โดย สกุลไทย ฉบับที่ 2427 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 24 เมษายน 2544
โดย นิพนธ์ เกตุวงศ์
ห้วงน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ถ้าใครเคยขึ้นเรือท่องออกไปในทะเลกว้างจะมองเห็นแนวน้ำชนกันระหว่างน้ำจืดกับน้ำทะเลเป็นสายน้ำสีขุ่นคล้ำเมื่อบรรจบกับพื้นน้ำสีเงินยวงจะเลื่อนไหลเป็นทางอย่างช้าๆ ตลอดสองข้างลำเรือ และใต้พื้นท้องน้ำจะมีโคลนตะกอนตกทับถมกัน เป็นระยะทางยาวเกือบ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งเราเรียกว่า “สันดอน” ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เวลาน้ำลงจะเห็นหาดโคลนผุดขึ้นเป็นแนวยาวเหยียดทีเดียว
ในอดีต การขนส่งสินค้าจากเมืองท่าในต่างประเทศ มายังท่าเรือเอกชนที่กรุงเทพฯ โดยเรือเดินสมุทร ต้องแวะขนถ่ายสินค้าที่เกาะสีชัง แล้วจึงขนลงเรือลำเลียงมากรุงเทพฯอีกทอดหนึ่ง ซึ่งทำให้ค่าขนส่งสูงและสินค้ามีราคาแพง บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมเรือเดินสมุทรจึงไม่แล่นเข้าเทียบท่าเรือที่กรุงเทพฯ โดยตรงทอดเดียว จะทำให้ประหยัดค่าขนส่งลง เหตุที่เป็นดังนี้ เพราะธรรมชาติมีสันดอนที่ปากแม่น้ำกีดขวางทางเดินเรืออยู่ เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถแล่นผ่านเข้ามาได้ ความคิดได้ริเริ่มขึ้นที่ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เสนอโครงการขุดลอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาขึ้น เพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นเข้ามาได้ และสร้างท่าเรือที่ทันสมัย เช่นเดียวกันกับท่าเรือในต่างประเทศที่เจริญแล้ว แต่ได้พบอุปสรรคหลายประการทั้งเกรงว่าน้ำเค็มจะเข้ามาทำลายเรือกสวน ไร่นา บริเวณกรุงเทพฯ จึงได้เสนอให้สันนิบาตชาติที่กรุงบรัสเซลส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางมาสำรวจถึงการที่จะสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ และขุดลอกร่องน้ำทางเดินเรือ เมื่อเปิดปูมบันทึกความหลังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย นานมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ถึงลักษณะแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยว่า
แม่น้ำเจ้าพระยา ใต้อำเภอบางไทร อยุธยา ลงมาทางใต้ ความยาว ๑๐๖ กิโลเมตร ไม่มีเกาะแก่งและโขดหิน มีความลาดชันน้อย เป็นลำน้ำสายเดียวที่ไหลมาบรรจบทะเลที่อ่าวไทย ลำน้ำที่ได้พัดพาเอาตะกอนลงมามากมาย เขาขึ้นเรือสำรวจตักตัวอย่างน้ำบนผิวน้ำและท้องน้ำในตำบลต่างๆ ตั้งแต่ อำเภอบางไทร จนถึงกรุงเทพฯ และปากน้ำ ไปตรวจวิเคราะห์ วัดระดับน้ำ ความเร็วกระแสน้ำปริมาณน้ำไหล ตรวจถึงท้องแม่น้ำเจ้าพระยาว่าเป็นดิน โคลน ทราย ชนิดไหน มากน้อยเพียงใด ส่วนทะเลที่ปากอ่าว เขาขึ้นเรือโต้คลื่นลมออกไปพบว่ามีร่องน้ำตามธรรมชาติใช้เป็นทางเดินเรือ กระแสน้ำคลื่นลม และน้ำขึ้นน้ำลง อันเกิดจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ทำให้เกิดสันดอน ลมทะเลเป็นลมอ่อน ทะเลเรียบ คลื่นไม่ใหญ่โต เขาได้ตักตัวอย่างน้ำทะเลมาตรวจดูโคลน วัดความเค็มของน้ำที่อุณหภูมิต่างๆ วิเคราะห์เจาะดูโคลน ทราย ซึ่งบางแห่งมี ๒ ชั้น เพื่อทราบสภาพอันคงตัวหรือความเคลื่อนไหวใต้ท้องทะเล เขาสรุปว่าปากอ่าวมีสัณฐานและปากแม่น้ำเป็นรูปพอเหมาะให้น้ำขึ้นไหลเข้าสู่แม่น้ำได้สะดวก เมื่อขุดลอกแล้ว เรือขนาดใหญ่จะแล่นเข้ามาในเวลาน้ำขึ้นได้ ในฤดูน้ำมากน้ำเค็มจะไม่ไหลเข้ามาทำลายเรือกสวนไร่นาบริเวณกรุงเทพฯ เขาได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลไทยว่าแม่น้ำที่ตำบลคลองเตยมีความกว้างและความลึกเหมาะสมที่จะสร้างท่าเรือใหม่ และขุดลอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาขึ้น
รัฐบาลจึงให้มีการประกวดการออกแบบสร้างท่าเรือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งแบบของ ศาสตราจารย์อากัตช์ ชาวเยอรมัน ได้รับการคัดเลือก เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างท่าเรือของโลก มีบริษัทส่วนตัว พร้อมเครื่องทดลอง รับงานออกแบบสร้างท่าเรือทั่วโลก เขาได้เดินทางมาสำรวจสถานที่ที่กรุงเทพฯ มีความเห็นตรงกับผู้เชี่ยวชาญที่จะสร้างท่าเรือขึ้นที่คลองเตย เนื่องจากกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศไทย ผืนแผ่นดินใหญ่ติดต่อถึงกรุงเทพฯได้ทางแม่น้ำ ถนน รถไฟ และสนามบิน เขาได้สำรวจลำน้ำเจ้าพระยา ขุดเพรียงที่ติดกับไม้ตักน้ำ และโคลนตัวอย่างนำขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของเขา ไปวิจัยยังห้องทดลองที่ประเทศเยอรมนี ได้ขอให้กรมอุทกศาสตร์ส่งตัว น.ท.หลวงสุภีอุทกธาร ร.น. และ ร.อ.สนิท มหาคีตะ ร.น. เดินทางไปฝึกศึกษางานขุดลอกร่องน้ำในสำนักของเขาที่เยอรมนี เมื่อบุคคลทั้งสองกลับมาเมืองไทย ได้มีส่วนช่วยเหลือสำรวจภาวะการตกตะกอนในแม่น้ำเจ้าพระยาให้กับท่าเรืออย่างดี ได้ลงมือสำรวจกระแสน้ำ ปริมาณน้ำไหล ระดับน้ำตั้งแต่ อำเภอบางไทร ลงไปถึงสันดอน ตามหลักวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา เป็นเวลาหลายปี
ศาสตราจารย์ไม่ได้ถูกจ้างมาประจำที่กรุงเทพฯ แต่จะขึ้นเครื่องบินส่วนตัวมาตรวจงานเป็นครั้งคราว เขาเป็นบุคคลชั้นนำของเยอรมนี ซึ่งมีอดอล์ฟฮิตเล่อร์ เป็นผู้นำขณะนั้นเป็นที่เกรงขามของทุกประเทศ ขณะที่เราสร้างท่าเรือมิได้เป็นที่พอใจของต่างประเทศ ผู้มีผลประโยชน์กับกิจการท่าเรือเอกชนอยู่ก่อน การว่าจ้างศาสตราจารย์ เป็นเสมือนกันชนทางการเมือง จากประเทศที่ไม่พอใจให้อ่อนข้อลง การสร้างท่าเรือของเรา จึงได้ดำเนินมาอย่างราบรื่น จนกระทั่งสร้างโรงพักสินค้าเสร็จ ๔ หลังเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓
ในระยะนั้น เรือขุดสันดอน ๑ ก็ได้เริ่มลงมือขุดสันดอน แต่ทำไปได้ไม่เท่าไรก็ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่องน้ำถูกปิด โดยทุ่นระเบิดแม่เหล็กต่างๆ ใต้ท้องน้ำที่เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงมาทางอากาศ และกองทหารสหประชาชาติยึดครองท่าเรืออยู่พักหนึ่ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง กรมอุทกศาสตร์ได้จัดการกวาดทุ่นระเบิดใต้น้ำเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ทางเดินเรือในทะเลลึก บริเวณเกาะสีชัง ถึงทางเข้าปากแม่น้ำและเลยเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งหมดทุ่นระเบิด ในเวลาต่อมา รัฐบาลประสงค์จะขอกู้เงินธนาคารโลก เพื่อใช้ในการขุดลอกสันดอน เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณประจำปีมาลงทุนได้ทันเวลา จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นเอกเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔
ต่อมาได้ มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง วางแผนการเป็นกบฏต่อรัฐบาล ต้องการจี้ควบคุมตัวนายกรัฐมนตรีไว้เป็นตัวประกัน ขณะทำพิธีส่งทหารไทยไปร่วมรบในสมรภูมิเกาหลี โดยลงเรือรบที่ท่าเรือคลองเตย แต่แผนการของฝ่ายกบฏเกิดความล้มเหลว ๒ ครั้ง ๒ หน แต่แล้วเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งที่ ๓ ของท่าเรือก็เกิดขึ้นจนได้
ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือขุดสันดอน ๒ (เรือขุดแมนฮัตตัน) มาให้รัฐบาลไทยเพื่อใช้ในการขุดลอกสันดอน ขณะที่นายกรัฐมนตรี จอมพล.ป.พิบูลสงคราม ทำพิธีเจิมเรือขุดที่ท่าราชวรดิฐ และ เดินชมบนเรือขุดอยู่นั้น ผู้ก่อการกบฏ น.ต.มนัส จารุภา ร.น. ได้นำกำลังทหารเรือ จู่โจมเข้าจี้บังคับนายกรัฐมนตรีด้วยปืนกลมือ ลงเรือเปิดหัวนำไปควบคุมตัวไว้บนเรือรบหลวง “ศรีอยุธยา” เขี้ยวเล็บอันเกรียงไกร ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังทหารและตำรวจเข้าปราบปรามกบฏ ซึ่งมีกำลังทหารเรือส่วนน้อยอย่าง-เฉียบขาด เครื่องบินของกองทัพอากาศ ได้ทิ้งระเบิดลงบนเรือรบหลวง “ศรีอยุธยา” จนจมลง ได้มีผู้พาจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่ายน้ำหนีเอาชีวิตรอดมาได้ เกิดการสู้รบกันสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และบริเวณเรือรบเป็นเวลา ๒ วัน หลายชีวิตต้องล้มตายในสายธารเจ้าพระยา บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ผู้นำกบฏฝ่ายพ่ายแพ้ได้หลบหนีเดินทางออกนอกประเทศไป เวลานั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้พัดพาเอาตะกอนลงมาเพียงอย่างเดียว แต่ได้พัดพาเอากระแสเลือดของคนไทยที่รบราฆ่าฟันกันเองไหลลอยลงไปด้วย การกบฏส่งผลกระทบต่อการท่าเรือฯ โดยพลัน รัฐบาลได้สั่งให้คณะกรรมการการท่าเรือฯ ที่มี นายยิน สมานนท์ เป็นผู้อำนวยการ พ้นจากตำแหน่ง แต่ก่อนที่จะพ้นตำแหน่งไป นายยินฯได้เล็งเห็นความสำคัญในการขุดลอกสันดอน ร่องน้ำทางเดินเรือ เขาได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างบริษัทแห่งประเทศฮอลแลนด์ ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำ นับจากป้อมพระจุลจอมเกล้าออกไปในทะเลอ่าวไทย ระยะทางยาวเกือบ ๑๘ กิโลเมตร แต่ให้เรือขุดสันดอน ๑ และเรือขุดสันดอน ๒ (แมนฮัตตัน) ของการท่าเรือฯ ช่วยขุดบ้าง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลไทยได้กู้เงินธนาคารโลก มาใช้จ่ายเพื่อการนี้เป็นเงิน ๔.๔ ล้านเหรียญอเมริกัน
งานขุดลอกจึงได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๔ บริษัทฯรับเหมาขุดลอกร่องน้ำ ได้ทำคันกั้นดินและต่อท่อพ่นดินขึ้นที่บางปู ระยะทางยาว ๑.๕ กิโลเมตร เป็นแห่งๆ สร้างที่ทำการและโรงงานขึ้นที่บางปู เขาใช้เรือขุด ๒ ลำ ชนิดไม่มียุ้งดินในตัว ใช้หัวขุดเป็นสว่านส่ายไปมาได้ มีกำลังพ่นดินไปตามท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ นิ้ว และพ่นไปได้ไกลถึง ๒ กิโลเมตร ขณะนั้น น.อ.หลวงสุภีอุทกธาร ร.น. (สุภี จันทมาศ) ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยคนแรก เขาได้รับมอบหมายให้อำนวยงานด้านสำรวจและขุดลอกร่องน้ำมาแต่เดิม เขาเป็นผู้คร่ำหวอดงานด้านอุทกวิทยาสมกับนามบรรดาศักดิ์ของเขา เขาได้ทำแผนที่แนวขุดลอกไว้ให้กองร่องน้ำอย่างละเอียด บริษัทผู้รับเหมาจะเป็นผู้ขุดลอกตามแนวที่กำหนดโดยใช้เครื่องหยั่งน้ำลึกก่อนขุดและหลังขุด ธรรมชาติของกระแสน้ำและคลื่นลมเป็นอุปสรรคขัดขวางให้การขุดลอกช้าลงอยู่บ้าง กระแสน้ำที่ไหลแรง คลื่นลมแรงพัดเอาท่อเหล็กดูดส่งดินที่วางไว้ขาดออกจากกันหลายครั้ง ร่องน้ำตอนนอกน้ำทะเลลึก คลื่นลมมีกำลังแรง การวางท่อเป็นไปอย่างลำบาก ในที่สุดด้วยความเพียรพยายาม บริษัทผู้รับเหมาได้ดำเนินการขุดลอกสันดอนออกทั้งหมด เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๙๗ มีความกว้างทางตรง ๑๐๐ เมตร ทางโค้งเพิ่มอีกเล็กน้อย ความลึกที่ ๘.๕๐ เมตร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรือเดินสมุทรขนาดระวางบรรทุก ๑ หมื่นตัน ก็ได้ทยอยกันเข้ามายังประตูเศรษฐกิจที่ท่าเรือกรุงเทพฯเรื่อยๆ แต่ธรรมชาติของร่องน้ำ ถ้าไม่คอยขุดอยู่เสมอ ในเวลา ๔ ปี ตะกอนจะตกท่วมร่องตื้นเขินอย่างเดิม เราจึงต้องขุดสันดอนออกกันทุกวันชั่วนาตาปี
เรือเดินสมุทรที่มาจากเมืองท่าทั่วโลก จะแวะขนถ่ายสินค้าลงเรือฟีดเดอร์ที่เล็กกว่าที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ แล้วเดินทางต่อมายังอ่าวไทย แล่นเข้ารับเจ้าพนักงานนำร่อง
