marinerthai

ประเทศไทยกับการก้าวสู่ระบบการขนส่งอิเล็กทรอนิกส์

บทความและรูปภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2548 14:42 น.

ในอดีต ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกของไทย ต้องเสียเวลาไปกับการกรอกเอกสารหลายฉบับ ด้วยข้อมูลเดียวกัน ซ้ำไปซ้ำมาหลายขั้นตอน การยื่นเอกสารก็ต้องพบกับความล่าช้าในการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้อง และกฎระเบียบที่ล้าหลัง เช่น การต้องรอลายเซ็นอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง เอกสารนั้น ๆ จึงจะสมบูรณ์ นอกจากนั้น การยื่นเอกสารหลายขั้นตอนยังทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่จำเป็น

การมาถึงของยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยให้การดำเนินการแก้ไขและพัฒนาปรับปรุงระบบก่อตัวขึ้นช้า ๆ แต่ยังอยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ องค์กรใดพร้อมก่อนก็ทำก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การขาดทิศทางในการเลือกระบบ ทำให้สุดท้ายแล้ว ต่างคนต่างมีระบบ แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ปัญหาที่สร้างความยุ่งยากอีกประการหนึ่งก็คือ กฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งมีหลายจุดที่เข้าขั้นล้าหลังเกินความจำเป็น ส่งผลให้การทำงานต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ไม่คล่องตัว สุดท้ายระบบก็เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับผู้นำเข้า-ส่งออกแต่อย่างใด

ความไร้ประสิทธิภาพด้านข้อมูลเอกสาร และการขาดการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม เหล่านี้ ทำให้ระบบลอจิสติกส์ของไทยต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ และสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของระบบการขนส่งไทย (ลอจิสติกส์) อย่างที่ควรจะเป็น อันเป็นความสูญเสียที่ประมาณค่าไม่ได้

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความยุ่งยากในการนำเข้า-ส่งออก แต่ประเทศสิงคโปร์กลับมีระบบที่ทันสมัยกว่า รัฐบาลสิงคโปร์เลือกใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ผลักดันให้เกิดระบบ TradeNet ขึ้นสำหรับรองรับการนำเข้าและส่งออก ระบบ TradeNet จะทำหน้าที่ออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้ลดขั้นตอนในการกรอกแบบฟอร์มเอกสารของผู้ประกอบการจาก 21 แบบฟอร์ม เหลือเพียง 2 แบบฟอร์ม จากเดิมที่เคยติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 23 แห่ง ปัจจุบันสามารถรอฟังผลการอนุมัติได้ภายใน 15 นาที และสามารถพิมพ์เอกสารดังกล่าวจากอินเทอร์เน็ตและใช้ยื่นเป็นเอกสารฉบับจริงได้เลย รัฐบาลสิงคโปร์อ้างว่า ระบบดังกล่าวช่วยประหยัดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการได้มากถึงปีละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 38,000 ล้านบาท)

ในอนาคต สิงคโปร์มีแผนจะพัฒนาระบบ InfoPort ซึ่งจะเป็นระบบอี-ลอจิสติกส์สมบูรณ์แบบ ที่เชื่อมโยงทุกระบบเข้าด้วยกัน ทั้งภาคการขนส่ง (PortNet, JurongPort), ระบบการชำระเงิน (ธนาคาร) และระบบการออกใบรับรองสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (TradeNet) เข้าไว้ในระบบเดียวกัน

ระบบลอจิสติกส์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของสิงคโปร์อาจทำให้หลายคนคิดแก้ตัวให้แทนประเทศไทยไปว่า เพราะประเทศสิงคโปร์มีขนาดเล็ก ทำให้การปรับเปลี่ยนทำได้ง่ายดายกว่าของประเทศไทย แต่การมาถึงของ “China E-Port” คงจะทำให้ใครหลายคนต้องปรับความคิดเสียใหม่

