รับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 บริเวณนอกชายฝั่งแหลมกา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เวลา 6:00 น.จากการชันสูตรซากพบว่า พะยูนตัวนี้มีบาดแผลตื้นๆ ภายนอกเพียงเล็กน้อย เป็นแผลสดแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญพบแผลและรอยช้ำบริเวณรอบโคนหาง ซึ่งเกิดจากการมัดเชือกและลากเพื่อขนย้าย ในกระเพาะอาหารมีหญ้าทะเล 6 กิโลกรัม ส่วนในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีเศษอาหารที่ย่อยแล้วอยู่เต็มตลอดทั้งลำไส้
กาญจนาให้ความรู้ว่า การพบหญ้าทะเลจำนวนมากตลอดทั้งทางเดินอาหาร เป็นข้อบ่งชี้ว่าพะยูนยังกินอาหารได้ปกติก่อนเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมง ไม่ได้ป่วยเรื้อรัง พบพยาธิตัวแบนในโพรงจมูกทั้งสองข้าง ในกระเพาะอาหารพบพยาธิตัวกลม และในกระพุ้งลำไส้ใหญ่พบพยาธิตัวแบนไม่ทราบชนิด ทั้งนี้การพบพยาธิดังกล่าวเป็นลักษณะปกติที่พบได้ในพะยูนในธรรมชาติ และไม่ส่งผลต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่สิ่งผิดปกติอยู่ที่ การพบของเหลวสีเหลืองใสในช่องอกทั้งด้านซ้ายและขวาปริมาตรรวม 400 มิลลิลิตร เป็นข้อบ่งชี้ว่าพะยูนเกิดภาวะช็อค และพบหนองสีเหลืองอ่อนบริเวณแขนงหลอดลมในปอดทั้งสองข้างหลายตำแหน่ง แต่สภาพเนื้อปอดโดยรวมยังอยู่ในสภาพปกติ อันเป็นการติดเชื้ออักเสบของปอดแบบเฉียบพลัน ซึ่งน่าจะเกิดจากการสำลักน้ำเข้าปอด และไม่พบความผิดปกติที่อวัยวะภายในอื่น ๆ ดังนั้นสาเหตุการตาย คาดว่าจะมาจากการติดเครื่องมือประมงทำให้จมน้ำ และสำลักน้ำเข้าปอดทำให้อ่อนแอ และปอดติดเชื้อแบบเฉียบพลันจนเสียชีวิต”กาญจนา เผยที่มาความสลด
ภารกิจ “คณะนักวิจัยกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก” เพื่อติดตามการเดินทางกลับบ้านอีกครั้งของเจ้าพะยูนยังคงดำเนินต่อไป เพื่อหาหนทางสร้างเครื่องการันตีว่าฝูงพะยูนจะไม่หนีไปจากเกาะภูเก็ตซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตอีกครั้ง
ลักษณะรูปร่างทั่วไปของพะยูน
รูปร่างลำตัว : พะยูนจะมีลักษณะลำตัวคล้ายโลมาแต่ไม่มีครีบหลัง ลักษณะรูปร่างอ้วน ลำตัวเป็นรูปกระสวยเรียวทั้งส่วนหัวและส่วนหางทำให้ช่วยในการเคลื่อนที่ในน้ำได้สะดวก
ความยาว : ความยาวลำตัวของพะยูนจะวัดจากปลายสุดของริมฝีปากถึงกลางแพนหาง โดยทั่วไปมีความยาวประมาณ 2.2-3.5 เมตร ขนาดวัดรอบอกประมาณ 1.6-2.5 เมตร ขนาดของลูกพะยูนแรกเกิดจะมีความยาวลำตัวประมาณ 1 เมตร
น้ำหนัก : พะยูนที่พบโดยทั่วไปมีน้ำหนักประมาณ 200-900 กิโลกรัม ลูกพะยูนแรกเกิดจะมีน้ำหนักประมาณ 15-20 กิโลกรัม
ผิวหนัง : ผิวหนังของพะยูนหนามากและมีเส้นขนหยาบแข็งลักษณะเป็นเส้นสั้นๆ ขึ้นกระจายอยู่ทั่วลำตัวเช่นเดียวกับหนังของช้าง เส้นขนจะรวมกันเป็นกระจุกรอบๆ ปาก ทางด้านล่างขนรอบปากมีส่วนช่วยในการรับความรู้สึกขณะที่พะยูนหาอาหารและอาจใช้ค้นหาหรือคัดเลือกอาหารด้วย
สีผิว : พะยูนมีผิวสีน้ำตาลปนเทา บริเวณด้านบนของลำตัวเช่น หัว คอ ด้านบนของขาคู่หน้าและแพนหางจะมีสีเข้มกว่าทางด้านล่าง
ตา : ตาพะยูนมีขนาดเล็กอยู่ 2 ข้างของส่วนหัว สามารถรับภาพได้ดีทั้งในน้ำและบนบก ตลอดจนสามารถมองเห็นได้ดีในขณะที่มีแสงน้อย พะยูนมีหนังตาบางๆเปิดปิดได้ เมื่อพะยูนอยู่เหนือน้ำนานๆจะขับเกลือแร่ออกจากร่างกายเพื่อรักษาระดับความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย โดยเกลือแร่ส่วนเกินจะถูกขับออกมาในรูปของน้ำเมือกออกมาทางลูกตา จึงคล้ายกับพะยูนมีการร้องไห้เมื่อถูกจับได้
หู : หูของพะยูนมีขนาดเล็กและไม่มีใบหู มีลักษณะเป็นรูเปิดเล็กๆอยู่ 2 ข้างของหัวหลังลูกตา หูพะยูนสามารถรับเสียงได้ดีเมื่ออยู่ใต้น้ำ ซึ่งพะยูนเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีการติดต่อสื่อสารกันใต้น้ำ
จมูก : จมูกของพะยูนอยู่ปลายสุดทางส่วนบนของหัวมีจำนวน 2 รู รูเปิดของจมูกมีแผ่นเยื้อหนาเปิดและปิดได้สนิทเมื่อดำอยู่ใต้น้ำ รูจมูกจะถูกปิดขณะดำน้ำและเปิดออกเมื่อโผล่ขึ้นมาหายใจ ในขณะที่พะยูนโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำจะโผล่เพียงส่วนจมูก ลำตัวส่วนอื่นๆจะจมอยู่ใต้น้ำตลอดเวลา ตำแหน่งของรูจมูกจะช่วยให้พะยูนโผล่ขึ้นมาเฉพาะส่วนบนของหัวเท่านั้น การหายใจใช้เวลาเร็วมากเวลาโผล่ขึ้นมาพ่นอากาศออกและสูดอากาศใหม่เข้าไปจะใช้เวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของ Haemoglobin ในเซลเม็ดเลือดแดงของพะยูนพบว่ามีคุณสมบัติพิเศษในการดึงเอาออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว พบว่าพะยูนจะมีปัญหายุ่งยากในการหายใจเป็นอย่างมากเมื่ออยู่ในทะเลที่มีคลื่นลมแรง เพราะพะยูนโผล่ส่วนหัวขึ้นมาหายใจจากน้ำเพียง 3 – 4 เซนติเมตรคลื่นจะทำให้พะยูนพยายามโผล่ขึ้นมามากกว่านั้นเพื่อไม่ให้สำลักน้ำทะเลเวลาหายใจพะยูนจึงต้องใช้พลังงานมากกว่าเดิม ในออสเตรเลียมีนักวิทยาศาสตร์เคยวัดเวลาดำน้ำนานที่สุดของพะยูน ที่นำมาเลี้ยงคือ 8 นาที 26 วินาที ในทะเลเวลาดำน้ำเฉลี่ยประมาณ 1 นาที 30 วินาทีและเคยวัดเวลาที่ดำน้ำนานที่สุดในทะเลประมาณ 6 นาที 40 วินาที
ปาก : ปากของพะยูนจะอยู่ทางด้านล่างของส่วนหน้า ริมฝีปากบนเป็นก้อนเนื้อใหญ่ และหนาลักษณะเป็นเหลี่ยมทู่ๆคล้ายจมูกหมู (snout) กล้ามเนื้อสามารถบังคับได้ดี ใช้ช่วยในการรวบหญ้าเข้าปากในการกินอาหารได้ดีเยี่ยม เพดานปากล่างมีลักษณะพิเศษ เป็นแท่งกระดูกอ่อนหุ้มด้วยเนื้อเยื่อนิ่ม ช่วยในการขุดไถดินทรายเพื่อกินหญ้าทะเล
