บทความและรูปภาพจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2548 ปีที่ 14 ฉบับที่ 5177
26 ธ.ค. 2547 ท่ามกลางความสูญเสียที่น่าเศร้าสลด ยังมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่น่ายกย่อง
เช้าวันที่ 26 ธ.ค. เรือสำรวจทางสมุทรศาสตร์ “มหิดล” ของกรมประมง ซึ่งจอดทอดสมออยู่ที่นอกเกาะราชาใหญ่ เพื่อให้นักศึกษาฝึกงานดำน้ำสำรวจปะการัง ได้ทำหน้าที่เรือกู้ภัยจำเป็น ช่วยเหลือนักดำน้ำกลุ่มหนึ่งที่กำลังหนีภัยคลื่นยักษ์อยู่ที่ชายฝั่งเกาะราชาใหญ่
นักดำน้ำกลุ่มนี้ประกอบด้วยแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลจังหวัดภูเก็ต
หลังจากนั้น เรือมหิดลพร้อมกับแพทย์พยาบาลกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปที่เกาะพีพี อันเป็นจุดประสบเหตุที่ห่างไกลและวิกฤตที่สุดแห่งหนึ่ง
เรือมหิดลและนักดำน้ำเหยื่อสึนามิที่รอดชีวิตจากเกาะราชาใหญ่ ได้ร่วมกันช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่เกาะพีพีไว้นับร้อยชีวิต
โดยถือเป็นความช่วยเหลือจากโลกภายนอกชุดแรกๆ ที่ไปถึงเกาะแห่งนี้
นางพริ้มเพรา จิตเป็นธม พยาบาลประจำสำนักงานสาธารณสุขจ.ภูเก็ต ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 08.45 น. ของวันที่ 26 ธ.ค.2547 ตนและครอบครัว ประกอบด้วย น.พ.สมชาย จิตเป็นธม สามี เพื่อนสามีคือ น.พ.ปรเมศร์ ไตรภพ, น.ส.วันเพ็ญ งอกผล เพื่อนพยาบาล และคณะรวม 16 ชีวิต ซึ่งนัดแนะกันไปดำน้ำดูปะการังที่เกาะราชา
ออกเดินทางจากท่าเรืออ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต ด้วยเรือสปีดโบ๊ตมุ่งหน้าไปเกาะราชา
ก่อนออกเดินทาง มีคนที่ท่าเรือกล่าวกับ “โกเจี๊ยว” เจ้าของเรือสปีดโบ๊ตว่า เมื่อเช้าเกิดแผ่นดินไหว ตนเองได้ยินแต่ไม่คิดอะไร ยังพูดจาสัพยอกออกไป
ใช้เวลาเดินทางเกือบ 1 ช.ม. เห็นเกาะราชาอยู่แค่เอื้อม
เรืออยู่ห่างเกาะราชาแค่ 100 เมตร นายไพทูล แพนชัยภูมิ หรือ ครูทูล และนายสุภชาติ ตู่เจริญพาณิชย์ หรือครูโต้ง สองครูสอนดำน้ำ สังเกตเห็นความผิดปกติ โดยเปรยๆ ว่า น้ำทะเลแห้งผิดปกติ
ไม่ถึง 5 นาที นาทีความเป็นตายก็มาถึง ทุกคนก็ได้เห็น “สึนามิ” ถาโถมถล่มชายหาดเกาะราชา เตียง เก้าอี้ไม้ ร่มชายหาดระเนระนาดไหลลงทะเลต่อหน้าต่อตา
สองนายแพทย์หยิบกล้องถ่ายรูปและกล้องวิดีโอขึ้นมาบันทึกภาพเหตุการณ์ หลังจากคลื่นลูกแรกผ่านไป น้ำทะเลที่ชายหาดก็ลดฮวบลงมาอีกครั้ง ลดลงมากกว่าครั้งแรก
นางพริ้มเพราเผยว่า คว้าโทรศัพท์ไปรายงานเหตุการณ์ให้นางมณีจันทร์ อัศวรางกูร ภรรยานายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจ.ภูเก็ตทราบ
ขณะที่คลื่นลูกที่สองโถมซัดชายหาด กวาดเอาร้านรวงลงทะเลอย่างบ้าคลั่ง ท่ามกลางท้องฟ้าที่แสนจะสดใส
“ครูทูลหันมาบอกคนขับเรือว่าให้ถอยเรือลงทะเล ฉันเลยกดโทรศัพท์รายงานให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้บังคับบัญชาทราบ แต่โทร.ไม่ติด จึงกดโทรศัพท์ไปที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ให้แจ้งข่าวไปตามสถานีวิทยุต่างๆ ว่าขอให้คนที่อยู่บริเวณชายหาดถอยออกห่างชายหาดโดยเร็วที่สุด
“เสียงครูไพทูลตะโกนย้ำกับฉันว่า บอกให้เรือออกจากฝั่งด้วย ขณะนั้นคลื่นลูกที่สามโถมซัดฝั่ง สูงถึงชั้นที่ 2 ของโรงแรมเดอะราชา ฉันโทร.ไปหาน.พ.เจษฎา จงไพบูลย์วัฒนะ ผู้อำนวยการร.พ.วชิระภูเก็ต ให้เตรียมแพทย์พยาบาลและรถพยาบาลไว้ เพราะเชื่อว่าต้องมีผู้บาดเจ็บที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวนมากอย่างแน่นอน”