สาธารณรัฐประชาชนจีนพัฒนา “China E-Port” ขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงงานด้านการขนส่ง การรักษาความมั่นคง การเก็บภาษีศุลกากร การออกใบรับรองสินค้า การชำระเงิน และการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเชื่อมโยงเข้ากับด่านต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้จีนสามารถควบคุมระบบศุลกากร และการส่งสินค้าข้ามแดนได้ดียิ่งขึ้น ระบบดังกล่าวรัฐบาลจีนพัฒนาขึ้นใช้เอง โดยได้จัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า “China E-Port Data Center” ขึ้นมา อยู่ภายใต้สังกัดของศุลกากร ใช้ทีมงานพัฒนาระบบเพียง 400 คนเท่านั้น

ด้วยระบบ China E-Port ทำให้ปัญหาเรื่องการปลอมแปลงเอกสารของทางการจีนลดลง และความเร็วในการตรวจสินค้าของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นอกเหนือจากจีนและสิงคโปร์ ยังมีระบบ DTTN (Digital Trade and Transportation Network) ของเกาะฮ่องกง ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม และภาคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและรองรับกระบวนการทางธุรกิจ ระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นภายใต้งบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท และเริ่มปฏิบัติงานเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ที่ผ่านมา รัฐบาลคาดว่าระบบดังกล่าวจะช่วยให้ภาคการค้าและลอจิสติกส์ของฮ่องกงได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่าถึง 59,000 ล้านบาทภายใน 17 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็มีความร่วมมือในแบบ G2G e-government ที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือการร่วมมือออกใบรับรองสุขอนามัยของพืชและสัตว์ และสามารถตรวจสอบระหว่างกันได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือใช้ชื่อว่า e-SPS Certification (SPS : Sanitary and Phytosanitary) ตัวอย่างการทำงานของระบบนี้ เช่น หน่วยงานจากนิวซีแลนด์สามารถตรวจดูใบรับรองสุขอนามัยจากสินค้าที่ส่งมาจากออสเตรเลียในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ และประมวลผลต่อได้โดยอัตโนมัติ เป็นต้น

รัฐบาลผลักดัน

อย่างไรก็ดี การพัฒนาศักยภาพของระบบลอจิสติกส์ไทยเริ่มเห็นแววสดใสมากขึ้นในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ และมีมติเห็นชอบในการผลักดันและกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาคอินโดจีน” โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนกลางในการทำงาน และเกิดเป็นโครงการ “Thailand e-Logistics Framework” ขึ้นเพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนา นโยบาย ข้อเสนอแนะ มาตรฐานและโปรโตคอลที่ใช้ขับเคลื่อน

จากการตรวจสอบตัวเลขของภาครัฐบาลพบว่า ระบบเกษตรกรรมของไทยมีค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์สูงมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของราคาสินค้า ในขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มีต้นทุนดังกล่าวเพียง 8.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เหตุผลหลักที่ทำให้ต้นทุนดังกล่าวนี้สูงผิดปกติ มาจากการขาดมาตรฐานด้านระบบไอที การขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน จากการตรวจสอบพบว่า เอกสารที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกไทยต้องกรอกมีประมาณ 40 แบบฟอร์ม ข้อมูลหนึ่ง ๆ อาจต้องกรอกซ้ำถึง 30 รอบ ซึ่งอาจผิดพลาดได้ง่าย และมีต้นทุนสูง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องประมาณ 28 แห่งยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาความล่าช้าเหล่านี้ มีผลทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้นประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ (อ้างอิงการวิเคราะห์จากสหประชาชาติ)

เพื่อการก้าวไปสู่ “ศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาคอินโดจีน” รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของระบบอี-ลอจิสติกส์ โดยเป็นการรวบรวม 8 หน่วยงานนำร่องจากที่เกี่ยวข้องมาไว้ด้วยกัน ได้แก่ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการกงศุล กรมศุลกากร และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้มาติดต่อสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานได้อย่างรวดเร็ว และลดการกรอกแบบฟอร์มลง เหลือเพียงแบบฟอร์มเดียว ซึ่งใช้ชื่อว่า “แบบฟอร์มคำขอกลางอิเล็กทรอนิกส์” (Centralized e-Forms) และทำให้ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในฐานข้อมูลกลาง ถือเป็น Master Information ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดึงไปใช้ได้เลย ผู้ประกอบการไม่ต้องกรอกใหม่ สามารถกรอกข้อมูลและติดตามสถานะ (e-tracking) ของคำขอผ่านทางเว็บไซต์ www.depthai.go.th และหน่วยงานกำกับสามารถอนุมัติ –พิมพ์ใบรับรองทางอินเทอร์เน็ตได้ด้วย โดยในระยะแรก ผู้ส่งออกยังต้องมารับใบรับรองสินค้าด้วยตนเอง แต่ในเฟสต่อไป จะพัฒนาระบบให้สามารถออกใบรับรองสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้เลย