ฟัน : ฟันของพะยูนมีจำนวนเท่ากันและมีลักษณะเหมือนกันทั้งขากรรไกรบนและล่าง แต่จะมีฟันลักษณะคล้ายงาอยู่ตรงปลายหน้าสุดเฉพาะขากรรไกรบน จะมี 2 คู่ในวัยเด็กคู่นอกเล็กกว่าและถูกย่อยสลายไปเมื่อพะยูนมีอายุมากขึ้น คู่ที่เหลือจะโตขึ้นเรียกว่างา จะงอกโผล่ออกมาในพะยูนเพศผู้ที่มีอายุมากๆส่วนเพศเมียจะยังคงฝังอยู่ใต้แผ่นหนัง ฟันที่ขากรรไกรของพะยูนจะขึ้นไม่พร้อมกัน ชุดแรกพบในพะยูนวัยเด็กและสึกกร่อนไปเมื่อโตขึ้น ถัดไปเป็นฟันบด (Premolar) อีก 3 คู่ ฟันบดคู่หน้าจะสึกกร่อนไปและหลุดร่วงไป ฟันบดคู่ในจะขยายเป็นฟันกรามและฟันกรามคู่ที่ 1 เริ่มงอกอยู่ในสุดของขากรรไกร พะยูนที่อายุมากๆฟันกรามคู่ที่ 4 และคู่ที่ 1 จะหลุดร่วงหรือสลายไปเหลือเพียงฟันกรามคู่ที่ 2 และ 3 เพียง 2 คู่เท่านั้น ดังนั้นพะยูนที่มีอายุน้อยจะมีฟัน 4-5 คู่ พะยูนขนาดกลางจะมีฟันอยู่ 3 คู่และในพะยูนที่มีขนาดใหญ่อายุมากๆจะมีฟันอยู่เพียง 2 คู่เท่านั้น
ขาพะยูน : ขาคู่หน้าแต่ละข้างมี 5 นิ้ว พัฒนารูปร่างเรียงติดกันมีลักษณะคล้ายใบพายและไม่มีขาหลัง ขาคู่หน้าของพะยูนไม่ได้ช่วยในการว่ายน้ำมากนัก ขณะที่พะยูนว่ายน้ำเร็วๆขาคู่หน้าจะแนบติดไปกับด้านข้างของลำตัว แต่ขาคู่หน้าส่วนใหญ่จะใช้ในการพุ้ยน้ำเวลาว่ายน้ำหรือใช้เดินแทนเท้าขณะคืบคลานไปตามพื้นเพื่อหาอาหารและทำหน้าที่กอบอาหารเข้าปาก ขาคู่หน้ายาวประมาณ 0.35 – 0.45 เมตร
เต้านม : เต้านมและหัวนมของพะยูนจะอยู่ตรงโคนขาคู่หน้าทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะพบได้ทั้งพะยูนเพศผู้และพะยูนเพศเมีย ในเพศเมียขณะที่ยังตัวเล็กอยู่หัวนมจะมีลักษณะเป็นติ่งเล็กๆและเมื่อพะยูนมีลูกอ่อนเต้านมและหัวนมจะขยายใหญ่ขึ้น
อวัยวะเพศ : เป็นการยากที่จะจำแนกเพศของพะยูนจากการดูอวัยวะเพศ เนื่องจากอวัยวะเพศของพะยูนเพศผู้จะซ่อนอยู่ภายในลำตัว แต่สามารถสังเกตได้จากระยะห่างระหว่างช่องก้นกับช่องเพศ โดยพะยูนเพศผู้ระยะห่างระหว่างช่องก้นกับช่องเพศจะอยู่ห่างกัน ส่วนในเพศเมียช่องก้นกับช่องเพศจะอยู่ชิดกันมาก นอกจากนั้นสามารถสังเกตได้จากลักษณะของเต้านมที่มีขนาดใหญ่และหัวนมยื่นยาวในพะยูนเพศเมียที่มีอายุมากๆหรือกำลังมีลูกอ่อน
แพนหาง : แพนหางของพะยูนแบนหกว้างแยกออกเป็น 2 แฉก ขนานกับพื้นในแนวราบ แพนหางไม่มีโครงกระดูกจะประกอบด้วยแผงกล้ามเนื้อและเอ็นยึดที่แข็งแรงใช้โบกขึ้นลงเพื่อว่ายน้ำเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ขนาดของแพนหางกว้างประมาณ 0.75-0.85 เมตร