ด้านน.พ.ปรเมศร์โทรศัพท์ไปหาเพื่อนที่เป็นนายเรือ เพื่อขอคำปรึกษา
นางพริ้มเพราเผยว่า ขณะนั้นเหลือบไปเห็นเรือขนาดใหญ่จอดทอดสมอ เห็นชื่อ “มหิดล” ถนัดตา ทำให้นึกถึงพระราชบิดาและรู้สึกอบอุ่น รู้สึกว่าเราต้องรอดแน่
คนในเรือเริ่มถกเถียงกันว่า จะอยู่ในเรือสปีดโบ๊ตหรือย้ายไปขอขึ้นเรือมหิดล
ยังไม่ทันตัดสินใจ เรือมหิดลเริ่มถอนสมอ ถอยห่างออกไป เสียงหมอปรเมศร์สั่งเรือสปีดโบ๊ตให้แล่นออกห่างจากฝั่งมากที่สุด และเตรียมย้ายขึ้นไปอยู่บนเรือใหญ่ ตามคำแนะนำของเพื่อนทางโทรศัพท์
ในที่สุด เรือมหิดลได้ย้อนกลับมาช่วยเรือสปีดโบ๊ต รับคณะดำน้ำขึ้นเรือ
ขณะที่เจ้าหน้าที่เรือมหิดลก็ขอใช้เรือสปีดโบ๊ตไปรับนักศึกษาฝึกงานที่เดินทางมากับเรือ โดยสองครูดำน้ำรับหน้าที่ไปกับเรือ ลำเลียงนักศึกษาที่อยู่กลางทะเลกลับขึ้นบนเรือ เตรียมบ่ายหน้ากลับแผ่นดินใหญ่ของเกาะภูเก็ต
นางพริ้มเพราเล่าว่า ระหว่างที่เรือจะกลับเข้าฝั่ง เจ้าหน้าที่ประจำเรือนายหนึ่งมาถามหาหัวหน้าทีม น.พ.สมชายจึงขึ้นไปพบผู้การเรือมหิดล ซึ่งบอกว่าได้รับแจ้งทางวิทยุว่าที่พีพีมีคนเจ็บ คนป่วย คนตายจำนวนมากยังไม่มีใครไปช่วย
“หมอจะไปช่วยเขาไหม ถ้าหมอจะกลับภูเก็ตผมก็จะไปส่ง” ผู้การเรือถามน.พ.สมชาย
“ไปครับ ผมขอไปสำรวจเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ว่ามีอะไรบ้าง” น.พ.สมชายตอบ พร้อมกับลงไปบอกทีมแพทย์พยาบาลที่มาด้วยกัน ทุกคนเห็นด้วย
ทั้งหมดสาละวนตระเตรียมเครื่องมือแพทย์เท่าที่จะหาได้บนเรือ ประกอบด้วยน้ำเกลือ 10 ถุง ผ้ากอซ ผ้าพันแผล ยาแก้ปวด ยาใส่แผลสด (เบตาดีน) เครื่องมือเย็บแผลและถุงมืออีก 1 กล่อง
เรือมหิดลแล่นตรงไปยังเกาะพีพี ลูกเรือช่วยกันกางเต็นท์ เตียงผ้าใบ ปูที่นอนบนพื้นเรือ เลื่อยไม้ไผ่สำหรับใช้ดามแขนขาผู้บาดเจ็บ
ใช้เกือบ 2 ชั่วโมง จึงถึงเกาะพีพี
ภาพเบื้องหน้าสายตาทุกคนบนเรือมหิดลก็คือสภาพวินาศบนเกาะ โรงแรมหรูบนชายหาดราพณาสูร ไม่มีร่องรอยของเกาะสวรรค์ในอดีตไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา
ลูกเรือมหิดลลงเรือไปสำรวจสภาพความเสียหายบนเกาะ พร้อมกับนำผู้บาดเจ็บชุดแรกมาด้วย
ทีมแพทย์พยาบาลต้องทำงานอย่างหนักกับจำนวนผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บกว่า 100 ชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กระดูกเชิงกรานหักได้รับการดูแลเอาใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะหากดูแลไม่ดีพอ มีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการตลอดชีวิต
ภาพติดตาที่ทุกคนลืมไม่ลง คือศพแล้วศพเล่าที่ลอยอยู่กลางทะเล อีกจำนวนมากถูกทับตามซากอาคาร แต่ในวินาทีแห่งความเป็นความตาย การช่วยผู้บาดเจ็บถือเป็นภารกิจหลัก ทำให้ทุกคนทำได้แค่มองผ่านไปและสาละวนกับการช่วยนำผู้บาดเจ็บไปทำการปฐมพยาบาลบนเรือมหิดลให้ได้มากที่สุด
เรือมหิดลนำผู้ป่วยผู้บาดเจ็บเท่าที่จะบรรทุกบนเรือได้ มุ่งหน้ากลับเกาะภูเก็ต ผู้การเรือสั่งการให้พ่อครัวปรุงอาหารมาบริการนักท่องเที่ยวเคราะห์ร้ายทั้งคนไทยและต่างชาติอย่างเต็มที่
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่นั่งกินข้าวกับผัดเผ็ดหน่อไม้ ผัดเผ็ดปลาดุกอย่างเอร็ดอร่อย และช่วยกันล้างถ้วยชามบนเรือหลังจากที่ทานอาหารเสร็จสรรพ เป็นภาพที่หาดูได้ยาก
ส่วนลูกเรือพร้อมใจกันทำหน้าที่ผู้ช่วยของ 2 แพทย์ และ 2 พยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยกว่า 100 คน
นักท่องเที่ยวที่อาการบาดเจ็บไม่มากนัก ช่วยกันทำแผล ช่วยพยุงช่วยทำแผลให้กับนักท่องเที่ยวด้วยกันเอง
เรือเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต รถพยาบาลที่เตรียมพร้อมจากการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปยังร.พ.วชิระภูเก็ต
ถือว่าเป็นโชคดีท่ามกลางความโชคร้ายของผู้บาดเจ็บ ที่เรือมหิดลได้ช่วยแพทย์พยาบาลชุดดังกล่าวเอาไว้ ทำให้ตัดสินใจไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่พีพีได้ทันที
หากต้องเสียเวลาย้อนกลับเข้าฝั่งที่จ.ภูเก็ต เพื่อรับทีมแพทย์พยาบาล อาจเกิดความสูญเสียมากกว่านี้
บ่ายวันเดียวกัน เรือมหิดลแจ้งทีมแพทย์ที่เพิ่งไปร่วมกู้ภัยพีพีกันมาว่าในวันที่ 27 ธ.ค. จะเดินทางไปที่เกาะพีพีอีก ให้ช่วยจัดทีมแพทย์พยาบาลให้ด้วย
แพทย์พยาบาลจากสำนักงานสาธารณสุข จ.ภูเก็ต และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ออกเดินทางไปกับเรือมหิดลเมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 27 ธ.ค. เป็นวันที่สองติดต่อกัน และสามารถช่วยผู้บาดเจ็บได้อีกร่วม 300 คน
เป็นอีกปฏิบัติการกู้ชีวิตเหยื่อสึนามิ ที่น่าจะต้องบันทึกไว้
พลิกปูมเรือมหิดล ก่อนสวมบท”เรือกู้ภัย”
เรือสำรวจประมง “มหิดล” เป็นเรือสังกัดสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีประมงทะเลลึก สำนักวิจัยและพัฒนาประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มีเรือเอกเพิ่มสุข ศรีพลอย เป็นผู้บังคับการเรือ เรือโทสถาพร สว่างพักตร์ เป็นต้นเรือ เรือเอกสุธานี สุมะนังกุล ต้นหน นายสมโภชน์ อินทร์บำรุง ต้นกลเรือ นายวุฒิชัย อุทยมกุล เป็นผู้อำนวยการสำรวจ และเจ้าหน้าที่อีก 38 คน
การเดินทางเที่ยวนี้ใช้เวลา 16 วัน เพื่อสำรวจทรัพยากรปลาทูน่าบริเวณมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน เที่ยวเรือที่ 2/2548 ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2547
การเดินทางเที่ยวนี้ใช้เวลา 16 วัน เพื่อสำรวจทรัพยากรปลาทูน่าบริเวณมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน เที่ยวเรือที่ 2/2548 ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2547
ประสบเหตุคลื่นสึนามิ ขณะกำลังปฏิบัติงาน และฝึกอบรมนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร โดยต้นหนเรือนำนักศึกษาลงไปดำน้ำศึกษาปะการังบริเวณเกาะราชาใหญ่ ขณะที่เรืออยู่ที่ละติจูด 700 องศา 36.7 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 21.7 ลิปดาตะวันออก
เรือมหิดลได้รวบรวมภาพเหตุการณ์ กระทั่งเห็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือนำนักท่องเที่ยวดำน้ำที่ลอยตัวอยู่
งเข้าไปจอดเทียบช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขนย้ายคนจากเรือเล็กขึ้นมาบนเรือและได้พบกับคณะน.พ.สมชาย จิตเป็นธม นางพริ้มเพรา จิตเป็นธม และคณะ
ขณะที่กำลังนำกลุ่มของน.พ.สมชายไปส่งที่จังหวัดภูเก็ต ก็ได้รับรายงานทางวิทยุว่าเกาะพีพีถูกคลื่นยักษ์ถล่มอย่างหนัก ต้องการความช่วยเหลือด่วน ตัดสินใจหันหัวเรือเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุบัติภัยที่เกาะพีพี
เดินทางถึงเกาะในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือเลย
เป็นเรือลำแรกที่เข้าไปที่เกิดเหตุ และช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้รอดชีวิตได้จำนวนมาก