เอกสารที่ผู้ส่งออกสามารถส่งใบคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ มี 7 ประเภท ได้แก่

ใบรับรองด้านปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate),

ใบรับรองคุณภาพสินค้า (Health Certificate),

ใบขนสินค้าขาเข้า-ขาออก โดยระบบ EDI ของศุลกากร,

ใบรับรองสินค้าอาหารฮาลาล (Halal Certificate),

ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O),

การรับรองการลงมือชื่อ (Application for Legalization) และ

หนังสือการรับรองการจดทะเบียนธุรกิจ

และภายใน 3 ปีนี้ หน่วยงานทั้งหมด 28 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกจะต้องปรับมาใช้ระบบใหม่นี้ทั้งหมด

การสร้างความน่าเชื่อถือให้เอกสารรับรองทางอินเทอร์เน็ต

ความกังวลใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการออกเอกสารรับรองทางอินเทอร์เน็ตคือการปลอมแปลงเอกสาร เพราะมีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของระบบ สำหรับแนวทางการสร้างความน่าเชื่อถือและความถูกต้องให้กับเอกสารรับรองทางอินเทอร์เน็ตนั้น มีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

การพิมพ์ลายน้ำแบบมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Visible Watermarking Printing) ลงในเอกสารรับรองฉบับจริงที่พิมพ์จากอินเทอร์เน็ต (ใช้กระดาษธรรมดาทั่วไป) แต่ระบบดังกล่าวจะมีความพิเศษก็คือ ถ้าหากนำเอกสารฉบับจริงไปถ่ายสำเนา ลายน้ำที่เกิดขึ้นบนฉบับสำเนาจะมีคำว่า Copy ปรากฏอยู่ด้วย

การพิมพ์ลายน้ำแบบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าลงในเอกสารรับรอง (Invisible Watermarking Printing) วิธีนี้จะต้องนำเอกสารไปตรวจสอบด้วยเครื่องมือพิเศษ จึงจะสามารถมองเห็นข้อความ หรือรูปภาพที่สอดคล้องกับข้อความในเอกสารรับรอง ซึ่งคุณสมบัตินี้สามารถใช้ในการพิสูจน์ยืนยันความเป็นต้นฉบับที่ถูกต้องตามกฎหมายและใช้พิสูจน์การปลอมแปลงได้ นอกจากนั้นยังมีระบบการควบคุมการพิมพ์เอกสาร ที่สามารถกำหนดได้ว่าปลายทางได้รับอนุญาตให้พิมพ์เอกสารได้กี่ฉบับ และมีการบันทึกประวัติการพิมพ์เอกสารของเครื่องพรินเตอร์ปลายทางไว้ใช้อ้างอิงในภายหลังด้วย

เตรียมพบ Single-Window e-Logistics

ระบบการทำงานตลอดจนความผิดพลาดของศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จนี้ได้ถูกศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นระบบ Single-Window e-Logistics สำหรับใช้ในในระบบลอจิสติกส์ระดับประเทศ โดยในระบบใหญ่นั้น ได้มีการแบ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 คลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออก, กลุ่มธนาคารและธุรกิจประกันภัย และกลุ่มหน่วยงานบริการด้านการขนส่ง ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงเข้ากับขั้นตอนต่าง ๆ ของ 3 คลัสเตอร์ใหญ่ เช่น การยื่นใบคำขอ, การติดตามสถานะของคำขอ, การอนุมัติใบรับรองต่าง ๆ, พิธีการทางศุลกากร, การจองระวางเรือ, การจ่ายภาษี, การประกันภัย, การตรวจสอบใบขนสินค้า, โกดังสินค้า ฯลฯ ได้ทั้งหมด ระบบนี้ใช้งบประมาณในการพัฒนา 1,250 ล้านบาท เริ่มใช้งานจริงในช่วงปี 2548 – 2550 นี้

