บทความและรูปภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์ 3 มิถุนายน 2547 14:33 น.
“ร้อยละ 85 ของการท่องเที่ยวในโลก เกี่ยวข้องกับชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร” คงจะไม่เกินจริงนักสำหรับคำกล่าวนี้ เพราะด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลและด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมายหลากหลาย จึงทำให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกต่างพร้อมใจกันเดินทางเพื่อค้นหาและชื่นชมเสน่ห์ความงามของท้องทะเล
เรือสำราญ อีกหนึ่งรูปแบบของการท่องเที่ยวทางน้ำที่น่าสนใจ
ทะเลไทย นับเป็นอีกที่หนึ่งที่เป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยว สองฟากฝั่งด้ามขวานไทยคือ ทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย รวมเป็นพื้นที่กว่า 400,000 ตารางกิโลเมตร นอกจากจะมีชายฝั่งทะเลที่มีเวิ้งอ่าว หาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสีใส หมู่เกาะน้อยใหญ่ที่มีทิวทัศน์แปลกตา หรือแม้กระทั่งใต้น้ำก็มีปะการังและสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ที่สวยงาม
การท่องเที่ยวทางเรือ จึงก้าวเข้ามามีบทบาทในฐานะที่เป็นการท่องเที่ยวที่รวบรวมเอาเสน่ห์ทุกซอกทุกมุมของทะเลมารวมไว้ในหนึ่งเดียว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่เพียงการนั่งเรือชมวิวไปเรื่อยๆ จนอาจทำให้ผู้โดยสารรู้สึกเบื่อ หากแต่มีกิจกรรมและสารพันบันเทิงบนเรือมากมายรวมทั้งการแวะเที่ยวเกาะและดำน้ำดูปะการัง นับเป็นการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะเมื่อขึ้นไปอยู่บนเรือก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเรือดูแลและจัดการอำนวยความสะดวกให้ตลอดการเดินทาง
ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จึงเป็นที่น่าจับตามอง เพราะแม้อาจจะไม่ใช่กิจกรรมท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ แต่นับได้ว่ามีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างแน่นอนและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มคู่ฮันนีมูน และกลุ่มประชุมสัมมนา แม้ค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้งจะอยู่ราวคนละประมาณ 7,000-20,000 บาท (หรืออาจจะมากกว่านี้) แต่เมื่อแลกกับช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยและล่องลอยไปกับท้องฟ้าและผืนน้ำ สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้เห็นทัศนียภาพแปลกใหม่สวยงาม และสนุกสนานกับนานากิจกรรมที่ทางเรือจัดไว้ให้ จึงไม่แปลกนักที่นักท่องเที่ยวจำนวนกว่าครึ่งจะหวนกลับมาเที่ยวอีกครั้ง เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนเส้นทางใหม่ในจุดที่ยังไม่เคยไป
ภายในห้องพักของเรือสำราญโอเชี่ยน ปริ๊นเซส
ปัจจุบันในประเทศไทยมีเรือสำราญเพียงไม่กี่บริษัท ที่มีเส้นทางเดินเรือในน่านน้ำของประเทศไทยทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเรือสำราญที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีแต่เป็นของต่างประเทศ ก็คือ สตาร์ ครูซ ส่วนเรือสำราญบริษัทแรกที่เป็นของคนไทยก็คืออันดามัน ปริ๊นเซส
จากจุดนี้เอง พัฒนา วงศ์ทองศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเชี่ยน ปริ๊นเซส กรุ๊ป จึงได้นำเรือโอเชี่ยน ปริ๊นเซส ซึ่งเป็นเรือสำราญที่ต่อในประเทศเยอรมันและเคยให้บริการในแถบทะเลเมดิเตอเรเนี่ยน มาเป็นเรือสำราญลำใหม่ของคนไทย เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากท่องเที่ยวทางน้ำ
การดำน้ำตื้นดูปะการัง กิจกรรมที่ทางเรือสำราญจัดให้แก่นักท่องเที่ยว
“ต้องยอมรับว่าด้วยความที่เป็นเรือของต่างประเทศ บางสิ่งบางอย่างจึงอาจจะมีความเป็นสากลมากกว่า ซึ่งราคาค่าใช้จ่ายก็ต้องสูงกว่าด้วย แต่ในด้านการให้บริการในเรือและความสวยงามของทะเลไทยก็ไม่ได้ทำให้เรือสำราญของไทยเราด้อยไปกว่าเรือของต่างประเทศ หรือถ้าเปรียบเทียบกับเรือในประเทศ ผมมองว่าต่างคนต่างก็มีจุดเด่น อย่างของโอเชี่ยน ปริ๊นเซส เราขายที่สภาพของเรือที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีห้องที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนห้องพักก็ได้ดัดแปลงให้มีความใกล้เคียงกับห้องพักของโรงแรม”
แม้จะมีเรือสำราญเพียงไม่กี่ลำ แต่การมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากจะแบ่งสัดส่วนจากฐานกลุ่มลูกค้าเก่าที่เคยใช้บริการอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้ตลาดเล็กลง ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นกลุ่มครอบครัว และกลุ่มวัยทำงาน จึงเป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง เห็นได้จากว่ามีแนวโน้มความสนใจในการท่องเที่ยวทางเรือมากขึ้น
“จากที่เริ่มให้บริการมาได้ประมาณ 1 เดือน ผลตอบรับถือว่าดีมาก เพราะตอนแรกตั้งใจจะวิ่งแค่ 6 เที่ยว แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 8 เที่ยวในเส้นทางฝั่งอ่าวไทย สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนรู้จักการท่องเที่ยวทางเรือ ลองคิดดูว่า เรือหนึ่งลำรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,200 คนต่อเดือน หรือเท่ากับ 14,000 กว่าคนต่อปี ซึ่งน้อยมาก แต่ยังมีกลุ่มลูกค้าใหม่ๆอีกมากรออยู่ ซึ่งต้องการจะลองท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่เขายังไม่เคยสัมผัส และเป็นราคาค่าใช้จ่ายที่เขาสามารถรับได้”
“เราต้องการให้ลูกค้าค่อยๆโต ไม่อยากให้โตเร็วเพราะกลัวรองรับไม่ไหว และอยากทำให้แตกต่างจากของต่างประเทศ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนไทยมากที่สุด ปีหน้าอาจจะทำเส้นทางใหม่ ไปเกาะใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครเข้าไป แต่ก็ต้องทำการศึกษาเส้นทางก่อน อย่างเช่น กำปงโสม ประเทศกัมพูชา เพราะทะเลที่นั่นสวยมาก
ภูเก็ต ซับมารีน เรือดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยวลำแรกของไทย
ไม่ใช่เพียงเรือสำราญเท่านั้นที่น่าสนใจ ในตอนนี้ในเมืองไทยก็ได้มี เรือดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรูปแบบท่องเที่ยวใหม่เชิงประสบการณ์และความประทับใจ มาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการท่องเที่ยว สุรินทร์ สมบูรณ์ผล กรรมการผู้จัดการบริษัท ภูเก็ตซับมารีน กล่าวถึงความแปลกใหม่ของเรือดำน้ำภูเก็ต ซับมารีน ที่มีมูลค่ากว่า 160 ล้านบาท ด้วยความสามารถในการดำน้ำลึกถึง 30 เมตร ขนาดความยาวของเรือประมาณรถเมล์ 2 คันต่อกัน สามารถจุนักท่องเที่ยวได้รอบละ 48 คน ลูกเรือ 4 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรือดำน้ำท่องเที่ยวสมบูรณ์แบบในเชิงธุรกิจลำแรกของประเทศไทยและในเซาท์อีสเอเซีย
การนั่งเรือดำน้ำเพื่อการท่องเที่ยว มีค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 2,500 บาท โดยได้เที่ยวภูเก็ต ชมวิวทิวทัศน์ของเกาะต่างๆ ได้สัมผัสการนั่งเรือดำน้ำ และได้ชมสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล นั่นคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างพึงพอใจ โดยรูปแบบการบริการท่องเที่ยวเรือดำน้ำของภูเก็ตซับมารีนจะให้บริการวันละ 5 รอบ แต่ละรอบใช้เวลาในการท่องเที่ยวนานประมาณ 2 ชั่วโมงตั้งแต่วิ่งออกจากฝั่งจนถึงเข้าฝั่ง แต่ระยะเวลาในการดำน้ำเพื่อชมวิวและปะการังในน้ำนั้นนานประมาณ 45 นาที ซึ่งสถานที่ที่ให้บริการดำน้ำอยู่ที่ เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต และในอนาคตอาจจะปรับเปลี่ยนจุดในการให้บริการดำน้ำประมาณ 4 เดือนต่อครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจซ้ำซาก และเป็นการขยายฐานลูกค้าด้วย
ในด้านคู่แข่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สุรินทร์กล่าวว่า “ขณะนี้คู่แข่งยังถือว่ามีน้อย เพราะการทำธุรกิจนี้ต้องทำแบบจริงจังและตั้งใจ อย่างภูเก็ตซับมารีนเองก็ต้องทำการศึกษาและขออนุญาตนานถึง 3ปีครึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม”
ภายในเรือดำน้ำที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสใต้ทะเลลึกอย่างใกล้ชิด
“ต้องถือว่าช่วงนี้เป็นเพียงการสร้างแบรนด์และสร้างตลาดให้รู้จักท่องเที่ยวรูปแบบนี้ เพราะเป็นเรือลำดำน้ำท่องเที่ยวลำแรกในไทย และแม้ว่าในช่วงนี้จะถือเป็นโลว์ซีซั่นของภูเก็ต แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวของภูเก็ตซับมารีนกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตการท่องเที่ยวเรือดำน้ำก็จะยังมีลู่ทางที่สดใส และถือเป็นจุดขายหนึ่งที่ช่วยทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตมากขึ้นและช่วยให้รายได้สะพัดไปยังกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น โรงแรม เรือเล็ก รถโดยสารปรับอากาศ”
ด้วยทรัพยากรธรรมชาติของทะเลไทยที่สวยงาม ดึงดูดให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ผุดขึ้นอยู่เป็นระยะ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีรูปแบบการท่องเที่ยวทางน้ำและผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่จะเสนอตัวเข้ามาเพื่อตอบสนองการพักผ่อนท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความแปลกใหม่
แต่อย่างไรก็ตามประเด็นของการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำก็ยังต้องดำเนินควบคู่ไปกับประเด็นการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความใส่ใจอย่างแข็งขัน เพราะตราบใดที่ทะเลไทยยังมีความสวยงามและไม่โดนย่ำยีไปมากกว่านี้ ตราบนั้นกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำก็จะยังมีและสามารถดำรงอยู่ได้