ณ สถานีนำร่อง ใกล้กับปากร่อง เพื่อทำหน้าที่แทนกัปตันเรือนำเรือแล่นผ่านร่องน้ำ ซึ่งเราได้ขุดลอกไว้แล้วเช่นเดียวกับเราสร้างถนนให้รถแล่นได้บนบกอย่างนั้น ทางถนนเวลารถแล่นเราสังเกตขอบถนนหรือเสาไฟฟ้าเป็นที่หมายในการเดินทางได้ แต่ทางน้ำเวลาเรือแล่นเราไม่ทราบว่าตรงที่ใดเป็นขอบร่อง จึงต้องมีเครื่องหมายช่วยการเดินเรือเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เรือเดินผิดร่องและเกยตื้น ในเวลากลางวันเรามีกระโจมไฟพลังแสงอาทิตย์ แผ่นเป้าสีแดงคาดขาว ใช้ไฟสูงไฟต่ำเล็งแนวขอบร่อง เวลากลางคืนเรามีทุ่นไฟกะพริบพลังแสงอาทิตย์ สีแดงอยู่ทางซ้าย สลับด้วยทุ่นไฟสีเขียวอยู่ทางขวา ห่างกัน ๑ กิโลเมตร เป็นที่สังเกต ถ้าใครเคยไปที่สะพานสุขใจ บางปู จะมองเห็นแสงไฟหลากสี แดง เขียว ขาว สว่างวับวอมแวมยามคลื่นซัดกระฉอกฉาน ราวกับมีงานเฉลิมฉลองทางน้ำอย่างนั้น
เมื่อก่อนนี้ ร่องน้ำทางเดินเรือซึ่งมีความกว้าง ๑๐๐ เมตร เมื่อเรือเดินสมุทรแล่นสวนกันในเวลากลางคืน หรือเวลากลางวัน อากาศมืดครึ้ม ฝนตกหนัก หมอกลงจัดเรืออาจเกิดอุบัติเหตุชนกัน หรือโดนกันได้ การท่าเรือฯได้ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นอย่างดี ขณะนี้ได้ดำเนินการขยายร่องน้ำให้กว้างเพิ่มขึ้นเป็น ๑๕๐ เมตร ในทางตรง นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งที่เรือเดินสมุทรแล่นผ่านร่องน้ำ ด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น
ณ วันนี้ การท่าเรือฯได้พัฒนาปรับปรุงกิจการในหลายๆ ด้าน เพื่อให้ทันต่อความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทอยู่เสมอ เวลานี้การขุดลอกสันดอนได้ใช้เรือขุดสันดอนแบบ HI-TEC ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซล แทนเรือขุดลำเก่าที่ใช้ไอน้ำ ในยุคของ นายถาวร จุณณานนท์ เป็นผู้อำนวยการ ได้ติดตั้งเครื่องหาพิกัดตำบลเรือทางดาวเทียม DGPS ที่ติดตั้งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย-บนเรือขุดสันดอน มีจอภาพแสดงหน้าดินที่ก้นร่องช่วยให้เรือขุดดินได้ตรงร่องและแม่นยำยิ่งขึ้น สามารถขุดดินได้มากกว่าเรือแบบเก่าถึงกว่าเท่าตัว ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขุดลอกสันดอนลงได้มาก นอกจากนั้นระบบคอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้ควบคุมการปฏิบัติงานตู้สินค้าในท่าเรือ ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) ก็ถูกนำมาใช้ระหว่างท่าเรือกับผู้ใช้บริการ เช่นกัน ทำให้การทำงานของเรือเร็วขึ้น ขนถ่ายสินค้าได้มาก ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็ว สามารถประหยัดต้นทุนการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีผลกำไรเพิ่มขึ้น สามารถนำส่งเข้ารัฐปีละไม่ต่ำกว่า ๑ พันล้านบาท สมกับเป็นท่าเรือตู้สินค้าในแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และได้รับการจัดอันดับเป็นท่าเรือตู้สินค้าผ่านท่ามากเป็น ๑ ใน ๒๐ ท่าเรือของโลก