สำหรับการดำเนินการสร้างระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จนั้น ตามแผนจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

ระยะแรกได้แก่ การปรับสู่แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Forms) และการติดตามเอกสาร (e-Tracking)

ระยะที่สองจะเป็นการทำแบบคำขอกลาง (Centralized e-Forms) เข้าใช้ร่วมกับ e-Tracking

ระยะที่สามจะเป็นการใช้ แบบคำขอกลาง ร่วมกับ e-Tracking และการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางอินเทอร์เน็ตเพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองทางอินเทอร์เน็ต

และในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นเฟสสุดท้าย จะเป็นการรวมความสามารถในช่วงที่สาม เข้ากับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างหน่วยงาน (Information Exchange) ซึ่งต้องมีการกำหนดมาตรฐานกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างระบบต่อไป

ระบบใหม่นี้คาดว่าจะช่วยลดเวลาดำเนินการของผู้นำเข้า-ส่งออกจากเดิม 8-10 วันให้เหลือประมาณ 1-3 วัน ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนของมูลค่าสินค้านำเข้า-ส่งออกได้อย่างน้อย 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 28,500 ล้านบาท (อ้างอิงจากสินค้านำเข้า-ส่งออกปี 2545 มูลค่า 5.7 ล้านล้านบาท)

ปรับสู่ Web Application

กรมศุลกากรในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็มีแผนจะปรับระบบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าใหม่เช่นกัน โดยจะเปลี่ยนเป็นการทำงานไปเป็นระบบ Web Application ผู้ประกอบการสามารถรับใบขนสินค้าได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และชำระเงินจากธนาคารได้ทันที มีการประกันเวลาขั้นต่ำในการขนสินค้าเข้า-ออก ฯลฯ ซึ่งคาดว่าระบบดังกล่าวของกรมศุลกากรจะเริ่มทยอยเปิดใช้ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ และเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2549 (สำหรับระบบส่งออกสินค้าคาดว่าจะเริ่มเปิดใช้ในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ส่วนระบบนำเข้าสินค้าคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ต้นปีหน้า)

ทั้งนี้สิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันอีกประการหนึ่งคือ การแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า ความล่าช้าในการทำงานมาจากความไร้ประสิทธิภาพของงานเอกสาร ทั้งในเรื่องความยุ่งยาก และผู้มีสิทธิลงนามในเอกสารได้มีน้อยคน เหล่านี้เป็นข้อจำกัดของกฎระเบียบ ที่ยัดเยียดให้ผู้ประกอบการพยายามหาหนทางให้ตนเองได้รับเอกสารรวดเร็วมากขึ้นโดยวิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการสร้างระบบที่ไม่ถูกต้องให้เกิดกับข้าราชการไทยบางส่วนด้วย นอกจากนั้น เอกสารอิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ตามกฎหมายไทยจึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงต่อศาลในกรณีที่เกิดคดีความขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการแก้ไขกันต่อไป

แซงหรือจะถูกแซง

การก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์แห่งภูมิภาคอินโดจีนของไทยแม้จะเริ่มสดใสมากขึ้น แต่การแข่งขันในระดับภูมิภาคก็ยังมีอยู่ เวียตนาม ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็เร่งผลักดันระบบอี-ลอจิสติกส์ของตนเองอย่างไม่ยอมน้อยหน้า โดยเวียตนามได้ขอความร่วมมือจากสิงคโปร์และนำเอาระบบสารสนเทศของสิงคโปร์มาปรับใช้ ซึ่งในอนาคตหากการพัฒนาของไทยเกิดสะดุดลงกลางคัน มีความเป็นไปได้ว่าเวียตนามจะแซงหน้าประเทศไทยไปในที่สุด

Company Related Links :

TradeNet

depthai

Share the Post: