marinerthai

ตัวเป็นๆ ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552

“นาร์วาฬ” มีงาออกจากปาก แต่ลักษณะเป็นเกลียวคล้ายเขาของยูนิคอร์นสัตว์ในเทพนิยาย (ภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟิก)

ยุคสมัยที่ใครๆ ก็มีคลิป (หลุด) ไม่เว้นแม้แต่สัตว์ที่หาชมได้ยากสุดๆ อย่าง “นาร์วาฬ” เจ้าของฉายา “ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล” ก็หนีไม่พ้นกล้องของทีมสารคดีบีบีซี ที่เฝ้าติดตามสัตว์ลึกลับแห่งอาร์กติกมาเกือบปี นับเป็นครั้งแรก ที่สามารถบันทึกเส้นทางอพยพของนาร์วาฬจากมุมสูงได้

ทีมงานแผนกธรรมชาติวิทยา บีบีซีแห่งอังกฤษ (BBC Natural History Unit) ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง กับสิ่งที่บันทึกได้ระหว่างการถ่ายทำสารคดีชุด เหตุการณ์ยิ่งใหญ่แห่งธรรมชาติ (Nature’s Great Events)

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแห่งขั้วโลกนี้ ยังมีหลายพฤติกรรมที่นักชีววิทยาต้องการไขข้อสงสัย (ภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟิก)

ภาพสิ่งมีชีวิตฝูงหนึ่ง ที่แหวกว่ายไปตามรอยแยกของน้ำแข็งบนผืนมหาสมุทรอาร์กติก ระหว่างกำลังอพยพย้ายถิ่นในช่วงฤดูร้อน

สัตว์ที่ผ่านเข้ามาให้บีบีซีได้มีโอกาสบันทึกนั้นคือ “นาร์วาฬ” (Narwhal) วาฬขาวขนาดเล็ก ที่อาศัยอยู่บริเวณอาร์กติก ซึ่งบางครั้งวาฬน้อยเหล่านี้ ได้รับฉายาว่า “ยูนิคอร์นแห่งอาร์กติก” หรือ “ยูนิคอร์นแห่งท้องทะเล” เพราะงาที่มีลักษณะบิดเกลียวยื่นยาวแทงทะลุออกมาจากปากของพวกมัน

งา (ที่เหมือนจะเป็นเขาของยูนิคอร์น) แต่ยื่นออกจากปากของนาร์วาฬนี้ ยาวประมาณ 2 เมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า งาอันยาวยืดนี้เป็นความภาคภูมิใจของนาร์วาฬเพศผู้ที่ใช้ดึงดูดความสนใจระหว่างการจับคู่

ทีมงานของบีบีซีมุ่งหน้าสู่อาร์กติกตั้งแต่เดือน มิ.ย. 51 ที่ผ่านมา เพื่อจับจ้องบันทึกภาพการอพยพของเหล่าสัตว์ที่มีงาเหมือนช้างในช่วงฤดูร้อน

อยู่กันเป็นฝูง และหากินในน้ำลึก (ภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟิก)

ช่วงเวลานี้ของปี อากาศเริ่มมีความร้อนสูงมากขึ้น ทำให้อุณภูมิน้ำทะเลสูงกว่าจุดเยือกแข็ง แผ่นน้ำแข็งหนาๆ เริ่มละลาย สร้างพื้นที่น้ำแข็งแตกกระจายไปทั่ว

ทุกๆ ปีในหน้าร้อนนาร์วาฬนับพันๆ ตัว จะใช้รอยแยกของแผ่นน้ำแข็งเป็นเส้นทางอพยพจากแหล่งที่อยู่คือบาฟฟิน เบย์ (Baffin Bay) ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างมหาสมุทรอาร์กติกกับแอตแลนติก ที่บริเวณแคนาดา มุ่งหน้านับพัน กิโลเมตรสู่ไฮอาร์กติกฟยอร์ด (High Arctic Fjords) อ่าวน้ำแข็งแถบขั้วโลกเหนือ พรมแดนของนอร์เวย์

งาที่แสนยาวของนาร์วาฬใช้เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม (ภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟิก)

ทว่า การติดตามหาร่องรอยของสัตว์เหล่านี้ใช่ว่าจะง่ายดาย

จัสติน แอนเดอร์สัน ผู้ผลิตรายการนี้กล่าวว่า แม้นาร์วาฬจะตัวใหญ่ แต่พื้นที่ในการค้นหาก็กว้างใหญ่พอๆ กับสก็อตแลนด์

เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร” เขาเปรียบเทียบ ทีมงานของเขาพร้อมกล้องบันทึกภาพใต้น้ำ ต้องใช้เวลาราว 4 สัปดาห์เฝ้ารอยูนิคอร์นทะเลบนแผ่นน้ำแข็ง แต่เมื่อเห็นร่องรอยของสิ่งที่รอคอยแล้ว แผ่นน้ำแข็งที่แทรกตัวอยู่ก็เริ่มเป็นอันตราย บางเกินกว่ามนุษย์จะอยู่ได้

แม้จะเปลี่ยนแผนมาใช้เฮลิคอปเตอร์ตามหา ที่ดูเหมือนว่าจะสะดวกสบายในการเดินทาง แต่หมอกในอาร์กติกก็เป็นอันตรายต่อการขับเครื่องบินเป็นอย่างยิ่ง

ทว่าหลังจากตามหาด้วยเฮลิคอปเตอร์มา 7 วันแล้ว ในวันที่ 8 ของการบินที่ท้องฟ้าแจ่มใส อีกทั้งยังมีพระอาทิตย์เที่ยงคืน (ในฤดูร้อนที่ขั้วโลกเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ 24 ชั่วโมง) ทำให้ช่างภาพสามารถบันทึกนาร์วาฬที่แหวกว่ายตามเส้นทางที่คาดหมาย จากเฮลิคอปเตอร์ได้ไม่ยาก

แม้จะเป็นสัตว์หายาก แต่ก็ถูกล่าหัวมากไม่แพ้กับสัตว์ขั้วโลกเหนืออื่นๆ (ภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟิก)

แอนเดอร์สัน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า นับเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกภาพการอพยพของนาร์วาฬได้ ภาพนาร์วาฬที่บันทึกได้ก่อนๆ หน้านี้ เป็นภาพที่บันทึกบนแผ่นน้ำแข็ง เห็นแค่การใช้ชีวิตรอบๆ นี่นับเป็นครั้งแรกที่บันทึกได้จากมุมสูง

“เป็นภาพที่มหัศจรรย์มาก สัตว์เหล่านี้ไม่น่าเชื่อว่าจะมีจริง เหมือนสัตว์จากเทพปกรณัม พวกเราประหลาดใจมากที่ได้เห็นพวกมัน” แอนเดอร์สันกล่าว

การพบเห็นนาร์วาฬ เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาความซับซ้อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแถบอาร์กติก นับเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากในธรรมชาติ

งาที่ยาวกว่า 2 เมตร นอกจากจะถูกล่าเพื่อสะสมแล้ว ที่งาของนาร์วาฬยังเป็นแหล่งวิตามินซีชั้นดีอีกด้วย
นาร์วาฬแบบมีงาคู่ หายากยิ่ง (ภาพจากวิกิพีเดีย-Zoologisches Museum in Hamburg)

แมดส์ เพียเตอร์ ไฮเดอ-ยอร์เก้นเซน (Mads Pieter Heide-Jorgensen) จากสถาบันทรัพยากรธรรมชาติแห่งกรีนแลนด์ (Greenland Institute of Natural Resources) เปิดเผยว่า จุดประสงค์ที่สัตว์เหล่านี้อพยพในช่วงฤดูร้อน ยังคงเป็นปริศนา

เขาอธิบายว่า สิ่งที่น่าสนใจคือนาร์วาฬ หาอาหารในน้ำลึก ที่บริเวณใจกลางบาฟฟินเบย์ในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่อถึงฤดูร้อนก็หาอาหารได้ด้วยความยากลำบาก จึงทำให้พวกมันถอยกลับไปอยู่บริเวณทะเลน้ำแข็ง ซึ่งนาร์วาฬมีพฤติกรรมอย่างนี้มานานนับพันปี

อย่างไรก็ดี การที่นาร์วาฬอพยพไปใช้เวลาช่วงฤดูร้อนที่บริเวณหน้าทะเลน้ำแข็งเกือบติดกับขั้วโลกเลยนั้น เป็นสิ่งที่นักธรรมชาติวิทยาขั้วโลกยังไม่สามารถค้นหาคำตอบได้

ด้วยความที่ต้องการศึกษาความเชื่อมโยงของน้ำแข็งอาร์กติกับนาร์วาฬ ว่าจะพวกมันจะมีปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกอย่างไร

ศ.ไฮเดอ-ยอร์เก้นเซนได้ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียม ตามตำแหน่งเส้นทางที่นาร์วาฬว่ายน้ำผ่าน โดยตรวจสอบอุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งพบว่าอุณหภูมิน้ำลึกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีศาสตราจารย์จากกรีนแลนด์ยังไม่ด่วนสรุปฟันธงว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสังผลต่อเหล่านาร์วาฬอย่างไร

ภาพจากวิดิโอที่บีบีซีบันทึกระหว่างการอพยพของนาร์วาฬ จากมุมสูง
Share the Post: