จาก คอลัมน์ หมุนก่อนโลก หนังสือพิมพ์ ข่าวสดรายวัน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6658
ภาพจาก Census of Marine Life (www.coml.org/embargo/polar2009)
ในการสำรวจประชากรสัตว์ทะเล หรือ Census of Marine Life นักวิทยาศาสตร์ได้พบสัตว์ใหม่ๆ ที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกทั้งอาร์กติกและแอนตาร์กติกถึง 235 ชนิด รวมทั้งปลา Chionodraco hamatus ที่ชอบอยู่ในน้ำเย็นมากๆ เย็นขนาดที่เลือดของปลาสายพันธุ์อื่นๆ แข็งตัวจนตายได้
น่าประหลาดใจว่า สัตว์ต่างๆ เหล่านี้ต่างพบอยู่ในเขตทั้ง 2 ขั้วโลก ทั้งๆ ที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อยู่ห่างกันถึง 11,000 กิโลเมตร
สัตว์ที่พบมีทั้งหนอนน้ำเย็น สัตว์มีเปลือก ปลิงทะเล และทีโรพอดส์ ที่มีลักษณะคล้าย กับหอยทาก
นายรอน โอดอร์ หนึ่งในคณะนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า อาร์กติกและแอน ตาร์กติก (Arctic and Antarctic) มีความคล้ายคลึงกันอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน และจากการวิเคราะห์สายพันธุ์พบว่า สัตว์ใหม่ 235 ชนิด (species) ที่พบทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เป็นสายพันธุ์เดียวกัน เป็นไปได้ว่า พวกมันเริ่มอยู่ที่แอน ตาร์กติกก่อน จากนั้นกระแสบริเวณน้ำลึกได้พัดไข่ของสัตว์เหล่านี้ไปทางเหนือจนถึงอาร์กติก
นอกจากนี้ ช่วงไอซ์เอจ หรือ ยุคน้ำแข็ง ยังช่วยให้ไข่พัดขึ้นไปยังขั้วโลกเหนือ เพราะน้ำแข็งที่บริเวณแอนตาร์กติกส่งผลกระทบต่อทะเลหลายๆ แห่งที่อยู่ใกล้เคียง ก่อให้เกิดกระแสน้ำพัดไปยังทิศเหนือ และอาจพัดสัตว์หลายๆ พันธุ์ เช่น แมงมุมทะเล หรือสัตว์มีเปลือกประเภทไอโซพอดส์ขึ้นไป โดยจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ปลาหมึกหลายสายพันธุ์มีบรรพบุรุษมาจากปลาหมึกในแอนตาร์กติก
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สัตว์ทะเลเล็กๆ อย่างโคปพอดส์ (copepod) ซึ่งเป็นสัตว์มีเปลือกชนิดหนึ่ง ได้เข้ามายึดที่อยู่แทนที่สัตว์ที่ตัวใหญ่กว่าและอาศัยอยู่ในอาร์กติก ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนก็เป็นได้
นายจูเลียน กัตต์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอัลเฟรด เวเกนเนอร์ ประเทศเยอรมนี ยืนยันว่า “เป็นไปได้ที่กระแสน้ำจะพัดไข่ของสัตว์ทะเลในแอนตาร์กติกขึ้นไป แม้ระยะทางจะอยู่ห่างไกลกันมาก แต่เรายังขาดจิ๊กซอว์ที่ว่า ทำไมถึงไม่พบสัตว์เหล่านี้ที่บริเวณน้ำลึกในแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่า ทฤษฎีการเดินทางจากขั้วโลกใต้ไปขั้วโลกเหนือเป็นจริง”